คำว่า โพธิ หมายความถึงปัญญา

 
เมตตา
วันที่  28 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47198
อ่าน  512

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @มุมไบ วันพุทธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ (ช่วงบ่าย)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 72

๒. ทุติยโพธิสูตร

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทเป็นปฏิโลม

[๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่โคนไม้โพธิ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียวตลอด ๗ วัน พอล่วงสัปดาห์นั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทอันเป็นปฏิโลมด้วยดี ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ คือ เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า

ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย.

จบทุติยโพธิสูตรที่ ๒

อรรถกถาทุติยโพธิสูตร


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 691

พระนิยตโพธิสัตว์ ถึงพร้อมด้วยองค์ครบถ้วน อย่างนี้ แม้ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนานนับร้อย โกฏิกัปป์ ก็ไม่เกิดในอเวจี และในโลกันตริกนรก ไม่เกิดเป็นนิชฌามตัณหิกเปรต ขุปปิปาสิกเปรต กาฬ- กัญชิกาสูร แม้เข้าถึงทุคติ ก็ไม่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เมื่อเกิดในหมู่มนุษย์ ก็ไม่เป็นคนตาบอดแต่กำเนิด โสตก็ไม่วิกลบกพร่อง ไม่เป็นคนประเภทใบ้ ไม่เป็นสตรี ไม่เป็นคนสองเพศ และไม่เป็นบัณเฑาะก์. พระนิยตโพธิสัตว์ ไม่เป็นผู้นับเนื่องดังกล่าว พ้นจากอนันตริยกรรม มีโคจรบริสุทธิ์ในภพทั้งปวง ไม่เสพมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นว่ากรรมเป็นอันทำมีผล แม้อยู่ในสวรรค์ทั้งหลาย ก็ไม่เข้าถึงอสัญญีภพ ทั้งไม่มีเหตุที่ไปเกิดในเทพชั้นสุทธาวาส เป็นผู้น้อมไป ในเนกขัมมะ เป็นสัตบุรุษ ไม่เกาะเกี่ยวในภพใหญ่ น้อย บำเพ็ญแต่โลกัตถจริยาทั้งหลาย บำเพ็ญบารมี ทั้งปวง.


[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 281

๔. สัจจวิภังค์

สุตตันตภาชนีย์

[๑๔๔] อริยสัจ ๔ คือ

๑. ทุกขอริยสัจ

๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ

๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ

๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ทุกขอริยสัจ

[๑๔๕] ในอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจ เป็นไฉน

ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โลกปริเทว ทุกข์โทมนัสส อุปายาสทุกข์ อัปปีเยหิสัมปโยคทุกข์ ปีเยหิวิปปโยคทุกข์ ยัมปิจฉังนลภติตัมปิทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

[๑๔๖] ในทุกขอริยสัจนั้น ชาติ เป็นไฉน

ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งถึง ความเกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้เฉพาะอายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่าชาติ ฯลฯ

[๑๕๗] โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน

รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ สภาวธรรมนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ


ท่านอาจารย์: คำว่า โพธิ หมายความถึงปัญญา เพราะฉะนั้น โพธิสัตว์ หมายความถึงผู้ที่ข้องในการที่จะรู้ความจริง ไม่สนใจอย่างอื่น

การที่จะรู้จริงซึ่งเป็นการรู้อริยสัจจ์ ๔ ต้องอาศัยความมั่นคง ความมั่นคงอย่างไร ไม่ใช่ความมั่นคงที่จะมีเงินมากๆ มีสมบัติมากๆ มีสิ่งที่ต้องการมากๆ แล้วก็ตาย แล้วก็หมดไป แต่เป็นความมั่นคงที่ไม่มีอย่างอื่นในชีวิตที่สำคัญเท่ากับการรู้ความจริงที่กำลังเป็นจริงเดี๋ยวนี้ กำลังฟังอย่างนี้ มีใครมั่นคงที่จะเข้าใจความจริงจนประจักษ์แจ้งอริยสัจจ์บ้าง

แต่ละธรรมหลากหลายมาก เพราะฉะนั้น ความที่เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้สิ่งที่มีจริงๆ ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย

เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงความจริงให้บุคคลอื่นได้รู้ตามด้วย ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก็เหมือนคนที่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเข้าใจ

บางคนรู้ว่า ธรรมยากมาก ขอเป็นเพียง สาวก ผู้ฟังตาม และบรรลุตาม เมื่อฟังแล้วทุกคนรู้ว่าธรรมลึกซึ้ง ยากอย่างยิ่งที่จะรู้ตามได้ เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะค่อยๆ ลบเลือนจนหมดสิ้นเมื่อไม่มีใครศึกษาด้วยความเคารพที่จะตรงต่อธรรม

เพราะฉะนั้น คนที่ฟังธรรมแล้ว เข้าใจในความเป็นอนัตตา ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะรู้ความจริงที่กำลังฟัง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ข้องในการที่จะรู้ความจริง และรู้ว่า ความจริงลึกซึ้งมาก จึงปราถนาที่จะรู้ความจริง ไม่ว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดไปแล้ว แต่ความเข้าใจที่สะสมมาสามารถจะทำให้เข้าใจธรรมด้วยตนเองเป็นปัจเจกพระพุทธเจ้า แต่ว่า ไม่ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น คนที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จะเป็นสาวก หรือว่า จะเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า แต่ผู้ที่สะสมมามีความกรุณาที่ยิ่งใหญ่มาก ธรรมเป็นสิ่งที่ยากที่แต่ละคนจะรู้ได้ แต่ถ้าสามารถที่จะเป็นถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ความจริงแล้ว ยังสามารถที่จะทำให้คนอื่นได้เข้าใจถูกด้วย ผู้นั้นบำเพ็ญบารมีที่ยิ่งใหญ่ในปัญญาบารมี พระบริสุทธิบารมี และพระมหากรุณา เพราะฉะนั้น คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ที่ประสูติที่นี่ ตรัสรู้ที่นี่ ปรินิพพานที่นี่ ได้บำเพ็ญบารมีมานานมากทุกพระชาติ จนถึงได้รับคำพยากรณ์ว่า สุเมธดาบสจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม

เพราะฉะนั้น มีผู้ที่มีความมั่นคง และมีปัญญาอย่างใหญ่หลวงมาก มีพระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงพร้อมด้วยบารมีองค์ต่อไป คือพระศรีอริยเมตไตย.

ขอเชิญอ่านเพิ่มได้ที่ ...

๑๐. มหาศักยมุนีโคตมสูตร ว่าด้วยพระปริวิตกของพระบรมโพธิสัตว์

กว่าที่จะได้ตรัสรู้ ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงขัยแสนกัปป์

อริยสาวก

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

สุเมธดาบสคิดจะอนุเคราห์ผู้อื่นให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

ทุกข์ กับ ทุกขอริยสัจจ์ต่างกันอย่างไร


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 172

ปุถุชนทั้งหลายก็เป็นตามธรรมดา คือ มีอันจะต้องเจ็บ มีอันจะต้องแก่ และมีอันจะต้องตาย แต่เกลียดชัง (คนอื่น) ที่เป็นตามธรรมดานั้น

ข้อซึ่งเราจะพึงเกลียดชังสภาพอันนั้นในสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอันจะต้องเป็นอย่างนั้น นั่นไม่สมควรแก่เราผู้ซึ่งมีอันเป็นอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน

เมื่อเราเห็นอยู่อย่างนั้น ได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิแล้ว ความเมาอันใดในความไม่มีโรค ในความหนุ่ม และในชีวิต เราครอบงำความเมาทั้งปวงนั้นเสีย ได้เห็นเนกขัมมะ (การออกจากกาม) ว่าเป็นความเกษม (ปลอดโปร่ง) ความอุตสาหะ (ในเนกขัมมะ) จึงได้มีแก่เราผู้เห็นพระนิพพานอยู่จำเพาะหน้า

เดี๋ยวนี้ เราเป็นคนไม่ควรจะเสพกามทั้งหลายแล้ว เราจักเป็นผู้ไม่ถอยกลับ มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า.

จบสุขุมาลสูตรที่ ๙


กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 29 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ คุณเมตตา และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 31 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ


ท่านผู้ฟังคิดอย่างนี้หรือเปล่า คิดที่จะอนุเคราะห์คนอื่นๆ เป็นจำนวนมากให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เพียงแต่คิดที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเฉพาะตนคนเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อคิดแล้ว ก็อนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่นในขณะนี้ทุกทาง ที่ท่านสามารถจะกระทำได้ ไม่ว่าจะด้วยการสนทนาธรรม การเกื้อกูลให้หนังสือธรรมเพื่อบุคคลอื่นจะได้อ่าน ได้พิจารณา ได้อบรมเจริญปัญญา ท่านผู้ฟังอาจจะมีหนทาง แล้วแต่ความสามารถความชำนาญของท่าน ซึ่งจะเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่นให้ได้เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ในขณะนั้น

ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 735

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ