อวิชชาแค่ไหนเดี๋ยวนี้

 
เมตตา
วันที่  12 ม.ค. 2567
หมายเลข  47254
อ่าน  354

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 433

๗. อวิชชาสูตร

ว่าด้วยอวิชชา

[๑๖๙๔] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อวิชชาๆ ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่าอวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมชื่อว่า ตกอยู่ในอวิชชา ดูก่อนภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบอวิชชาสูตรที่ ๗


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 374

ธรรมกถิกวรรคที่ ๒

๑. อวิชชาสูตร

ว่าด้วยความหมายของอวิชชา

[๓๐๐] กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อวิชชา อวิชชา ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉนหนอแล และบุคคลผู้ประกอบด้วยอวิชชาด้วยเหตุเพียงเท่าไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่รู้ชัดซึ่งรูป ไม่รู้ชัดซึ่งความเกิดรูป ไม่รู้ชัดซึ่งความดับรูป ไม่รู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับรูป ไม่รู้ชัดซึ่งเวทนา ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งสัญญา ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งสังขาร ฯลฯ ไม่รู้ชัดซึ่งวิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งความเกิดวิญญาณ ไม่รู้ชัดซึ่งความดับวิญญาณ ไม่รู้ชัดปฏิปทาอันให้ถึงความดับวิญญาณ ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่า อวิชชา และบุคคลผู้ประกอบด้วยอวิชชา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล.

จบ อวิชชาสูตรที่ ๑

อรรถกถาธรรมกถิกวรรค

อรรถกถาอวิชชาสูตรที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัยในอวิชชาสูตรที่ ๑ แห่งธรรมกถิกวรรค ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เอตฺตาวตา จ อวิชฺชาคโต โหติ ความว่า ด้วยเหตุที่เป็นผู้ประกอบด้วยอวิชชาอันเป็นความไม่รู้ในสัจจะ ๔ นี้ ภิกษุจึงชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา.

จบ อรรถกถาอวิชชาสูตรที่ ๑


ท่านอาจารย์: ไม่ใช่ไม่รู้แล้วไปพยายามละ แต่หนทางละ คือหนทางเดียว คือเข้าใจในความลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่าไหร่ก็ละไปเท่านั้น และก็เห็นคุณของพระรัตนตรัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่ดำรงพระศาสนาจนกระทั่งสามารถที่จะให้คนอื่นได้มีความเข้าใจจนถึงเรา

เห็นไหม ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะละอริยสัจจะที่ ๒ ไหม?

เพราะอวิชชาแค่ไหนเดี๋ยวนี้ ความติดข้องแค่ไหนเดี๋ยวนี้ การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพียงหนึ่งเดี๋ยวนี้ ทั้งหมดเป็นเครื่องตรวจสอบ ไม่ต้องถามใคร ถูกไหมๆ ๆ ถูกไหมแล้วฟังทำไมล่ะ ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า ฟังเพื่อที่จะเข้าใจ ตราบใดที่ไม่เข้าใจก็ฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง จนกระทั่งรู้ความต่างกันของปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ ว่า ไม่ใช่อย่างที่ความเห็นผิดเข้าใจผิด ไม่เห็นความละเอียดลึกซึ้ง และเป็นอัตตาที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

ค่อยๆ ฟังไปค่อยๆ สะสมไป นั่นคือละ ซึ่งเป็นมรรคอริยสัจจะ เมื่อถึงเวลาที่ประจักษ์แจ้งความจริงที่กำลังเป็นจริงอย่างที่ได้ฟังเดี๋ยวนี้ อดทนแค่ไหน ขันติบารมี ไม่มีได้ไหมวิริยบารมี ฟังขณะนี้มีความเพียรแค่ไหนที่จะไตร่ตรองที่จะเข้าใจความจริง แล้วค่อยๆ ละความไม่รู้ และค่อยๆ รู้ความจริงว่า ลึกซึ้ง ถ้าไม่ลึกซึ้งไม่ละ แต่ลึกซึ้งเกินกว่าที่ใครจะหวังทำอะไรได้ทั้งสิ้นที่จะรู้ความจริง นอกจากเข้าใจขึ้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย.


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 96

๗. ทุติยอวิชชาสูตร

ว่าด้วยการละอวิชชาได้ วิชชาก็เกิดขึ้น

[๙๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่หรือ.

พ. ดูก่อนภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น เป็นไฉน พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง คืออวิชชาแล ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุรู้อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เธอย่อมรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมเห็นนิมิตทั้งปวง โดยประการอื่น คือเห็นจักษุ โดยประการอื่น เห็นรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น ฯลฯ เห็นใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น ดูก่อนภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น.

จบ ทุติยอวิชชาสูตรที่ ๗

อรรถกถาทุติยอวิชชาสูตรที่ ๗

ในทุติยอวิชชาสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สพฺเพ ธมฺมา ได้แก่ ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด. บทว่า นาลํ อภินิเวสาย ความว่า ไม่ควรถือมั่น คือไม่ควรเพื่อจะยึดถือโดยลูบคลำ. บทว่า สพฺพนิมิตฺตานิ ได้แก่ สังขารนิมิตทั้งหมด. บทว่า อญฺโต ปสฺสติ ได้แก่ ชนที่มีความยึดมั่นอันมิได้กำหนดรู้ ย่อมเห็นโดยประการใด ย่อมเห็นโดยประการอื่นจากประการนั้น. จริงอยู่ ชนผู้มีความยึดมั่นอันมิได้กำหนดรู้ ย่อมเห็นนิมิตทั้งปวง โดยเป็นอัตตา ส่วนผู้ยึดมั่นอันได้กำหนดรู้แล้ว ย่อมเห็นโดยเป็นอนัตตา ไม่เห็นโดยเป็นอัตตา. ในพระสูตรนี้ ตรัสเฉพาะอนัตตลักขณะเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

จบ อรรถกถาอวิชชาสูตรที่ ๗

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

กำจัดความมืดคืออวิชชาด้วยสัมมาทิฏฐิ

อวิชชา เป็นต้นเหตุของกิเลสทุกประเภท

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ฟังเพื่อรู้ความลึกซึ้งของธรรม

ฟังด้วยความเคารพ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 13 ม.ค. 2567

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณยิ่งและยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 9 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ