ไม่รู้ว่าเป็นธาตุรู้

 
เมตตา
วันที่  26 มี.ค. 2567
หมายเลข  47652
อ่าน  327

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 433

๗. อวิชชาสูตร

ว่าด้วยอวิชชา


[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 96

๗. ทุติยอวิชชาสูตร

ว่าด้วยการละอวิชชาได้ วิชชาก็เกิดขึ้น

[๙๖] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่หรือ.

พ. ดูก่อนภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น เป็นไฉน พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง คืออวิชชาแล ซึ่งภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น.

ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุรู้อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น เธอย่อมรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมเห็นนิมิตทั้งปวง โดยประการอื่น คือเห็นจักษุ โดยประการอื่น เห็นรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น ฯลฯ เห็นใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยประการอื่น ดูก่อนภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น.

จบ ทุติยอวิชชาสูตรที่ ๗


[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 795

[๑๖๗] อัญญาณจริยาเป็นไฉน

กิริยาคือความนึกเพื่อความแล่นไปแห่งราคะในรูปอันเป็นที่รัก อันเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา ความแล่นไปแห่งราคะ เป็นอัญญาณจริยา กิริยาคือความนึกเพื่อความแล่นไปแห่งโทสะ ในรูปอันไม่เป็นที่รัก อันเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา ความแล่นไปแห่งโทสะ เป็นอัญญาณจริยา กิริยาคือความนึกเพื่อความแล่นไปแห่งโมหะในวัตถุที่มิได้เพ่งเล็งด้วยราคะและโทสะทั้งสองนั้น อันเป็นอัพยากฤตเป็นวิญญาณจริยา ความแล่นไปแห่งโมหะ เป็นอัญญาณจริยา

กิริยา คือความนึกเพื่อความแล่นไปแห่งมานะที่ผูกพัน อันเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา ความแล่นไปแห่งมานะ เป็นอัญญาณจริยา กิริยาคือความนึกเพื่อความแล่นไปแห่งทิฏฐิที่ยึดถือ อันเป็นอัพยากฤต เป็นวิญญาณจริยา ความแล่นไปแห่งทิฏฐิ เป็นอัญญาณจริยา ...

[๑๖๘] คำว่า อัญญาณจริยา ความว่า ชื่อว่าอัญญาณจริยา เพราะอรรถว่ากระไร

ชื่อว่าอัญญาณจริยา เพราะอรรถว่า ประพฤติมีราคะ ประพฤติมีโทสะ ประพฤติมีโมหะ ประพฤติมีมานะ ประพฤติมีทิฏฐิ ประพฤติมีอุทธัจจะ ประพฤติมีวิจิกิจฉา ประพฤติมีอนุสัย ประพฤติประกอบด้วยราคะ ประพฤติประกอบด้วยโทสะ ประพฤติประกอบด้วยโมหะ


ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้ ไม่รู้ อะไร? ไม่รู้เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น ทุกขณะที่เห็นไม่รู้ ทุกขณะที่ได้ยินไม่รู้ ทุกขณะที่ได้กลิ่นไม่รู้ ทุกขณะที่ลิ้มรสไม่รู้ ทุกขณะที่กระทบสัมผัสไม่รู้ ความไม่รู้มีอยู่ตลอดเวลาทั้งวัน ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เริ่มเข้าใจไหม?

อ.วิชัย: ก็เหมือนกับเมื่อฟังแล้ว ก็คิดเพียงเรื่องราวที่เราได้ศึกษา ก็พอที่จะเข้าใจเพียงเรื่องครับ แต่ที่ท่านอาจารย์ได้ให้ความเข้าใจเมื่อสักครู่นี้ก็ยังไม่ได้เป็นการรู้ในจริยาทั้ง ๓ จริงๆ เลย แม้แต่ ...

ท่านอาจารย์: ก็ทีละหนึ่งซิ ทีละหนึ่งเลย ไม่ใช่ทั้ง ๓ ทีเดียว เวลานี้มีเห็น กล่าวถึงเห็นใช่ไหม? พูดถึงเห็นใช่ไหม ทั้งวันไม่คิดถึงเลยว่า นี่เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ซึ่งไม่รู้ความจริง อัญญาณ ไม่รู้เลยในสิ่งที่กำลังปรากฏทั้งวันทุกวัน ลืมตาก็มีแล้ว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นจริยา ความเที่ยวไป ความประพฤติเป็นไปของจิตซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครไปบังคับบัญชาได้ แต่ว่า นี่แหละคือเดี๋ยวนี้ที่เห็น นี่แหละอัญญาณ ไม่รู้ความจริง ไม่ต้องไปหาความไม่รู้เมื่อไหร่ ในขณะที่กำลังเห็นนี่แหละไม่รู้ความจริง ในขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น ที่ปรากฏจริงๆ ว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้มี ไม่รู้ความจริง ได้ยินจริงๆ กำลังได้ยินเดี๋ยวแหละไม่รู้ความจริง

เพราะฉะนั้น ไม่รู้ว่าเป็นธาตุรู้ แต่เข้าใจว่าเราเห็น เราได้ยิน ขณะนั้นเป็นอัญญาณ ถูกต้องไหม?

อ.วิชัย: ใช่ครับ ความประพฤติเป็นไปของความไม่รู้ในอารมณ์ ไม่รู้ความเป็นริงของอารมณ์

ท่านอาจารย์: แต่ว่าเราไม่ต้องไปเรียบเรียงตามคำที่ได้ยินได้จำ แต่ว่าให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่รู้อะไร ก็ไม่รู้ความจริงของเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่รู้ความจริงของได้ยิน และทั้งวันมีเห็น มีได้ยิน ความไม่รู้จะมากสักแค่ไหน? เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ความจริงเป็นอย่างนี้

อ.วิชัย: ท่านอาจารย์ครับ ดูเหมือนว่า ...

ท่านอาจารย์: ถามว่าอย่างไร? เห็นไหมไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ถามว่าอย่างไรก็ต้องตอบอย่างนั้น จะได้สนทนากันต่อไปทีละเล็กทีละน้อยลึกซึ้งขึ้น ไม่ใช่ข้ามไปที่อื่นแล้ว ต้องตรงคำถามจึงจะดำเนินเรื่องต่อไปให้ละเอียดชัดเจนขึ้น ไม่ไปก้าวก่ายถึงขณะอื่นเลย มิเช่นนั้น ขณะนี้ก็เหมือนเข้าใจแล้วก็ไม่ต้องพูดกันอีก แต่ว่าความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเห็นความละเอียดว่า มั่นคงหรือยังว่า เดี๋ยวนี้ไม่รู้อะไร ก็ไม่รู้เห็น ความจริงเป็นอะไร เกิดก็ไม่รู้ ดับก็ไม่รู้ ไม่ใช่เราก็ไม่รู้ เป็นสิ่งที่มีจริงต่างๆ กันไปแต่ละขณะตามเหตุตามปัจจัย ที่ต้องรู้สิ่งที่ต่างกันไปทุกขณะ เห็นไหม? ต้องอธิบายขยายความให้เห็นความจริง ว่า เป็นอย่างนี้ใช่ไหม ซึ่งไม่รู้อย่างนี้ใช่ไหม? ไม่ใช่ไม่รู้อย่างอื่น ไม่ใช่ไม่รู้ชื่อ แต่ไม่รู้ความจริงว่า ขณะนี้แหละเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไหม?

อ.วิชัย: เข้าใจขึ้นครับ เพราะก่อนที่จะสนทนาไม่ได้คิดถึงเลยครับที่ว่า มีเห็น แล้วก็ไม่รู้ความเป็นจริงของเห็นครับ

ท่านอาจารย์: เข้าใจขึ้นไหม?

อ.วิชัย: เข้าใจขึ้นครับ

ท่านอาจารย์: เข้าใจขึ้น นั่นแหละญาณะ เห็นไหมว่า เกี่ยวข้องกันไหม เห็น อัญญาณะ กับญาณะ ถ้าไม่มีการฟังไม่มีการได้ยินไม่มีการไตร่ตรอง ปัญญาความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังเห็นก็ไม่มี ในสิ่งที่ถูกเห็นก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น ญาณะก็ไม่ไกลจากการรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย แต่ต้องเริ่มต้นจากฟัง และก็ไตร่ตรอง ไม่ใช่เชื่อทันที หรือคิดเรื่องอื่นทันที ฟังแล้วไตร่ตรองความจริงเป็นอย่างนี้เอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า วิญญาณจริยา มีธาตุรู้ แล้วจะไม่ประพฤติเป็นไปไม่ได้ เมื่อธาตุรู้เกิดขึ้นก็ต้องรู้ เพราะฉะนั้น จึงมีสิ่งที่ถูกรู้ตลอดเวลา แต่ไม่เคยรู้ความจริงว่า นั่นไม่ใช่เรา เป็นเพียงธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าขณะไหนก็เป็นธาตุรู้ที่จะต้องเกิดขึ้นรู้ เกิดขึ้นไม่รู้ไม่ได้ เริ่มมีความเข้าใจจากไม่รู้ว่า ธาตุรู้คืออะไร

เพราะฉะนั้น ทั้ง ๓ ก็เกี่ยวข้องกันใช่ไหม?

อ.วิชัย: เกี่ยวข้องกันครับ ที่กำลังเป็นไป

ท่านอาจารย์: แล้วจะเป็นอย่างอื่นนอกจากนี้ได้ไหม?

อ.วิชัย: ไม่ได้ครับ เพราะกำลังเป็นเดี๋ยวนี้อยู่ครับ

ท่านอาจารย์: มั่นคงหรือยัง?

อ.วิชัย: ค่อยๆ มั่นคงขึ้นครับ จากความรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อยครับ


[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 592

๔. สังขารอัญญาณสูตร

[๕๕๘] กรุงสาวัตถี. วัจฉโคตรปริพาชกนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทิฏฐิหลายอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นในโลกว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์หลังจากตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนวัจฉะ เพราะความไม่รู้ในสังขารทั้งหลาย ในเหตุเกิดแห่งสังขาร ในความดับแห่งสังขาร ในปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับแห่งสังขาร จึงเกิดทิฏฐิหลายอย่างเหล่านี้ขึ้นในโลกอย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์หลังจากตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง ดูก่อนวัจฉะ ข้อนี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทิฏฐิหลายอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นในโลกว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์หลังจากตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง.


ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

วิชชากับอวิชชา

กำจัดความมืดคืออวิชชาด้วยสัมมาทิฏฐิ

ปัญญา ชื่อว่า อภิสมัย [วิภังค์]

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

อวิชชาเป็น (ศีรษะ)

มือที่จับเชือก

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สิริพรรณ
วันที่ 27 มี.ค. 2567

กราบนอบน้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณพี่เมตตา และยินดีในกุศลอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 2 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในความดีของทุกท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ