กัลยาณกรรม
ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 428
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า "ผู้ที่มาเกิดแล้วจำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือบุญและบาปทั้งสองประการ อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมเป็นของติดตามเขาไป ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรมสะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก ด้วยว่า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก"
เหตุให้ทำกัลยาณกรรม คือ ธรรม ๕ ประการ มี อโลภะ (ความไม่โลภ) อโทสะ (ความไม่โกรธ) อโมหะ (ความไม่หลง ปัญญา) โยนิโสมนสิการ (การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย) และ จิตที่ตั้งไว้ชอบ ที่เมื่อมีแล้ว ก็เป็นเหตุให้มีความประพฤติที่ดีงามสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการประพฤติธรรม คือ กุศลกรรมบถ
ข้อสำคัญในการประพฤติกรรมที่ดีงามนั้น คือ การเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบ ซึ่งการตั้ง ไม่ได้หมายความว่า ไปตั้ง แต่หมายความว่า ไม่ได้หวังอะไร นอกจากการขัดเกลากิเลส เช่น ในขณะที่เจริญกุศล ก็ไม่ได้ปรารถนาอย่างอื่น นอกจากเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส คือ ความตระหนี่ให้เบาบางลง เพราะถ้าหากว่า ใขขณะที่เจริญกุศลแล้วหวังอย่างอื่น ขณะนั้นก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ผิดแล้ว
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่ได้เว้นขณะไหนเลย เพราะฉะนั้น ก็ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสังขารที่กำลังปรากฏ แล้วก็ดับไป จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท แล้วก็เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘
การที่จะบรรลุธรรมะถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นผู้ที่มีสติไม่ว่าจะตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายกระทบสัมผัส ใจคิดนึกต่างๆ ก็จะต้องมาจากการเจริญสติจากปุถุชน ซึ่งเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมะที่มีจริงถูกต้อง แล้วก็รู้ชัด รู้ทั่ว
ละคลายความไม่รู้มากขึ้น