ความจริงอยู่ไหน ใกล้ที่สุด

 
เมตตา
วันที่  13 ม.ค. 2567
หมายเลข  47262
อ่าน  410

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๖๖

[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าสัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น.


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้า 417

๙. ก็ผู้ใดทุศีล มีใจไม่ตั้งมั่น พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้มีศีล มีฌาน ประเสริฐกว่า (ความเป็นอยู่ของผู้นั้น) .

๑๐. ก็ผู้ใดมีปัญญาทราม มีใจตั้งมั่น พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้มีปัญญา มีฌาน ประเสริฐกว่า (ความเป็นอยู่ของผู้นั้น) .

๑๑. ก็ผู้ใดเกียจคร้านมีความเพียรอันทราม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของท่านผู้ปรารภความเพียรมั่น ประเสริฐกว่าชีวิตของผู้นั้น.

๑๒. ก็ผู้ใดไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่ พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นความเกิดและความเสื่อม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น.

๑๓. ก็ผู้ใดไม่เห็นบทอันไม่ตาย พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นบทอันไม่ตาย ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น.

๑๔. ผู้ใดไม่เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น.

จบสหัสสวรรคที่ ๘.


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 558

อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ เป็นไฉน?

บุคคลบางคนเป็นผู้มีความ เห็นผิด ฯลฯ มีวิมุตติผิดด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นด้วย นี้เรียกว่า อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ.

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 192

[๑๙๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ชักชวนเข้าในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ๑ ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ๑ คนทั้งหมดนั้น ย่อมประสบกรรม มิใช่บุญ เป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว.


อ.อรรณพ: ท่านอาจารย์ก็กล่าวถึงตรงนี้ว่า ชีวิตที่เหลือเพื่อพระธรรม ก็คือท่านอาจารย์ก็มีความตั้งใจมั่นจริงๆ นะครับ อธิษฐานะจริงๆ ตั้งใจมั่นคงที่จะเผยแพร่พระธรรม ดำรงคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นคำอันประเสริฐ ไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่ทั่วโลกไปแล้วนะครับ ไม่ใช่เฉพาะอิเดีย นี่ก็จะไปเนปาล และเมื่อสักครู่ก็กล่าวถึง ปฐมมหานามสูตร ก็ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ครั้งหนึ่งก็ได้ประทับอยู่ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ แล้วก็มีหลายข้อความเกี่ยวกับกรุงกบิลพัสดุ์ด้วย

เพราะฉะนั้น ก็เป็นการได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ แดนพุทธภูมิเมื่อสมัยก่อนก็ยังไม่ได้แยกอินเดียกับเนปาล กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์จะกล่าวถึงการที่จะได้เดินทางไปเผยแพร่พระธรรมที่ประเทศเนปาลด้วยนะครับ ท่านอาจารย์มีอะไรจะเพิ่มเติมจากการที่เราได้จัดการเดินทางครั้งนี้ไปมีบ้างไหมครับ

ท่านอาจารย์: ผลจากการที่เราได้ไปอินเดียนานคราวนี้ ก็ปรากฏว่า เป็นที่รู้กันทั่วไป เพราะฉะนั้น ก็มีชาวเนปาลจากประเทศเนปาลมาฟังการสนทนาธรรมด้วยความสนใจ และก็มีท่านภันเต สุมังคโล ท่านสอนธรรม แต่ว่าท่านสอนปฏิบัติ หรือสมาธิที่ทำๆ กันอยู่

เพราะฉะนั้น พอท่านได้ฟังแล้วท่านรู้เลยว่า ไม่ใช่อย่างที่เคยคิด หรือเคยได้ยินมาทั้งหมด เพราะฉะนั้น ท่านมีความประสงค์ที่จะเข้าใจ และสนทนาธรรมยิ่งขึ้น ผลก็คือว่า จากการที่ท่านได้ความเข้าใจที่ท่านได้ฟังที่อินเดีย ท่านขอเชิญคณะของเราไปสนทนาธรรมที่ประเทศเนปาล จุดประสงค์เพื่อให้มีมูลนิธิศึกษา และเผยแพร่พระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งที่เนปาล ซึ่งขณะนี้เรามีแล้วที่อินเดีย เพราะฉะนั้นเครือข่ายของเราอยู่ในพุทธภูมิ

เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ท่านมีหลานชายคนหนึ่งเป็นผู้ที่สนใจธรรมทั้งสองท่าน คือท่านภันเต สุมังคโล แต่ความจริงท่านเป็นเณรท่านไม่ได้เป็นพระ เพราะฉะนั้น ก็ยิ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ท่านสามารถที่จะติดต่อกับคฤหัสถ์ทำกิจของพระศาสนาได้ตามพระธรรมวินัย เพราะว่า ท่านไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุอุปสมบทที่จะต้องมีการอาบัติถ้าท่านทำผิดกฎ หรืออะไรๆ ของพระภิกษุ

เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่ดีมากที่ท่านรู้จักคนไทยแล้วท่านก็เคยมาเมืองไทย รู้สึกจะศึกษาอยู่ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ดิฉันก็ไม่ค่อยจะแน่นอนเรื่องวันเดือนปีแต่คิดว่าคงประมาณ ๗ ปี ต้องคุยท่านที่รู้จักชีวิตความเป็นมาของท่านดีกว่าช่วยบอกด้วย แล้วท่านเหล่านั้นก็หวั่นเกรงมากว่า ท่านคนไทยทั้งหลายที่ท่านจะไปเนปาลตามคำเชิญของท่านสุมังคโลนะว่าท่านจะทำอย่างไรในเมื่อท่านเคยสอนสมาธิมาแล้ว แต่ปรากฏว่าคำตอบของท่านทำให้โล่งใจ เพราะตอนนั้นคนไทยบางคนอาจจะคิดว่า ก็ไปแต่ก็ไม่ต้องพูดถึงความลึกซึ้ง ไม่ต้องพูดถึงปฏิบัติ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของสมถะ-วิปัสสนา แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่ทำให้คนที่เข้าใจผิดได้พิจารณาไตร่ตรองจนเข้าใจถูก เพราะว่าความเห็นผิดกับความเห็นถูกห่างกันไกลแสนไกลลิบลัถ้าเห็นผิดจะไม่สามารถรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์บำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไหร่ที่จะได้ตรัสรู้สิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ขณะอื่นเลยทั้งสิ้น ทุกขณะในชีวิต ตรัสรู้ธรรมทั้งหมดทั้งปวงตามความเป็นจริงถึงที่สุดโดยประการทั้งปวง ไม่มีใครเปรียบได้เลยในสากลจักรวาล ไม่ใช่แต่เฉพาะในโลกมนุษย์ ความลึกซึ้งไหม อยู่ไหน อยู่ตรงนี้ ถ้าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงตรงนี้ เดี๋ยวนี้ ได้ จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ?

เพราะฉะนั้น คำสอนของพระองค์ทุกคำ จากการที่ไม่รู้เลยตั้งแต่เกิดจนตายมีการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ได้เริ่มรู้ความจริงตามความเป็นจริงทั้งหมดที่มีจริงเดี๋ยวนี้ โดยทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ๓ รอบในอริยสัจจ์ ๔ ให้ได้รู้ความจริงว่า นี่ ความจริงเป็นอย่างนี้ ความจริงอยู่ไหน ใกล้ที่สุด คือที่ตัวของทุกคน เกิดมาแล้วมีใครรู้จักตัวเองบ้าง? รู้ถึงที่สุดโดยประการทั้งปวงว่า เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

เพราะฉะนั้น กว่าใครก็ตามที่จะเห็นความลึกซึ้งที่ติดข้องด้วยความไม่รู้เลยมานานเท่าไหร่เกินแสนโกฏิกัปป์ ที่จะยึดถือเห็นว่าเป็นเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเราทั้งหมดตั้งแต่ลืมตา หลับตา ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ให้รู้ความจริงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร? สามารถที่จะตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ทุกคำ ที่พระองค์ตรัสใช่ไหม ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่คิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมให้รู้ความจริงที่กำลังมีทุกขณะ คนนั้นรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า?

ด้วยเหตุนี้ ท่านสุมังคโล ท่านก็เต็มใจอย่างยิ่งที่จะให้คณะของเราที่จะได้ไปสนทนาธรรมที่อินเดียได้ไปสนทนาธรรม และมีมูลนิธิศึกษา และเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เนปาล เห็นความน่าอัศจรรย์ของพระธรรมไหม สามารถเปลี่ยนจากความเห็นผิดเป็นความเห็นถูกได้โดยไม่หวั่นไหว เพราะท่านตอบว่า สิ่งใดจริงก็ต้องรับตามความเป็นจริง สมควรอย่างยิ่งที่จะมีมูลนิธิศึกษา และเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เนปาล เพราะที่กรุงเทพมี แล้วก็มีที่อินเดีย แล้วก็มีที่เนปาล.

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ความเข้าใจเรื่องสมาธิ

เห็นภัยความเห็นผิด

คำที่ทำให้พ้นจากความเห็นผิด

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

นั่งสมาธิเพื่ออะไร

ผู้นั่งสมาธิ กับ การเจริญสติปัฏฐาน


[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 456

๗. ปฐมสุริยูปมสูตร

(ว่าด้วยสิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนการตรัสรู้อริยสัจ)

[๑๗๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่จะขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อนแห่งการตรัสรู้อริยสัจจ์ ตามความเป็นจริง คือ สัมมาทิฏฐิ ฉันนั้นเหมือนกัน อันภิกษุผู้มีความเห็นชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีฏิปทา.
จบปฐมสุริยูปมสูตรที่ ๗


กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 14 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ คุณเมตตา และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Wisaka
วันที่ 15 ม.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 9 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ