วัด ที่นำมาซึ่งความยินดีในอะไร?
สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 23
ปฐมปัณณาสก์
นาถกรณวรรคที่ ๒
๑. เสนาสนสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ พึงสิ้นอาสวะในเวลาไม่นาน
[๑๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่คบอยู่ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ๑ เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร ๑ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริง ในศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ เป็นวิญญู ๑ ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยัง กุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ๑ เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้น
ทุกข์โดยชอบ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในธรรมวินัยนี้ อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก สมบูรณ์ด้วยทางไปมา กลางวันไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง ปราศจากเสียงอึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดดและสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อย ๑ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแห่งคนไข้ ย่อมเกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น ๑ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเถระ เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะนั้น ๑ ภิกษุนั้นเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้นตามกาลอันสมควร แล้วย่อมสอบถาม ไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร ๑ ท่านพระเถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมทำให้ง่ายซึ่งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย ย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยแก่ภิกษุนั้น ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่คบอยู่ซึ่งเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก ก็พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่.
จบเสนาสนสูตรที่ ๑
พ ระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 602 ข้อความบางตอนจาก กัลยาณสูตร
ว่าด้วยศีลงาม ธรรมงาม ปัญญางาม
[๒๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศีล มีธรรมงาม มีปัญญา
งาม เรากล่าวว่า เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นบุรุษผู้
สูงสุดในธรรมวินัยนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศีลงามอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัย
นี้ เป็นผู้มี่ศีล สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ
และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศีลงามอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีศีล
งามด้วยประการดังนี้.
ภิกษุ เป็นผู้มีธรรมงามอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเนืองๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีธรรมงามอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงามด้วยประการดังนี้ ภิกษุเป็นผู้มีปัญญางามอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีปัญญางามอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม มีปัญญางาม ด้วยประการนี้ เรากล่าวว่า เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นบุรุษสูงสุดในธรรมวินัยนี้.
อ.อรรณพ: ก็ฟังท่านอาจารย์กล่าวเรื่องนี้มา ก็ตัดต่อกันมาเป็นคลิปเสียงท่านอาจารย์ ที่จะได้เตือนใจพวกเราตลอดชีวิตว่า งาม คือปัญญา งาม คือความเห็นถูกเข้าใจถูก ท่านอาจารย์ก็กล่าวไพเราะมากเลยว่า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำ เป็นคำที่ทำให้งามเป็นคำที่ทำให้ผู้ที่สะสมความเห็นประโยชน์ ก็จะเกิดความงามที่เคยสะสมไว้บ้างในอดีตให้ความงามนั้นเกิดขึ้น คือความงาม คือความเข้าใจ ตั้งแต่งามในเบื้องต้น คือฟังเข้าใจที่เป็นขั้นปริยัติ เห็นเลยครับท่านอาจารย์ มิเช่นนั้น เราไม่มีปัญญาไม่มีความเข้าใจ เราก็คิดว่า อันโน้นงาม อันนี้งาม วัดนี้เป็นวัดที่งาม ศิลปะสวยงามมากเลย เป็นวัดที่ร่มรื่น เป็นวัดที่ดูมีระเบียบ ดูมีสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เราเข้าไปแล้ว เรารู้สึกว่า บรรยากาศก็ร่มรื่น ปลูกต้นไม้ไว้งดงาม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมก็งาม แล้วก็ได้ไปทำในสิ่งที่เราคิดว่า ดีงาม ซึ่งก็ต้องมีส่วนที่เป็นกุศลอยู่จริงนะครับ แต่ที่จะงามจริงๆ แล้วจะปรุงแต่งให้กุศลความดีงามต่างๆ เจริญขึ้น ไพบูลย์ขึ้น ถ้าไม่มีความเข้าใจก็ไม่งามนะครับ
ผมก็ไหนๆ เมื่อเช้าท่านอาจารย์ก็กล่าวถึง คำว่า วัด ผมอยากจะเรียนสนทนากับ อ.คำปั่นสักนิดหนึ่งครับ เพื่อจะได้เห็นว่า ความละเอียดใน คำว่า วัด และความตรงต่อความเป็นจริงของวัด วัด หรืออาราม คือะไร ตั้งแต่ความหมายของศัพท์ แล้วก็ในความลึกซึ้งจริงๆ แม้คำเดียวว่า วัด พูดทำไมว่า วัดคืออะไรนะครับ ความลึกซึ้งของ คำว่า วัด คืออะไร? ตั้งแต่ภาษาบาลี คำว่า อาราม เชิญ อ.คำปั่น
อ.คำปั่น: ก็เห็นถึงความละเอียด และก็เห็นถึงความเมตตาของท่านอาจารย์ที่จะให้ผู้ฟังได้เป็นผู้ที่ได้ไตร่ตรองจากคำที่ได้ยินได้ฟัง แต่ก่อนก็จะมีการคิดเองนะครับ แต่พอได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งก็ต้องเป็นผู้ที่เริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงจะมีความเข้าใจว่า วัด หรืออารามะ ในภาษาบาลีคืออะไร ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นเพราะว่า ได้ยินได้ฟัง คำจริง ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงครับ
แม้แต่ตัวกระผมเองก็ยอมรับครับว่า เคยผ่าน คำว่า อารามะ มา แต่ว่าไม่มีความละเอียดเลยว่า จริงๆ คืออะไรครับ ก็เริ่มไตร่ตรองก็ต่อเมื่อได้ฟังคำจริงที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวจริงๆ นะครับ
ซึ่งคำว่า อาราม คือสถานที่เป็นที่มายินดี มายินดีด้วยคุณธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในอารามนั้น ก็คือเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น อันดับแรกที่จะเป็นที่มายินดีได้ ก็คือเป็นที่มายินดีของผู้ที่เป็นบรรพชิต คือผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนออกบวชอยู่ในเพศที่สูงยิ่ง แล้วที่ที่เป็นที่มายินดีนั้นก็ต้องเป็นที่เหมาะควรอย่างยิ่งสำหรับเพศบรรพชิต ซึ่งกระผมก็ซาบซึ้งมากเลยในพระมหากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ในคำบรรยายของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวได้ยกข้อความในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงที่อยู่ที่เหมาะควรของผู้ที่เป็นบรรพชิตครับ ซึ่งก็จะมีข้อความปรากฏในเสนาสนสูตร ว่า ที่พัก หรือเสนาสนะที่อยู่อาศัยของเพศบรรพชิตประกอบด้วยองค์ ๕ ซึ่งตรงนี้จะแสดงให้เห็นเลยว่า จริงๆ ผู้ที่อยู่ตรงนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจพระธรรม ซึ่งจะเป็นที่อาศัยให้กับผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงตามลำดับว่า ที่พัก หรือเสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยของเพศบรรพชิตนี่ครับ ประกอบด้วยองค์ ๕ คืออะไรบ้าง
ประการแรก ก็คืออยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก สมบูรณ์ด้วยทางไปมา กลางวันไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง ปราศจากเสียงอึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผ้สแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อย นี่คือประการที่ ๑
ประการที่ ๒ ก็คือมีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรคเกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองแก่ภิกษุผู้อาศัยอยู่ในเสนาสนะนั้น นี่คือประการที่ ๒
สำหรับประการที่ ๓ ๔ ๕ ชัดเจนมากเลยครับว่า ภิกษุทั้งหลายที่เป็น เถระ ผู้เป็นพหูสูตร ที่มีความชำนาญในธรรมอันลึกซึ้ง ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ย่อมอยู่ในเสนาสนะนั้น นี่คือประการที่สำคัญมากครับ ต่อไปนะครับ ภิกษุนั้นเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้นตามกาลอันควรแล้ว ย่อมสอบถาม ย่อมไตร่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร นี้คือประการที่ ๔ แล้วก็ประการสุดท้ายประการที่ ๕ ก็คือพระเถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมทำให้ตื้นซึ่งข้อความที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น ย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยให้กับภิกษุรูปนั้น
พระองค์ก็ตรัสสรุปครับว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้แล กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ เห็นเลยครับท่านอาจารย์ว่า อารามะ ที่จะเป็นที่มายินดีจริงๆ ก็ต้องด้วยมีผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็เป็นที่พึ่งให้กับผู้ที่เข้ามาอยู่ในอารามะนั้น ที่จะได้ฟัง ได้ศึกษา มีความเข้าใจในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงครับ กราบเท้าท่านอาจารย์ในความละเอียดตรงนี้ด้วยครับ
ท่านอาจารย์: เพิ่งรู้จักความหมายของ คำว่า อารามะ เป็นที่มายินดีเมื่อเข้าใจความจริงสำคัญที่สุด ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง ยินดีเพลิดเพลินในสิ่งอื่น แต่ไม่ใช่ยินดีในความถูกต้องในความเข้าใจถูกในความจริง อะไรจะงามกว่ากัน อะไรจะน่ายินดีกว่ากัน อยู่ในโลกด้วยความพอใจสิ่งนั้นสิ่งนี้ตลอดเวลา ไม่ได้มีความเข้าใจความจริงของสิ่งนั้น แล้วจะยินในความจริงไหม ในเมื่อไม่มีความเข้าใจ?
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดของความยินดีต้องในทางที่สามารถรู้ความจริงได้ จึงยินดีที่ได้รู้สักที เพราะไม่รู้มานานเท่าไหร่ และเริ่มรู้ค่อยๆ เข้าใจ ยินดีในความเข้าใจที่นำมาซึ่งสิ่งที่ถูกต้องกำลังปรากฏความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร ถ้าไม่รู้จะยินดีไหม? แต่ก็เพลิดเพลินไปในทางที่ผิด ยินดีในสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ แต่ว่า ถ้าเป็นปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงแท้ ความยินดีในความจริงสักแค่ไหนที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยในความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ที่ใดก็ตามที่เป็นสถานที่ที่น่ายินดี ต้องน่ายินดีในความจริงที่พระสัมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้คนอื่นสามารถรู้ตามได้ พระองค์ตรัสรู้แล้ว แล้วคนอื่นยังไม่รู้ แต่เขาสามารถรู้ได้ ในขณะที่กำลังรู้ นั่นยินดีแค่ไหน เป็นที่น่ายินดีแค่ไหน? เป็นที่มาซึ่งความยินดีในความยินดีอื่นใดทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ต้องรู้นะ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่เหมาะสมด้วยสิ่งต่างๆ ข้างต้น ก็เพราะว่า เป็นที่ๆ นำมาซึ่งความยินดี ถ้าที่ต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความน่ายินดี จะเป็นที่นำมาซึ่งความยินดียิ่งในความเป็นจริงได้หรือ? ก็นำมาซึ่งความหลง ยินดีในสิ่งที่ไม่น่ายินดีซึ่งไม่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น ต้องรู้นะ วัดที่นำมาซึ่งความยินดีในอะไร? ในความเข้าใจความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงในความลึกซึ้งอย่างยิ่ง จนผู้นั้นสามารถที่จะรู้ความลึกซึ้ง สามารถที่จะประจักษ์แจ้ง และยินดีที่ได้รู้ความจริงที่ลึกซึ้ง จึงเป็นอารามะ ไม่ใช่ยินดีอย่างอื่นเลย
เพราะฉะนั้นต้องรู้จัก วัดคืออะไร? ใครอยู่ที่วัด? อยู่เพื่ออะไร? มิเช่นนั้น วัดจะไม่ใช่ที่น่ายินดี นำมาซึ่งความยินดีในการเข้าใจสิ่งที่ยินดีเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดในสังสารวัฏฏ์
ขอเชิญอ่านได้ที่ ...
อย่างไรจึงจะชื่อว่า วัดในพระพุทธศาสนา
ขอเชิญฟังได้ที่ ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ