ป่า โคนไม้ เรือนว่าง
พุทธองค์ทรงแนะนำให้ภิกษุทั้งหลายไปสู่ป่า โคนไม้ เรือนว่าง ที่ไม่มีการก่อสร้าง ที่ไม่ใกล้ที่หาอาหาร ท่าน้ำ อันเป็นที่สงัด หลีกเร้นอยู่ นั้น ในเมื่อการเจริญปัญญาทำได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา เหตุใดพระองค์ไม่ตรัสว่า ไปเถิดสู่ที่ชุมนุมชน ไปสู่ที่วุ่นวาย ไปสู่บ้านนิคม ไปสู่ท่าน้ำ ไปสู่ป่าผัก ไปสู่ที่มีสตรีเยอะๆ เพราะที่ใหนๆ ก็เป็นอะไรๆ ก็เป็นสักแต่ว่านามและรูปเหมือนกัน
ควรทราบว่าพระภิกษุเป็นบรรพชิต ที่อยู่ของบรรพชิตก็คือป่า โคนไม้ ถ้ำ เป็นต้น สมัยต่อมา ผู้ที่มีศรัทธาสร้างอารามถวาย พระพุทธองค์ไม่ทรงบังคับให้พระภิกษุทุกรูปอยู่ป่าทั้งหมด แต่ทรงอนุโลมตามอัธยาศัยของบุคคล ดังนั้น บรรพชิตที่อยู่ป่าก็อบรมเจริญสติปัฏฐานได้ บรรพชิตที่อาศัยตามอารามในเขตบ้านก็อบรมเจริญสติได้ แม้คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อบรมเจริญสติปัฏฐานจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ ดังนั้น เรื่องสถานที่ จึงไม่เป็นเครื่องกั้นในการอบรมเจริญปัญญา..
คำว่า สถานที่ไม่เป็นเครื่องกั้นในการอบรมเจริญปัญญา ก็เข้าใจได้ เพราะปัญญามีหน้าที่รู้สภาพเป็นจริงทุกอย่างอยู่แล้ว ซึ่งเครื่องกั้นที่แท้จริงถ้าจะพูดอย่างกำปั้นทุบดินคือ อปัญญา อวิชชา หาใช่รูปธรรมใดๆ
ก็ในเมื่อสถานที่เป็นรูปธรรม จะเป็นเครื่องกั้นปัญญาที่เป็นนามธรรมได้อย่างไร คนที่ศึกษามาบ้างก็จะเข้าใจได้ตามเหตุผลนี้
แต่การเจริญปัญญานั้นก็เป็นไปตามหลักอิทัปปัจยตา เป็นสังขารธรรมย่อมสามารถปรุงแต่งได้ ทั้งฝ่ายส่งเสริมหรือฝ่ายอุปสรรค หรืออาจถึงเป็นข้าศึกก็ได้ การกล่าวว่าสถานที่ไม่ใช่เครื่องกั้นก็ถูก แต่จิตใจที่สัมพันธ์กับรูปธรรมนามธรรมบางอย่างอาจเป็นอุปสรรค เป็นศัตรู หรือเกื้อกูล ก็ได้ ถามว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะรูปธรรมหรือสถานที่หรือไม่ ตอบว่าไม่ ก็อวิชชาที่กระทบกับรูปธรรมนามธรรมในสถานที่นั้นๆ ต่างหากเป็นเครื่องกั้น
ดังนั้น ผมคิดว่าควรเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย และเวลาอธิบายเรื่องนี้กับคนที่ไม่ค่อยศึกษามามากอาจมีปัญหา เพราะนิยาม มุมมองต่างกัน บางคนอาจจะไปเจริญปัญญาที่อาบอบนวด หรือแหล่งเริมรมย์ต่างก็ได้ เพราะสถานที่มิใช่เครื่องกั้น
เปรียบเทียบเช่น กล้าไม้ที่ยังอ่อนอยู่ย่อมไม่อาจทนต่อแสงแดดแผดกล้าได้ต้องอนุบาลไว้ที่เรือนเพาะชำให้แข็งแรงก่อนค่อยย้ายออกแดด ถามว่าแสงแดดเป็นเครื่องกั้นของการดำรงและเติบโตหรือไม่ โดยแสงแดงเองไม่มีเจตนาใดๆ จะว่าไปแสงแดดจำเป็นสนับสนุนการเติบโตของกล้าไม้นั้นด้วยซ้ำ แต่ถ้าไม่เข้าใจเอาต้นกล้าน้อยนั้น ไปปลูกไว้กลางแดดโดยที่ยังไม่เหมาะสม ต้นกล้านั้นอาจตายก่อนที่จะเติบโตและเรียนรู้การสังเคราะห์แสงแดดแผดกล้านั้นเพื่อกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไป
ไม่ว่าสถานที่ใดก็ไม่เป็นเครื่องกั้นในการอบรมเจริญปัญญาเลย ข้อสำคัญอยู่ที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้วมีความเข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ถูกต้องหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องยากที่ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ สิ่งสำคัญต้องค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาต้องเริ่มจากเดี๋ยวนี้ ขณะนี้มีธรรมะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การฟังพระธรรมก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่นซึ่งเป็นเรื่องราวต่างๆ ไม่สามารถทำให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ได้ เครื่องกั้นที่แท้จริงไม่ใช่เพียงอวิชชาเท่านั้น กิเลสต่างๆ ที่ได้สะสมมานับภพชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่ควรอบรมให้เข้าใจต้องค่อยๆ ขัดเกลากิเลสและอบรมเจริญกุศลทุกประการ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตามมีธรรมะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญปัญญาให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้โดยไม่ต้องเลือกสถานที่ บางคนคิดว่าจะไปอบรมเจริญปัญญาตามแหล่งเริงรมณ์ต่างๆ เขาอาจไปกับกิเลสโดยไม่รู้ตัว เพราะขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่แท้ๆ ก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ทุกครั้งที่ได้เห็น ได้ยินก็ไหลไปกับกิเลสของตนแล้ว ถ้าขณะนี้ยังไม่เข้าใจแล้วจะไปอบรมเจริญปัญญาตามแหล่งเริงรมณ์ต่างๆ ถามว่าจะเป็นไปได้อย่างไร? และที่กล่าวว่าเรื่องสถานที่ไม่เป็นเครื่องกั้นในการอบรมเจริญปัญญาเพราะธรรมะมีอยู่ตลอดเวลาพร้อมที่จะให้พิสูจน์ ไม่ว่าเพศบรรพชิต คฤหัสถ์ ชายหรือหญิงก็อบรมเจริญปัญญาจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
หากขาดความเข้าใจเบื้องต้นในขั้นการฟังแล้ว ว่าธรรมคืออะไรอยู่ในขณะไหน ธรรมเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ หากขาดความเข้าใจเบื้องต้น (ปริยัติ) แล้ว ปฏิบัติหรือสติและปัญญาจะเกิดได้ไหม ไม่ว่าสถานที่ใดก็ตาม หากขาดความเข้าใจเบื้องต้น แต่เมื่อมองมุมกลับ คนที่เริ่มมีความเข้าใจธรรมเบื้องต้นขั้นการฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม อยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องไปหาธรรม สติและปัญญาเป็นธรรมและเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไมได้ เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ไม่ว่าอยู่สถานที่ใด ถ้าสติและปัญญาเกิด ก็ธรรมปฏิบัติหน้าที่ สถานที่ที่สติและปัญญาเกิด (สติปัฏฐาน) ที่ที่นั้นเองก็เป็นสัปปายะของบุคคลนั้นเพราะกุศลเกิด (กุศลขั้นสติปัฏฐาน) แต่ถ้าขาดความเข้าใจเบื้องต้นแล้ว ที่ไหนจะเป็นสัปปายะได้เพราะไม่มีปัญญาที่จะเป็นปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดครับ
ดังนั้นจากข้อความในพระไตรปิฎก ในมหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวว่า ไปแล้วสู่ป่า คือเมื่อไปแล้วสติและปัญญาก็เกิดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปสู่ป่าทุกรูป แต่เป็นคำกล่าวที่ว่า "ไปแล้วสู่ป่า" เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ไม่ว่าไปที่ไหน ที่สำคัญไปแล้ว คงห้ามไมได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ต้องไป แต่ไปแล้วมีสภาพธรรมไหม ไม่พ้นจากสภาพธรรมเลย หากไม่มีความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐาน แม้ไปสู่ป่า สติจะเกิดได้ไหม เป็นไปไม่ได้ และแม้ไปในสถานที่ชุมชน ถ้าความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานยังไม่มั่นคง สติจะเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ ดังนั้นประการที่สำคัญที่สุดคือ ปัญญาที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐานครับ ขออนุโมทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
มีใครบังคับบัญชาเหตุปัจจัยได้คะ สาระสำคัญคือ ความไม่ประมาทคือความไม่ไปปราศจากสติสติจำปรารถนา ในที่ทั้งปวง ค่ะ
ด้วยความเคารพในความเห็นที่ 6 ครับ ผมมิได้ปฏิเสธว่าคำกล่าวของท่านผิด เป็นคำกล่าวที่ถูกแล้ว แต่คำกล่าวนี้ให้คำตอบอะไรในประเด็นนี้ โดยปริยัติแล้ว ก็รู้กันว่าผู้ใดหรือใครมิได้มี โดยสรุปคือ อัตตาโดยสัจจะนั้นไม่มี ดังนั้น ไม่ได้มีใครคิดจะเอาตัวตนไปบังคับบัญชาอะไร (ผู้ที่เข้าใจโดยปริยัติบ้าง) แต่เจตนาเจตสิก สังขารเจตสิก สัญญาเจตสิก ทิฎฐิเจตสิก ก็ย่อมปรุงแต่งได้ อีกทั้งผมเคยได้ยินมาว่าอกุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้เช่นกันบางกรณี
สารธรรม
พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญเรื่องของความสันโดษ เรื่องของความสงัด อย่าลืมนะคะ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ แต่พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ ที่จะรู้ว่า สัตว์โลกสะสมอัธยาศัยมาต่างๆ กัน ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิต ซึ่งการเข้าใจธรรมเป็นสิ่งซึ่งมีประโยชน์ เพราะจะทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติถูก แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วเข้าใจธรรม มีอุปนิสัย มีอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน ท่านลองพิจารณาอัธยาศัยหรืออุปนิสัยของสหายธรรมของท่านก็ได้ บางท่านก็เป็นผู้ที่สนใจจริงๆ แต่ก็เป็นผู้ที่สะสมอัธยาศัยที่จะเป็นผู้ที่รื่นเริงสนุกสนาน
สารธรรม
พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญเรื่องของความสงัดและความสันโดษ แต่สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยร่าเริง สนุกสนาน แล้วสนใจธรรม จะให้บุคคลนั้นฝืนพยายามไปเป็นผู้สันโดษ หรือว่าไปเป็นผู้สงัด จะได้ไหมตามความเป็นจริง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลสะสมมา ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ด้วยเหตุนี้ พุทธบริษัทจึงมีทั้งบรรพชิตและฆราวาสคือ มีภิกษุและมีอุบาสก อุบาสิกา ในสมัยนี้ไม่พร้อมทั้ง ๔ นะคะ เพราะขาดพระภิกษุณี แต่แม้แต่ผู้ที่เป็นพระภิกษุแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องการไม่คลุกคลี ก็ยังคงสรรเสริญเรื่องความสันโดษ และความสงัดอยู่ แต่ว่าถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดแล้ว อาจจะพยายามทำตามแต่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างใดเลย เพราะไม่ใช่อัธยาศัยที่แท้จริง เพราะการที่จะเป็นผู้ที่สันโดษ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย เพราะการสันโดษมีทั้งในเพศของบรรพชิตและในเพศของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเพศที่ต่างกัน
บรรยายโดย ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ ๑๐๖๑
ขอเชิญอ่านกระทู้ ...
เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน...คืออย่างไร?
ขออนุโมทนาค่ะด้วยความเคารพเช่นกันขออภัยค่ะ หากการแสดงความเห็นไม่ละเอียดรอบคอบต่อไปจะระมัดระวังให้มากขึ้นค่ะ
อัธยาศัย เป็นเรื่องที่สะสมมา เราควรจะจัดการกับอัธยาศัยของเราหรือไม่อย่างไร เช่นฝึกหัดขัดขืน จะว่าไปก็ไปเข้าฝ่ายสมถะอีกใช่ไหมครับ แต่ก็น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแต่จะให้ดีต้องเจริญวิปัสสนา ซึ่งเป็นฝ่ายเด็ดขาดใช่หรือไม่