วิตกจะปรากฏได้ คือขณะที่คิด

 
เมตตา
วันที่  12 ต.ค. 2567
หมายเลข  48692
อ่าน  385

[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ ๕ ภาคที่ ๒ -หน้า 412

๗. วิตักกสูตร (๑)

ว่าด้วยการตรึกในอริยสัจ ๔

[๑๖๖๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าตรึกถึงอกุศลวิตกอันลามก คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะวิตกเหล่านี้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะตรึก พึงตรึกว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความตรึกเหล่านี้ประกอบด้วยประโยชน์เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบวิตักกสูตรที่ ๗

(๑) สูตรที่ ๗ - ๘ - ๙ ไม่มีอรรถกถา.


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 376

๑๑. อโยนิโสมนสิการสูตร

อกุศลวิตกเกิดเพราะไม่มนสิการโดยแยบคาย

[๗๘๙] สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล สมัยนั้นแล เธอไปที่พักในกลางวัน ตรึกอกุศลวิตกอันลามก คือกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก.

[๗๙๐] ครั้งนั้นแล เทวดาผู้สิงอยู่ในแนวป่านั้น มีความเอ็นดู ใคร่ประโยชน์ หวังจะให้ภิกษุนั้นสังเวช จึงเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุนั้นด้วยคาถาว่า

ท่านถูกวิตกกิน เพราะมนสิการ ไม่แยบคาย ท่านจงละมนสิการไม่แยบคาย เสีย และจงใคร่ครวญโดยแยบคาย ท่าน ปรารภพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ และศีลของตนแล้ว จะบรรลุความปราโมทย์ ปีติและสุขโดยไม่ต้องสงสัย แต่นั้น ท่านจักเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์ จัก กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

ลำดับนั้นแล ภิกษุนั้น เป็นผู้อันเทวดานั้นให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดใจแล้วแล.


อ.วิชัย: ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องของประโยชน์อยู่ที่ตรง ความเข้าใจ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังตรงนั้น ตรงนั้นจริงๆ ครับ เพราะว่า ถ้ามีความปราถนาความต้องการที่จะไปรู้สิ่งอื่นที่ไม่ได้เข้าใจในตรงนั้น ก็เป็นเรื่องของความต้องการ ซึ่งท่านอาจารย์ก็กล่าวว่า เป็นเครื่องกั้น ที่จะให้ไม่รู้ความเป็นจริงในสิ่งที่มีในขณะนั้นได้ครับ

ก็ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ อัญเชิญข้อความในพระสูตร ซึ่งเมื่อวานก็ได้กราบเรียนสนทนากับคณะอาจารย์ไปบ้างแล้ว แต่ก็มีประเด็นที่สืบเนื่องที่จะกราบเรียนกับท่านอาจารย์ในตรงนี้ด้วยครับ

ซึ่งข้อความใน วิตักกสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จง อย่าตรึกถึงอกุศลวิตกอันลามก คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ข้อนั้น เพราะเหตุใด เพราะวิตกเหล่านี้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะตรึก จง ตรึกว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะความตรึกเหล่านี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ...

กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ อย่างการศึกษาพระธรรมที่ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจมาตลอด จากการที่ได้มีโอกาสได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นคำบรรยาย หรือการสนทนาตามที่ต่างๆ ก็มีความเข้าใจว่า การศึกษาพระธรรมก็คงไม่ใช่เพียงอ่านแล้วคิดเอง ด้วยความคิดของตัวเองครับ อย่างพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงอย่าตรึกถึงอกุศลวิตก ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมี อัตตา ตัวตนที่จะไปห้ามไม่ให้ตรึกถึงสิ่งนั้น ไม่ให้ตรึกถึงสิ่งนี้ แต่ก็มีความตรึก คือ วิตก เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยครับท่านอาจารย์ แต่ที่ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจว่า อย่างความสำคัญของการที่จะมีความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศล เป็นเรื่องของความจำที่ถูกต้อง กับตรึกไปในทางที่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องของการฟังพระธรรม

กราบท่านอาจารย์ครับ อย่างเมื่อเราอ่านในเรื่องของ วิตักกสูตร แล้วก็จะมีความคิดถึงลักษณะของวิตก ซึ่งชีวิตประจำวันก็มี แต่การที่จะฟังธรรมที่จะเป็นเหตุให้ ละคลาย อกุศลวิตก ครับ ซึ่งปกติชีวิตประจำวันก็มีมากครับ การตรึกถึงธรรมก็น้อยมากที่จะตรึก แต่ก็โดยมากก็จะไปตรึกถึงเรื่องของความพอใจบ้าง ความไม่พอใจบ้าง เป็นต้น เหล่านี้ครับ การศึกษาพระสูตรแล้วจะเข้าใจเพื่อละคลายการตรึกเป็นไปใน อกุศล นี้อย่างไรครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เห็นพระคุณสูงสุด แต่แต่การตรัสว่า จง นั่นคือทรงแสดงหนทาง ซึ่งไม่ใช่หนทางบังคับ แต่หนทางให้รู้ประโยชน์ ถูกต้องไหม?

อ.วิชัย: ถูกต้องครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้ว จึงมีความเข้าใจถูกต้องในความเป็นธรรมว่า แม้แต่ความคิด คิดดีหรือเปล่าวันนี้? ไม่ใช่เอามาฟัง แล้วมานั่งคิดความหมายของคำนั้นๆ แต่รู้ว่า วิตักกะ ถ้าจะปรากฏได้ในวันหนึ่งๆ คือขณะที่คิด ถูกต้องไหม?

อ.วิชัย: ใช่ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ไม่อย่างนั้น จะหา วิตก ที่ไหนเจอ ทั้งๆ ที่วิตกเกิดทั้งวัน เว้นจิต ๑๐ ดวงเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงทางที่จะไปรู้เจตสิกแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งละเอียดยิบได้ แต่ว่า อะไรที่ปรากฏ ก็มีความเข้าใจว่า กำลังคิดนี่ ไม่ใช่เห็น

เพราะฉะนั้น เห็นแล้วก็คิด แล้วเวลาเห็นแล้วคิดนี่ คิดแบบไหน คิดแบบติดข้อง คิดแบบต้องการ แม้แต่อยากจะรู้ อยากอะไรทั้งหมด

เพราะฉะนั้น จง ที่นี่หมายความว่า หนทางที่จะละสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็คือด้วยความเข้าใจความจริง

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

อกุศลวิตก คืออะไร?

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

การขัดเกลากิเลสเหมือนการจับด้ามมีด

ความอยากเป็นเครื่องกั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 12 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลพี่เมตตาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
preechacupr
วันที่ 2 พ.ย. 2567

วิตก ทั้งในบทนี้มีใช้ใน ณาน ๑ (ณาน ๑ มีวิตก) หมายถืงมี เมื่อเธอทั้งหลายจะตรึก จง ตรึกว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ใน ณาน ๑ และวิจาร คือทบทวน? (อ่านพบในบาลีฝรั่งเขียน)

ขออาจารย์อธิบาย

ขอขอบคุณอาจารย์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ย. 2567

เรียนความคิดเห็นที่ ๓ ครับ

วิตก หรือ วิตักกะ ที่เป็นองค์ฌาน นั้น เป็นการตรึกหรือจรดในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบระงับจากกิเลสซึ่งต้องประกอบด้วยปัญญาในขั้นของสมถภาวนา การอบรมเจริญสมถภาวนาเพียงข่มกิเลสไว้ได้เท่านั้นไม่สามารถดับกิเลสได้ ส่วนวิตกหรือวิตักกะ ที่เป็นไปในอริยสัจจ์ ๔ เป็นความตรึกไปพร้อมปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในอริยสัจจ์ ๔ ตั้งแต่ขั้นปริยัติจนถึงสูงสุดถึงการประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริง เป็นวิตักกะที่เป็นไปกับปัญญาในขั้นของวิปัสสนาภาวนา เป็นเหตุทำให้ถึงการดับกิเลสได้ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
ส่วนวิจาร เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่ประคองตามวิตักกเจตสิก ไม่ว่าวิตักกกเจตสิกจะตรึกอย่างไร วิจารเจตสิกก็ประคองตามอย่างนั้น

เป็นความจริงที่ว่า จิตใดที่มีวิตักกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องมีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ เว้น ทุติยฌานจิต ที่มีวิจารเจตสิก โดยที่ไม่มีวิตักกเจตสิก ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ preechacupr พี่เมตตาและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
preechacupr
วันที่ 4 พ.ย. 2567

ดูกรภัททาลิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป

ท่านอาจารย์ จากตัวอย่างข้างบน แทบทุกพระสูตร ทุติยฌาน ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
preechacupr
วันที่ 4 พ.ย. 2567

ท่านอาจารย์ หมายถึง วิตก หรือ วิตักกะ ที่เป็นองค์ฌาน อารมณ์ที่ทำให้จิตสงบระงับจากกิเลสซึ่งต้องประกอบด้วยปัญญาในขั้นของสมถภาวนา การอบรมเจริ ส่วนวิตกหรือวิตักกะ ที่เป็นไปในอริยสัจจ์ ๔

เป็น ๒ อย่าง แต่ชื่อเหมือนกัน?

ในคืนที่พระพุทธเจ้าบรรลุโพธิญาน (ตรัสรู้) ปฐมยาม พระองค์มีวิตก ๓ พระองค์อยู่ในปฐมฌาน หรือวิตักกะ ที่เป็นไปในอริยสัจจ์ ๔ หรือทั้ง ๒

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 5 พ.ย. 2567

เรียนความคิดเห็นที่ ๕ ครับ
ข้อความในพระสูตร จะทรงแสดงโดยนัยฌาน ๔ โดยจตุกกนัย ทุติยฌานจึงไม่มีทั้งวิตกและวิจาร เพราะเหตุว่าการละ องค์ฌาน ไปทีละองค์นั้น เป็นฌานโดยปัญจกนัย คือ โดยนัยของฌาน ๕ สำหรับผู้ที่ปัญญาสามารถละวิตกและวิจารได้พร้อมกันนั้น เป็นฌานโดย จตุกกนัย คือโดยนัยของฌาน ๔ ดังนี้

ทุติยฌาน ละวิตก วิจาร จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา

ตติยฌาน ละปีติ จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา

จตุตถฌาน ละสุข จึงประกอบด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา


ทุติยฌาน โดยจตุกกนัย ก็คือ ตติยฌานโดยปัญจกนัย

ตติยฌาน โดยจตุกกนัย ก็คือ จตุตถฌานโดยปัญจกนัย

จตุตถฌาน โดยจตุกกนัย ก็คือ ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 5 พ.ย. 2567

เรียนความคิดเห็นที่ ๖ ครับ

วิตักกะหรือวิตก ก็คือ วิตักกเจตสิก ความเป็นจริงของวิตักกเจตสิกไม่เปลี่ยน เพราะเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตได้ทุกชาติเลย


ในยามต้นของคืนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้นั้น เป็นการระลึกชาติหนหลังได้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ดังนั้น วิตักกะหรือวิตกในขณะนั้น ยังไม่ได้เป็นไปในการรู้อริยสัจจ์ ๔ แต่เป็นวิตักกะหรือวิตกที่เป็นไปในปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สำหรับปุพเพนิวาสนานุสสติญาณ นั้น ปัญญาที่ทำให้สามารถย้อนระลึกชาติหนหลังได้ว่าเคยเกิดเป็นใครในชาติไหน แต่ละชาตินั้นได้ทำอะไรมาบ้าง มีญาติ พี่น้อง ตระกูล อาชีพเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งการจะได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ก็จะต้องอบรมสมถภาวนาที่ได้รูปฌาน และอรูปฌาน ก็จะต้องเป็นลำดับขั้นของการเจริญสมถภาวนา เช่นกัน คือ ได้ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน และ เจริญอรูปฌาน ๔ ต่อเป็นลำดับขั้น จนได้ฌานที่ ๘ โดยเจริญเป็นลำดับจากฌานที่ ๑ เมื่อถึงฌานที่ ๘ แล้วก็อบรมอย่างคล่องแคล่ว จนมีกำลัง จึงจะสามารถระลึกชาติได้ เป็นปัญญาที่เรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ครับ

... ยินดีในกุศลของคุณ preechacupr และทุกๆ ท่านด้วยครับ ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ