ฟังธรรมเพื่อมั่นคงในความไม่ใช่เรา

 
เมตตา
วันที่  28 มี.ค. 2568
หมายเลข  49645
อ่าน  166

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๔๘

๙. นาวาสูตร

[๒๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือ หรือรอยหัวแม่มือของช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้ ย่อมปรากฏ ด้ามมีดให้เห็น แต่ว่าช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่า วันนี้ ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ วานนี้สึกไปเท่านี้ วานซืนนี้สึกไปเท่านี้ มีความรู้แต่เพียงว่า ด้ามมีดนั้นสึกๆ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่มีความรู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปเท่านี้ วานนี้สิ้นไปเท่านี้ วานซืนนี้สิ้นไปเท่านี้ ก็จริง แต่เธอก็รู้ว่าสิ้นไปแล้วๆ


[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 13 - 14

๙. ปฐมอคารวสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ทำให้มั่นคง และไม่มั่นคงในศาสนา

[๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้ไม่มีศรัทธา เป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ภิกษุผู้ไม่มีหิริ ... ภิกษุผู้ไม่มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้เกียจคร้าน ... ภิกษุผู้มีปัญญาทราม เป็นผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ นี้แล เป็นผู้ที่ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมเคลื่อน ไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้มีศรัทธา เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม ภิกษุผู้มีหิริ ... ภิกษุผู้มีโอตตัปปะ ... ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ... ภิกษุผู้มีปัญญาเป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบ ด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เป็นผู้มีที่เคารพ มีที่ยำเกรง ย่อมไม่เคลื่อน ย่อมตั้งมั่นในพระสัทธรรม.

จบปฐมอคารวสูตรที่ ๙

อรรถกถาปฐมอคารวสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ใน ปฐมอคารวสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

ภิกษุชื่อว่า อคารวะ เพราะไม่มีความเคารพ. ชื่อว่า อัปปติสสะ เพราะไม่มีที่ยำเกรง คือ ไม่มีผู้ใหญ่ ไม่ประพฤติอ่อนน้อม. คำที่เหลือในสูตรนี้ เช่นเดียวกับสูตรก่อน นั่นแล.

จบอรรถกถา ปฐมอคารวสูตรที่ ๙


ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังแล้วๆ ไม่ใช่เพื่อให้ไปนึกถึงชื่ออยู่เรื่อยๆ แต่ฟังแล้วชื่อนั้นกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงที่ต่างกัน

ธรรมดาเห็น แล้วโกรธเกิดขึ้น จะเป็นเห็นได้อย่างไร เห็นไหมว่า กว่าความรู้ความเข้าใจขั้นแรก ขั้นฟัง จะมั่นคงจะเป็นปกติ จะเข้าใจในความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถที่จะระลึกตรงลักษณะนั้นโดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราไปทำ เราไปมีสติ เราไปเจริญสติ ไม่ใช่เลย แต่ขณะนั้นความเข้าใจที่มั่นคงทำให้เกิดขณะที่รู้ตรงนั้น แล้วเริ่มรู้ขณะนั้นเพียงอย่างเดียว เพราะตรงขณะนั้นไม่ใช่ตรงขณะอื่น เป็นปกติไหม?

อ.คำปั่น: ครับ เป็นป กติครับ

ท่านอาจารย์: ถ้ายังไม่ปกติ แล้วจะเป็นสติปัฏฐานได้ไหม?

อ.คำปั่น: เป็นไปไม่ได้ครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ฟังธรรมต้องไม่ลืมว่า เพื่อมั่นคงในความไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่เพราะไปเรียกชื่อโน้นชื่อนี้ ไปคิดถึงน้อมไป โน้มไป อะไรต่างๆ ไม่ใช่เลย แต่ฟังแล้วเข้าใจ

อ.คำปั่น: ครับ ท่านอาจารย์เกื้อกูล ก็ฟังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าว ก็ไตร่ตรองตาม ก็เป็นประโยชน์มากมายมหาศาลจริงๆ ครับที่ท่านอาจารย์เกื้อกูลให้ไม่ลืมในความเป็นธรรมครับ เป็นการค่อยๆ ปลูกฝังความเข้าใจที่มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมจริงๆ ครับ

ท่านอาจารย์: เห็นไหม แม้ปริยัติ การฟังก็ต้องละเอียดปานใด กำลังนึกถึงชื่อ เจตสิก ลักษณะนั้นก็ดับไปแล้ว ไม่รู้เลยในลักษณะนั้น มีแต่ชื่อ แล้วก็หมดแล้วด้วย แล้วก็ไม่รู้ด้วย

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องมีความเข้าใจมั่นคง แม้ในขั้นของปริยัติ รอบรู้หนทางที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ด้วย เพราะเกิดแล้วจึงมี

อ.คำปั่น: ความเข้าใจทั้งหมดที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น ก็เพราะฟังครับ ต้องมาจากการฟัง ฟังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวได้สนทนาครับ เป็นประโยชน์ทุกครั้งเลยครับที่ได้ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น อีกกี่กัปป์ก็ไม่เป็นไรใช่ไหม? ยังมีโอกาสได้ฟังได้เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย วิธีอื่นมีไหม หนทางอื่นมีไหม?

อ.คำปั่น: ไม่มีครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็มั่นคงเป็นปกติจริงๆ ฟังเข้าใจจบ อะไรจะเกิด เกิดแล้ว ต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดแล้ว เห็นไหม? คำนี้ลืมไม่ได้เลย

อ.คำปั่น: ครับ เป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากๆ เลยครับ แล้วก็คือ การค่อยๆ สะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ข้อความที่ได้ฟังที่ท่านอาจารย์ได้อัญเชิญข้อความในพระไตรปิฎกที่พวกเราได้ยินกันอยู่เสมอ ก็คือการจับด้ามมีด เป็นข้ออุปมาที่เป็นประโยชน์เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีอย่างยิ่ง เป็นคำที่ไพเราะอย่างยิ่งที่พระองค์ได้ทรงเตือนได้ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์: และถ้าไม่เข้าใจความลึกซึ้งอย่างนี้ ที่ไพเราะเพราะสามารถที่จะเป็นประโยชน์ให้รู้ความจริงได้ จะกล่าวได้ไหม ขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง

อ.คำปั่น: กล่าวไม่ได้เลยครับ

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น ก็เพราะความเข้าใจที่ละเอียดมั่นคง เหมือนข้อความที่ท่านที่ได้ฟังแล้วกล่าวในพระไตรปิฎก แต่ต้องเข้าใจก่อนในความลึกซึ้งในความไพเราะที่สามารถเป็นความจริงที่สามารถที่จะละอกุศลทั้งปวงได้

อ.คำปั่น: เป็นประโยชน์มากเลยครับท่านอาจารย์ ก็ทำให้เห็นประโยชน์อย่างยิ่งของการมีโอกาสได้ยินได้ฟัง คำจริง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงครับที่ท่านอาจารย์ได้เกื้อกูลทุกครั้ง เป็นประโยชน์มหาศาลจริงๆ ครับ

ขอเชิญฟังได้ที่..

การขัดเกลากิเลสเหมือนการจับด้ามมีด

ทุกคนมีโลกความคิดคนละใบ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยความเคารพค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 28 มี.ค. 2568

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ