กิเลสตัณหา

 
waeruncha
วันที่  29 ก.ค. 2554
หมายเลข  18830
อ่าน  78,741

ขอเรียนถามถึงคำว่า "กิเลสตัณหา" ดังนี้

๑. คำนี้ต้องแยกเป็น ๒ ตัว คือ กิเลสตัวหนึ่ง กับ ตัณหาอีกตัวหนึ่ง ใช่หรือไม่ เพราะเห็นบางครั้งใช้คำว่า กิเลส คำเดียว บางครั้งก็ตัณหาคำเดียว และบางครั้งใช้รวมกันเป็นกิเลสตัณหา สรุปแล้ว เป็นคำเดียวกันหรือคนละคำกัน และความหมายของมันคืออะไร

๒. ในทางพุทธศาสนา มีสิ่งที่เราจะต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลสตัณหานี้อย่างไรบ้าง

ขอบพระคุณในคำตอบครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้น ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิก

กิเลส มี ๑๐ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า คำนี้ต้องแยกเป็น ๒ ตัว คือ กิเลสตัวหนึ่ง กับตัณหาอีกตัวหนึ่ง ใช่หรือไม่ เพราะเห็นบางครั้งใช้คำว่า กิเลส คำเดียว บางครั้งก็ ตัณหา คำเดียว

- กิเลส ไม่ใช่มีประเภทเดียวครับ แต่กิเลส มี ๑๐ ประการ คือสภาพธรรมที่ไม่ดี ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง คือจิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยเสมอ ดังนั้นเมื่อมีเจตสิกที่ไม่ดี คือ กิเลส ๑๐ ประการ หากมีสภาพธรรมที่เป็นกิเลสประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการเกิดพร้อมกัน และเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น จิตนั้นก็เศร้าหมองเพราะมีสภาพธรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้นนั่นเอง

ดังนั้น กิเลสจึงเป็นเจตสิก ๑๐ ประการ ที่เมื่อเกิดขึ้นทำให้จิตเศร้าหมอง ซึ่งกิเลส มี ๑๐ ประการ จึงกินความกว้างขวางกว่า ตัณหาครับ

ตัณหา คือ สภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้อง ดังนั้น ความเป็นจริง ตัณหา ก็คือ โลภะนั่นเอง ครับ ดังนั้น โลภะ จึงมีชื่อหลายอย่าง เช่น กามฉันทะ ตัณหา ราคะ เป็นต้น นั่นก็คือ ลักษณะของกิเลสที่เป็นโลภะทั้งสิ้นครับ เพราะฉะนั้น เมื่อตัณหา ก็คือ โลภะ ตัวตัณหาเอง จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลสด้วยครับ เพราะในกิเลส ๑๐ ประการ มีโลภะเป็นประการแรก

และในเมื่อตัณหาก็คือโลภะนั่นเอง ตัณหาจึงเป็นกิเลสประเภทหนึ่งครับ ดังนั้นถ้าพูดถึงกิเลส ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะตัณหาหรือโลภะเท่านั้นครับ เพราะกิเลสมีหลายประการ และบางนัย กิเลสก็หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหมดเลย เพราะอกุศลทำให้จิตเศร้าหมอง ดังนั้น ตัณหา จึงเป็นส่วนหนึ่งของกิเลสครับ แต่กิเลส ไม่ใช่ตัณหา เพราะกิเลสมีมากครับ ถ้ากล่าวว่าตัณหาคำเดียว ก็แสดงว่า มุ่งหมายถึง โลภะ ความติดข้องเท่านั้น แต่ถ้าใช้คำว่ากิเลสคำเดียว หมายถึง อกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่เฉพาะ โลภะหรือตัณหาเท่านั้นครับ

ดังนั้น เมื่อศึกษาพระธรรม ก็ควรใช้คำให้ถูกต้อง ไม่ควรใช้รวมกันว่ากิเลสตัณหา แต่ควรใช้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลส มี ตัณหา เป็นต้น หรือ ตัณหา เป็นสภาพธรรมที่เป็นกิเลสประเภทหนึ่งครับ การแยกใช้อย่างนี้ก็จะทำให้เข้าใจถูกในเรื่องของสภาพธรรมแต่ละประเภทครับ และขึ้นอยู่กับว่าพระธรรมในสูตรนั้น ท่านมุ่งหมายถึงอะไร ถ้าต้องการพูดถึงความติดข้องอย่างเดียว ก็กล่าวว่าโลภะ หรือ ตัณหา แต่ถ้ามุ่งกล่าวถึงกิเลสหลายๆ ประการทั้งหมดก็ใช้คำว่ากิเลสนั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

กิเลสหมายถึงอะไร

กิเลสมีกี่ชนิด

กิเลสเป็นสภาพธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 29 ก.ค. 2554

๒. ในทางพุทธศาสนา มีสิ่งที่เราจะต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลสตัณหานี้อย่างไรบ้าง

- พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีอยู่อย่างถูกต้อง เพื่อเข้าใจโลกนี้ตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจจะ ความจริงที่ประเสริฐ ๔ ประการ ซึ่งพระพุทธองค์แสดงในเรื่องของ โลภะ หรือ ตัณหา ว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งการเกิด เพราะมีโลภะ จึงทำให้ต้องมีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม คือ มีขันธ์ ๕ อันบัญญัติว่าเป็นสัตว์ บุคคล และก็ไม่พ้นไปจากทุกข์ เพราะทุกข์เกิดขึ้นได้ เพราะมีการเกิดนั่นเอง

ดังนั้น ตัณหา หรือ โลภะจึงเป็นสมุทัย เป็นเหตุของทุกข์ครับ ซึ่งพระพุทธองค์แสดงธรรม เพื่อละเหตุแห่งทุกข์ นั่นคือ ละตัณหา (โลภะ) แต่จะละได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญญา พระพุทธองค์แสดง หนทางในการละเหตุแห่งทุกข์ที่เป็นตัณหา นั่นคือการเจริญอริยมรรค หรือ เจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นการเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจความจริงที่มีอยู่ในขณะนี้ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

สิ่งที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลส และตัณหาคือ ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ ดังนั้นก็ต้องศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เพื่อเจริญปัญญา เพื่อละตัณหาและกิเลสประการต่างๆ ครับ ซึ่งหนทางในการอบรมปัญญา คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ เพื่อเข้าใจถูก ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม เพราะสัตว์โลกสำคัญผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล

ดังนั้น การเข้าใจ อบรมปัญญาอย่างนี้ก็จะค่อยๆ ละกิเลส เป็นลำดับ แต่ยังละโลภะ ทันทีไม่ได้ครับ เพราะกิเลสมีมาก ตามที่ได้อธิบายแล้ว และกิเลสก็ต้องละเป็นลำดับ

กิเลสที่ต้องละก่อน คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด เห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน ด้วยหนทาง คือ การฟังพระธรรม ให้เข้าใจแม้ขั้นการฟังว่าธรรมคืออะไรก่อนครับ ส่วนโลภะหรือตัณหา จะละได้หมดคือถึงความเป็นพระอรหันต์ครับ

ดังนั้น การจะศึกษากิเลสและตัณหา ก็ต้องรู้จักว่า หนทางในการละกิเลสคืออย่างไร เพื่อละเหตุแห่งทุกข์ คือตัณหาครับ ด้วยการฟังพระธรรมนั่นเองครับ โดยขอให้เริ่มจากคำว่า ธรรมคืออะไร

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 29 ก.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังเป็นปุถุชน หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมจะมีกิเลสอกุศลเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ ในชาตินี้เท่านั้น แต่ว่า ได้เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ เพราะได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน จึงเป็นผู้ไหลไปด้วยอำนาจของกิเลส ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ซึ่งน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า กิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น (ไม่ได้มีเฉพาะตัณหา หรือ โลภะ เท่านั้น มีมากกว่านี้) เป็นศัตรูภายใน เป็นข้าศึกภายใน เป็นมลทินของใจ ไม่นำประโยชน์สุขใดๆ มาให้เลย มีแต่นำมาซึ่งทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ก็จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมอย่างละเอียด ซึ่งถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ก็จะไม่มีใครรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ว่ายังเป็นผู้เต็มไปด้วยกิเลส ยังมีส่วนที่ไม่ดีอยู่มาก คนส่วนใหญ่โดยมาก ย่อมจะไม่ชอบถ้าหากมีใครมาบอกตนว่าเป็นคนไม่ดี แต่ตามความเป็นจริง ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด จะมีใครรู้ตัวเองบ้างว่าไม่ดี และไม่ดีอย่างมากมายทีเดียว ตัวเราเท่านั้นสามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่าสะสมความไม่ดีไว้มากกว่าที่คนอื่นจะเห็น และ บุคคลใดที่ยอมรับความจริงที่รู้ว่าตนเองไม่ดี ผู้นั้นก็เริ่มที่จะอบรมเจริญกุศลเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสทั้งหลายให้เบาบาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

แต่ถ้าตราบใดยังคิดว่าดีแล้ว นั่นย่อมจะเป็นโอกาสที่จะทำให้กิเลสเกิดเพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุว่า ไม่คิดที่จะละกิเลส เพราะเข้าใจว่าดีแล้ว กล่าวได้เลยว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในความประมาท ซึ่งจะเป็นผู้ห่างไกลจากความเจริญในกุศลธรรมออกไปทุกที

เพราะฉะนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะเห็นความไม่ดี (กิเลส) ของตนเอง และเมื่อเห็นความไม่ดีของตนเองแล้ว ก็จะต้องมีความตั้งใจจริงๆ ที่จะขัดเกลาด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะมีความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นว่ากิเลสมีมากจริงๆ ได้ที่หัวข้อนี่ ครับ

ที่ไม่พอ สำหรับเก็บ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 ก.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 31 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 8 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 1 ก.ย. 2555

กราบอนุโมทนาท่านวิทยากรทุกท่าน

ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ

กิเลส ๑๐ ประเภทอันได้แก่ :

โลภะ

โทสะ

โมหะ

มานะ

ทิฏฐิ

วิจิกิจฉา

ถีนะ

อุทธัจจะ

อหิริกะ

อโนตตัปปะ

ทั้งหมดนี้ ท่านหมายเอาความเป็นอกุศลเจตสิกหรือเปล่าครับ ถ้าหมายเอาโดยความเป็นอกุศลเจตสิกแล้ว อิสสา และ มัจฉริยะ อยู่หมวดใดครับ เหตุใดจึงไม่มีกล่าวไว้ด้วย

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นิรมิต
วันที่ 1 ก.ย. 2555

ตกหล่น กุกกุจจะ กับ มิทธะ ด้วยครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 3 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 8 และ 9 ครับ

หมายถึง อกุศลเจตสิกด้วย ครับ

แต่ กิเลส ๑๐ กล่าวโดยนัยกว้าง แต่กิเลส แบ่งเป็นละเอียดยิบก็ได้ คือ กิเลส ๑,๕๐๐ เป็นต้น ซึ่งก็รวมอิสสา และ มัจฉริยะ ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สุภัทรา
วันที่ 4 ม.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 30 เม.ย. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
phiansak
วันที่ 21 ก.ย. 2557

อิสสา และ มัจฉริยะ

อกุศลเจตสิก ๒ ประเภทนี้ เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ด้วย,

อิสสา = ความริษยา

มัจฉริยะ = ความตระหนี่

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
phiansak
วันที่ 21 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
จิตและเจตสิก
วันที่ 21 ก.พ. 2558

สาธุ ขออนุโมทนาฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
cin.jubujubu
วันที่ 9 เม.ย. 2563

จะเป็นพุทธบริษัทที่ดีและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Nataya
วันที่ 3 ก.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ