เศร้า
มีข้อความบางตอนจากอรรถกถา อธิบายการแก้ไขขณะที่จิตหดหู่ ท้อถอยแต่ต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญา มีดังนี้ สมัยใด จิตไม่แช่มชื่น เพราะมีปัญญาและความเพียรอ่อนไป หรือเพราะไม่บรรลุสุขที่เกิดแต่ความสงบ สมัยนั้น ก็จิตให้สลด ด้วยพิจารณาสังเวควัตถุเรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลด ๘ ประการ. เรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลด ๘ ประการ คือ ๑. ชาติ ๒. ชรา ๓. พยาธิ ๔. มรณะ ๕. ทุกข์ในอบาย ๖. ทุกข์ในอดีตมีวัฏฏะเป็นมูล ๗. ทุกข์ในอนาคตมีวัฏฏะเป็นมูล ๘. ทุกข์ในปัจจุบันมีการแสวงหาอาหารเป็นมูล. อนึ่ง การทำความเลื่อมใสให้เกิด ด้วยมาระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันนี้ก็เรียกว่าการทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง.
ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่...
พิจารณาถึงโลกธรรม 8 ประการ คือ
1. ได้ลาภ
2. เสื่อมลาภ
3. ได้ยศ
4. เสื่อมยศ
5. สุข
6. ทุกข์
7. สรรเสริญ
8. นินทา
ขณะที่กุศลจิตเกิดจะไม่เศร้า จะไม่ท้อแท้ จะไม่เซ็งค่ะ ให้ฟังธรรมะ พิจารณาธรรมะ
เจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะอบรมเจริญสติปัฏฐานค่ะ
พระพุทธคุณ พระองค์ทรงมีพระกรุณาเกื้อกูลสัตว์โลก ยอมเหนื่อยและทำทุกอย่างโดยไม่หวังผล พระองค์ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ แล้วทำประโยชน์กับสัตว์โลก ทรงมีพระคุณหาประมาณไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าด้วยกันก็พรรณาพระคุณไม่จบสิ้น อนึ่งเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ก็ทรงเศร้าใจเสียใจแต่ก็อดทนที่จะอบรม ปัญญาและเจริญกุศลทุกประการ ก็พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากความเศร้าใจ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อให้หายความเศร้าใจด้วยเข้าใจว่าเป็นธรรม
ทำไมถึงเศร้า ท้อแท้ เซ็ง
เพราะมีความหวัง ความติดข้อง ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดจึง เศร้า ท้อแท้ เซ็ง
เพราะมีความเป็นตัวตนจึง เศร้า ท้อแท้ เซ็ง
เพราะไม่รู้ว่า เศร้า ท้อแท้ เซ็ง เป็นเพียงสภาพธรรมจึง เศร้า ท้อแท้ เซ็ง
เพราะยังมีพืชเชื้อของโทสะ สะสมอยู่ในจิตจึง เศร้า ท้อแท้ เซ็ง
จะบรรเทาจากความเศร้า ท้อแท้ เซ็ง ได้อย่างไร
คนที่ไม่สนใจ ไม่เข้าใจธรรม เวลา เศร้า ท้อแท้ เซ็ง ก็อาจจะคิดหาทางแก้ โดยมีความเป็นตัวตนที่จะหาอะไรมากลบ เช่น ไปหาความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ คือไปเป็นอกุศลประเภทอื่นแทน ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะละคลาย บรรเทา ความเศร้าท้อแท้ เซ็ง ได้จริงๆ แต่จะยิ่งสะสมอกุศลเพิ่มขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจธรรม เมื่อเกิดความเดือดร้อนใจ ก็คิดถึงธรรม ตามอัธยาศัยที่สะสมมา ซึ่งก็แน่นอนว่า พระธรรมย่อมมีประโยชน์เกื้อกูลอย่างสูงสุด แต่ก็ต้องเป็นไปตามระดับความเข้าใจของแต่ละบุคคล จึงไม่ควรเพียงคิดจะหาหลักธรรมข้อโน้นข้อนี้ มาบรรเทาอกุศลที่เกิดขึ้น ด้วยความเป็นตัวตน แต่ควรจะค่อยๆ สะสมปัญญาความเข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ตั้งแต่ปัญญาในขั้นฟัง สนทนา พิจารณาใคร่ครวญ จนถึงปัญญาขั้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาทุกขั้นย่อมทำให้บรรเทาจากอกุศลวิตก (อย่างเช่น ความเศร้า ท้อแท้ เซ็ง) ตามระดับของปัญญาขั้นนั้นๆ ถ้าเป็นปัญญาที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเป็นหนทางแห่งการละคลายความเป็นตัวตนความติดข้อง (โลภะ) ซึ่งเป็นเหตุที่แท้จริงของความทุกข์ทั้งมวล
เศร้า ท้อแท้ เซ็ง เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เพราะตราบใดยังมีพืชเชื้อของโทสะอยู่ในจิต เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย เช่น ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา โทสะความเดือดร้อนใจก็เกิดขึ้น ผู้ที่จะไม่มีความ เศร้า ท้อแท้ เซ็ง จริงๆ อีกเลยนั้นต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี (สูงกว่า พระโสดาบัน และพระสกทาคามี) เพราะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความจริง จนสามารถดับความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พร้อมกับพืชเชื้อของโทสะทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง จึงไม่มีโทสะ (ซึ่งหมายรวมถึงความไม่สบายใจในทุกๆ ลักษณะ) เกิดขึ้นอีกเลย
ไม่รู้ว่าคุณเศร้าหรือเซ็งด้วยเรื่องอะไร
แต่ว่าหลายๆ ความคิดเห็นในหัวข้อที่ 08689 ช่วยตอบด่วนด้วยครับ
อาจจะช่วยได้บ้าง เพราะอินดี้ก็กำลังอ่านแล้วอ่านอีกอยู่เหมือนกัน ลองคลิกไปดูนะคะ
เศร้า เป็นธรรมะและเป็นอนัตตา เกิดและดับเมื่อมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่เราหรือของเราแต่เมื่อยึดมั่นถือมั่นว่า เศร้าหรือธรรมะทุกอย่างเป็นเราหรือของเรา ความทุกข์ก็ยิ่งรุมเร้าแทนที่จะละคลาย ถ้าหมั่นฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ และพิจารณาไตร่ตรองด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะจริงๆ และบังคับบัญชาไม่ได้จริงๆ ก็น่าจะพอช่วยได้
อย่าเศร้าไปเลยนะคะ การฟังธรรมะก็ไม่ใช่ว่าจะช่วยให้หายเศร้าได้ซะทีเดียว แต่ต้องอาศัยการอบรมและสะสมมาที่จะได้เกิดความเข้าใจว่า ไม่มีเราให้เศร้าค่ะ เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมะเรียกว่าอกุศลจิตนั่นเอง
- มองโลกในแง่ดีนะคะ
ศึกษาธรรมะให้เข้าใจว่า เศร้าใจก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมก็ต้องเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องเศร้า เปลี่ยนแปลงไม่ให้เศร้าก็ไม่ได้ แต่ผู้มีปัญญาที่อบรมดีแล้ว สามารถรู้ได้ว่าเศร้าใจก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง จึงไม่เดือดร้อน เพราะไม่ใช่เรา ไม่มีเรา เป็นเพียงแต่ธรรมชนิดหนึ่ง
ธรรมที่เกิดแล้ว ย่อมทำกิจหน้าที่ของตน (ธรรมะ) เปลี่ยนแปลงไม่ได้โลภะ เกิดแล้ว ย่อมทำกิจของโลภะ ย่อมติดข้องในอารมณ์ ไม่ให้ติดข้องก็ไม่ได้โทสะ เกิดแล้ว ย่อมทำกิจของโทสะจิต เกิดแล้ว ย่อมรู้อารมณ์ ไม่ให้รู้ก็ไม่ได้
เศร้าใจ เกิดแล้ว (ผู้มีปัญญา) รู้ได้ แต่เปลี่ยนแปลงไม่ให้เศร้าไม่ได้
ท้อแท้ เกิดแล้ว (ผู้มีปัญญา) รู้ได้ แต่เปลี่ยนแปลงไม่ให้ท้อแท้ไม่ได้
เซ็ง เกิดแล้ว (ผู้มีปัญญา) รู้ได้ แต่เปลี่ยนแปลงไม่ให้เซ็งไม่ได้
กุศลก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง อกุศลก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ผู้มีปัญญาจึงไม่ควรเดือดร้อน
ไม่ได้เศร้าทุกขณะใช่ไหมค่ะ ทนให้ได้ เดี๋ยวก็หาย เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็จะผ่านไป ตั้งใจฟังและพิจารณาธรรมบ่อยๆ ค่ะ ความเศร้าก็เป็นอนิจจัง อยู่ได้ระยะหนึ่งก็จะหมดไป ท่องเอาไว้ค่ะ เดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็หาย
จาก ผู้เคยอยากตาย
ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ภัทเทกรัตตสูตร
[๕๒๗] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ
สิ่งล่วงแล้ว แล้วไปอย่าใฝ่หา ที่ไม่มาก็อย่าพึ่งคนึงหวัง อันวันวานผ่านพ้นไม่วนวัง วันข้างหน้าหรือก็ยังไม่มาเลย
ผู้ใดเฟ้นเห็นชัดปัจจุบันเรื่องนั้นนั้น แจ่มกระจ่าง อย่างเปิดเผยไม่แง่นง่อน คลอนคลั่ง ดั่งเช่นเคยรู้ แล้วเลยยิ่งเร้าให้ก้าวไป
วันนี้เอง เร่งกระทำซึ่งหน้าที่ อันวันตายแม้พรุ่งนี้ใครรู้ได้ เพราะไม่อาจบอกปัดหรือผลัดไว้ต่อความตาย และมหา เสนามัน
ผู้มีเพียร เวียนเป็นอยู่เช่นนี้ ทั้งทิพา ราตรีแข็งขยันนั่นแหละผู้ "ภัทเท-กรัตต์" อันสัตบุรุษ ผู้รู้ ท่าน กล่าวกันเอยฯ
พอดีเลยครับ เพิ่งได้อ่าน มี ชี วิ ต อ ยู่ ด้ ว ย ปั ญ ญ า
(คลิกเพื่อดาวน์โหลด)
เอาใจช่วยนะครับ
มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ใครๆ ก็สอนกันว่า ให้ตั้งความหวังไว้ในการทำทุกสิ่ง เพราะความหวังเป็นสิ่งจรรโลงใจ มีคำพูดที่สอนเกี่ยวกับชีวิตและความหวังมากมาย เมื่อท่านบรรยายเสร็จ ดิฉันจึงเรียนถามท่านว่า “ถ้าไม่มีความหวัง ชีวิตจะอยู่อย่างไร” ท่านก็ตอบว่า“ อยู่ด้วยปัญญาซิคะ” คำตอบสั้นๆ ของท่านรวมทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในนั้น ทำให้ดิฉันรู้สึกโปร่งโล่งใจสบาย จุดประกายให้ดิฉันตั้งใจศึกษาพระธรรม เพื่อให้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เพราะไม่ว่าชีวิตจะเป็นสุข เป็นทุกข์ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้นินทา ได้ลาภเสื่อมลาภอย่างไร ชีวิตก็เป็นอยู่ได้ด้วยปัญญา
ขออนุโมทนาผู้เขียนครับ
เศร้าเพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่มีโทษและไม่มีประโยชน์เลย เศร้าตั้งหลายวันโดยไม่รู้ความจริงว่ากำลังสะสมสิ่งที่ไม่ดี สะสมให้เกิดบ่อยเนืองๆ อาจเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในอบายภูมิได้ ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้แล้ว จะเศร้าไปเพื่ออะไร
ก่อนอ่านก็เศร้า อ่านแล้วสร่างเศร้า
ความเศร้าที่ดับแล้ว ความเศร้าที่กำลังเกิดอยู่ กับความเศร้าที่อาจจะเกิดขึ้นอีกล้วนเป็นธรรม ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมย่อมเกิดขึ้น ดับไป ดับแล้ว มีเหตุพร้อมอีกก็เกิดขึ้นใหม่ แต่สามารถศึกษาเพื่อสะสมความเข้าใจถูกได้ว่า นี่เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งและย่อมเกิดขึ้นอีก ย่อมพบได้อีก ตราบใดที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์
ขออนุโมทนาทุกความคิดเห็นค่ะ
อ่านดีทุกความเห็นเลยครับ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
ยังมีผู้ที่เศร้าและเซ็งในชีวิต มากกว่าท่านเจ้าของกระทู้มากมายหลายล้านครับ และเขาเหล่านั้น ไม่ได้ฟังพระธรรมด้วย
ท่านเจ้าของกระทู้นี่นับว่ามีบุญที่สะสมมามากนะครับที่ได้สดับพระธรรม
รู้สึกเศร้าใจ ท้อแท้ เซ็ง เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาของปุถุชนอย่างเราๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เช่น เสียงที่ทำให้เราโกรธหรือเซ็งที่ว่าเศร้ามาหลายวันแสดงว่ายังคิดอยู่ เคยแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการฟังธรรมแล้วมักจะได้ฟังประโยคที่โดนใจ เช่น ประโยคหนึ่งของท่านอาจารย์ที่ว่าคนที่ทำให้เราโกรธ ในขณะนี้อาจจะเจริญกุศลอยู่ (กำลังสะสมกุศล) แต่ขณะนี้เรากำลังผูกโกรธอยู่ (โดยเฉพาะเศร้ามาหลายวัน) เรากำลังสะสมอกุศลซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองเลย
...เป็นกำลังใจให้หายเศร้า ท้อแท้ เซ็ง คะ..