ความเข้าใจเพียงฟังเป็นวิปัสสนาแล้วยัง?

 
เมตตา
วันที่  21 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47089
อ่าน  488

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @มุมไบ วันพุทธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ (ช่วงเช้า)

[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 266

[๔๖๑] ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการเท่าไร เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการเท่าไร พระเสขะเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการเท่าไร เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการเท่าไร ท่านผู้ปราศจากราคะเจริญวิปัสสนา เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการเท่าไร เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการเท่าไร. ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ พระเสขะเจริญวิปัสสนา เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๑๐ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๑๐ ท่านผู้ปราศจากราคะเจริญวิปัสสนา เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๑๒ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๑๒.

[๔๖๒] ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นไฉน เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นไฉน? ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นของเที่ยง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นทุกข์ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นสุข ๑ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นอนัตตา ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นอัตตา ๑ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความสิ้นไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นก้อน ๑ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเสื่อมไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความประมวลมา ๑ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความแปรปรวน ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยั่งยืน ๑ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพหานิมิตมิได้ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยเป็นสภาพมีนิมิต ๑ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพไม่มีที่ตั้ง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยเป็นสภาพมีที่ตั้ง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพสูญ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่น ๑ ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เหล่านั้นเป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้.


ท่านอาจารย์: สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ลึกซึ้ง ยากที่จะเห็นประจักษ์แจ้งการเกิดดับ เพราะยังไม่รู้ธรรมทั่วทุกอย่าง ยังไม่รู้ความละเอียดของธรรม แต่ละหนึ่ง ซึ่งกำลังรวมกันขณะนี้

เพราะฉะนั้น แม้สภาพธรรมขณะนี้เกิดดับ ก็ยังรู้ไม่ได้ เพราะความเข้าใจยังไม่พอ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ยังไม่รู้ว่า อะไรเห็น และอะไรถูกเห็น ยังไม่รู้ความจริงว่า อะไรได้ยิน และสิ่งที่ได้ยินเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ประมาทธรรมที่ละเอียดไม่ได้ว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ความละเอียดจริงๆ ก็เข้าใจว่า สิ่งที่มีนั้นเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ต้องไม่ลืมแม้ คำเดียว ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะ แต่ละคำ หมายความถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้เอง

เมื่อฟังแล้ว จึงเริ่มรู้ว่า สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้มีจริงๆ แต่ยังไม่เข้าใจตามความเป็นจริง จนกว่าจะเริ่มมั่นคงว่า ไม่มีเรา แต่มีธรรมเท่านั้น เห็นเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร หมดแล้วไม่กลับมาอีก ได้ยินเกิดแล้วดับ ไม่ใช่เราได้ยิน เพราะดับแล้วไม่กลับมาอีก เพราะเข้าใจถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา จึงฟังเพื่อเข้าใจธรรมที่มีในชีวิตทุกอย่างเพิ่มขึ้น

ถ้าไม่อดทนที่จะฟังให้เข้าใจขึ้น สามารถจะรู้จักพระพุทธเจ้า สามารถที่จะเข้าใจความจริงเดี๋ยวนี้ไหม เพราะเห็นดับแล้ว ได้ยินดับแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นดับแล้ว

ความเข้าใจขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เป็นวิปัสสนาแล้วยัง ความเข้าใจเพียงเท่านี้ เพียงฟัง เป็นวิปัสสนาแล้วยัง?

ชาวอินเดีย: ยังไม่เป็นค่ะ

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง ความตรงสำคัญที่สุดในการที่จะเข้าใจ สิ่งที่มีจริง ไม่มีใครรู้วิปัสสนา ถูกต้องไหม? แล้วอะไรรู้ แล้วอะไรเป็นวิปัสสนา? เราพูดคำว่า วิปัสสนา ไม่ใช่พูดแล้วไม่รู้วิปัสสนาคืออะไร แต่พูดคำว่า วิปัสสนา เพราะรู้ว่า วิปัสสนา คืออะไร

เพราะฉะนั้น ขณะนี้ไม่ใช่วิปัสสนา

เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นปฏิบัติ (ปฏิปัตติ) หรือเปล่า?

ชาวอินเดีย: ที่เข้าใจตอนนี้ ไม่ใช่ปฏิบัติ

ท่านอาจารย์: แล้วเดี๋ยวนี้เป็นอะไร?

ชาวอินเดีย: ระดับฟังแล้วเข้าใจ

ท่านอาจารย์: ดี๋ยวนี้ยังไม่ถึง ปริยัติ เพราะยังไม่ได้รอบรู้ใน ทุกคำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้.

ปริยัติ ปริ (รอบ) + ยตฺติ (ศึกษา เล่าเรียน) ระเบียบคำอันควรศึกษาโดยรอบ หมายถึง พระพุทธพจน์ หรือ พระไตรปิฎก (รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคำอธิบายต่างๆ เพื่อให้เข้าใจในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)


ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

วิปัสสนาภาวนา

ผู้อบรมเจริญวิปัสสนา ต้องเป็นผู้ตรง

พระธรรมกับการดำเนินชีวิต [แนวทางเจริญวิปัสสนา และ การภาวนา]

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

การปฏิบัติวิปัสสนาทำยังไง

การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างไร

เริ่มฟังพระธรรมให้เข้าใจเสียก่อน

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 21 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณมากและยินดีในกุศลค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 22 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ