สนทนาธรรมเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง

 
เมตตา
วันที่  20 ก.พ. 2567
หมายเลข  47419
อ่าน  307

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 334

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุพึงตั้งใจว่าเราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑ เราจักแสดงอ้างเหตุผล ๑ เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑ เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑ เราจักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น ๑ แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น.

จบอุทายิสูตรที่ ๙


เรื่อง เหตุให้เกิดปัญญา ด้วยการ สอบถาม สนทนา

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้าที่ 298

ข้อความบางตอนจาก ปัญญาสูตร

เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัวความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้งและบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.


อ.อรรณพ: ผมก็ไม่ทราบว่า ผู้ที่ได้รับฟังการสนทนาทางวิทยุ มก.เมื่อเช้านี้ แต่ละคนจะคิดอย่างไร? เพราะอาจจะคิดว่า ก็เราก็เป็นคนพุทธ เราก็ไปวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม ไปทำบุญ และนี่ก็เป็นขนมธรรมเนียมประเพณีมาอยู่แล้ว ไฉนจะต้องเหมือนว่า จะต้องมาละเอียดไปหมดในแต่ละคำ เช่น คำว่า วัดคืออะไร? ภิกษุคืออะไร? ภิกษุคือผู้ที่มีศรัทธา แล้วศรัทธาคืออะไรอีกล่ะ อะไรอย่างนี้ครับ จนกระทั่งท่านอาจารย์กล่าวถึง ธรรม ต้องเข้าใจก่อนที่จะไปเข้าใจ คำว่า ปรมัตถธรรมอีกเยอะ เหมือนเป็นว่า อันนี้เป็นคำกล่าวสนทนาที่ท่านอาจารย์สนทนาเป็นประโยชน์มาก ถ้าผู้ฟังได้ไตร่ตรองได้ว่า หยุด คิดไตร่ตรองจริงๆ กราบเท้าท่านอาจารย์มากๆ เลยครับ เพราะว่า เห็นในความละเอียด และความตรงนี่ คืออย่างไร และจะค่อยๆ มีความละเอียด และค่อยๆ ตรงขึ้นอย่างไร คือเห็นประโยชน์มากในความละเอียดและตรง กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร อุตส่าห์ไปวัด อุตส่าห์ทำอะไรตั้งหลายอย่างเยอะเยะ แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร เพราะเหตุว่านับถือพระองค์ใช่ไหม กราบไหว้ใช่ไหม แล้วพระองค์คือใคร ต้องตรงใช่ไหม? รู้จักพระองค์หรือยัง รู้จักพระองค์หรือเปล่า รู้จักพระองค์มากน้อยแค่ไหน หรือไม่รู้จักความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า?

อ.อรรณพ: นี่ครับ คือถ้าไม่ละเอียด ก็ตรงไม่ได้ คือไม่ละเอียด เราก็ผิวเผิน และเราก็คิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างนี้ แล้วเราก็มีวัด และก็มีสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็ไปทำบุญ ไปถือศีล อะไรต่ออะไร แล้วเราก็คิดว่า นี่แหละ คือชีวิตของชาวพุทธแล้ว จะมีอะไรกว่านี้อีก เดี๋ยวถ้าฟังไปแล้ว อ้าว! ท่านอาจารย์พยามยามจะให้ได้ไตร่ตรองได้เข้าใจในแต่ละคำ เพื่อจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามชื่อของการสนทนา แต่จริงๆ ก็คือสิ่งที่สมควรที่สุด คือรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบเท้าท่านอาจารย์ แล้วความละเอียด และความตรงจะเกิดขึ้นได้อย่างไรครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ฟังแล้วต้องไตร่ตรองไม่ใช่ผ่านไปเลย รู้จักหรือไม่รู้จัก ไม่สนใจ เห็นไหม แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่พอได้ยินว่า รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง? แค่นี้ ฉุกคิดแล้วใช่ไหม ไตร่ตรองแล้วใช่ไหม ทำไมมีคำถามนี้ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า? รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายัง? รู้จักพระสัมมาสัมพุทธจริงหรือ? เห็นไหม คิดได้นี่ ใครถามอะไรมาเพื่อที่จะให้ไตร่ตรอง ไม่ใช่ให้ตอบโดยไม่คิดเลย ถ้าอย่างนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น การสนทนาธรรมเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งถึงให้รู้ความจริง จะยังคงไม่รู้ความจริงต่อไป หรือว่าเห็นสมควรที่จะต้องรู้ความจริง จะยังคงไม่รู้ความจริงต่อไป หรือว่าเห็นสมควรที่จะต้องรู้ความจริง เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงมิใช่หรือ? ให้ใครรู้ ให้เรารู้มิใช่หรือ?

เพราะฉะนั้น เราจะไม่รู้หรือ แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีประโยชน์แก่เราอย่างไร? ต้องรู้ว่า สมควรไหมที่ถึงเวลาที่เราเริ่มจะเป็นผู้ที่ไตร่ตรองเข้าใจทั้งหมดทั้งสิ้นตั้งแต่เกิดจนตาย พูดคำอะไร และเข้าใจคำนั้นหรือเปล่า? ตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติมืดสนิทในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะมีคำของผู้ที่ได้ตรัสรู้ ทรงแสดงความจริงซึ่งถูกปกปิดไว้มืดสนิทมานานเท่าไหร่ คิดดู ลึกเท่าไหร่ กว่าจะค่อยๆ รู้ความจริงทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถที่จะถึงการประจักษ์แจ้งความจริงเป็นสาวกตามลำหรับขั้น

พระองค์ทรงแสดงธรรมให้คนอื่นได้เข้าใจ ไม่ใช่ให้ไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ให้ไม่เข้าใจ ไม่ใช่ให้ทำตาม แต่ให้เข้าใจความจริง เพราะฉะนั้น ความเข้าใจมีจริงๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เป็นเราไปตลอด แล้วรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ?

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

มีใครทำอะไรได้บ้าง ..จากการสนทนาธรรมที่พุทธคยา

ระลึกถึงผู้ที่จากไป คุณชมเชย ด้วยการสนทนาธรรม

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

วิหารธรรมของอริยสาวกผู้ทราบชัดในพระศาสนา


[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 76

๖. ธรรมกถิกสูตร

ว่าด้วยคุณธรรมของพระธรรมกถึก

[๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า ธรรมกถึก ธรรมกถึก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าธรรมกถึก.

[๔๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก.

ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.

ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน.

ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชาติ ... ภพ ... อุปาทาน ... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ... สังขาร ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก.

ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.

ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน..

จบธรรมกถิกสูตรที่ ๖

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในความดีของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ