ความเห็นผิดต่างกับความต้องการที่อยากรู้_สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๗
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 171 - 172
อธิบายอายตนะโดยไตรลักษณ์
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีความประสงค์จะทรงแสดงอาการแห่งอายตนะเหล่านั้นอันบัณฑิตพึงเห็นแจ้งตามความเป็นจริง จึงเริ่มคำมีอาทิว่า จกฺขุํ อนิจฺจํ (จักขุไม่เที่ยง) ดังนี้.
บรรดาอายตนะเหล่านั้น บัณฑิตพึงทราบว่า จักขุ ชื่อว่า ไม่เที่ยง ด้วยอรรถว่า มีแล้วหามีไม่ ดังนี้ก่อน. ชื่อว่า ความไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ อย่าง แม้อื่นอีก คือ โดยมีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นที่สุด ๑ โดยความแปรปรวนไป ๑ โดยความเป็นของชั่วคราว ๑ โดยปฏิเสธความเที่ยง ๑.
จักขุนั้นนั่นแหละ ชื่อว่า เป็นทุกข์ ด้วยอรรถว่า บีบคั้น อีกอย่างหนึ่งจักขุนี้เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงซึ่งการตั้งอยู่ (ฐิติ) เมื่อตั้งอยู่ ย่อมลำบากด้วยชรา ถึงชราแล้วย่อมแตกดับไปแน่แท้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะเหตุเหล่านี้ คือ โดยความเป็นของบีบคั้นเนืองๆ ๑ โดยความเป็นของทนได้ยาก ๑ โดยเป็นวัตถุตั้งแห่งทุกข์ ๑ โดยปฏิเสธความสุข ๑.
อนึ่ง จักขุ นั้น ชื่อว่า เป็นอนัตตา ด้วยอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ. อีกอย่างหนึ่ง ความที่จักขุนั้นเป็นไปในอำนาจของใครๆ ในฐานะ ๓ เหล่านี้ คือ จักขุนี้เกิดขึ้นแล้วขอจงอย่าถึงการตั้งอยู่ ถึงการตั้งอยู่แล้ว จงอย่าแก่ ถึงการแก่แล้ว จงอย่าแตกดับ ดังนี้ หามีได้ไม่ เป็นของสูง ไปจากอาการที่เป็นไปในอำนาจนั้น เพราะฉะนั้น จักขุนั้น จึงชื่อว่า เป็นอนัตตา เพราะเหตุ ๔ เหล่านั้น คือ โดยความเป็นของสูญ ๑ โดยความไม่มีเจ้าของ ๑ โดยเป็นสิ่งที่ควรทำตามชอบใจไม่ได้ ๑ โดยปฏิเสธต่ออัตตา ๑.
ที่ชื่อว่า มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เพราะถึงความเสื่อม เพราะถึงการเลื่อนไปสู่ภพด้วยอำนาจไปๆ มาๆ เพราะละจากความเป็นปกติ. คำว่า มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดานี้ เป็นไวพจน์ของความไม่เทียงนั่นเอง. แม้ในอายตนะทั้งหลาย มีคำว่า รูปไม่เที่ยง เป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.
อีกอย่างหนึ่ง ในอายตนะเหล่านี้ ยกเว้นจักขุเสียแล้ว ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ไม่เที่ยง หาใช่จักขุไม่ แต่ว่า จักขุเป็นจักขุด้วย เป็นสภาวะไม่เที่ยงด้วย ธรรมที่เหลือก็เหมือนกันเป็นทุกข์ หาใช่จักขุไม่ แต่จักขุเป็นจักขุด้วย เป็นทุกข์ด้วย ธรรมที่เหลือเป็นอนัตตา หาใช่จักขุไม่ แต่จักขุเป็นจักขุด้วย เป็นอนัตตาด้วย ฉะนี้แล. แม้ในรูปเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 96
เมื่อใด บัณฑิตย่อมเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรม ทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์ ความหน่ายในทุกข์ นั่นเป็นทางแห่งความหมดจด.
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 5
๒. อัชฌัตติกทุกขสูตร
ว่าด้วยความเป็นทุกข์แห่งอายตนะภายใน
[๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. หูเป็นทุกข์ จมูกเป็นทุกข์ ลิ้นเป็นทุกข์ กายเป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯลฯ .
จบ อัชฌัตติกทุกขสูตรที่ ๒
อรรถกถาอัชฌัตติกทุกขสูตรที่ ๒
สูตรที่ ๒ ตรัสด้วยลักษณะสอง.
จบ อรรถกถาอัชฌัตติกทุกขสูตรที่ ๒
๓. อัชฌัตติกอนัตตสูตร
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งอายตนะภายใน
[๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา. หูเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น ท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯลฯ .
จบ อัชฌัตติกอนัตตสูตรที่ ๓
อ.วิชัย: ฟังเรื่อง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็รู้ว่า การอบรมเจริญปัญญา ก็เป็นสิ่งที่ละเอียด และตอนหนึ่งที่ได้กล่าวถึง สัลัพพตปรามาส ที่กล่าวถึงการลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด แม้ในขณะระหว่างการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งก็ได้ยกตัวอย่างของ การจดจ้อง คือยังไม่ทราบความละเอียดครับท่านอาจารย์ การที่จะมีความเห็นผิด กับความต้องการที่อยากจะรู้ครับ จะมีความต่างกันอย่างไร?
ท่านอาจารย์: พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ลึกซึ้งไหม?
อ.วิชัย: ลึกซึ้งมากครับ
ท่านอาจารย์: ต้องไม่ลืม เพราะฉะนั้น ทุกคำต้องไตร่ตรองละเอียดอย่างยิ่งเกินกว่าที่จะคิดได้ด้วยตัวเอง
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจ คำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามลำดับ ต้องไม่ลืม ธรรม คือสิ่งที่มีจริง และกำลังมี
เตือนแล้วใช่ไหม ลึกซึ้งแค่ไหน เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องตามลำดับ แค่ความเข้าใจ ปริยัติ ไม่สามารถที่จะละการยึดมั่นในความเป็นเรา และความไม่รู้ ยึดถือตลอดมาในทุกสิ่งทุกอย่างว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทั้งหมดห้องเลยใช่ไหมเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ข้างนอกอีกใช่ไหม?
อ.วิชัย: ครับ
ท่านอาจารย์: ข้างนอกจนกระทั่งไปถึงทั้งโลกใช่ไหม?
อ.วิชัย: ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ความรู้ขั้นปริยัติยังไม่สามารถจะละความเห็นผิดได้
ท่านอาจารย์: นี่ไง เรากำลังพูดเรื่องปริยัติ แล้วเป็นเราอยู่ใช่ไหม?
อ.วิชัย: ยังเป็นเราแน่ๆ ครับ
ท่านอาจารย์: เป็นคนในห้องนี้ใช่ไหม ความเป็นจริงของต่างๆ รวมไปถึงข้างนอกห้อง ข้างบ้าน ทั้งโลก เป็นอย่างนี้ใช่ไหม?
อ.วิชัย: ใช่ครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์: ต้องตรงทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าพูดแค่ที่นี่เท่านั้น แต่ต้องจริงทั้งหมด เป็นความจริงไม่ว่าที่ไหน
เพราะฉะนั้น พูดอย่างไรก็เป็นเราในขั้นปริยัติ เริ่มมีความเข้าใจถูกต้องแต่ยังเป็นเราเข้าใจ เริ่มรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ แต่มีลักษณะจริงๆ เมื่อกระทบตา เข้าใจแล้วก็ยังคงเป็นถ้วยแก้วเป็นคนในห้องนี้ทุกวันไหม?
อ.วิชัย: ครับ ตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้นครับ
ท่านอาจารย์: ในสังสารวัฏฏ์ ต้องตรง สำคัญที่สุดคือความตรงตามความเป็นจริง
ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางทั้งหมดที่พระองค์ทรงบำเพ็ญจนถึงการตรัสรู้ กี่พระชาติ นานเท่าไหร่ เพื่อที่จะเอาสิ่งที่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่ละหนึ่งที่กำลังปรากฏในห้องนี้ นอกห้องนี้ และทั้งโลก ออกไปจากความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ขอเชิญอ่านเพิ่มได้ที่ ...
ขอเชิญฟังเพิ่มได้ที่ ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ