ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า_สนทนาธรรมไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๗

 
เมตตา
วันที่  30 มิ.ย. 2567
หมายเลข  48020
อ่าน  319

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 14
ส่วนสัมโพธินั้น มี ๓ อย่าง คือ

สัมมาสัมโพธิญาณ ๑

ปัจเจกสัมโพธิญาณ ๑

สาวกสัมโพธิญาณ ๑

ในบรรดาสัมโพธิ ๓ อย่างนั้น ชื่อว่า สัมมาสัมโพธิ เพราะรู้ คือ ตรัสรู้ธรรมทั้งปวง โดยชอบด้วยพระองค์เอง. มรรคญาณที่เป็นปทัฏฐานของสัพพัญญุตญาณและสัพพัญญุตญาณที่เป็นปทัฏฐานของมรรคญาณ ท่านเรียกว่า สัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนทเถระจึงกล่าวว่าพระนามว่าพุทฺโธ แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระสัพพัญญู ไม่มีอาจารย์ ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งสัจจะทั้งหลายเอง ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์ไม่เคยได้ยินมาในกาลก่อน เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเป็นพระสัพพัญญูในธรรมเหล่านั้น และถึงแล้ว ซึ่งความเป็นผู้ชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย ดังนี้.

แท้จริง ความเป็นผู้ชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย มีการตรัสรู้ธรรมที่ควรตรัสรู้เป็นอรรถ.ชื่อว่า ปัจเจกสัมโพธิ เพราะตรัสรู้ด้วยตนเองทีเดียวเป็นส่วนตัว. อธิบายว่าไม่ได้ตรัสรู้ตามใคร ได้แก่ ตรัสรู้สัจจธรรมด้วยสยัมภูญาณ.

ความจริง การตรัสรู้สัจจธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายแม้เป็นไปอยู่ด้วยพระองค์เองทีเดียว โดยเป็นสยัมภูญาณ ชื่อว่า มีผู้ตรัสรู้ตามเพราะเป็นเหตุแห่งการตรัสรู้สัจจธรรมของสัตว์ทั้งหลาย หาประมาณไม่ได้.

ก็การบรรลุสัจจะนั้น ของเหล่าสัตว์ผู้หาประมาณมิได้ เหล่านี้ ย่อมไม่เป็นเหตุแห่งการตรัสรู้สัจจธรรมของสัตว์ แม้คนเดียว. ชื่อว่า สาวก เพราะเกิดในที่สุดแห่งการฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา. การตรัสรู้สัจจธรรมของพระสาวกทั้งหลาย ชื่อว่าสาวกสัมโพธิ.

ก็การตรัสรู้ ๓ อย่างแม้นี้ ของพระโพธิสัตว์ ๓ จำพวก พึงทราบว่ายังการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน เป็นต้น ให้บริบูรณ์เพื่อถึงที่สุดแห่งปฏิปทาที่จะมาถึงตามลำดับของตน (รอความบริบูรณ์แห่งบารมีของตน) เพราะเว้นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้น การตรัสรู้นอกนี้จะมีไม่ได้. อธิบายว่า เว้นการตรัสรู้ด้วยสัจฉิกิริยากิจเสียแล้ว การตรัสรู้ด้วยภาวนากิจ จะเกิดไม่ได้เลย. และเมื่อมีการตรัสรู้ภาวนากิจ การตรัสรู้ด้วยปหานกิจ และการตรัสรู้ด้วยปริญญากิจ ย่อมชื่อว่า เป็นอันสำเร็จแล้วทีเดียว.


อาช่า: มีคำถามจากผู้ที่มาสนทนาธรรมถามว่า ฝ่ายหนึ่งได้ยินว่า ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด แล้วพูดให้เราฟังบ่อยๆ ว่า ควรจะพยายามเจรญกุศล ละอกุศล ตรงนี้จะให้เข้าใจว่าอย่างไรว่า ในเมื่อบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วที่พูดไปตรงนั้นจะเป็นประโยชน์ตรงไหน อย่างไรค่ะ และเรื่องความเป็นธรรมหมายความว่า ควรจะเจริญกุศล ละอกุศล ตรงนี้ฟังดูเหมือนเป็นสัตว์ บุคคล เหมือนตัวเรา ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ความเพียรคืออะไร

ท่านอาจารย์: ทุกคนรีบร้อนจะไปตอบคำถามจะไปคิดเรื่องต่างๆ จะไปไหน? ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า? ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า?

อาช่า: ไม่มีใคร

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง เพราะอะไร?

อาช่า: เพราะเราเองมีอวิชชามาก

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เราจะตอบคำถามทุกคำถามเอง หรือว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร

เพราะฉะนั้น ต้องพูด คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม? พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร?

อาช่า: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มีแต่ธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และไม่มีใครบังคับบัญชา

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ความเพียรมีไหม?

อาช่า: มีจริงค่ะ

ท่านอาจารย์: ความเพียรเป็นธรรมหรือเปล่า?

อาช่า: เป็นธรรมค่ะ

ท่านอาจารย์: เพียรทำสิ่งที่ไม่ดีก็มี เพียรทำสิ่งที่ดีก็มีใช่ไหม?

อาช่า: ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่า สิ่งไหนดีมีประโยชน์ เพียรไหม?

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจอะไรเลยแล้วเพียร ดีไหม?

เพราะฉะนั้น ควรเพียรอะไรเพื่อเข้าใจ?

อาช่า: เพียรเข้าใจความจริงค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสผิดใช่ไหม?

อาช่า: พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสผิดค่ะ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เข้าใจแล้วยังที่ถาม?

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

สัพพัญญุตญาณ

เพียรทำสิ่งที่ไม่ดีก็มี เพียรทำสิ่งที่ดีก็มี [อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกทสกนิบาต]

ทรงอบรมพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์

สัพพัญญุตญาณอนาวรณญาณ

ขอเชิญฟังได้ที่ ...

เจาะจงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ช่วยกันเปิดเผยคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 1 ก.ค. 2567

ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของคุณเมตตาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ก.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ