ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรมเพื่อละกิเลส

 
เมตตา
วันที่  22 ต.ค. 2567
หมายเลข  48751
อ่าน  246

[เล่มที่ 72] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ภาค ๑ หน้า 41 -44

เอกธัมมสวนิยเถราปทานที่ ๗ (๔๒๗)

ว่าด้วยผลแห่งการฟังธรรมครั้งเดียว

[๑๗] พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้จบธรรมทั้งปวงประกาศสัจจะ ๔ ทรงยังชน เป็นอันมากให้ข้ามพ้นดีแล้ว

สมัยนั้น เราเป็นชฎิลมีตบะใหญ่ สลัด ผ้าคากรองเปลือกไม้เหาะไปอัมพรในกาลนั้น เราไม่สามารถจะเหาะไปได้เหนือพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เราเหาะไปไม่ได้ เหมือน นกเข้าไปใกล้ภูเขาแล้วไปไม่ได้ฉะนั้น

เราบังหวนเป็นไอน้ำลอยอยู่ในอัมพร เช่นนี้ ด้วยคิดว่า เหตุเครื่องทำให้อิริยาบถกำเริบ เช่นนี้ มิได้เคยมีแก่เรา

เอาละ เราจักค้นหาเหตุนั้น บางทีเรา จะพึงได้ผล เราลงจากอากาศ ก็ได้สดับพระ สุรเสียงของพระศาสดา

เมื่อพระศาสดาตรัสถึงว่าสังขารไม่เที่ยง ด้วยพระสุรเสียงที่น่ายินดี น่าฟัง กลมกล่อม ขณะนั้นเราได้เรียนเอาอนิจจลักษณะนั่นแหละ

ครั้นเรียนอนิจจลักษณะได้แล้ว ก็ไปสู่ อาศรมของตน เราอยู่ในอาศรมนั้นแหละ ตราบ เท่าสิ้นอายุ ตายไปแล้ว

เมื่อกาลที่สุดกำลังเป็นไป เราระลึกถึง การฟังพระสัทธรรม เพราะกรรมที่เราได้ทำไว้ดี แล้วนั้น และเพราะความตั้งเจตนาไว้

เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสู่ดาวดึงสพิภพ รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ๓ หมื่นกัป

ได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๕๑ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๑ ครั้ง

และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณนานับมิได้ เราเสวยบุญของตน ถึงความ สุขในภพน้อยใหญ่

เราท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ก็ยัง ระลึกได้ถึงสัญญานั้น บทอันไม่เคลื่อน คือ นิพพาน เราหาได้แทงตลอดด้วยธรรมอันหนึ่งไม่ สมณะผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว นั่งในเรือนบิดา

เมื่อจะแสดงธรรมกถาท่านได้ยกอนิจจ- ลักษณะขึ้นมาในธรรมกถานั้น

พร้อมกับที่ได้ฟังคาถาว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป เป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่ สังขารเหล่านั้นสงบระงับ เป็นความสุข ดังนี้

เราจึงนึกถึงสัญญาขึ้นได้ทุกอย่าง เรานั่ง ณ อาสนะเดียว บรรลุอรหัตแล้ว

เราได้บรรลุอรหัต โดยเกิดได้ ๗ ปี พระ พุทธเจ้าทรงให้เราอุปสมบทแล้ว นี้เป็นผลแห่ง การฟังธรรม

ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ เราได้ฟังธรรมใด ในกาลนั้น ด้วยการฟังธรรมนั้น เราไม่รู้จัก ทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการฟังธรรม

เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... คำสอน ของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ทราบว่า ท่านพระเอกธัมมสวนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย ประการฉะนี้แล.

จบเอกธัมมสวนิยเถราปทาน


อ.วิชัย: เห็นประโยชน์ของความเป็นผู้ตรง ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้ให้ความเข้าใจในเรื่องของความเป็นผู้ตรงต่อพระธรรม แล้วก็ตรงต่อธรรมด้วยครับ มีการสนทนาเรื่องของความเป็นผู้ตรง ความเป็นผู้อดทน และความเป็นผู้ละเอียด ซึ่งจากการศึกษาพระธรรม ก็เห็นประโยชน์ของความเป็นผู้ตรงว่า ต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่แรกเลยว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ว่าการที่จะเพียงฟังแล้วเข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็รู้สึกว่า ยังห่างไกลความเป็นธรรมมาก แต่ก็รู้ว่า มีหนทางเดียวครับ ดังนั้น การที่จะเป็นผู้ตรงขึ้นๆ ในความเป็นจริงของธรรม ที่จะไม่เป็นความลวง ความเป็นเราบ้าง หรือความเฉไฉด้วยความเป็นเราบ้าง ที่จะไม่ตรงคืออย่างไรครับ

ท่านอาจารย์: ยังห่างไกลมากกับความตรงนะ พูดอย่างนี้น่าตกใจไหม?

อ.วิชัย: ยังห่างไกลมากครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: ยังห่างไกลมากกับความเป็นผู้ตรงว่า ศึกษาธรรมทำไม?

อ.วิชัย: ตั้งแต่ต้นเลยครับ

ท่านอาจารย์: ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ยังห่างมาก ตราบใดที่ปัญญายังไม่ละเอียด ตรงต่อการที่ทำไมฟังธรรม? เห็นไหม? ฟังเพื่อเข้าใจความจริง หมายความว่าเริ่มรู้ตัวแล้วว่า ไม่ได้รู้ความจริง จึงฟังเพื่อจะเข้าถึงความจริง และเข้าใจความจริงว่า เป็นความจริงเปลี่ยนไม่ได้ ละเอียดไหม?

อ.วิชัย: ละเอียดมากที่สุดเลยครับ ไม่มีอะไรละเอียดยิ่งกว่าการรู้ธรรมครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ลืมไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น มั่นคงต่อการที่ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เพื่ออะไร? เพื่อละกิเลส ใครคิดอย่างนี้บ้าง?

อ.วิชัย: โดยมากไม่ได้เห็นกิเลสอกุศลที่จะละเลยครับ ก็ดูเหมือนกับเป็นความเคยชิน เป็นความอยู่กับอกุศลมานาน จนไม่ได้เห็นว่า สิ่งที่เป็นอกุศลเป็นโทษ อย่างความรู้ในสิ่งที่ปรากฏอย่างนี้ครับ ไม่ได้เห็นว่าเป็นโทษภัยอะไรเลยที่ฟังพระธรรมที่จะละครับ

ท่านอาจารย์: ฟังแล้วก็ยังมีกิเลสมากมายมหาศาล ถูกต้องไหม?

อ.วิชัย: ใช่ครับ

ท่านอาจารย์: ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ทั้งลึก กว่าจะรู้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแต่ละคำ เพื่อให้บ่มนิสัย เป็นผู้ที่ตรงต่อการที่ศึกษาทำไม ไม่ใช่ศึกษาเพื่ออะไรเลย เพื่อรู้ความจริง รู้ทำไม? ก็เพื่อที่จะ ละ ความไม่รู้ และละกิเลส เป็นความตรงอย่างยิ่ง ประโยชน์อย่างยิ่ง สูงสุดอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น แต่ละคนลองพิจารณาไตร่ตรองที่แล้วมาที่ผ่านมา ฟังธรรมเป็นอย่างไรบ้าง?

อ.วิชัย: ก็ฟังแล้ว ก็เข้าใจขึ้นบ้างครับ แต่ก็รู้ว่ายังต้องอาศัยการฟังการอบรมความรู้อีกมากครับ เพราะว่า ความไม่รู้ที่สะสมมามีมากครับ

ท่านอาจารย์: ยังห่างไกลต่อการที่ฟังเพื่อละกิเลส เห็นไหม? ถูกต้องไหม?

อ.วิชัย: ใช่ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะไม่รู้ว่า ตัวเองแต่ละคน ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น มีกิเลสมากแค่ไหน แล้วฟังธรรมทำไม แล้วจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีความเข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงว่า ฟังเพื่ออะไร?

ฟังเพื่อเป็นผ้าเช็ดธุลี เคยคิดไหม? เพราะว่า ปกติธรรมดากระทบกระทั่งอะไรก็หวั่นไหวไปตั้งมากมายมหาศาล แทบจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เพราะปัญญาไม่พอที่จะรู้ว่า ไม่มีเรา

ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่สามารถจะทำอะไรได้เมื่อเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นยังมีอยู่มากมาย

แต่ถ้าเริ่มเห็นคุณเห็นประโยชน์ต่อการที่จะ ละ สิ่งที่กำลังมีจนไม่เกิดอีกเลย อย่างนั้นหรือเปล่า เห็นไหม? ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่ค่อยๆ ละเอียดขึ้น ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่หวั่นไหว ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พร้อมที่จะอภัย เพราะถ้าไม่อภัย โทษอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ตัวเองที่ไม่อภัย

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

ฟังธรรมเพื่ออะไร

ฟังธรรมเพื่อเข้าใจ

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

ฟังธรรมทำไม

ฟังธรรมแล้วได้อะไร

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.วิชัย ด้วยความเคารพค่ะ


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ