ขณะที่เป็นตัวตนเป็นธรรมหรือเปล่า?

 
เมตตา
วันที่  28 พ.ย. 2567
หมายเลข  49004
อ่าน  192

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 38

ในคำว่า ธมฺม  นี้ ธัมมศัพท์นี้ ใช้กันในอรรถทั้งหลายมี ปริยัตติ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา บุญ อาบัติ เญยยะ และจตุสัจธรรม เป็นต้น

ดังนั้น ธรรม จึงมีหลายความหมาย ธรรม หมายถึง ปริยัติ เช่น พระไตรปิฎก มี วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎกก็ชื่อว่า ธรรม

ธรรม หมายถึงปัญญา

ธรรม หมายถึง ปกติ เช่น มีความแก่เป็นปกติ เกิดเป็นปกติ ตายเป็นปกติ

ธรรม หมายถึง สภาวะ คือลักษณะของสภาพธัมมะของสภาวธรรมต่างๆ เช่นสภาวธรรมของกุศล อกุศล กิริยา

ธรรม หมายถึง จตุสัจธรรม คือ อริยสัจ ๔

ตามที่เราได้เข้าใจกัน เข้าใจคำว่า ธรรม หมายถึง ลักษณะของสภาวธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก รูป


ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โลภคุณ”

คำว่า โลภคุณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [ อ่านตามภาษาบาลีว่า โล พะ คุ – นะ ] มาจากคำว่า โลภ (ความติดข้อง,ความต้องการ) กับคำว่า คุณ (คุณ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงคุณประโยชน์ ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ดีงาม แต่หมายถึง ชั้น หรือ ระดับ หรือ เกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้นมากครั้ง) รวมกันเป็น โลภคุณ แปลว่า ชั้นแห่งโลภะ, โลภะซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปมากครั้ง เป็นอีก ๑ คำ ที่แสดงถึงความจริงของอกุศลธรรมประการหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี โลภะเกิดขณะใด ย่อมเป็นอกุศล เกิดขึ้นแล้วก็สะสมทับถมมากขึ้น ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ในขณะที่เป็นอกุศล โลภะ ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย มีแต่โทษเท่านั้น

ข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต โกกาลิกสูตร ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า โลภคุณ ไว้ดังนี้ ว่า

“โลภะ นั่นแล ชื่อว่า โลภคุณ เพราะเป็นไปแล้ว หลายๆ ครั้ง คำว่า โลภคุณ นี้ เป็นชื่อของตัณหา (ความอยากความต้องการ,โลภะ) ”


อ.คำปั่น: ได้ฟังมาตั้งแต่ต้นก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ได้ฟังได้ไตร่ตรอง ความเป็นจริง ครับ มีข้อความหนึ่งที่ได้ฟังท่านอาจารย์เป็นคำดูเหมือนธรรมดา แต่ว่า ขอกราบท่านอาจารย์ในความละเอียดลึกซึ้งว่า ไม่พ้นจากธรรม ครับ คำนี้เป็นคำที่ฟังแล้วต้องกราบท่านอาจารย์ในความละเอียดว่า ไม่พ้นจากธรรม ไม่ว่าจะฟังอะไร ได้ยินอะไร ก็ไม่พ้นจากธรรม แต่ความเป็นตัวตน ความเป็นเรานี่ครับ ก็จะแทรกอยู่ตลอดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แม้แต่ได้ยินได้ฟังข้อความที่ไพเราะที่เป็นพระโอวาท เป็นพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงในเรื่องของการอบรมเจริญกุศล ทรงแสดงในเรื่องของการละอกุศล ก็เหมือนกับมีตัวเราที่อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเจริญกุศล อยากจะละอกุศลครับ

กราบเท้าท่านอาจารย์ครับว่า ความละเอียดของ คำว่า ไม่พ้นจากธรรม ที่เกื้อกูลผู้ฟังผู้ศึกษาอย่างไร ครับ

ท่านอาจารย์: ขณะที่เป็นตัวตนเป็นธรรมหรือเปล่า?

อ.คำปั่น: ก็ต้องเป็นธรรมด้วย

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อะไรจะพ้นจากธรรม?

อ.คำปั่น: ไม่มีอะไรที่พ้นเลยครับ เป็นธรรมทั้งหมดครับ

ท่านอาจารย์: ก็เป็นคำตอบของตัวเองใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นเรา ขณะนั้นก็เป็นธรรมไม่ใช่หรือ?

อ.คำปั่น: ก็เป็นธรรมครับ ความเป็นเราด้วยตัณหาบ้าง ด้วยความสำคัญตนบ้าง ด้วยความเห็นผิดบ้างครับ

ทีนี้ต่อครับ คำว่า ไม่พ้นจากธรรม บางทีก็เหมือนกับจริงๆ ก็เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องครับว่า พออกุศลเกิด ก็นี่ไงเป็นธรรม เหมือนกับจะเอา คำว่า ไม่พ้นจากธรรม มาปลอบใจในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นครับ

ท่านอาจารย์: แล้วคิดอย่างนั้น ที่กำลังปลอบใจก็เป็นธรรมใช่ไหม?

อ.คำปั่น: ใช่ครับ ท่านอาจารย์ก็ดักไว้หมดเลย ก็ตามความเป็นจริงครับ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครับ

ท่านอาจารย์: ต้องรู้ทั่ว

อ.คำปั่น: ชัดเจนมากๆ ครับ ยิ่งได้ฟังก็ยิ่งเห็นว่า ไม่พ้นจากธรรมจริงๆ ได้ฟังได้สะสมความเข้าใจตั้งแต่คำว่า ธรรมคืออะไร? ก็เป็นประโยชน์โดยตลอดจริงๆ

สิ่งที่มีจริงทรงไว้ซึ่งความเป็นจริง ทรงไว้ซึ่งความมีภาวะอย่างนั้นจริงๆ ก็คือธรรม

ท่านอาจารย์: ค่อยๆ หมดสงสัยไปทีละเล็กทีละน้อย

อ.คำปั่น: ครับ กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ

อ.อรรณพ: เป็นเหตุคลายความสงสัยนะครับ ก็เป็นอานิสงส์หนึ่งของการฟังธรรม สนทนาธรรม ซึ่งก็ไม่ใช่อยู่ในตำรา ขณะนี้เลย

ที่ อ.คำปั่นกราบเรียนสนทนานี้ อ.คำปั่นใช้คำ ดักไว้หมด คือท่านอาจารย์ก็เหมือนแบบ จับปลา ที่มัน ปลาไหลที่มันไหลๆ ไป โลภนี่มันไหลๆ ไป จับเรียกว่าอยู่หมัดทุกทีนะครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อโลภดับไปแล้ว เดี๋ยวก็เกิดอีก แล้วข้างหลังโลภก็มีโลภเป็นชั้นๆ ๆ ๆ ๆ ไปนะ โล - พะ - คุ - โน (โลภคุณ) เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ขอเชิญอ่านได้ที่..

ไม่พ้นจากธรรม

ขอเชิญฟังได้ที่..

ไม่มีเรา มีแต่ลักษณะ

พยายามไปแสวงหาธรรม

จะเริ่มต้นศึกษาธรรมอย่างไร

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 30 พ.ย. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณยิ่งและยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ