จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012


    แต่วาระหนึ่งๆ ก็เพียง ๓ ชาติ คือ กิริยาจิต วิบากจิต และกุศลจิต หรือกิริยาจิต วิบากจิต อกุศลจิต เพราะเหตุว่ากุศลและอกุศลจะเกิดพร้อมกันในวาระเดียวกันไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้ว่า จิตมีจำนวนเท่าไร ชื่ออะไรบ้าง ก็จริงค่ะ ยังต้องรู้ถึงกิจการงานของจิตแต่ละประเภท ที่รู้ชื่อว่า จิตชื่อนั้นกระทำกิจอะไร ในขณะไหนด้วย แล้วก็เรียกชื่อของจิตที่กระทำกิจนั้นตามกิจ เช่น ขณะที่เกิดเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเกิดในสุคติภูมิ หรือว่าในทุคติภูมิ ถ้าเกิดในทุคติภูมิ ในอบายภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ แต่อกุศลวิบากที่ไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิกิจก็มี ไม่ใช่ว่าอกุศลวิบากแล้ว จะต้องทำปฏิสนธิกิจทุกดวง

    เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากใดทำกิจปฏิสนธิ จึงชื่อว่า “ปฏิสนธิจิต” อกุศลวิบากใด ทำกิจภวังค์ ก็ชื่อว่า “ภวังคจิต”

    จักขุวิญญาณทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ ทำภวังคกิจไม่ได้ แต่ว่าทำ “ทัสสนกิจ” ได้ จึงชื่อว่า “จักขุวิญญาณจิต” เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่รู้แจ้งทางตา ก็เรียกชื่อตามประเภทของจิตและกิจ

    6963 ทำไมจิตถึงมี ๔ ชาติ

    ท่านอาจารย์ น่าสงสัยไหมคะว่า ทำไมจิตจึงมี ๔ ชาติ ไม่ใช่ ๕ ชาติ เพราะมีจิตที่เป็นกุศลชาติ ๑ อกุศลชาติ ๑ วิบากชาติเดียวนะคะ แล้วก็กิริยาอีก ๑ ชาติ เป็น ๔ ชาติ

    บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่มี ๕ ชาติ ในเมื่อเหตุมี ๒ คือ ชาติกุศลเป็นเหตุหนึ่ง ชาติอกุศลเป็นเหตุหนึ่ง เพราะฉะนั้นชาติวิบากก็ควรจะมี ๒ ด้วย คือ มีอกุศลวิบาก ชาติหนึ่ง กุศลวิบากชาติหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริง ที่จิตมี ๔ ชาติ ก็เพราะเหตุว่า สำหรับวิบากจิตเอง ไม่ชื่อว่า เป็นธรรมชาติเลว ปานกลาง หรือประณีต

    สำหรับจิตที่เป็นกุศลและอกุศลนี้ ต่อไปจะทราบว่า มีประเภทต่างๆ มากมาย เช่น ต่างกันโดยกรรม กรรมทางตาก็มี กรรมทางหูก็มี ทางจมูกก็มี ทางลิ้นก็มี ทางกายก็มี ทางใจก็มี ต่างกันโดยความเป็นขั้นทาน ก็มี ต่างกันโดยความเป็นขั้นศีล ก็มี ต่างกันโดยความเป็นขั้นการอบรมเจริญปัญญา เช่นขั้นที่ฟังธรรม ขั้นแสดงธรรม ขั้นอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสมถะและสติปัฏฐานเป็นวิปัสสนา ก็มี และยังต่างกันโดยทวาร เช่น กระทำโดยกาย หรือว่ากระทำโดยวาจา หรือว่ากระทำโดยใจ และยังต่างกันโดยอธิบดี คือ สัมปยุตตธรรม หรือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างๆ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ธรรมชาติที่เป็นเหตุ คือ กุศลและอกุศลมีประเภทต่างๆ มากมายทีเดียว แต่ว่าความต่างทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีในวิบากจิต ที่จะให้ประกอบด้วยทาน ศีล เป็นบุญกิริยาวัตถุต่างๆ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าวิบากเป็นธรรมที่ไม่มีวิบาก วิบากเองเป็นเพียงผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งมีโอกาสปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั่นเป็นผลของกรรม ตัววิบากเองเป็นผลของกรรม ซึ่งไม่มีวิบาก เพราะเหตุว่าวิบากไม่ทำให้เกิดวิบาก

    ขณะเห็นในขณะนี้เป็นวิบากจิต เกิดแล้วเพราะอดีตกรรมเป็นปัจจัย แต่การเห็นจะไปทำให้เกิดวิบากอีก ให้เกิดการเห็นอีกไม่ได้

    ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังรู้เสียง เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดการได้ยิน แต่ว่าโสตวิญญาณจิตที่ได้ยินเสียง จะทำให้เกิดวิบากข้างหน้าไม่ได้

    เพราะฉะนั้นวิบากไม่ทำให้เกิดวิบาก และไม่สามารถที่จะยังกายวาจาให้เกิด ไม่ประกอบด้วยธรรม เช่น กรุณา มุทิตา หรือวิรตี ซึ่งเป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะไม่ได้

    เพราะฉะนั้นวิบากเองไม่ชื่อว่า เป็นธรรมชาติที่เลว ธรรมชาติที่ปานกลาง ธรรมชาติที่ประณีต แต่ว่าวิบากแห่งกรรมเลวจัดเป็นเลว วิบากแห่งกรรมปานกลาง จัดเป็นปานกลาง วิบากแห่งกรรมประณีตจัดเป็นประณีต

    เพราะฉะนั้นวิบากก็เป็นแต่เพียงธรรมซึ่งเป็นผลของเหตุ ที่เป็นกุศลหรืออกุศล แต่ตัววิบากเองไม่ชื่อว่า เป็นธรรมชาติเลว ปานกลาง ประณีต และไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก

    6964 ชาติอะไรได้แก่จิตกี่ดวง

    ผู้ฟัง ในเมื่ออาจารย์กล่าวว่า จิตทั้งหมดมี ๔ ชาติ และจิตทั้งหมดมีโดยย่อเพียง ๘๙ ดวง อยากจะถามอาจารย์ว่า ชาติอะไรได้แก่จิตกี่ดวง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่กล่าวถึงค่ะ เวลาที่ศึกษาจิตประเภทใด ต่อไปข้างหน้าก็จะแสดงว่า จิตประเภทนั้นๆ เป็นชาติอะไร แต่เท่าที่กล่าวถึง เช่น ปฏิสนธิจิตเป็นชาติวิบาก ภวังคจิตเป็นชาติวิบาก อาวัชชนจิตเป็นชาติกิริยา และชวนวิถี สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ก็เป็นกุศลหรืออกุศล ตทาลัมพนะเป็นชาติวิบาก

    นี่เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางมโนทวาร คือ ทางใจ เป็นมโนทวารวิถี ถ้าเป็นทางปัญจทวาร วิถีจิตแรก คือ อาวัชชนวิถีเป็นกิริยาจิต ทวิปัญจวิญญาณวิถีจิตเป็นวิบากจิต สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิบากจิต สันตีรณจิตเป็นวิบากจิต โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิต ชวนวิถีเป็นกุศลหรืออกุศล และตทาลัมพนวิถีเป็นวิบากจิต

    6965 ตทาลัมพณะต่างจากทวิปัญจวิญญาณอย่างไร

    ถาม ตอนที่กล่าวถึงตทาลัมพนะ อยากทราบว่า ต่างกับทวิปัญจวิญญาณจิต ซึ่งเป็นวิบากจิต ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องคิดถึงกิจของจิต จึงจะเข้าใจ จักขุวิญญาณทำกิจเห็น สัมปฏิจฉันนะ ไม่เห็น แต่รับอารมณ์ คือ รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ สันตีรณะ พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ โวฏฐัพพนะ กำหนดชวนวิถีที่จะเกิด และชวนวิถีที่เกิดก็เสพหรือแล่นไปในอารมณ์ ส่วนตทาลัมพนะนั้นเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่อจากชวนะ

    ตทาลัมพนจิตละเอียดมาก จิตที่ทำตทาลัมพนกิจมีถึง ๑๑ ดวง แล้วแต่ปฏิสนธิจิตว่า ปฏิสนธิจิตของใครเป็นจิตดวงใด สามารถที่จะมีจิตเกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจได้กี่ดวง ปฏิสนธิจิตมีความสำคัญมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตลอดชีวิตของบุคคลนั้น กรรมใดสามารถที่จะให้ผลแค่ไหน ขั้นไหน

    เพราะเหตุว่าถ้าปฏิสนธิจิตเป็นวิบากของกุศลกรรมอย่างยอดเยี่ยม ย่อมมีวิบากจิตมากหลายดวงที่จะกระทำตทาลัมพนกิจต่อจากชวนวิถี

    แต่ถ้าวิบากจิตของใคร ไม่ใช่ผลของกุศลกรรมชั้นยอดเยี่ยม ก็จะมีวิบากจำนวนน้อย ที่จะกระทำตทาลัมพนกิจต่อจากชวนวิถี

    เพราะฉะนั้นเรื่องของตทาลัมพนวิถีจิตเป็นเรื่องละเอียดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ควรที่จะกล่าวถึงในตอนนี้

    6966 ต้องแสวงหาวิบากหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นวิบากจิต ต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ และต่อจากนั้นไปก็จะมีการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การได้กลิ่นบ้าง การลิ้มรสบ้าง การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เป็นวิบาก หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องแสวงหาวิบากไหมคะ ลองคิดดูนะคะ

    6967 ตทาลัมพณไม่สำคัญเลย ความสำคัญอยู่ที่ชวนวิถี

    ผู้ฟัง ตทาลัมพนะนี้ ก็น่าคิดอยู่อย่างหนึ่ง ผมอยากถามอาจารย์ว่า ขณะที่ชวนะเป็นกุศล ตทาลัมพนะก็จะต้องเป็นกุศลวิบาก หรือว่าชวนะเป็นอกุศล ตทาลัมพนะก็จะต้องเป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นเรื่องไกล อย่างที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดมากสำหรับตทาลัมพนะ ซึ่งความจริงไม่สำคัญเลย เพราะเหตุว่าความสำคัญอยู่ที่ชวนวิถี แต่ว่าตทาลัมพนจิตจะกำหนดโดยปฏิสนธิจิตว่า ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นเป็นกุศลขั้นใด จะมีตทาลัมพนะกี่ดวงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากชวนวิถี แต่โดยปกติถ้าอารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ ชวนะเป็นกุศล ตทาลัมพนะไม่มีปัญหาเลย เพราะเหตุว่าต้องเป็นกุศลวิบากตามชวนะ

    6968 ชวนะเนื่องกับตทารัมมณอย่างไร

    ถาม ผมสงสัยตอนนี้ล่ะครับว่า ก่อนจุติจิตจะเกิดขึ้น ถ้าวิถีจิตสุดท้าย ชวนะเป็นกุศลก็ไปบังเกิดในภูมิที่ดี ถ้าวิถีจิตสุดท้าย ชวนะเป็นอกุศล ก็ไปบังเกิดในภูมิที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นชวนจิตกับวิบากจิต จุติจิตนี้เป็นวิบากจิต ไม่ใช่ชวนจิต ทำไมมันเนื่องกันล่ะครับว่า ชวนจิตเป็นกุศล แล้วจะต้องไปในภูมิที่ดี ชวนจิตสุดท้ายที่เป็นอกุศลแล้ว ก็จะไปเกิดในภูมิที่ไม่ดี เพราะผมคิดว่า ชวนะมันเนื่องกับตทาลัมพนะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตทาลัมพนะเกิดเวลาที่อารมณ์ยังไม่ได้ดับไป และเป็นวิบาก ซึ่งวิบากทั้งหมดขอเรียนให้ทราบว่า เป็นเพียงผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว พร้อมปัจจัยที่จะเกิดก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับ ไม่ต้องห่วงอะไรอีก หมดเรื่อง ผลของกรรมเกิดแล้วก็หมดไป แล้วแต่ว่าจะมีการกระทบอารมณ์ทางตาเป็นผลของกรรมใด มีการรู้อารมณ์ใด อารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ตทาลัมพนะซึ่งเป็นวิบากจิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อจากชวนจิต แล้วก็หมดเรื่องอีกเหมือนกัน

    วิบากจิตทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่มีความสำคัญอะไรเลย แต่ถ้าไม่รู้ กิเลสปรารถนาที่จะให้วิบากรู้อารมณ์ที่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ลืมคิดถึงความสำคัญของชวนวิถี เพราะเหตุว่ากิเลสมีความปรารถนาที่จะเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้ลิ้มรสที่ดี ได้รู้อารมณ์ที่กระทบสัมผัสกายที่ดี แต่ไม่รู้ว่า เพียงเห็นแล้วดับหมดเรื่องของกรรมแล้ว เป็นวิบากเกิดขึ้นรับผลของอดีตกรรม เวลาที่ได้ยิน จะเป็นเสียงที่ดีหรือไม่ดี ก็จบเรื่องของอดีตกรรม เพราะทำให้วิบากเกิดขึ้นแล้วก็หมดเรื่อง แต่ชวนวิถี เวลาที่เห็นครั้งหนึ่ง ได้ยินครั้งหนึ่ง เป็นกุศลหรืออกุศล นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องรู้ชาติของวิถีจิตนะคะ ว่าวิถีจิตใดเป็นชาติอะไร เพื่อที่จะรู้ว่า วิถีจิตใดเป็นวิบาก ก็เป็นเพียงขณะที่เกิดรับผลของอดีตกรรม แล้วก็ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากอีก

    6969 วิบากจิตทั้งหมดเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ท่านอาจารย์ วิบากจิตทั้งหมดเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากจิต สันตีรณะเป็นวิบากจิต ตทาลัมพนะเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ความละเอียดว่า ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และขณะใดเป็นกิริยา เพื่อที่จะไม่หลงปรารถนา ยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็หมดไป จะเห็นสิ่งที่ดีสักเท่าไร เพชรนิลจินดา แก้วแหวนเงินทอง สีสันวัณณะที่น่าพอใจสักเท่าไร จักขุวิญญาณซึ่งเป็นวิบากเกิดแล้วก็ดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดแล้วก็ดับไป สันตีรณะเกิดแล้วก็ดับไป ตทาลัมพนะเกิดแล้วก็ดับไป เท่านั้นเองค่ะ ดับจริงๆ แต่เพราะไม่รู้ว่า เป็นสิ่งซึ่งเกิดดับ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าความชราจะปรากฏกับรูป เพราะเหตุว่านามธรรมไม่เคยปรากฏว่าชรา ใช่ไหมคะ แต่รูปธรรมนี้ยังปรากฏความชราได้ แต่รูปบางรูป ใครเห็นความชราบ้าง เช่น เพชร มีใครเห็นความชราของเพชรบ้างไหม แต่เมื่อไม่เห็นความชราของเพชร เห็นทีไรก็ยังคงพอใจในแสงสีของเพชร แล้วก็กำหนดราคาของความพอใจไว้ด้วยว่า มีความพอใจในเพชรนั้นสูงต่ำแค่ไหน ถ้าราคาสูงมาก ก็แสดงว่า โลภะสูงมาก ตามกำลังของโลภะ ถ้าราคานิดหน่อย ก็แสดงว่า โลภะกำหนดราคาตามความพอใจในวัตถุนั้นเพียงเล็กน้อย แต่ความชราของเพชรไม่ได้ปรากฏ แต่ความชราของรูปร่างกายของสัตว์ บุคคลนี้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่เป็นรูปสีสันวัณณะที่น่าพอใจ แล้วจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก ตทาลัมพนะเป็นวิบาก แล้วก็หมดค่ะ ไม่มีการเห็นสิ่งนั้น จนกว่าวิถีจิตจะเกิดอีก

    เพราะฉะนั้นควรจะรู้ว่า วิบากจิตทางตาเห็นขณะใด เป็นผลของอดีตกรรม พร้อมทั้งวิบากจิตซึ่งเป็นวิถีอื่นๆ ด้วย

    ทางหู ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ ก็เพียงชั่วขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตได้ยินเสียงนั้น แล้วก็ดับหมดจริงๆ แต่ว่ากุศลและอกุศลนี้มีปัจจัยที่จะเกิด มีความพอใจ ไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากมายเหลือเกิน ที่ว่ามากก็คือว่า เกิดอีก แล้วก็เกิดอีกๆ ๆ โดยขั้นของการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่สามารถที่จะดับอกุศลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นเพียงจักขุวิญญาณ การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม แต่ก็ยับยั้งความพอใจ คือ โลภะ ไม่ให้เกิดไม่ได้ ในขณะที่เห็นสิ่งที่พอใจ

    เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจธรรมที่ปรากฏให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ และการรู้ธรรมโดยละเอียดเห็นโทษของอกุศลมากขึ้น ก็จะทำให้อบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้นทุกขั้น เพราะรู้ตัวว่าเป็นผู้ที่มีกิเลสมากเหลือเกิน

    6970 ทุกอย่างเป็นของท่านเมื่อขณะที่วิถีจิตเกิดเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นของท่านผู้ฟังในขณะที่วิถีจิตเกิดเท่านั้นเองค่ะ แต่พอวิถีจิตไม่เกิด ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เช่นในขณะที่นอนหลับสนิท แม้ว่ายังไม่สิ้นชีวิต แต่ขณะนั้นก็ไม่มีเยื่อใย ไม่มีความอาลัยอาวรณ์ ไม่มีความผูกพันในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น หรือแม้แต่ในขันธ์ซึ่งเคยยึดถือว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน ในขณะนั้นก็ไม่มี เพราะเหตุว่าวิถีจิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ใดๆ เลย ยังไม่ทันสิ้นชีวิต ก็ยังขาดความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสในวันหนึ่งๆ ได้ ในขณะที่นอนหลับสนิท

    เพราะฉะนั้นทำไมถึงไม่ตัดแม้เยื่อใย เวลาที่มีการเห็น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ทางตา ได้ยินเสียงใดๆ ทางหู ได้กลิ่นใดๆ ทางจมูก หรือลิ้มรสใดๆ ทางลิ้น หรือกระทบสัมผัสสิ่งใดๆ ทางกาย ซึ่งเป็นทางที่จะทำให้อกุศลลดน้อยลง เพราะรู้ว่าสภาพธรรมปรากฏเพียงชั่วขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นเท่านั้นเอง และเมื่อจิตใดเกิดขึ้นแล้วดับไป จิตนั้นก็ดับจริงๆ รูปใดเกิดขึ้นแล้วดับไป รูปนั้นก็ดับจริงๆ รูปที่ปรากฏทางตาเมื่อกี้นี้ ดับหมดจริงๆ จิตเห็นเมื่อกี้นี้ดับหมดจริงๆ เสียงที่ปรากฏทางหูดับหมดจริงๆ ได้ยินก็ดับหมดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจริงๆ แต่ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับจริงๆ ก็ยังไม่เข้าถึงอรรถของความหมายของคำว่า “ดับ” เพราะเหตุว่าไม่ประจักษ์การดับ เช่นเวลานี้จะพูดถึงการดับไปของจักขุวิญญาณ ของสัมปฏิจฉันนะ ของสันตีรณะ ของโวฏฐัพพนะ ของชวนะ ของ ตทาลัมพนะ ก็ยังไม่ประจักษ์ความดับ จะพูดถึงการดับไปของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ยังไม่ประจักษ์การดับ

    เพราะฉะนั้นจึงต้องอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ แต่ถึงแม้ว่าปัญญาขั้นนั้นยังไม่เกิด การฟังพระธรรม และการพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะเกื้อกูลเป็นปัจจัยให้สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติปัฏฐาน มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ และศึกษาจนกระทั่งเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    6971 ธรรมที่เป็นอดีตที่ล่วงไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขอกล่าวถึงข้อความในอัฏฐสาลินี ที่แสดงลักษณะของธรรมที่เป็นอดีต ที่ล่วงไปแล้ว ในอตีตติกกะ ซึ่งเป็นคำอธิบายอตีตธรรม หมายความถึงธรรมที่ล่วงไปแล้ว หรือดับไปแล้ว ซึ่งมีหลายพยัญชนะ คือ

    คำว่า “ล่วงไปแล้วคือ ล่วงไปแล้ว ๓ ขณะ ทั้งขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับ จิตนี้มีอายุที่สั้นมาก เล็กน้อยเหลือเกิน เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ตั้งอยู่ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ดับไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่

    เพราะฉะนั้นถ้าเกิดขึ้นและกำลังตั้งอยู่ ยังไม่ชื่อว่า เป็นอดีต สำหรับฐีติขณะ แต่สำหรับขณะอุปาทะเป็นอดีตแล้ว

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จะศึกษาต่อไปในเรื่องของรูปจะทราบได้ทีเดียวว่า รูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดทุกขณะของจิต คือ ทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมกับการเกิด คือ อุปาทะของจิต รูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมในฐีติขณะของจิต และรูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน เกิดเฉพาะในฐีติขณะเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะที่ต่างกัน ๓ ขณะของจิต คือ อุปาทขณะที่เกิดมีรูปที่เกิดเพราะจิตเกิดด้วย มีรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิดด้วย ในฐีติขณะของจิตมีรูปที่เกิดเพราะอุตุ และมีรูปที่เกิดเพราะอาหาร และมีรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิดด้วย มีรูปในภังคขณะมีรูปที่เกิดเพราะกรรมเท่านั้นเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นขณะทั้ง ๓ ก็หมดไปอย่างรวดเร็วด้วย แต่ธรรมใดที่เป็นอดีต หมายความว่า คำว่า ล่วงไปแล้ว คือ ล่วงไปแล้ว ๓ ขณะ ไม่มีเหลือทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ หมดไปๆ ๆ ทุกขณะ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ก็จะไม่ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    คำอธิบายต่อไป มีว่า คำว่า ดับแล้ว คือ ถึงความดับแล้ว เหมือนไฟดับ ใช่ไหมคะ ดับแล้ว ไม่มีอีก หมดจริงๆ หายไปเลยจริงๆ ดับแล้วจริงๆ

    คำว่า ปราศไปแล้ว คือ ถึงความปราศไปแล้ว หรือไปปราศแล้ว เหมือนคนตายไหมคะ ปราศไปแล้ว หรือไปปราศแล้ว ไม่เหลือเลย นั่นคือลักษณะของความดับ

    คำว่า แปรไปแล้ว คือ ถึงความแปรไปด้วยการละปกติ ปกติ คือ มี แต่แปรไปด้วยการละปกติ คือ ไม่มี

    คำว่า อัสดงคตแล้ว ด้วยอรรถว่า ถึงความตั้งไม่ได้ กล่าวคือ ความดับ

    คำว่า อพฺภตฺถงฺคตา ที่แปลว่า ถึงความดับสูญแล้ว ทรงเพิ่มบทด้วยอุปสัค คือ ถ้าใช้คำว่า ดับ ก็จะชินกับคำว่า ดับ เพราะฉะนั้นก็ต้องเพิ่มบทด้วยอุปสัค คือ ให้รู้ว่าถึงความดับสูญแล้ว ไม่เหลือจริงๆ จะคิดว่ามีอะไรที่เหลืออยู่เวลานี้ เป็นความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าสิ่งที่ดับแล้ว สูญแล้วจริงๆ

    คำว่า เกิดขึ้น แล้วปราศไป คือ บังเกิดแล้วปราศไป ไม่ใช่ว่า ไม่มีนะคะ มี เพราะเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ปราศไป คือ หมดไป สูญจริงๆ ไม่เหลือเลย

    ธรรมส่วนที่ล่วงไปแล้วเหล่านั้นอะไรบ้าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แก่ ธรรมที่เป็นสังขารธรรม ได้แก่ ขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูปขันธ์ รูปทุกชนิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เวทนา ความรู้สึกทุกชนิด เกิดขึ้นแล้วดับไป สัญญา ความจำทุกชนิด เกิดขึ้นแล้วดับไป สังขาร ได้แก่ เจตสิกซึ่งปรุงแต่งเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นอิสสา เป็นมัจฉริยะ เป็นปัญญา เป็นวิริยะ ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วดับไป วิญญาณ คือ สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วดับไป

    เพราะฉะนั้นยังอาลัย ยังยึดถือ ยังผูกพัน อยู่กับขันธ์ไหนบ้างคะ ในเมื่อทุกขันธ์นี้เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับ สูญไปด้วย ไม่ใช่ดับแล้วจะมีเหลือนะคะ แต่ว่าดับสูญไป ปราศไป

    เพียงขั้นการฟัง ดับกิเลสไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ ยังอยู่เต็มทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังให้เข้าใจ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึกรู้สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง แล้วก็เข้าใจ จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไป จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    นี่ยังไม่ต้องถึงขณะที่ตาย ในชั่ววันหนึ่งๆ นี้ เคยชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นสมบัติของเรา แท้ที่จริงทุกอย่างเกิดขึ้นปรากฏขณะที่เป็นวิถีจิตเท่านั้นเอง แล้วสภาพธรรมใดที่เป็นวิบากจิต ก็เป็นผลของกรรม ใครจะมีบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ เสื้อผ้าอาภรณ์มากมายอย่างไร ประณีตสวยงามอย่างไร วิบากจิตเป็นผลของอดีตกรรมเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วไม่ยั่งยืนเลย เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่า กรรมใดจะให้ผลในขณะต่อไป เพราะว่าทุกคนมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมในอดีตที่ได้กระทำมาแล้ว พร้อมที่ว่า มีปัจจัยใดจะทำให้กรรมใด ให้วิบากใดเกิดขึ้น วิบากนั้นก็เกิดขึ้น ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นนี่ก็คงเป็นวิริยารัมภกถา ที่จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ