เริ่มด้วยการเป็นคนตรง_สนทนาธรรมไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๗
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 339-340
ตติยปัณณาสก์
สมณสัญญาวรรคที่ ๑
๓. มิจฉัตตสูตร
ภิกษุอาศัยมิจฉัตตะ ๑๐ จึงพลาดจากสวรรค์และมรรคผล
[๑๐๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างไร จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิด ย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิด ย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิด ย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิด
ย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิด ย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิด ย่อมมีความตั้งมั่นผิด ผู้มีความตั้งมั่นผิด ย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิด ย่อมมีความหลุดพ้นผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล.
จบมิจฉัตตสูตรที่ ๓
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๒๖-๓๒๗
สรณคมน์
บัดนี้ เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในสรณคมน์เหล่านั้น จึงควรทราบวิธีนี้คือ สรณะ การถึงสรณะ ผู้ถึงสรณะ ประเภทแห่งการถึงสรณะ ผลแห่งการถึงสรณะ สังกิเลส (ความเศร้าหมอง) และเภทะ (ความหมดสภาพ) .
ถามว่า วิธีนี้มีความหมายเป็นอย่างไรบ้าง?
ตอบว่า ควรทราบความหมายโดยความหมายเฉพาะบทก่อน. ที่ชื่อว่า สรณะ เพราะหมายความว่า เบียดเบียน อธิบายว่า ย่อมกำจัด คือทำความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความทุกข์ กิเลสที่เป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติของบุคคลผู้ถึงสรณะให้พินาศไปด้วยการถึงสรณะนั้นแล. คำว่า สรณะนั่นเป็นชื่อเรียกพระรัตนตรัย.
อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า พุทธะ เพราะหมายความว่า ขจัดซึ่งภัยของสัตว์ทั้งหลาย โดยทำสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในประโยชน์เกื้อกูล และถอยกลับจากสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูล.
ที่ชื่อว่า ธรรม เพราะทำสัตว์ทั้งหลายให้ช่วยข้ามพ้นจากกันดาร คือภพและเพราะให้ความเบาใจแก่สัตว์ทั้งหลาย
ที่ชื่อว่า สงฆ์ เพราะทำสักการะทั้งหลายแม้เป็นของน้อยค่าให้ได้รับผลอันไพบูลย์
เพราะฉะนั้นพระรัตนตรัยจึงชื่อว่าสรณะโดยบรรยายนี้ด้วย
ท่านอาจารย์: เริ่มด้วยการเป็นคนตรง รู้ว่า ฟังธรรมเพื่ออะไร อันนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุด มิเช่นนั้น เหมือนจับงูพิษข้างหาง
ทุกคนไม่ว่าคนไทย คนจีน ไม่ว่าคนฝรั่งเศษ หรือใครทั้งสิ้น ต้องรู้จุดประสงค์สูงสุดที่เป็นประโยชน์ที่สุดในสังสารวัฏฏ์
เกิดมาแล้ว มีโอกาสได้ฟัง คำว่า พุทธะ ผู้รู้ความจริง น่าอัศจรรย์ไหม? หมายความว่า เดี๋ยวนี้ มีความจริงที่คนอื่นไม่รู้แน่นอน
ได้ยิน คำว่า มีผู้ที่ตรัสรู้ความจริง เริ่มรู้จักตัวเองไหมว่า ต่างกับ ผู้ที่ตรัสรู้ความจริง เพราะเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงก็ไม่รู้ว่า ความจริงคืออะไร
เพราะฉะนั้น ฟังธรรม เพราะธรรมเป็น คำ ที่ผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้
เริ่มเคารพสูงสุดในผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงให้คนอื่นได้รู้ด้วยหรือยัง? เคารพในผู้ที่ได้ตรัสรู้ด้วยการฟังด้วยความเคารพในความจริงทุกคำ
ขอเชิญอ่านได้ที่ ...
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า พุทธะ [วิสุทธิมรรค]
ขอเชิญฟังได้ที่ ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ
ท่านอาจารย์: คุณอาช่ารู้จักใครบ้าง?
อาช่า: รู้จักคุณสุคิน
ท่านอาจารย์: คุณอาช่ารู้จักคุณสุคินว่า คุณสุคินเป็นอย่างไรดีไหม?
อาช่า: เป็นคนดีที่แนะนำ และสอนธรรมให้
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เราต้องพูดความจริง จะได้รู้ว่า ความจริงคืออะไร เราสนทนาธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ไม่ใช่ชื่อที่เราจะไปเรียน
เพราะฉะนั้น คุณสุคินเป็นคนดี รู้คุณความดีของคุณสุคินไหม?
อาช่า: ความดีของคุณสุคิน คือชอบพูดเรื่องธรรม
ท่านอาจารย์: ไม่ได้ถามอย่างนั้นๆ คุณอาช่ารู้ว่าคุณสุคินมีคุณ รู้คุณความดีของคุณสุคินไหม? คุณสุคินเป็นผู้มีคุณหรือเปล่า?
อาช่า: ...
ท่านอาจารย์: ถามว่า สำหรับคุณอาช่า คุณสุคินเป็นผู้มีคุณไหม?
อาช่า: มีค่ะ
ท่านอาจารย์: คนที่รู้คุณของคนอื่นเป็นคนดีไหม?
อาช่า: เป็นคนดีค่ะ
ท่านอาจารย์: แต่คนที่รู้ว่า คนอื่นมีคุณ แต่ไม่รู้คุณของคนนั้น เป็นคนดีไหม?
อาช่า: ไม่ดีค่ะ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เวลาที่คนที่มีคุณทำไม่ดี หรือใครก็ตามที่ทำไม่ดีกับเราหรือกับเรา คุณอาช่ารู้สึกอย่างไร?
อาช่า: รู้สึกไม่ดี
ท่านอาจารย์: ขณะนั้น ใครไม่ดี?
อาช่า: เราเองไม่ดี
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือยัง พระองค์ตรัสว่าอย่างไร?
อาช่า: พระพุทธองค์สอนว่า ดี หรือไม่ดีก็เป็นธรรม เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่มีใครบังคับบัญชาได้ คนที่ไม่ดี ก็คือเป็นเพราะเหตุปัจจัยถึงเกิดอย่างนั้น
ท่านอาจารย์: พระองค์สอนให้รู้ตัวเองว่า ขณะนั้นไม่ดีใช่ไหม?
อาช่า: ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์: อะไร ใช่?
อาช่า: พระพุทธองค์สอนให้เข้าใจตัวเอง
ท่านอาจารย์: เข้าใจว่าอะไร?
อาช่า: เข้าใจความจริงตอนนี้ว่า เป็นอย่างไรจริงๆ
ท่านอาจารย์: เป็นอย่างไรล่ะ จริงๆ?
อาช่า: โกรธก็รู้ว่าโกรธเกิด
ท่านอาจารย์: เป็นคนไม่ดี เป็นประโยชน์ไหมที่รู้ว่าเป็นคนไม่ดี?
อาช่า: ค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เป็นโอกาสที่จะรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าไม่เริ่มรู้ว่า ตัวเองไม่ดี จะสามารถเป็นคนดีขึ้นได้ไหม?
อาช่า: ไม่ได้
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรม คือศึกษาขณะที่ธรรมขณะนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงธรรมอื่น แล้วไม่รู้ขณะที่กำลังมีเดี๋ยวนี้
ท่านอาจารย์: ขอถามคุณอาช่า คุณมานิช คุณสุคิน และทุกคนว่า ถ้ารู้ว่าใครไม่ดี ขณะนั้นเป็นอะไร?
นี่คือ การศึกษา คำสอน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อรู้ความจริง เพื่อเข้าใจตรงตามความเป็นจริง
อาช่า: หลังจากที่ฟังธรรมแล้ว เห็นใครทำไม่ดีก็จะคิดว่า ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่ทำไม่ดีก็คือเหตุปัจจัย ถ้าเขาทำไม่ดีก็คือเขาจะได้รับผลของกรรมเขาเอง
ท่านอาจารย์: แล้วเราทำอะไรบ้าง ขณะนั้นใจเราคิดจะทำอะไรบ้าง?
คุณสุคิน: ผมยกตัวอย่างว่า ถ้ามีใครทำไม่ดีต่อหน้าเขา เขาจะทำอย่างไร เขาตอบว่าถ้าเป็นไปได้เขาจะพยายามบอกเขาว่า เขาทำอย่างนั้นไม่ดีชี้ให้เห็น
ท่านอาจารย์: สามารถจะชี้ได้ไหม?
อาช่า: แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเหตุการณ์นั้นสามารถพูดได้ก็พูด ถ้าไม่ได้ก็ไม่พูด
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก่อนคิดอย่างนั้น เวลานี้มีคนไม่ดีเยอะไหม?
อาช่า: ส่วนใหญ่เป็นคนไม่ดีค่ะ
ท่านอาจารย์: ทุกคนหรือเปล่า?
อาช่า: ทุกคน
ท่านอาจารย์: ถ้าเขาไม่รู้ว่าเขาไม่ดี เขาจะแก้ความไม่ดีให้น้อยลงไหม?
อาช่า: แก้ค่ะ
ท่านอาจารย์: แก้อย่างไร?
อาช่า: พยายามเข้าใจ
ท่านอาจารย์: เข้าใจอะไร?
อาช่า: ความจริงของความไม่ดี
ท่านอาจารย์: เข้าใจขณะไหน?
อาช่า: ตอนที่เกิดค่ะ
ท่านอาจารย์: เข้าใจเดี๋ยวนี้ได้ไหม?
อาช่า: เป็นไปได้ค่ะ
ท่านอาจารย์: เป็นไปได้อย่างไร?
อาช่า: ก็คือ ถ้าอกุศลเกิด ก็คิดเรื่องนี้เรื่องนั้นอยู่ ก็เป็นอกุศลตรงนี้ก็เข้าใจได้ค่ะ
ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรู้ได้ไหม?
อาช่า: ไม่สามารถรู้ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นคนทำสิ่งที่ไม่ดี เขาทำตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า?
คุณสุคิน: ท่านอาจารย์หมายถึงตัวคนที่เห็นทำสิ่งที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์: คุณอาคิ่ล คุณสุคิน ใครก็ตาม เห็นคนที่กำลังทำไม่ดี ขณะที่กำลังเห็นอย่างนั้น จิตอะไร รู้สึกอย่างไร?
อาช่า: ส่วนใหญ่ก็เป็นอกุศลของเราเองตอนนั้น
ท่านอาจารย์: แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร นี่กำลังศึกษาธรรมตามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อาช่า: พระพุทธองค์สอนให้เข้าใจ รู้อกุศลของตัวเองค่ะ
ท่านอาจารย์: เพื่ออะไร?
อาช่า: ถ้าเห็นอกุศลของตัวเอง นั่นเป็นหนทางทำให้กุศลเจริญค่ะ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นอกุศลของตัวเอง แล้วกุศลเจริญ ขณะที่กุศลเจริญเป็นอย่างไร?
อาช่า: ดีเพราะว่าดี ผลของดีก็คือดีค่ะ
ท่านอาจารย์: ไม่ได้ถามว่าผลของดีนะ ถามว่า เวลาที่คุณอาช่าได้คิดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วดีขึ้น ขณะที่คิดว่า ดีขึ้น นั้นเป็นอะไร อย่างไร?
อาช่า: รู้สึกว่าดีค่ะ
ท่านอาจารย์: หมายความว่าอย่าง ว่าดี?
อาช่า: ถ้ารู้ว่าตัวเองกำลังเจริญกุศลอยู่ ก็รู้ว่าดี
ท่านอาจารย์: กุศลอะไร ไม่ทราบ?
อาช่า: เห็นอกุศลของตัวเอง เข้าใจอกุศลของตัวเอง
ท่านอาจารย์: แล้วเกี่ยวอะไรกับคนที่เขากำลังทำไม่ดี นี่เรากำลังพูดถึงว่า ขณะเห็นคนทำไม่ดี เขารู้สึกอย่างไรที่คุณอาช่าว่าตัวเองดีขึ้นในขณะที่เห็นคนที่ทำไม่ดีใช่ไหม เราพูดเรื่องนี้กันหรือเปล่า?
อาช่า: ก็เห็นตรงนี้ค่ะ ถ้าเห็นตัวเองดีขึ้นก็รู้สึกดี
ท่านอาจารย์: อย่างนั้นหรือ?
อาช่า: ค่ะ
ท่านอาจารย์: ดีอย่างไรล่ะ ที่ว่าดีขึ้นดีตรงไหน ดีอย่างไร?
อาช่า: ที่รู้ว่าดี ดีใจที่รู้ว่า อะไรคืออะไร?
ท่านอาจารย์: อะไรคืออะไร?
อาช่า: ตอนที่รู้ว่า เห็นคนอื่นไม่ดี แล้วเห็นอกุศลตัวเองตอนนั้น ดีใจที่รู้ว่าเป็นอกุศล
ท่านอาจารย์: ดีใจที่รู้ว่าเป็นอกุศล? แล้วสำหรับคนที่เราเห็นล่ะ เรายังเห็นเขาอยู่ใช่ไหม แล้วเรารู้สึกอย่างไร ที่ว่า ดีขึ้น เมื่อเห็นอกุศลของตัวเอง?
อาช่า: ถ้าช่วยได้ก็จะช่วย ถ้าวันนี้ไม่ได้ก็หวังว่า วันหน้าจะช่วยให้เขาเข้าใจได้ครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ขณะที่คุณอาช่าเห็นคนไม่ดี แล้วรู้ว่าตัวเองไม่ดีขณะนั้น ถามว่า ที่ไม่ดีขณะนั้นคืออะไร อะไรไม่ดีขณะนั้น?
อาช่า: รู้แค่เป็นอกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่คิดไม่ดีเรื่องคนอื่นค่ะ
ท่านอาจารย์: ถ้าบอกว่า ไม่ดี ก็ต้องรู้ว่า อันนั้นอะไรไม่ดีใช่ไหม?
อาช่า: เป็นจิต เจตสิกค่ะ
ท่านอาจารย์: รู้จิตหรือ ว่าเป็นจิตอะไร เจตสิกอะไรขณะนั้น ไม่ใช่ชื่อจิต ชื่อเจตสิก?
อาช่า: ยังไมรู้ค่ะ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่ว่า คุณอาช่ารู้จักความไม่ดีของตัวเองใช่ไหม?
อาช่า: ไม่รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เราไม่ดีก็ไม่รู้ แม้เขาไม่ดีเพราะเขาไม่รู้ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้มีจริง จะหมดได้ต่อเมื่อได้รู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำให้เราเข้าใจความจริง
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
ท่านอาจารย์: ธรรมละเอียดลึกซึ้ง ต้องฟังด้วยความเคารพในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องไม่ลืมว่า ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริง ซึ่งถ้าไม่ฟังไม่สามารถจะรู้ความจริงได้
เมื่อรู้ความจริงเข้าใจความจริงแล้ว ประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงให้เราละความเลว ความไม่รู้ทั้งหมด
เพราะฉะนั้น เมื่อฟังเข้าใจแล้ว พร้อมที่จะละชั่ว ความเลว ความไม่ดีแล้วหรือยัง?
ถ้าฟังเพียงเพื่อรู้ความจริง แต่ไม่ละความเลว มีประโยชน์ไหม?
มานิช: ไม่มีประโยชน์
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วยังประพฤติไม่ดี อันนั้นอันตรายอย่างยิ่ง
เพราะแม้ คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่ทำให้เขาสามารถละความชั่วได้ เพราะฉะนั้น ความชั่วก็เพิ่มขึ้นๆ ไม่รู้จบ
ผลของความชั่วก็ทำให้เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นคนเลว เกิดเป็นคนไม่มีปัญญา
เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า ฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อค่อยๆ รู้ความจริง จึงสามารถที่จะละความเลวได้
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริง จนสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้
คำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามรประโยชน์สูงสุดไหม?
มานิช: มีประโยชน์มากครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม เราก็จะสนทนา คำ ของพระองค์เพื่อค่อยๆ รู้ความจริงยิ่งขึ้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
มานิช: จากคำถามที่ว่า คำสอนของพระพุทธองค์มีประโยชน์ไหม ตอบว่า มีค่ามาก ผมมีคำถามว่า ตกลงจริงๆ แล้วมีค่าที่สุดคืออะไร ธรรมหรือชีวิต? การมีชีวิตอยู่ต่อครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: ยังไม่รู้ใช่ไหมว่า ฟังทำไม ฟังเพื่อรู้ความจริง แต่ประโยชน์ คือรู้ว่าไม่มีเรา ไม่มีมานิช มีแต่กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้มีอะไร?
คุณสุคิน: ต้องให้ท่านอาจารย์เกื้อกูลด้วยครับ คำตอบของมานิช ก็คือ คิด เป็นเรื่องเป็นราวว่า เวลานี้เข้าใจธรรม หรือว่าเวลานี้พยายามเข้าใจอยู่ครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: คิด คืออะไร?
มานิช: คิด เป็นความจริงอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์: ถูกต้อง คิด เป็นความจริง แต่ไม่รู้ว่า คิดคืออะไรใช่ไหม?
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: อย่าลืมว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ตรัสว่า ทุกอย่างที่มีจริง ลึกซึ้ง ยากจะรู้ได้ แต่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว
ถ้าไม่เห็นอะไร จะคิดไหม?
มานิช: ไม่
ท่านอาจารย์: ถ้าไม่ได้ยินอะไร จะคิดไหม?
มานิช: ไม่คิด
ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้ เห็น อะไร?
มานิช: เห็นสิ่งที่ปรากฏครับ
ท่านอาจารย์: สิ่งนั้นต้องกระทบตาใช่ไหม?
มานิช: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นคนได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นแล้วคิดว่า เป็นคนใช่ไหม?
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: ต้นไม้เห็นอะไรไหม?
มานิช: ไม่เห็นครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริง คือมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเห็น เกิดขึ้นได้ยิน
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: ถ้าไม่เกิดขึ้นเห็น จะมีเห็นไหม?
มานิช: ถ้าไม่เกิด ไม่เห็นครับ
ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ก่อนเกิดเห็น มีคุณมานิชเห็นไหม?
มานิช: ไม่มี
ท่านอาจารย์: เห็น เกิดเป็นเห็น หรือเป็นคุณมานิชเห็น
มานิช: ไม่ใช่มานิชเห็นครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ไม่มีคุณมานิช แต่มี เห็น ขณะที่เห็นใช่ไหม?
มานิช: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่มีจริงเกิดแล้วมีจริงๆ แล้วก็ดับ เพราะขณะนี้ไม่ได้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่ได้ยิน
คุณมานิชทำให้ เห็น เกิดได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ เห็น เกิดได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้
ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่มีจริงเป็นอะไรไม่ได้เลย นอกจากเป็นสิ่งนั้นที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ นี่คือ ธรรม
ทุกอย่างที่มีจริงเป็นจริงตามที่สิ่งนั้นเป็นจริงเท่านั้น
เห็น จะเป็นได้ยินได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์: คิด เป็น เห็น ได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้
ท่านอาจารย์: ทุกอย่างเกิดเมื่อมีเหตุที่ทำให้เกิด สิ่งที่เกิดทั้งหมดต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นรู้ สิ่งที่ถูกรู้ต้องมีด้วย
เห็น หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้รู้เสียง แต่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ความจริงเดี๋ยวนี้ เห็น เห็นมีจริงๆ รู้ว่ามีสิ่งที่กำลังถูกเห็น จริงไหม?
มานิช: จริงครับ
ท่านอาจารย์: เริ่มตรงต่อความเป็นจริง ไม่มีใครทำ แต่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดก็ต้องเกิด เห็นเกิดแล้วดับไหม?
มานิช: ดับครับ
ท่านอาจารย์: สิ่งที่ดับ หมายความว่าจะกลับมาอีกไม่ได้เลยใช่ไหม?
มานิช: ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์: เปลี่ยนความจริงนี้ได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์: ให้ไม่มี เห็น ได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้
ท่านอาจารย์: ไม่ให้ ได้ยิน ขณะที่ได้ยินได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้
ท่านอาจารย์: สิ่งที่มีจริงเปลี่ยนไม่ได้ ต้องเป็นอย่างที่เป็นจริงๆ ใช่ไหม?
มานิช: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: นี่คือ ความหมายของธรรม
มีคุณมานิช หรือมีธรรม?
มานิช: มีธรรมครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม สิ่งที่มีจริงทุกอย่าง และพระองค์ตรัสว่า ธรรมทั้งหมดธรรมทั้งปวงไม่เว้นเลยเป็นอนัตตา ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น แต่เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง
ขณะเกิดเป็นธรรมเกิด หรือเป็นมานิชเกิด?
มานิช: เป็นธรรมเกิด
ท่านอาจารย์: ขณะเกิดเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เกิดแล้วมีธรรมหลากหลายมากทำให้เป็นคนจน คนรวย คนขาขาด แขนขาด คนสมบูรณื คนมีเงินมีทรัพย์สิน ทุกอย่างเป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจมั่นคงว่า ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมที่เกิดต้องมีปัจจัยทำให้เกิด เกิดแล้วดับไป อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เพราะฉะนั้น เกิดมาแล้วก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ทุกวันไม่หยุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจจธรรม ๔ ทุกคนได้ยิน คำว่า อริยสัจจ์ ๔
คุณมานิชเคยได้ยินไหม อริยสัจจ์ ๔?
มานิช: เคยครับ
ท่านอาจารย์: อริยสัจจ์ที่ ๑ คืออะไร?
มานิช: ทุกข์ครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีอะไรเกิด จะมีทุกข์ไหม?
มานิช: ไม่ครับ
ท่านอาจารย์: สิ่งที่เกิดทุกอย่างดับใช่ไหม?
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีตรัสรู้สิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้ ๑) เห็น เกิดแล้วดับ ถูกต้องไหม?
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: เมื่อพระองค์ตรัสรู้ จึงทรงแสดงว่า เดี๋ยวนี้ สิ่งนี้เกิดแล้วดับ
มานิช: ครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: ความจริงอย่างนี้รู้ได้ไหม?
มานิช: รู้ได้ครับ
ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้รู้ได้ไหม?
มานิช: ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์: ถ้าฟัง คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำเข้าใจขึ้น พระองค์ทรงแสดงหนทางที่จะประจักษ์ความจริงนี้ด้วย จึงเป็นอริยสัจจธรรม
คุณมานิชคิดว่า หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจะคืออะไร?
มานิช: ต้องได้ฟังคำสอนและเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ได้ยิน คำ ที่พระองค์ตรัสว่า อะไรบ้าง?
มานิช: ได้ยินเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่มีจริงทุกอย่างครับ
ท่านอาจารย์: เกิดแล้วดับใช่ไหม?
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: ทุกอย่างที่มีจริง มีจริง จึงเป็นธรรมใช่ไหม?
มานิช: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: ถ้าพูดว่า ธรรม และเข้าใจธรรม หมายความว่า ไม่มีใคร ไม่มีอะไร นอกจากเป็นธรรมจริงๆ ที่เกิดดับแต่ละหนึ่งใช่ไหม?
มานิช: ครับ ต้องเข้าใจครับ
ท่านอาจารย์: เปลี่ยนความเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ไหม?
มานิช: เปลี่ยนไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์: เมื่อคุณมานิชมีความเข้าใจมั่นคง ธรรมเป็นธรรม ใครทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อมีปัจจัยก็เกิด ถูกต้องไหม?
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: เพื่อให้มั่นคง ไม่เปลี่ยนนะ ขอถามคุณมานิชว่า เพื่อไม่ลืมว่าเป็นธรรมทั้งหมดทุกอย่าง คุณมานิชบอกมาเลย อะไรเป็นธรรมบ้าง?
คุณสุคิน: ท่านอาจารย์ครับ คงต้องเปลี่ยนเรื่องมาคุยเป็นเพราะก่อนหน้านี้มานิชตอบว่า สิ่งที่ท่านอาจารย์ถามว่า สิ่งที่มีจริง นี่แหละคือความหมายของ คำว่า ธรรมใช่ไหม เขาบอกว่าใช่ แต่ตอนนี้เขากลับพูดว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แล้วทุกอย่างที่ไม่มีจริงนั่นก็เป็นธรรม
ท่านอาจารย์: ไม่มีจริง แล้วไปสนใจอะไร ก็มันไม่มี ไม่มีก็ไม่มี
มานิช: ตอนนี้เข้าใจแล้วครับว่า สิ่งที่ไม่มีจริงไม่ได้เป็นธรรมครับ
ท่านอาจารย์: เพราะธรรมคือสิ่งที่มีจริง
มานิช: ครับ
ท่านอาจารย์: เพื่อจะรู้ว่าคุณมานิชเข้าใจธรรมแค่ไหน บอกมาเลยว่าอะไรเป็น ธรรม บ้าง?
มานิช: เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่สัมผัสทางกาย และคิด
ท่านอาจารย์: อะไรอีกที่มีจริง ไม่ใช่มีจริงเท่านี้ ค่อยๆ คิดให้ได้
มานิช: มีเสียง
ท่านอาจารย์: โกรธ มีจริงไหม?
มานิช: มีจริง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์: จำ มีจริงไหม?
มานิช: เป็นธรรมครับ
ท่านอาจารย์: ชอบ มีจริงไหม?
มานิช: มีจริงครับ
ท่านอาจารย์: อิสสามีจริงไหม?
มานิช: มีจริงครับ
ท่านอาจารย์: เป็นธรรมหรือเปล่า?
มานิช: ถ้ามีจริง ก็เป็นธรรมครับ
ท่านอาจารย์: ถ้า หรือ? แล้วมีจริงหรือเปล่า?
มานิช: มีจริงครับ
ท่านอาจารย์: ต้องตรง คราวหน้าต้องตอบให้หมดว่า ธรรมมีอะไรบ้าง
มานิช: ครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ