เพราะรู้ความลึกซึ้งขึ้นจึงละความหวัง
สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๗
อ.ณภัทร: ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดครับท่านอาจารย์ หลายๆ ท่านก็ได้ฟังธรรมมาหลายสิบปี อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าว แล้วก็ได้ฟังเพิ่ม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ก็แล้วแต่ความบ่อยของแต่ละบุคคลที่ได้ฟัง แต่ประโยชน์ คือความเข้าใจที่ได้ฟัง
เพราะฉะนั้น กราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ธรรมมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ว่าด้วยความที่ปัญญายังน้อย ยังไม่เห็นการเกิดดับจริงๆ แต่ว่าได้ฟังว่า ธรรมมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็เกิดดับ เพียงเกิดแล้วดับ ความที่จะได้ฟังแบบนี้จะเป็นปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้ความเข้าใจค่อยๆ เข้าใจขึ้นในความเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริงอย่างไรครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: ฟังมาตั้งนานไม่ประจักษ์การเกิดดับเสียที เห็นความลึกซึ้งไหม หรือว่าทำไมยากอย่างนี้ เมื่อไหร่จะรู้
อ.ณภัทร: เป็นสิ่งที่ยากครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ละความหวังไหม?
อ.ณภัทร: ละความหวังครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: เพราะรู้ความลึกซึ้ง ยิ่งรู้ยิ่งลึก จึงจะหมดหวังทีละน้อยๆ เรื่อยๆ
อ.ณภัทร: เพราะฉะนั้น การที่ได้ฟังอย่างนี้ ได้ฟังเรื่องเห็นไม่เที่ยง ได้ยินไม่เที่ยง สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ได้ฟังอย่างนี้บ่อยๆ ความเข้าใจที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยๆ ที่จะค่อยๆ เข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน จะเป็นอย่างไรที่จะไม่เป็นการคิดเองครับ แต่เป็นปัญญาที่เข้าใจจริงๆ
ท่านอาจารย์: ทุกคนฟังเหมือนกัน เข้าใจทุกคำเหมือนกัน แต่ความแยบคายความละเอียดความลึกซึ้งต่างกันใช่ไหม?
อ.ณภัทร: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น คนที่ฟังแล้วหวังว่า ถ้าเข้าใจขึ้นๆ ก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ กับคนที่ยิ่งฟังยิ่งเห็นความลึกซึ้ง ยิ่งละความคิดที่จะไปประจักษ์แจ้งเพราะรู้ว่ายังไม่ถึง ต่างกันไหม? แต่ผิดกันนิดเดียว ต่างกันแล้วในเหตุในผล และในหนทาง นี่คือความลึกซึ้งอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้น ปริยัติ ก็ต้องรู้ว่า สามรอบ คือแม้แต่การที่จะเข้าใจธรรมที่เป็นหนทางที่จะรู้ความจริงที่จะละจะวางก็ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ต้องมั่นคงในความไม่มีเรา ไม่ใช่เรา เป็นธรรมละเอียดลึกซึ้ง อันนี้ที่จะมั่นคงจึงจะละได้ แต่ถ้าไม่มั่นคงในความลึกซึ้งขึ้น ไม่มีหนทางละ
อ.ณภัทร: ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ความมั่นคงในความเป็นธรรมจะมั่นคงขึ้นด้วยการเข้าใจขึ้นๆ อย่างนั้นใช่ไหมครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: ในความลึกซึ้งขึ้น เพราะรู้ความลึกซึ้งขึ้นจึงละความหวังไปเรื่อยๆ ยิ่งรู้ยิ่งลึกยิ่งละ ไม่ใช่ฟังแล้วหวัง มัวแต่หวังว่าเราเข้าใจแล้ว ต่อไปอีกไม่นานก็คงจะค่อยๆ รู้ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย นั่นตัวตนที่แอบแฝงอยู่ในสังสารวัฏฏ์มาตลอด ถึงต้องเป็นอริยสัจจะที่ ๒ ที่จะต้องรู้
อ.ณภัทร: กราบท่านอาจารย์ ดังนั้น ที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ชีวิตประจำวันเป็นเครื่องทดสอบปัญญา ก็ขอความละเอียดท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: วันนี้คิดอย่างไร หวังที่จะละวางอะไรบ้างหรือเปล่า หรือเป็นปกติ?
อ.ณภัทร: เป็นปกติที่ไม่ได้ละวางอะไรเลยครับ
ท่านอาจารย์: แล้วหวังว่าจะละวางไหม?
อ.ณภัทร: ก็ไม่ได้หวังครับ
ท่านอาจารย์: เพราะอะไร?
อ.ณภัทร: เพราะเริ่มเข้าใจทีละน้อยครับ
ท่านอาจารย์: ว่าหวังไม่ได้ ค่อยๆ ละความหวังใช่ไหม?
อ.ณภัทร: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: แต่ถ้าเพียงรู้แค่นี้ไม่พอ เพราะเหตุว่า ก็ยังคงหวังอยู่ที่ว่า หนทางนี้ ก็คือปกติ และก็อาจจะค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ความเข้าใจในความลึกซึ้งอย่างยิ่ง จนกระทั่งไม่สามารถที่จะปิดกั้นความลึกซึ้งนั้นได้จึงสามารถที่จะประจักษ์ความจริงตรงตามที่ได้ฟัง เพราะไม่ใช่คำที่ คิด แล้วไม่ประจักษ์แจ้งหรือเปล่า แต่เป็นคำที่จากการที่ได้ตรัสรู้ความจริงถึงที่สุดอย่างนี้ ซึ่งเมื่อตรัสรู้แล้วก็รู้ว่ายากลึกซึ้ง แต่สามารถที่จะรู้ได้ จึงทรงแสดงพระธรรมให้ทุกคนได้เห็นในความละเอียด ถ้าไม่เห็นความละเอียด ก็เพราะความเป็นเรานั่นแหละบังไว้
อ.ณภัทร: ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาอย่างเดียวครับ ไม่มีอย่างอื่น เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจก็หลงไปหาหนทางอื่นแล้วก็ปฏิบัติผิดด้วยความไม่รู้ครับ
ท่านอาจารย์: นี่คืออริยสัจจะที่ ๔ เห็นไหม กว่าจะละวางด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่เราไปละวาง ละวางเพราะเห็นความลึกซึ้ง ถ้าไม่เห็นความลึกซึ้งจะละวางหรือ? ก็เพียรไปผิดๆ หวังไปผิดๆ
ขอเชิญอ่านได้ที่ ...
ความวุ่นวาย เดือดร้อน ทำทุจริตกรรม เพราะไม่รู้ความจริงว่าไม่มีเรา
ขอเชิญฟังได้ที่ ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ