เป็นมิตรแท้ที่หวังดี

 
เมตตา
วันที่  26 ก.พ. 2567
หมายเลข  47514
อ่าน  229

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 85

กถาว่าด้วยมิตรแท้

[๑๙๓] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ ท่านพึงทราบว่า เป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ ๑ เมื่อกิจที่ จำต้องทำเกิดขึ้น เพิ่มทรัพย์ให้สองเท่า ๑ ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรมีอุปการะท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

[๑๙๔] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ บอกความลับแก่เพื่อน ๑ ปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย ๑ แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

[๑๙๕] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ ห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรแนะประโยชน์ ท่านพึงทราบว่า เป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล

[๑๙๖] ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ๑ ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน. ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน ๑. ดูก่อนคฤหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ ท่านพึงทราบว่าเป็นมิตรแท้ โดยสถาน ๔ เหล่านี้แล


อ.คำปั่น: ท่านอาจารย์ครับ ไพเราะอย่างยิ่ง ยินดีที่ได้เข้าใจความจริง จากที่ไม่เคยได้เข้าใจมาก่อน ก็ได้เข้าใจเสียที ชัดเจนมากๆ เลยครับท่านอาจารย์ ที่ตรงนั้นต้องเป็นที่เป็นเหตุที่จะเกื้อกูลให้ได้เข้าใจความจริงตรงตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาศัยอยู่ที่ตรงนั้น จึงจะเป็นที่ที่มายินดี ควรแก่การยินดีด้วยความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมครับท่านอาจารย์ ชัดเจนอย่างยิ่งกับ คำว่า อารามะ กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาได้ ตรงต่อความเป็นจริง ไปไหน? ถูกหรือผิด? การกล่าวให้เข้าใจความจริง เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ?

อ.คำปั่น: เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลยครับ ได้เข้าใจชัดเจนเลยครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: เป็นมิตรแท้ที่หวังดีใช่ไหม ไม่ได้หวังร้ายให้คนอื่นไม่รู้ความจริง แล้วก็เข้าใจผิด

อ.คำปั่น: เป็นมิตรที่หวังดีอย่างยิ่ง เกื้อกูลประโยชน์ให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ให้พ้นจากความเห็นผิดครับ

ท่านอาจารย์: สมควรไหม ที่จะศึกษาพระธรรม เข้าใจความลึกซึ้ง และก็รู้ความจริงซึ่งน่ายินดีเท่าไหร่ที่ได้เข้าใจได้รู้ความจริงได้ เพราะลึกซึ้งอย่างยิ่ง

อ.คำปั่น: สมควรอย่างยิ่งครับที่จะได้ศึกษาพระธรรมเพื่อค่อยๆ สะสมความเข้าใจไป จากการได้อาศัย คำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงซึ่งยากที่จะได้ฟัง และยากที่จะเข้าใจ แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ ก็เป็นผู้เห็นประโยชน์ที่จะได้เข้าใจความจริงครับ

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

มิตรดีเป็นนิมิตแห่งอริยมรรค [ปฐมกัลยาณมิตตสูตร]

กุศลจิต ... มิตรแท้

มิตรแท้ คือ ผู้หวังดี

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ฟังเพื่อรู้ความลึกซึ้งของธรรม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 26 ก.พ. 2567

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ -หน้า 121

๗. ทุติยเสขสูตร

ว่าด้วยความมีมิตรดี

[๑๙๕] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่พิจารณาเห็นแม้เหตุอันหนึ่ง อย่างอื่น การทำเหตุที่มี ณ ภายนอกว่ามีอุปการะมาก เหมือนความมีมิตรดี นี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดีย่อมละอกุศลเสียได้ ย่อมเจริญกุศลให้เกิดมี. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

ภิกษุใดผู้มีมิตรดี มีความยำเกรง ความเคารพ กระทำตามคำของมิตรดี ทั้งหลาย มีสติสัมปชัญญะ ภิกษุนั้นพึงบรรลุธรรม อันเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง โดยลำดับ.

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบ ทุติยเสขสูตรที่ ๗


[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 142

กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘

ว่าด้วยความมีมิตรดีเป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นต้น

[๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลมีมิตรดี กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป.


ท่านอาจารย์: ถ้าคิดว่า เข้าใจแล้ว แต่ไม่เห็นความลึกซึ้ง เข้าใจหรือเปล่า?

อ.คำปั่น: ไม่เข้าใจครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ทุกคำเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงของแต่ละสิ่งที่มี ไม่หลงผิด ไม่ยินดีในสิ่งที่ไม่น่ายินดี และเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี

อ.อรรณพ: อ.คำปั่นมีอะไรจะกราบเรียนท่านอาจารย์ต่อไหมครับ?

อ.คำปั่น: ก็ชัดเจนใน คำว่า อารามะ ครับอ.อรรณพครับ ได้เห็นเลยว่า คำที่ท่านอาจารย์กล่าวเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง ทุกคำ เลยครับ ได้ไตร่ตรองได้เกื้อกูลให้ได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงครับ

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

มิตรแท้ คือ กุศลธรรม

กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ [กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘]

มิตรแท้คือผู้ที่หวังดี พร้อมทำประโยชน์เกื้อกูลทุกสถาน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง และทั้งกาย วาจา และใจ

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

ความลึกซึ้งของธรรมอยู่ที่ไหน

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.พ. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ