ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๗

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  12 ต.ค. 2567
หมายเลข  48689
อ่าน  4,238

วันพุธที่ ๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๓.๐๐น. - ๑๕.๓๐ น. ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรณพ หอมจันทร์ กรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ และ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ปธ.๙ ได้รับเชิญเพื่อไปสนทนาธรรม ถวายเป็นพระราชกุศลและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ห้องประชุมแจ้งยอดสุข ชั้น ๒ อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม ๑ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.ท. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธาน และมี พล.ต.ท. ไพบูลย์ เจียมอนุกูลกิจ นายแพทย์ สบ ๘ โรงพยาบาลตำรวจ ให้การต้อนรับ

ข้อความบางตอนจากการสนทนา :

ท่านอาจารย์ : ได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีใครชื่อนี้บ้างไหม? ไม่สามารถจะมีใครมีชื่อนี้ได้เลย เพราะฉะนั้น ทุกคำ มีความหมาย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชื่อ "พระอรหันต์" ผู้ที่หมดจดจากกิเลส ไม่มีกิเลสใดๆ เหลือเลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหนือบุคคลใดในสากลจักรวาล

เพียงได้ยินเท่านี้ ถ้าไม่รู้คุณ ไม่รู้สิ่งที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อให้ทุกคนได้ฟัง "คำ" ของพระองค์ เพราะฉะนั้น "ทุกคำ" มีประโยชน์ยิ่ง ในสังสารวัฏ เพราะเหตุว่า เป็นคำที่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งเพียงใด ต้องบำเพ็ญพระบารมี นานเท่าไหร่ กว่าจะประจักษ์แจ้งความจริง หลังจากที่ได้ทรงประจักษ์แจ้งความจริงแล้ว "ทุกคำ" มาจากพระปัญญา เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น ทุกคำ ไม่เว้นสักคำ!!

เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า "ธรรม" ได้ยินกันบ่อยๆ แล้วก็ไม่ได้ศึกษาจริงๆ ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสคำนี้ หมายความถึงอะไร ก็ "คิดว่า เข้าใจแล้ว!! รู้แล้ว!!" ถ้าเข้าใจแล้ว รู้แล้ว จะลึกซึ้งไหม? ไม่มีทางลึกซึ้งได้เลย!!

เพราะฉะนั้น การเคารพสูงสุด บูชาสูงสุด ต้องเป็นด้วยการที่ "สามารถเข้าใจคำที่พระองค์ตรัส" ให้ทุกคนได้มีโอกาส "รู้จัก" พระองค์ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่มีใครสามารถจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ถ้าไม่ฟังคำของพระองค์ และถ้าฟังแล้วไม่เห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือว่า เมื่อได้ฟังคำไหน ไตร่ตรอง จนเข้าใจคำนั้น ซึ่งเป็นความจริงถึงที่สุด เปลี่ยนไม่ได้เลย เพียงแค่คำเดียว "ธรรม" รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ได้ทรงตรัสรู้ธรรม เพราะฉะนั้น "ธรรม" คืออะไร? เดี๋ยวนี้มีไหม? หรือต้องไปแสวงหา จนกว่าจะพบ

ความจริง "ธรรม" คือ "สิ่งที่มีจริง" แค่นี้ ต้องแสวงหาไหม? "สิ่งที่มีจริง" สิ่งที่มีจริงอยู่ไหน? หาเจอไหม? เดี๋ยวนี้!! อะไรจริง นั่นแหละ คือ สิ่งที่มีจริง!! "เห็น" มีจริง "ได้ยิน" มีจริง "คิด" มีจริง "ได้กลิ่น" มีจริง "แข็ง" มีจริง "เสียง" มีจริง เปลี่ยนคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม? พระองค์ตรัสว่า ทุกอย่างที่มีจริง "มีลักษณะ" ปรากฏให้รู้ ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

สิ่งที่มีจริง "มีลักษณะ" ปรากฏ ให้รู้ว่า มีจริงๆ สิ่งนั้น เป็นธรรม มีที่ไหน ที่ไม่ใช่ธรรม มีวันไหน ที่ไม่ใช่ธรรม เดี๋ยวนี้!! มีธรรมหรือเปล่า? สิ่งที่มีจริงทุกอย่าง ทั้งหมด แต่ละหนึ่ง เปลี่ยนไม่ได้ "เห็น" จริง กำลังเห็น "ได้ยิน" จริง กำลังได้ยิน "คิด" จริง กำลังคิด "โกรธ" จริง กำลังโกรธ "ชอบ" จริง ขณะหนึ่งขณะ ในทุกขณะ มีจริง สิ่งนั้นเป็นธรรม

เพราะฉะนั้น รู้จักธรรมหรือยัง? ถ้าไม่ได้ฟังคำนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ "สิ่งที่มีจริง" ทั้งหมด ไม่เว้นเลย ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ถึงที่สุดโดยประการทั้งปวง หมายความว่า เปลี่ยนไม่ได้ แต่ต้องตรงในความลึกซึ้ง แม้แต่เพียงคำว่า "เห็น" มีจริง เดี๋ยวนี้กำลังเห็น พระองค์ไม่ได้ตรัสว่า "เห็น" เป็นใคร เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏก็ไม่ใช่ แต่ "เห็น" เป็น "เห็น" คำนี้ลึกซึ้งแค่ไหน ใครจะรู้ว่า "เห็นเดี๋ยวนี้" ไม่เป็นอะไรเลย ไม่เป็นนก ไม่เป็นไก่ ไม่เป็นหมู ไม่เป็นแมว แต่ "เห็น" เป็น "เห็น" ค่อยๆ เข้าใจ แต่ละคำ ถ้าไม่ฟังให้เข้าใจจนมั่นคง ไม่สามารถที่จะรู้ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

ถ้าเอารูปร่างออกให้หมดเลย รูปร่างนก รูปร่างไก่ รูปร่างคน รูปร่างปลา เอารูปร่างออกหมด "เห็น" เป็น "เห็น" ถูกต้องไหม? "เห็น" เป็นอื่นไม่ได้ จะบอกว่า คนเห็น นกเห็น ไก่เห็น ไม่ได้ ถ้าไม่มีรูปร่าง "เห็น" เป็น "เห็น" เพราะฉะนั้น "เห็น" เป็น "ธรรม" ต้องมั่นคง ตรงต่อความเป็นจริงทุกคำ เพราะว่าเป็นคำที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง "เห็น" เป็น "ธรรม" เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ คิดว่า "เราเห็น" ถูก หรือ ผิด?

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าใครเห็น เด็กเห็น ผู้ใหญ่เห็น แต่ตรัสว่า "เห็น" เป็นสิ่งที่มีจริง และ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีจริง สิ่งนั้นต้องเกิด นี่คือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะเริ่มรู้จักพระองค์ว่า เพียงสองสามคำ ไม่สามารถจะรู้คุณของพระองค์ได้ ต้องเข้าใจแม้คำว่า "เห็น" และต้องมั่นคงด้วย

"เห็น" เกิดเป็น "เห็น" น่าฟังหรือน่าเบื่อ? กำลังเห็น แล้วก็พูดธรรมดา "เห็น" เกิดเป็น "เห็น" หรือว่า ขณะนี้ "เห็นเกิดเห็น" ใครก็เห็นไม่ได้ อะไรก็เห็นไม่ได้ นอกจาก "เห็น" แต่ถึงกระนั้น ได้ยินคำนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ว่า แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไร เรื่อง "เห็น"

"เห็น" มีจริง "เห็น" ไม่ใช่ "สิ่งที่ถูกเห็น" ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ คิด เพราะพระองค์ตรัสว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง ทั้งหมด ทั้งปวง ทั้งหลาย ทั้งสิ้น เป็น "อนัตตา" อนัตตา หมายความว่า ไม่ใช่อัตตา อัตตาเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตั้งแต่เกิดก็เห็นคน เห็นบ้าน เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เป็น "สิ่งหนึ่งสิ่งใด"

แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วตรัสว่า ทุกอย่างที่มี ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต่างกับคนอื่นทั้งโลก ทั้งจักรวาล เพราะว่า ทุกคนก็คิดว่า เป็นเขา เป็นเรา เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ว่าพระองค์ตรัสถึง ความจริงซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ "เห็น" เป็นอื่นไม่ได้ นอกจาก "เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น" แค่นี้ "ธรรม" จนถึงการประจักษ์แจ้งความจริงทุกคำ สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้นเท่านั้น ไม่เป็นสิ่งอื่น!!

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้า 216

๘. ราหุลสูตร

ว่าด้วยสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์

[๑๘๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่ป่าอันธวัน ประทับ ณ พุทธอาสน์ที่พระราหุลปูลาดถวายที่ควงต้นไม้แห่งหนึ่ง ฝ่ายท่านพระราหุลถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า

ดูก่อนราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านพระราหุลกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้า 217

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.

รา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.

รา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง.

รา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.

รา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.

รา. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. จักษุวิญญาณ ฯลฯ จักษุสัมผัส ฯลฯ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยงหรือไม่เที่ยง.

รา. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.

รา. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.

พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ... ฯลฯ

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่าน


ขอเชิญติดตามบันทึกการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

ขอเชิญติดตามบันทึกการสนทนาที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงพยาบาลตำรวจ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงพยาบาลตำรวจ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงพยาบาลตำรวจ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗

- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงพยาบาลตำรวจ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ : เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pornchai.s
วันที่ 12 ต.ค. 2567

#สาธุอนุโมทนาวันทาในมหากุศล ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ