ไม่ประมาทคำของพระพุทธเจ้าสักคำเดียว

 
เมตตา
วันที่  14 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47071
อ่าน  438

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 395

บทว่า นิมิตฺตคฺคาหี เป็นผู้ถือนิมิต คือถือนิมิตหญิงและชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส มีสุภนิมิตเป็นต้นด้วยอำนาจฉันทราคะ. เพียงเห็นเท่านั้นนิมิตไม่ปรากฏ.

บทว่า อนุพฺยญฺชนคฺคาหี ถืออนุพยัญชนะ คือ ถืออาการอันต่างด้วยมือ เท้า หัวเราะ ขบขัน พูดชำเลืองดูและการเหลียวดู เป็นต้น เรียกว่า อนุพยัญชนะ เพราะทำให้ปรากฏโดยเป็นเหตุให้กิเลสทั้งหลายปรากฏ


[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 297

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า"โลกมีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน ย่อมปรากฏ ดุจรูปอันสมควร, คนพาลมีอุปธิกิเลสเป็นเครื่อง ผูกไว้ ถูกความมืดแวดล้อมแล้ว จึงปรากฏดุจมี ความเที่ยง, ความกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นอยู่"

ก็แลครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงแสดงธรรมว่า " ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายเที่ยวไปในวัฏฏะ เป็นผู้ไม่ประมาทตลอดกาลเป็นนิตย์ กระทำบุญกรรมก็มี, เป็นผู้มีความประมาท กระทำบาปกรรมก็มี เหตุนั้น สัตว์ผู้เที่ยวไปในวัฏฏะ จึงเสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง"


ท่านอาจารย์: ก่อนอื่น ต้องไม่ลืมว่า เรามาฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เราคิดเอง ธรรมรู้ยากลึกซึ้ง แต่สามารถค่อยๆ เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยใช่ไหม? เราคิดมาก เรื่องผู้หญิง ผู้ชาย ก่อนจะศึกษาธรรม ทำอะไร นั่นเป็นความคิดของเราที่คิดอย่างนั้นที่พูดอย่างนั้น ทุกคำทั้งหมดเป็นธรรมที่เราไม่รู้

ความไม่รู้มีมาก และรู้เผินๆ และก็รู้ผิดๆ ถูกๆ เมื่อเราไม่ไตร่ตรอง คำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น มีเห็น มีผู้หญิง มีผู้ชาย และเราก็คิดหลายเรื่อง แต่ขอฝากคำถามเพื่อที่จะรู้ว่า การที่เราได้ประโยชน์จากการฟังวันนี้ มีความเข้าใจอะไรบ้าง และแค่ไหน ขอถามว่า เห็น เป็นหญิงหรือชาย และขณะที่คิดอย่างนั้น พูดอย่างนั้น เป็นหญิงหรือชาย

เพราะฉะนั้น ขอฝากคำถามสำหรับคนที่ยังไม่ได้ตอบ และยังไม่ได้คิด เพื่อที่จะได้เข้าใจธรรมหนึ่ง เป็นธรรมอื่นไม่ได้ ต้องเป็นธรรมนั้นเพียงหนึ่งเดียว เปลี่ยนไม่ได้

เพราะฉะนั้น เราจะไม่ประมาท คำ ของพระพุทธเจ้าสักคำเดียว เพราะพระองค์ตรัสรู้ว่า สัตว์โลกไม่รู้อะไรเลย จนกว่าจะได้ฟังคำที่พระองค์ทรงประจักษ์แจ้ง และทรงแสดงให้คนอื่นค่อยๆ เริ่มเข้าใจทีละหนึ่งคำ ทุกสิ่งที่มีจริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครบถ้วน แต่เราไม่สามารถที่จะรู้ทั้งหมดทันทีโดยละเอียดชัดเจน

เพราะฉะนั้น ไม่ประมาทว่า เรารู้แล้ว ความจริงรู้เพียงนิดเดียว เพราะฉะนั้น ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ อย่างมั่นคง จึงสามารถที่จะมีปัญญาระดับสูงขึ้นซึ่งเป็น ปฏิปัตติ และปฏิเวธ

เพราะฉะนั้น วันนี้เราฟัง แล้วลืม เพราะจะไม่มีประโยชน์เพียงแค่ได้ฟัง แต่ฟังแล้วถามว่าอะไร เรื่องอะไร เช่น เห็น เป็นหญิงหรือชาย เป็นต้น เพื่อที่จะได้รู้ความจริงว่า คำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส เราสามารถที่จะรู้เองได้หรือเปล่า? นี่คือ การฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจสำหรับทุกครั้งที่ฟัง แม้พรุ่งนี้ด้วย


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 60

ปฏิปัตติวรรคที่ ๔

๑. ปฏิปัตติสูตร

ว่าด้วยมิจฉาปฏิบัติและสัมมาปฏิบัติ

[๘๙] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมิจฉาปฏิบัติและสัมมาปฏิบัติแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น.

[๙๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาปฏิบัติเป็นไฉน คือ ความเห็นผิด ฯลฯ ความตั้งมั่นผิด นี้เรียกว่ามิจฉาปฏิบัติ.

[๙๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาปฏิบัติเป็นไฉน คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งมั่นชอบ นี้เรียกว่าสัมมาปฏิบัติ.

จบปฏิปัตติสูตรที่ ๑


ปฏิบัติ (ปฏิปัตติ)

ปฏิ (เฉพาะ) + ปตฺติ (การถึง)

การถึงเฉพาะ หมายถึง สัมมาปฏิบัติ คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติถูกต้อง ได้แก่ ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีงามเกิดขึ้นทำกิจของตน เป็นไปในกุศลขั้นต่างๆ โดยเฉพาะ การปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ขณะที่สติพร้อมสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ความจริงว่าเป็นเพียงนามธรรม รูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย และไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัตินอกจากสติสัมปชัญญะ และโสภณธรรมที่ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของตนๆ ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) จะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และละความยึดถือความเป็นตัวตนได้ในที่สุด


ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

ไม่คิดธรรมเอง

เริ่มเข้าใจทีละคำอย่างมั่นคง

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

พระธรรมไม่ใช่เรื่องคิดเอง

ถึงเฉพาะลักษณะเฉพาะของธรรมแต่ละอย่าง

ราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 16 ธ.ค. 2566

กราบเท่าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ