ขาดการไตร่ตรองยิ่งขึ้น

 
เมตตา
วันที่  15 พ.ย. 2567
หมายเลข  48913
อ่าน  316

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 339 - 340

ท่านอธิบายไว้ว่าอย่างไร. ท่านอธิบายว่า ภิกษุผู้อยู่ป่า ประสงค์จะบรรลุสันตบทอยู่ หรือบรรลุสันตบทนั้นด้วยโลกิยปัญญาแล้ว ปฏิบัติเพื่อบรรลุสันตบทนั้น ไม่อาลัยในกายและชีวิต ด้วยประกอบด้วยปธานิยังคะข้อ ๒ และ๔ พึงเป็นผู้อาจปฏิบัติเพื่อแทงตลอดสัจจะ กรณียกิจที่ควรทำไรๆ นั้นใด ไม่ว่าสูงต่ำของสพรหมจารี ในการบริกรรมกสิณสมาทานวัตรเป็นต้น และในการซ่อมแซมบาตรจีวรเป็นต้นของตน ก็พึงอาจ พึงขยัน ไม่เกียจคร้านสามารใน กรณียกิจ เหล่านั้น และในกิจเช่นนั้น อย่างอื่นก็เหมือนกัน. แม้เมื่อเป็นผู้อาจ ก็พึงเป็นผู้ตรงด้วยการประกอบด้วยปธานิยังคะข้อที่ ๓. แม้เมื่อเป็นผู้ตรงก็พึงเป็นผู้ตรงด้วยดี ด้วยเป็นผู้ตรงคราวเดียว หรือด้วยเป็นผู้ตรงในเวลายังหนุ่ม ด้วยไม่ถึงสันโดษแต่ทำไม่ย่อหย่อนบ่อยๆ จนตลอดชีวิต. หรือว่า ชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู) เพราะ ไม่มีมายา. หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่า ตรงดี เพราะละความคดทางใจ. หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง. พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี ด้วยอารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน ด้วย สิกขาข้อ ๒ - ๓ ข้างต้น และด้วยปโยคสุทธิและอาสยสุทธิ ด้วยประการฉะนี้.


[เล่มที่ 22] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 342

[๒๕๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาทิฏฐิไว้ ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระเป็นองค์มรรคอย่าง ๑


อ.วิชัย: ฟังการสนทนาเมื่อครู่นี้ ตั้งแต่การเริ่มต้นพูดถึง ขาดอะไร? ในการที่จะฟังพระธรรม ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้ให้ความเข้าใจในเรื่องของ การไตร่ตรองด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ได้ฟังไม่แน่ใจว่า ถูกต้องหรือเปล่าที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า บุคคลที่ฟังก็เป็นแต่เพียงคิด ครับท่านอาจารย์ คือ ปกติเห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็คิดเป็นปกติครับ การที่จะฟังธรรมแล้วคิด จะเป็นปกติไหมครับ หรือเพียงคิด หรือมีอะไรที่ยิ่งกว่าการเพียงคิด ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพียงรู้ว่า ธรรมคืออะไรใช่ไหม?

อ.วิชัย: ก็ได้ยินมาว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงครับ

ท่านอาจารย์: แล้วได้ยินมาว่า แล้วเดี๋ยวนี้อะไรมีจริงหรือเปล่า?

อ.วิชัย: ครับ ถ้าได้ยินมาว่า ก็ไม่ได้คิดไตร่ตรองไปว่า สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้เป็นอะไรครับ

ท่านอาจารย์: เห็นไหม?

อ.วิชัย: ครับ ดังนั้น การน้อมไปสู่ลักษณะของธรรม จะอาศัยอะไรเป็นเหตุครับ เพราะบางครั้งเพียงแต่ฟังคำจริงๆ ครับ อย่าง ปัจจัย ก็ฟังแต่คำต่างๆ เยอะแยะเลยครับ แต่ว่าการที่จะไปรู้ภาระ หรือความเป็นปัจจัยของธรรม ก็รู้ว่ายังไม่ใช่ฐานะที่จะไปรู้ตรงนั้นได้ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เพราะอะไรไม่ใช่ฐานะ?

อ.วิชัย: ปัญญายังไม่เกิดขึ้นที่จะรู้ในความเป็นจริงของสิ่งนั้นครับ แต่รู้ได้เพียงการฟังเท่านั้น

ท่านอาจารย์: เห็นไหม แค่นี้ก็รู้แล้วว่า ไม่ได้มีการไตร่ตรองอีกๆ ๆ ๆ ไม่ว่าระดับไหนทั้งหมด ขาดการไตร่ตรองละเอียดขึ้นไม่ได้เลย ยิ่งขึ้นไม่ได้เลย และการที่จะเข้าใจความละเอียดยิ่งขึ้น ก็ต้องมาจากเบื้องต้นต้องไตร่ตรองให้ถูกต้องก่อน ถ้าไม่มีการไตร่ตรองในเบื้อง แล้วจะไปเอาการไตร่ตรองต่อไปข้างหน้ามาได้อย่างไร?

อ.วิชัย: แสดงว่า ก็ต้องมีระดับของความละเอียดในการไตร่ตรองที่จะค่อยๆ น้อมไปสู่ตัวสภาพธรรม

ท่านอาจารย์: ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงละเอียดขึ้น ปริยัติ ต่างระดับกับปฏิเวธะใช่ไหม?

อ.วิชัย: ต่างกันมากครับ

ท่านอาจารย์: แล้วถ้าไม่ไตร่ตรองปริยัติ จะรู้ความต่างของปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธะไหม?

อ.วิชัย: ไ ม่สามารถจะรู้ได้เลยครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ความตรง ตรงต่อความเป็นจริงว่า เข้าใจมากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละความไม่รู้ ด้วยความตรงที่รู้ว่า เพียงเท่านี้ แค่นี้ ไม่พอเลยกับการไม่ได้ฟังความจริง ไม่ได้ไตร่ตรองมากี่แสนกัปป์

อ.วิชัย: การที่จะเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า รู้หรือไม่รู้ ซึ่งแม้แต่ข้อความในพระสูตร พระองค์ก็ยังแสดงถึงหนทางผิด หรือความเป็นผิด ก็จะมีเรื่องของมิจฉาญาณด้วยครับ อะไรเป็นเหตุ ก็จะถามถึงต้องการหาอีกครับท่านอาจารย์ ก็อะไรที่จะให้เหมือนกับเป็นสิ่งที่จะให้รู้ว่า ไม่เข้าใจผิดในหนทาง หรือในความสิ่งที่ไม่รู้แล้วคิดว่ารู้ ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ผิดตั้งแต่ต้นหรือเปล่าที่จะเป็นมิจฉาญาณได้? เห็นไหม ไปไกลถึงปานนั้น มาจากการผิดตั้งแต่ต้นใช่ไหม? เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องไปไหน ให้ถูกตั้งแต่ต้น

อ.วิชัย: ครับ ก็ต้องอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ต้องตั้งแต่ต้นจริงๆ ถึงจะค่อยๆ ละเอียดขึ้นที่จะไม่เข้าใจผิด แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เผิน แล้วก็คิดว่ารู้ นั้นก็เป็นความประมาทอย่างยิ่งในพระธรรมครับ

ขอเชิญอ่านได้ที่..

ทางอื่น ไม่มี [คาถาธรรมบท]

ความเป็นผู้ซื่อตรง และ อ่อนโยน

ขอเชิญฟังได้ที่..

พระธรรมวินัย ๐๓๘ - ความเป็นผู้ตรง

ต้องตรงต่อความจริง

ผู้ตรงที่รู้ว่ายังหลงลืมสติเกือบเหมือนเดิม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.วิชัย ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 19 พ.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณยิ่งและยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ