พระรับกิจนิมนต์
ขอสอบถามว่าพระรับกิจนิมนต์ไปเทศน์ ที่บริษัทต่างๆ และเทศน์ แบบตลก เล่นสำนวน และเทศน์ส่งเสริมเยินยอ ธุรกิจของบริษัทที่นิมนต์ เทศน์เรื่องทำอย่างไรให้ร่ำรวย อ้างถึงเศรษฐีระดับโลกที่ร่ำรวยว่าทำอย่างไร แบบนี้ผิดพระวินัยไหมครับ ท่านอ้างว่าเทศน์ หัวใจเศรษฐี อิงหลักคำสอนในคำสอนพระพุทธเจ้า
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การรับกิจนิมนต์เพื่อแสดงธรรม พระภิกษุสามารถที่จะรับได้ แต่ที่ควรจะได้พิจารณา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ไม่มีใครแสดงธรรมตลก มีแต่แสดงความจริง ด้วยจิตใจที่อ่อนโยนประกอบด้วยความกรุณามุ่งประโยชน์คือความเข้าใจอย่างถูกต้องสำหรับผู้ฟังเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระภิกษุที่มีความประพฤติที่ตรงกันข้ามกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย นั่นย่อมเป็นการกระทำที่ผิด ไม่คล้อยตามพระพุทธพจน์ เป็นอาบัติคือเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วเกิดโทษสำหรับตนเอง อย่างเช่น ถ้าเป็นการกล่าวเท็จ ภิกษุก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (ยังจิตให้ตกไปจากกุศล) ถ้าเป็นการกล่าวส่อเสียด ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเป็นการกล่าวหยอกล้อผู้อื่น ก็เป็นอาบัติทุพภาษิต (พูดไม่ดี)
พระภิกษุบางรูป พอแสดงธรรมจบ ก็รับเงินอีก ซึ่งการรับเงินก็เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ (ยังจิตให้ตกไปจากกุศล ซึ่งจะต้องสละวัตถุสิ่งของนั้นก่อนจึงจะแสดงอาบัติและพ้นจากอาบัติได้) ในโกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ แห่งนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐ ดังนี้
***พระบัญญัติ***
ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
ถ้าพระภิกษุกล่าวหรือทำอะไรเพื่อประจบประแจงคฤหัสถ์ซึ่งเป็นการประทุษร้ายสกุล หากไม่สละความประพฤติอย่างนี้ ก็อาจจะเป็นเหตุให้ต้องอาบัติหนัก คือ สังฆาทิเสสได้เลยทีเดียว (อาบัตที่ต้องเข้าแล้วต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัตินี้) ตามข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า ๖๒๒ ดังนี้
***พระบัญญัติ***
อนึ่ง ภิกษุเข้าไปอาศัยบ้านก็ดี นิคมก็ดี แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของเธอ เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันเธอประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านเป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้" และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ พึงว่ากล่าวภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า "พวกภิกษุถึงความพอใจด้วย ถึงความขัดเคืองด้วย ถึงความหลงด้วย ถึงความกลัวด้วย ย่อมขับภิกษุบางรูป ย่อมไม่ขับภิกษุบางรูป เพราะอาบัติเช่นเดียวกัน" ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า "ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายหาได้ถึงความพอใจไม่ หาได้ถึงความขัดเคืองไม่ หาได้ถึงความหลงไม่ หาได้ถึงความกลัวไม่ ท่านเองแล เป็นผู้ประทุษร้ายสกุล มีความประพฤติเลวทราม ความประพฤติเลวทรามของท่าน เขาได้เห็นอยู่ด้วย เขาได้ยินอยู่ด้วย และสกุลทั้งหลายอันท่านประทุษร้ายแล้ว เขาได้เห็นอยู่ด้วย เข้าได้ยินอยู่ด้วย ท่านจงหลีกไปเสียจากอาวาสนี้ ท่านอย่าอยู่ในที่นี้" และภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนี้ ยังยกย่องอยู่อย่างนั้นเทียว ภิกษุนั้นอันภิกษุทั้งหลาย พึงสวดสมนุภาสน์ ( การสวดประกาศห้ามไม่ให้ถือรั้นการอันมิชอบ ให้เลิกการกระทำเช่นนั้นเสีย ) กว่าจะครบสามจบ เพื่อให้สละกรรมนั้นเสีย หากเธอถูกสวดสมนุภาสน์กว่าจะครบสามจบอยู่ สละกรรมนั้นเสีย สละได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากเธอไม่สละเสีย เป็นสังฆาทิเสส
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำจริงทุกคำ บริสุทธิ์สะอาดอย่างยิ่งพร้อมที่จะให้ประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ฟังผู้ศึกษา ดังนั้น ผู้กล่าวธรรมก็ควรที่จะกล่าวตามที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เท่าที่ตนเองเข้าใจ พร้อมทั้งมีความเคารพอย่างยิ่งในขณะที่กล่าวธรรม ไม่หวังลาภสักการะชื่อเสียง เพราะเหตุว่า พระธรรมกถึก (ผู้กล่าวธรรม) รูปใด แสดงธรรมด้วยหวังว่าเราจักได้ลาภหรือสักการะเพราะอาศัยธรรมเทศนานี้ การแสดงธรรมของพระธรรมกถึกรูปนั้น ชื่อว่า ไม่บริสุทธิ์
สำหรับองค์คุณของผู้แสดงธรรม มีแสดงไว้ใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ อุทายิสูตร หน้า ๓๓๓ ดังนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูกร อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการ ไว้ภายในแล้ว จึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ภิกษุพึงตั้งใจว่าเราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑ เราจักแสดงอ้างเหตุผล ๑ เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑ เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑ เราจักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น ๑ แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ดูกร อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ ไว้ในภายในแล้ว จึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระองค์ทรงแสดงทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง แม้แต่ชีวิตของคฤหัสถ์ พระองค์ก็ทรงแสดงไว้ว่าประพฤติอย่างไรจึงจะไม่เดือดร้อนในปัจจุบัน ซึ่งก็ควรที่จะกล่าวข้อความโดยตรงตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ กล่าวคือ มีความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร (อุฏฐานสัมปทา) ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ (อารักขสัมปทา) เลี้ยงชีพพอเหมาะไม่ฟุ่มเฟือยนักไม่ฝืดเคืองนัก (สมชีวิตา) และ คบกัลยาณมิตรคือมิตรที่ดีงาม (กัลยาณมิตตตา) ทรัพย์ที่หามาได้จะพินาศไป จะเสื่อมไปด้วยเหตุ ๔ อย่าง ซึ่งจะต้องรู้ คือ เป็นนักเลงหญิง ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นนักเลงการพนัน ๑ มีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว ๑ ทรัพย์ที่หามาได้ จะเจริญ ด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ๑ ไม่เป็นนักเลงสุรา ๑ ไม่เป็นนักเลงการพนั้น ๑ มีมิตรดี สหายดี เพื่อนดี ๑ และไม่ใช่ว่าพระองค์จะทรงแสดงเฉพาะประโยชน์สุขในปัจจุบันเท่านั้น พระองค์ยังทรงแสดงธรรมที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขในภายหน้าอีกด้วย ๔ ประการ คือ คือ สัทธาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศรัทธา) ๑ สีลสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศีล) ๑ จาคสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยการเสียสละ) ๑ ปัญญาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยปัญญา) ๑
*ทุกท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ใน ทีฆชาณุสูตร
นอกจากนั้นแล้ว คำที่ควรพูด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงไว้เป็นอย่างมาก อย่างเช่นข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ วาจาสูตร หน้าที่ ๔๓๙ ดังนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการเป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน องค์ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นคำจริง ๑ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑ เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ สุภาสิตสูตร หน้า ๓๑๕ มีดังนี้
สัตบุรุษทั้งหลาย ได้กล่าววาจาสุภาษิตว่าเป็นที่หนึ่ง บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรมไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม เป็นที่สอง บุคคลพึงกล่าววาจาอันเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก เป็นที่สาม บุคคลพึงกล่าววาจาจริง ไม่พึงกล่าววาจาเท็จ เป็นที่สี่
ผู้ที่เป็นพระภิกษุ ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมวินัยและประพฤติตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจ ไม่มีความเคารพในพระธรรมวินัย ไม่มีความเคารพยำเกรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โอกาสที่จะประพฤติผิดกระทำผิดเป็นอาบัติ ก็ย่อมจะมีมาก ซึ่งเป็นอันตรายมากในเพศของภิกษุ ถ้ามีอาบัติติดตัวแล้ว ไม่แก้ไข ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ หากมรณภาพ (ตาย) ในขณะที่ยังดำรงอยู่ในเพศพระภิกษุอยู่ไม่ว่าจะเป็นภิกษุรูปใดก็ตาม ชาติต่อไปต่อจากชาตินี้เลย จะต้องไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น น่ากลัวมาก ครับ
... ยินดีในกุศลของท่านผู้ถามและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...
การนิมนต์พระภิกษุ ที่จะให้รับปัจจัยนั้น ต้องนิมนต์ให้ถูกต้อง
บรรพชิตที่ละอาคารบ้านเรือน พยายามที่จะละความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องขัดเกลาทั้งธรรม และวินัย เพื่อที่จะละคลายการติดในวัตถุ โดยพระวินัยบัญญัติ แม้แต่ในการที่จะรับปัจจัยจากฆราวาส ก็จะต้องรับด้วยการขัดเกลากิเลสตามพระวินัยบัญญัติด้วย เพราะคำว่า ภิกษุ แม้จะหมายถึงผู้ขอก็จริง แต่โดยความหมายไม่ใช่ขออย่างธรรมดา แต่จะขอหรือรับเฉพาะจากผู้ที่มีศรัทธาเท่านั้น ซึ่งจะรู้ได้จากการนิมนต์พระภิกษุ ที่จะให้รับปัจจัยนั้น ต้องนิมนต์ให้ถูกต้องด้วย
ขอกล่าวถึงข้อความใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล คณโภชนสิกขาบทที่ ๒ ว่าด้วยนิมนต์พระรับภิกษา เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับฆราวาสในการนิมนต์พระภิกษุ ข้อความมีว่า
ขอเชิญรับฟัง
ยินดีในกุศลจิตครับ
ฟังธรรม ฟังคำองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอน้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ
ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อกำหนัดย้อมใจ ๑
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ในทุกข์ ๑
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสั่งสมกองกิเลส ๑
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความมักมาก ๑
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ๑
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อการคลุกคลีด้วยหมู่ ๑
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ๑
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก ๑
ทั้ง ๘ ประการดังกล่าว ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา
การแสดงธรรมเทศนาแบบตลก ไม่เหมาะสมกับสมณเพศ
การเล่นสำนวนและเทศน์ส่งเสริมเยินยอ ธุรกิจของบริษัทที่นิมนต์ ก็เป็นการประจบคฤหัสถ์ มีโทษทางพระวินัยบัญญัติ
การเทศน์เรื่องทำอย่างไรให้ร่ำรวย อ้างถึงเศรษฐีระดับโลกที่ร่ำรวยว่าทำอย่างไรนั้นแบบนี้ผิดข้อลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ ดังกล่าว เพราะมุ่งเพื่อความติดข้อง
ถึงจะอ้างว่าเทศน์ หัวใจเศรษฐี แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่อิงหลักคำสอนในคำสอนของพระศาสดา เพราะมีส่วนที่ขัดกับลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย
มิได้หมายความว่า ห้ามมิให้ร่ำรวย เป็นเศรษฐี แต่ถ้าเป็นคำสอนหรือการเทศน์ต้องไม่ขัดกับ ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ การหาทรัพย์หรือการกระทำที่จะให้ถึงผลสำเร็จต้องใช้ความเพียร แต่พระธรรมวินัยมิได้เป็นไปเพื่อความติดข้อง