ด้ามมีด คืออวิชชาและความต้องการ

 
เมตตา
วันที่  15 ก.พ. 2567
หมายเลข  47399
อ่าน  375

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๔๘

๙. นาวาสูตร

[๒๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือ หรือรอยหัวแม่มือของช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้ ย่อมปรากฏ ด้ามมีดให้เห็น แต่ว่าช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่า วันนี้ ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ วานนี้สึกไปเท่านี้ วานซืนนี้สึกไปเท่านี้ มีความรู้แต่เพียงว่า ด้ามมีดนั้นสึกๆ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่มีความรู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปเท่านี้ วานนี้สิ้นไปเท่านี้ วานซืนนี้สิ้นไปเท่านี้ ก็จริง แต่เธอก็รู้ว่าสิ้นไปแล้วๆ


จาก อ.คำปั่น

สนฺโต ภาโว = สภาโว

(สิ่งที่เป็นจริง มีจริงๆ ชื่อว่า สภาวะ ซึ่งก็คือ สภาพธรรมหรือสภาวธรรม นั่นเอง)

และ คำว่า ภาวะ โดยศัพท์ หมายถึง ความเป็น ซึ่งก็คือ สภาพที่มีอย่างนั้น สภาพที่เป็นจริงอย่างนั้น สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เพราะสภาพธรรม ก็ไม่พ้นไปจาก ความเป็นจริงของธรรมแต่ละอย่างๆ นั่นเอง ครับ


อ.ณภัทธ: เมื่อกี๊ได้ยินคำว่า ภาวะหนึ่ง ภาวะหนึ่งนี่ก็ต้องสั้นแสนสั้น กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ในขั้นการฟังมีการพิจารณาในสิ่งที่ได้ฟังมาแล้ว จะเป็นรูปก็ดีจะเป็นนามก็ดีที่เป็นภาวะหนึ่ง จะมีความแตกต่างอย่างไรกับปัญญาที่รู้ภาวะหนึ่ง กับการที่คิดพิจารณาในความเป็นภาวะหนึ่งครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เห็น เกิด ดับ จริงไหม?

อ.ณภัทธ: เห็นเกิด เห็นดับ จริงครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: นั่นแหละ ภาวะของเห็นหนึ่ง

อ.ณภัทธ: ไม่ต้องไปคิดพิจารณาว่าอย่างนี้เรียกว่าเห็นเกิด หรือว่าเห็นดับ จะมีความแตกต่างกับปัญญาที่รู้ในความเกิดดับ

ท่านอาจารย์: เพราะว่า เดี๋ยวนี้ เห็นเดี๋ยวนี้เกิดดับหรือเปล่า?

อ.ณภัทธ: เกิดดับครับ

ท่านอาจารย์: แล้วรู้ความจริงที่กำลังเกิดดับหรือเปล่า?

อ.ณภัทธ: ยังไม่รู้ ท่านอาจารย์ถามว่า เห็นเกิด เห็นดับ นั่นคือภาวะหนึ่ง แต่ว่าด้วยความรวดเร็วของการเกิดดับครับ ยังไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นภาวะหนึ่งครับ

ท่านอาจารย์: แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เห็นไม่ใช่ได้ยินใช่ไหม?

อ.ณภัทธ: เข้าใจได้ครับ

ท่านอาจารย์: ก็เริ่มมีความเข้าใจถูกต้องว่า เห็นเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ แม้ขณะนี้ก็ดูเหมือนทั้งเห็นทั้งได้ยิน แต่ความจริงต้องจริง ถ้ายังเห็นอยู่ ได้ยินไม่ได้

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ยิน ขณะนั้นเห็นต้องดับแล้วถูกไหม?

อ.ณภัทธ: ถูกต้องครับ ดังนั้น การที่ความเข้าใจจะค่อยๆ ตรงขึ้นๆ ของลักษณะที่เป็นภาวะ ก็ต้องเริ่มจากการพิจารณาไปก่อนใช่ไหมครับ ที่จะค่อยๆ ตรงขึ้นๆ ครับ

ท่านอาจารย์: ขณะนั้น ละ อะไรหรือเปล่า?

อ.ณภัทธ: ละ ความเห็นที่เคยเห็นว่าเป็นตัวเราครับ

ท่านอาจารย์: ถ้ากำลังทำอย่างนั้น คิดอย่างนั้น ละอะไรหรือเปล่า?

อ.ณภัทธ: ถ้าทำอย่างนั้นก็ด้วยความเป็นตัวเราครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้ละอะไรใช่ไหม?

อ.ณภัทธ: ครับ แต่การเจริญขึ้นของปัญญาที่จะถูกต้อง แล้วก็ตรงก็ต้องเริ่มจากการไตร่ตรองพิจารณา เพราะว่าไม่สามารถที่จะรู้ตรงจริงๆ เลย เป็นปัญญาที่ชัดจริงๆ ครับ

ท่านอาจารย์: พิจารณาแล้วเข้าใจว่าอย่างไร?

อ.ณภัทธ: พิจารณาสภาพที่เห็น ว่า เป็นธาตุรู้อย่างไร เห็นทางตา ได้ยินทางหู ธาตุรู้มีความแตกต่างกันอย่างไรครับท่านอาจารย์ เป็นต้นครับ

ท่านอาจารย์: เพื่ออะไร?

อ.ณภัทธ: เพื่อรู้ในความเป็นธาตุรู้ว่า ไม่ใช่เราครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า เพื่อรู้ในความจริงว่า ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น เป็นเรามานานเท่าไหร่ กว่าจะค่อยๆ รู้ว่า ไม่ใช่เราแต่ละหนึ่งๆ ละเอียดขึ้นเพิ่มขึ้นจนถึงการประจักษ์แจ้งได้

เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ตรงตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้ที่กำลังฟัง เราเต็มหมดเลย แต่ว่าขณะนั้นก็ยังมีความเข้าใจที่เกิดแทรก เกิดแทรกเพราะขณะนี้ทุกอย่างเหมือนพร้อมกันหมด แต่ถ้าไม่มีการฟังไม่มีการไตร่ตรอง ความเข้าใจก็จะเกิดแทรกที่กำลังเห็นตลอดเวลานี้ไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจในความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรม ซึ่งเกิดดับรวดเร็วสุดที่จะประมาณได้ รวมกันหมดจนเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

เพราะฉะนั้น การที่จะละความเป็นเราได้ ต้องมีความมั่นคงที่จะต้องรู้ว่า เพื่อจะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา เพราะรู้ว่าเป็นอะไร แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็เป็นเรา จนกว่าจะค่อยๆ รู้เมื่อไหร่ก็ค่อยๆ ละความเป็นเราซึ่งสะสมมานานแสนนาน และรู้ว่าหนทางเดียว คือหนทางนี้แหละ ขณะที่กำลังเริ่มค่อยๆ รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร จึงจะค่อยๆ รู้ว่า ไม่ใช่เรา

อ.ณภัทธ: ดังนั้น ความเข้าใจที่เกิดแทรกที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวก็เหมือนการจับด้ามมีด แต่ละครั้งๆ ที่เกิดแทรกแล้วสามารถที่จะชัดเจนได้ในวันหนึ่งเมื่อความสมบูรณ์ของปัญญาพร้อมอย่างนั้นใช่ไหมครับ

ท่านอาจารย์: แต่ต้องไม่ลืมว่า ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ได้มากมายทันที แต่ว่าทุกครั้งที่ได้ฟังแล้วเข้าใจ นั่นคือหนทาง กำลังจับด้ามมีดเพื่อที่จะให้ด้ามมีด คืออวิชชา และความต้องการค่อยๆ คลายลงลดน้อยลง.

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ทรงอุปมาการเจริญสติปัฏฐานว่า เหมือนกับการจับด้ามมีด

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

สิ่งที่มีจริงเกิดดับรวดเร็ว -พฐ.120

จนกว่าจะสละความเป็นเราได้ทั้งหมด

การขัดเกลากิเลสเหมือนการจับด้ามมีด

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ