ความแยบยลของอวิชชาและโลภะ
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 332
ปชานาตีติ ปญฺญา ธรรมที่ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่าย่อมรู้ทั่ว.
ถามว่า ย่อมรู้ทั่วซึ่งอะไร?
ตอบว่า ย่อมรู้ทั่วซึ่งอริยสัจทั้งหลาย โดยนัยมีคำว่า นี้ทุกข์เป็นต้น แต่ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่า ย่อมให้รู้
ถามว่า ย่อมให้รู้อะไร?
ตอบว่า ย่อมให้รู้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.
[๔๔] ปัญญาพละ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ
ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ
ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ กำลังคือปัญญา ปัญญาเหมือนศัสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า ปัญญาพละ มีในสมัยนั้น.
อ.อรรณพ: เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์สนทนากับคุณศรีสอางค์เรื่อง บารมี ก็กล่าวว่ากุศลที่ทั้งที่ประกอบด้วยปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และก็ไม่ต้องไปคิดว่าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเท่านั้น แม้กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาแต่เป็นไปในการที่จะเห็นโทษของอกุศลก็เป็นบารมี กราบเท้าท่านอาจารย์ได้ให้ความชัดเจนว่า บารมีที่เป็นกุศลด้วยที่ประกอบด้วยปัญญาก็คงไม่สงสัยกัน แต่แม้กุศลที่ไม่ประกอบด้วยป็ญญา ซึ่งก็เกิดตามเหตุตามปัจจัยก็เป็นบารมีด้วยอย่างไร ครับ
ท่านอาจารย์: หวังว่า กุศลทุกครั้งจะประกอบด้วยปัญญาหรือเปล่า? หวังว่า .. แค่นี้ก็ลืมคิดแล้ว
อ.อรรณพ: หวังก็เป็นปฏิปักษ์กับบารมีแล้วครับ
ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่การสะสมมาที่จะรู้ว่า ขณะที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแม้ทีละเล็กทีละน้อยก็ปรุงแต่งให้สามารถที่จะเข้าใจในขณะนั้นถูกต้องได้แล้วแต่ปัจจัย
เพราะฉะนั้น แม้ว่า ขณะนั้นจะไม่เป็นการเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม แต่ถ้าขาดพื้นฐานที่เขาค่อยๆ ปรุงเอง ขณะไหนจะประกอบด้วยปัญญาไม่ประกอบด้วยปัญญา อดทนไหมที่จะรู้ว่า ขณะนั้น เพราะบารมีเพราะได้เข้าใจความจริง จึงสามารถที่จะไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใด ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นการทดสอบความเข้าใจอนัตตาแค่ไหน
อ.อรรณพ: ครับ เพราะฉะนั้น นี่แหละครับเมื่อขัดเกลาโลภ แล้วโลภไม่มากลุ้มรุม แล้วก็ไม่หวังที่จะให้เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจะได้เป็นบารมี แล้วก็ในความเป็นอนัตตา
กุศลแม้ประกอบ หรือไม่ประกอบด้วยปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นไปตามความเป็นไปตามธรรม นี่ครับ ความเข้าใจอย่างนี้ก็เป็นบารมีครับ
ท่านอาจารย์: แล้วลองคิดดู ถ้าขณะนั้นหวั่นไหว อันนี้ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่บารมี ถูกไหม?
อ.อรรณพ: ถูกครับ
ท่านอาจารย์: เครื่องวัดความละเอียดของปัญญา หวั่นไหวหรือไม่หวั่นไหว นั่นแหละตัวบารมี
อ.อรรณพ: เพราะฉะนั้น ถ้าหวั่นไหวด้วยโลภ เกิดหวั่นไหวอยากให้เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจะได้เป็นบารมี กับความไม่หวั่นไหวด้วยปัญญาที่ไม่ว่า กุศลนั้นจะประกอบหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นบารมี
ท่านอาจารย์: ธรรมที่เป็นอนัตตา ต้องมั่นคงไปทั่วหมดทุกประการ
อ.อรรณพ: ครับท่านอาจารย์กล่าววันนี้เดี๋ยวนี้เป็นประโยชน์มากเลยครับ ผมก็ได้ไตร่ตรอง ระลึกถึง คำ ใน พระไตรปิฎก อรรถกถา ว่า แม้กุศลญาณวิปปยุตต์ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าเป็นฝักฝ่ายของกุศลญาณสัมปยุตต์ก็เป็นฝักฝ่ายของกุศลญาณสัมปยุตต์สำหรับบุคคลที่มีความเข้าใจถูกนะครับ ก็คือบุคคลที่เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลครับ
นี่ชัดเจนมากเลยว่า ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล ผู้ที่มีความเข้าใจถูกในพระธรรม เข้าใจถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา และบารมีต่างๆ และในขณะที่แม้กุศลนั้นไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ก็เป็นฝักฝ่ายของกุศลที่เป็นญาณสัมปยุตต์ ก็เป็นฝักฝ่ายของบารมี
กราบเท้าท่านอาจารย์ให้เห็นในความเป็นอนัตตาว่า ความเข้าใจในความเป็นอนัตตาตั้งแต่ในขั้นการฟัง การไตร่ตรอง จะเป็นประโยชน์จะไม่มีไม่ถูกเจ้าโลภที่เมื่อวานสนทนากันใน อรรถหนึ่ง ของ โลภ คือเป็นอาวรณ์ คือสภาพที่กั้นกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น แม้กุศลธรรมที่เป็นบารมีก็จะถูกโลภกั้น เพราะโลภ อยากให้เป็นบารมี อยากให้เป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ รู้สึกว่ากุศลญาณวิปปยุตต์ไม่อยากได้ แต่มาวันนี้สอดคล้องกับพระไตรปิฎกแล้วในความเป็นจริงของสภาพธรรมมากๆ เลยครับ ผมกราบแทบเท้าจริงๆ
ท่านอาจารย์: แล้วเราพิจารณาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น อะไรเป็นเหตุให้ไม่หวั่นไหว แม้ขณะนั้นเป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา?
อ.อรรณพ: ความเข้าใจว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์: มั่นคงขึ้นใช่ไหม?
อ.อรรณพ: ใช่ครับ
ท่านอาจารย์: เห็นไหม ความแยบยล ความละเอียด ของอวิชชาและโลภะ ปัญญาต้องรู้จนทั่วทุกแง่ทุกมุม จึงสามารถที่จะละได้ไม่เกิดอีกเลยตามลำดับขั้น แม้แต่เหตุที่จะไม่หวั่นไหวในขณะที่เป็นปัญญาที่ไม่ประกอบด้วยบารมี มาจากไหนถ้าไม่ใช่บารมีของปัญญาที่มากพอที่จะไม่หวั่นไหวในขณะนั้น ก็เกิดหวั่นไหวแล้ว
อ.อรรณพ: ยิ่งเห็นคุณค่าของปัญญาที่จะปรุงแต่งให้ความดีทั้งหลายเป็นบารมี ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว โลภแทรกพรุนไปหมด ไม่เป็นบารมีได้เลย ต้องกราบเท้าท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์: นี่ก็กำลังสะสมสิ่งที่จะเกิดข้างหน้าโดยไม่หวั่นไหว เพราะรู้ในความเป็นอนัตตา กว่าจะมากกว่านี้ มั่นคงกว่านี้ ชีวิตประจำวันเป็นเครื่องพิสูจน์
ขอเชิญอ่านเพิ่มที่..
ขอเชิญฟังได้ที่ ...
ต้องเข้าถึงความเป็นอนัตตาว่าเป็นสภาพธรรม
อาวรณ์ - ตัณหา - เหตุแห่งทุกข์ - แดนเกิดแห่งทุกข์
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ ด้วยความเคารพค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตครับ