จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025


    7257 ภูมิ ๒ ความหมาย - ชนกกรรม

    สำหรับ “ภูมิ” ก็ทราบแล้วว่า มี ๒ ความหมาย คือ หมายถึงระดับขั้นของจิต ความหมายหนึ่ง และหมายความถึงที่เกิดของจิตในโลกต่างๆ อีกความหมายหนึ่ง ซึ่งก็ขอกล่าวเพียงย่อๆ ว่า สำหรับ “อบายภูมิ” มี ๔ ได้แก่ นรก ๑ สัตว์เดรัจฉาน ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑

    นี่เป็นผลของอกุศลกรรม แล้วแต่ว่ากรรมใดที่ได้กระทำแล้วจะเป็น “ชนกกรรม” คือ กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิ กรรมนั้นจะทำให้จิตเกิดเศร้าหมองหรือผ่องใสก่อนจุติจิตจะเกิด ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ไม่มีใครจะสามารถรู้ได้ว่า จะตายเมื่อไร แต่ก่อนที่จุติจิตจะเกิด กรรมหนึ่งกรรมใดซึ่งเป็นชนกกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลจะเกิดก่อนจุติจิต ซึ่งในขณะนี้นะคะก็เกิดดับอย่างรวดเร็วเหลือเกิน

    เพราะฉะนั้นเพียงก่อนจุติจิต แล้วชนกกรรมจะทำให้จิตที่เกิดก่อนจุตินั้นเป็นจิตที่ผ่องใส หรือเป็นจิตที่เศร้าหมอง ก็รู้ไม่ได้ เหมือนในขณะนี้ ขณะนี้ก็ยากที่จะรู้ใช่ไหมคะว่า จิตเศร้าหมองหรือผ่องใสแค่ไหน ถ้าขณะที่ไม่ใช่กำลังตั้งใจฟังธรรม ไม่ใช่ขณะที่พิจารณาธรรม หรือเข้าใจธรรม ในขณะนั้นก็ไม่สามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะอีก ๕ ขณะต่อไป จิตจะเศร้าหมอง หรือว่าผ่องใส แล้วก็จะเป็นจุติจิต แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่กรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์ที่ได้ผ่านมาทั้งหมด จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นในภูมิหนึ่งภูมิใด

    7258 ผลของอกุศลกรรม - นรกขุมใหญ่ ๘ ขุม

    ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็จะเกิดในนรก ถ้าเป็นผลของกรรมหนัก ซึ่งนรกนี้ก็ไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว หรือว่าขุมเดียว แต่ว่ามีแสดงไว้เป็นนรกขุมใหญ่ๆ ก็มี ๘ ขุม ๘ แห่ง คือ สัญชีวนรก กาฬสุตตนรก สังฆาตนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนนรก มหาตาปนนรก และอเวจีนรก ซึ่งทุกแห่งล้วนแต่เป็นภูมิซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ความทรมานประการต่างๆ ซึ่งถ้ามีความรู้สึกว่า โลกนี้ไม่น่าอยู่ ช่างแสนทรมาน ก็ให้ทราบว่า ยังมีที่ที่ลำบากเดือดร้อน ทรมานเป็นทุกข์ยิ่งกว่าในโลกมนุษย์นี้มากมายหลายเท่า แล้วก็เป็นเวลาที่นานมากด้วย ถ้ายังไม่หมดกรรมที่จะอยู่ในภูมินั้นๆ ก็จะต้องเกิดในภูมินั้น นี่เป็นนรกใหญ่ และยังมีนรกย่อยๆ ต่อไปอีก

    7259 ไม่ทรงแสดงรายละเอียดของนรกมากเท่ากับสภาพธรรม

    ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้แสดงความละเอียดมากมาย เพราะว่าจุดประสงค์ที่ทรงแสดงไว้ แสดงให้เห็นเหตุและผล แต่ว่าสิ่งใดซึ่งไม่สามารถที่จะให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้เห็นชัด ประจักษ์แจ้งด้วยตา ก็ย่อมไม่เป็นสิ่งที่ควรจะแสดงเท่ากับสภาพธรรมที่สามารถจะพิสูจน์ หรือว่าอบรมเจริญปัญญาให้รู้ได้

    เช่นในขณะที่กำลังเห็นทางตา ไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหนทั้งสิ้น ไม่ขาดจักขุปสาท นอกจากในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งชื่อก็บอกแล้วว่า เป็นภูมิของพรหมซึ่งไม่มีรูป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย มีแต่จิตซึ่งมีปัจจัยเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ระหว่างที่เป็นอรูปพรหมบุคคล เพราะเป็นผลของอรูปฌานกุศล เป็นจิตที่สงบถึงขั้นที่เห็นโทษของรูป และเห็นว่าทุกข์ทั้งหมดที่ยังมีอยู่บ่อยๆ ก็เพราะมีรูปนั่นเอง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าไม่มีรูปก็จะตัดทุกข์ออกไปได้มาก ไม่เห็นจะเป็นทุกข์อย่างไร โรคตาก็ไม่มี ไม่ต้องเดือดร้อนไปกับสิ่งที่เห็น เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ คงจะไม่ทราบว่า จิตใจของแต่ละคนหวั่นไหวไปตามรูปที่ปรากฏทางตา ตามกิเลสซึ่งมีอยู่

    ถ้ารูปทางตาเป็นที่น่ายินดี พอใจ ทันทีที่เห็นจิตกระเพื่อมไหวไปด้วยความยินดี ติดข้อง พอใจในสิ่งนั้น ยับยั้งไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะไม่สามารถรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเปลี่ยนสภาพทันทีจากการที่ไม่ปรากฏกิเลส เพราะเหตุว่าไม่เห็น แต่เวลาที่มีการเห็นเกิดขึ้น และเห็นสิ่งที่พอใจ พอใจแล้วในสิ่งที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น แล้วก็ดับไปตรงนั้นเอง เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เป็นปริตธรรม เพราะเหตุว่าเป็นธรรมที่สั้นและเล็กน้อยเหลือเกิน ถ้าเห็นว่าเล็กน้อยจริงๆ ก็คงจะไม่อยากได้ เพราะเหตุว่าได้มาเพียงเดี๋ยวเดียว นิดเดียว ชั่วขณะเดียว แล้วก็หมด แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าเล็กน้อยอย่างนั้น จึงยังคงเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจอยู่ได้

    7260 ผู้เห็นโทษของตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงเจริญฌานจิตเพื่อความไม่มีรูป

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นโทษของตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็สามารถจะดับความยินดีพอใจด้วยกำลังของความสงบ แล้วถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญมั่นคงชำนาญ อรูปฌานหรืออรูปาวจรจิตซึ่งเป็นกุศล เกิดก่อนจุติจิต จะเป็นปัจจัยทำให้เฉพาะนามธรรม คือ นามขันธ์ล้วนๆ ๔ นามขันธ์ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ หรือจิตและเจตสิกนั่นเอง เฉพาะจิตและเจตสิกเท่านั้นเกิดขึ้นในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปเลยในภูมินั้น แต่ว่าอย่าลืมค่ะ ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลตราบใด ยังไม่ได้ตัดกามสังโยชน์ กามราคสังโยชน์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นถึงแม้จะเกิดในอรูปพรหมภูมิ ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ให้ทราบว่า เพราะจิตต่างกันเป็นประเภท เป็นขั้นต่างๆ ก็ทำให้ภูมิที่เกิดของจิตมีต่างๆ

    7261 อบายภูมิ ๔ - ผลของกรรมหนักทำให้เกิดในนรก

    สำหรับอบายภูมิ มี ๔ ถ้าเป็นผลของกรรมหนักก็เกิดในนรก ถ้ากรรมนั้นหนักมาก ก็ในมหานรก ซึ่งทารุณและเผ็ดร้อนทรมานที่สุด ก็ได้แก่ อเวจีนรก นอกจากนั้นก็มีนรกขุมย่อยๆ หลังจากที่พ้นขุมใหญ่ๆ แล้วแต่อกุศลกรรม ซึ่งเวลาที่ทำกรรมแล้ว ไม่เคยทราบผลเลยใช่ไหมคะว่า ได้ภูมิ คือ มีภูมิรออยู่แล้วข้างหน้า แต่ว่ายังไปไม่ถึง เพราะเหตุว่ายังอยู่ในโลกนี้ ตราบใดที่ยังไม่พ้นจากสภาพความเป็นบุคคลในโลกนี้ ก็ยังไม่ไปสู่ภูมิอื่น แม้ว่าเหตุคืออกุศลกรรมมีแล้ว เพราะฉะนั้นภูมิได้แล้ว รออยู่แล้ว แล้วแต่ว่าจะไปสู่ภูมิไหน ถ้าเป็นอกุศลกรรมที่หนัก ก็ไปสู่นรกที่เป็นมหานรก ถ้าเป็นอกุศลกรรมที่ไม่หนัก ก็ไปสู่ขุมที่ทรมานน้อยกว่านั้น

    7262 อบายภูมิ ๔ - สัตว์เดรัจฉาน

    ถ้าผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้น ก็ไปเกิดในอบายภูมิอื่น เช่น เป็นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งก็จะเห็นได้นะคะว่า สัตว์เดรัจฉานนี้มีรูปร่างประหลาดต่างๆ ทั้งที่มีขาเยอะแยะ มีขาน้อย มีขามาก ไม่มีขาเลย มีปีกบ้าง ไม่มีบ้าง อยู่ในน้ำบ้าง อยู่บนบกบ้าง มีรูปร่างลักษณะต่างๆ มากมาย ตามความวิจิตรของจิต ทั้งๆ ที่เป็นคนในมนุษย์ภูมิ ก็มีเพียงตา หู จมูก ลิ้น กาย ผิวพรรณวรรณะ ความสูงต่ำ ก็ยังจำแนกออกได้วิจิตรต่างๆ กัน แต่พอถึงสัตว์เดรัจฉานก็ยังวิจิตรต่างกันมากทีเดียว นั่นก็ย่อมเป็นไปตามกรรมซึ่งการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้น เป็นผลของอกุศลกรรม

    7263 อบายภูมิ ๔ - เปรต หรือ ปิตติวิสัย

    ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่น้อยกว่านั้น ก็ทำให้เกิดในภูมิของเปรต ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “ปิตติวิสัย” ซึ่งภูมิของเปรตนี้ ก็วิจิตรต่างกันมาก เปรตบางพวกก็ทรมานมาก หิวโหยแล้วก็ไม่ได้อาหารด้วย

    มนุษย์ทุกคนมีโรคประจำตัว ประจำวัน คือ โรคหิว จะว่าไม่มีโรคไม่ได้ เพราะความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ลองหิวมากๆ ซิคะจะรู้สึก แต่ว่าถ้าหิวนิดหน่อย แล้วก็รับประทานอาหารเสีย แล้วถ้าเป็นอาหารอร่อยๆ ก็เลยลืมว่า แท้ที่จริงแล้ว ความหิวนี้ไม่ใช่ความสบายกายเลย เป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข บรรเทาให้หมดไป แต่ทีนี้สำหรับคนซึ่งบางครั้งหิวมาก และไม่ได้รับประทาน ก็คงจะรู้รสของความหิว รู้รสของความทุกข์ของความหิวว่า ถ้ามีมากกว่านั้นจะเป็นอย่างไร

    เคยมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็เป็นผู้มีมิตรสหายมาก วันหนึ่งท่านรับโทรศัพท์ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ไม่ได้รับประทานอาหาร พอถึงค่ำ รู้เลยว่า ความหิวที่แสนทรมาน ที่ใช้คำว่าแสบท้อง หรือแสบไส้นั้นเป็นอย่างไร แล้วท่านก็ไม่สามารถจะรีบร้อนรับประทานเพื่อที่จะแก้ความหิว เพราะเหตุว่าถ้าทำอย่างนั้นก็คงจะต้องเป็นลม หรือว่าจะเป็นอันตรายแก่ร่างกาย ก็จะต้องค่อยๆ บริโภคแก้ไขความหิวไปทีละน้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นลม

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ประจำวัน ยังไม่ต้องพูดถึงโรคอื่น แต่ว่านี่เป็นโรคประจำตัว ประจำวัน

    และสำหรับผู้ที่เป็นเปรตจะหิวสักแค่ไหน เพราะเหตุว่าในภูมิเปรต ไม่มีการค้าขาย ไม่มีการกสิกรรม จะไปปลูกข้าวทำนา หุงข้าวเอง หรือว่าจะไปซื้อไปขาย ไปแลกเปลี่ยนอะไรกับใคร เพื่อที่จะได้อาหารมาบริโภค ก็ไม่มีในภูมินั้น อยู่ด้วยผลของกรรม

    และบางพวกก็สามารถที่จะอนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่น และกุศลจิตที่อนุโมทนานั้นเองก็เป็นปัจจัยให้ได้รับอาหารที่เหมาะสมแก่ภูมิของตนบริโภค หรือว่าอาจจะพ้นสภาพของการเป็นเปรต โดยจุติแล้วก็ปฏิสนธิในภูมิอื่น เมื่อหมดผลของกรรมที่จะเป็นเปรตต่อไป

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นผลของอกุศลกรรม

    7264 อบายภูมิ ๔ - อสูรกาย

    แล้วสำหรับอีกภูมิหนึ่ง คือ “อสุรกาย” เป็นภูมิของผลของอกุศลกรรมที่เบากว่าอกุศลกรรมอื่น เพราะเหตุว่าผู้ที่เกิดในภูมินี้ เป็นผู้ที่ไม่มีความรื่นเริงใดๆ เท่านั้นเอง ในภูมิมนุษย์มีหนังสือพิมพ์อ่าน มีหนังดู มีละครดู มีเพลงฟัง แต่ในอสุรกายภูมินั้น เป็นภูมิซึ่งไม่รื่นเริง ไม่สามารถที่จะแสวงหาความเพลิดเพลินสนุกสนานได้ เหมือนในสุคติภูมิ เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่า เมื่ออกุศลกรรมมีต่างกัน ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดเป็นผลของอกุศลกรรมก็ต่างกันด้วย

    7265 มนุสสภูมิมี ๔ ทวีป

    สำหรับภูมิซึ่งเป็นผลของกุศลมี ๗ ภูมิ คือ มนุษย์ภูมิ ๑ สวรรค์ ๖

    สำหรับมนุษย์ภูมิที่กล่าวถึงในพระไตรปิฎก มี ๔ ทวีป คือ

    ๑. บุพเพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ

    ๒. อปรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ

    ๓. ชมพูทวีป คือ โลกนี้ อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ

    ๔. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ

    เวลานี้ทุกคนก็เห็นแต่ชมพูทวีป เพราะว่าอยู่ในชมพูทวีป ชมพูทวีปจะมีอะไรบ้าง ท่านที่ท่องเที่ยวไปก็เห็นอารมณ์ต่างๆ ของชมพูทวีป แต่ยังไม่สามารถที่จะไปถึงทวีปอื่น หรือว่าโลกของมนุษย์โลกอื่นอีก ๓ โลก

    7266 สวรรค์ ๖ ชั้น

    สำหรับสวรรค์ก็มี ๖ ชั้น ตามลำดับ คือ

    สวรรค์ชั้นต่ำ คือ จาตุมหาราชิกา ซึ่งมีเทวดาซึ่งเป็นใหญ่ ๔ องค์ มี ท้าวธตะรฐะ เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ทางทิศตะวันออก บางครั้งจะมีชื่อว่า “อินทะ” ซึ่งเป็นเทพที่ปกครองคนธรรพ์เทวดา ท้าววิรุฬหกะ ซึ่งบางครั้งมีชื่อว่า “ยมะ” เป็นผู้ปกครองเทพทางทิศใต้ เทพชั้นกุมภัณฑ์ ท้าววิรูปักขะ บางครั้งมีชื่อว่า “ท้าววรุณ” เป็นผู้ปกครองเทพทางทิศตะวันตก เทพชั้นนาค ทางทิศเหนือ มี ท้าวกุเวร ซึ่งบางครั้งชื่อว่า เวสสุวัณ เป็นผู้ปกครองเทวดาชั้นยักษ์

    นี่เป็นสวรรค์ชั้นต่ำ และยังมีเทพซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากภูมิมนุษย์ เพราะเหตุว่าภูมิของเทพก็จะสูงขึ้นๆ ตามลำดับความประณีตของสวรรค์

    สำหรับสวรรค์ภูมิที่ ๒ ขั้นที่สูงกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา คือ ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ยินชื่อสวนสวรรค์ในชั้นดาวดึงส์บ่อยๆ ได้แก่ สวนนันทวัน อยู่ทางทิศตะวันออก สวนจิตรลดาวัน อยู่ทางทิศตะวันตก สวนมิสสกวัน อยู่ทางทิศเหนือ สวนผารุสกวัน อยู่ทางทิศใต้ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระอินทร์เป็นจอมเทพ

    สวรรค์ชั้นสูงต่อจากดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๓ ชื่อว่า ยามา สวรรค์ชั้นที่ ๔ คือ ดุสิต สวรรค์ชั้นที่ ๕ คือ นิมมานรดี สวรรค์ชั้นที่ ๖ คือ ปรนิมมิตตวสวัสวตี

    7267 อยากจะเกิดที่ไหน

    อยากจะเกิดที่ไหนคะ ยังไงก็ต้องเกิด ไม่เกิดน่ะไม่มี ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้วก็จะต้องเกิด แต่จะถึงรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิไหม คงไม่ถึงใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็คงจะเป็นหนึ่งในอบายภูมิ ๔ หรือว่า ๑ ในสุคติภูมิ ๗ ตามเหตุ คือ ตามกรรม

    7268 รูปาวจรภูมิ ๑๖

    สำหรับรูปาวจรภูมิ มี ๑๖ ภูมิ ซึ่งจะขอกล่าวถึงเวลาที่ถึง “รูปาวจรจิต” เพราะเหตุว่าถ้ากล่าวถึงในขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงชื่อ และเป็นอายุที่ยืนยาวมาก ยิ่งกว่าอายุของเทพในสวรรค์ ๖ ชั้น

    มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    7269 สัมปยุตธรรม - ชาติของจิต - ภูมิของจิต

    สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตที่ว่า

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติที่วิจิตรตามสมควรแห่งอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    ซึ่งหมายความถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้จำแนกจิตออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายนัย เช่น

    โดยชาติ ๔ ได้แก่ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ ก็ได้กล่าวถึงแล้วนะคะ

    และโดยภูมิ ซึ่งมีความหมาย ๒ อย่าง คือ ภูมิ หมายถึงระดับขั้นของจิต ซึ่งต่างกันเพราะสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย ทำให้จิตต่างกันออกเป็น ๔ ขั้น ๔ ระดับ คือ

    เป็นกามาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นรูปาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นอรูปาวจรจิต ๑ ประเภท เป็นโลกุตตรจิต ๑ ประเภท

    สำหรับกามาวจรจิตมีทั้ง ๔ ชาติ คือ จิตที่เป็นกามาวจรจิต จิตซึ่งเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นั้น ที่เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี

    นอกจากกามาวจรจิตแล้ว จิตระดับที่สูงกว่านั้น ไม่เป็นอกุศล รูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี อรูปาวจรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี โลกุตตรจิตที่เป็นอกุศลไม่มี

    เพราะฉะนั้นสำหรับรูปาวจรจิตก็มีเพียง ๓ ชาติ คือ กุศลเป็นเหตุให้เกิดวิบาก ถ้ารูปาวจรจิตกุศลเกิดขึ้นและดับไปสะสมอยู่ในจิต เป็นปัจจัยที่จะให้รูปาวจรวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิในพรหมโลก ซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิ ภูมิหนึ่งภูมิใดในรูปพรหม ๑๖ ภูมิ และสำหรับรูปาวจรกิริยาจิตก็เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ซึ่งถึงอัปปนาสมาธิ

    สำหรับ “อรูปาวจรจิต” ก็มี ๓ ชาติ คือ เป็นอรูปาวจรกุศล ประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรวิบาก ประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรกิริยา ประเภทหนึ่ง โดยนัยเดียวกัน

    ซึ่งสำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต บางครั้งท่านผู้ฟังจะได้ยินคำศัพท์ที่ใช้คำรวมสำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิตว่า “มหัคคตจิต

    7270 มหัคคตะ

    ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ได้อธิบายความหมายของคำว่า “มหัคคต” ซึ่งมีข้อความว่า

    ชื่อว่า “มหัคคต” เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์

    กิเลสเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะข่มได้โดยง่าย เพราะเหตุว่าเวลาที่เห็นก็เกิดความพอใจไม่พอใจทันที แต่ในขณะที่จิตเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิต ขณะนั้นจะเป็นขณะที่แนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบทางมโนทวาร ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้นถ้าฌานจิตเกิดดับ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ตาม อาจจะเป็น ๕ นาที ๑๐ นาที ชั่วโมงหนึ่ง ๒ ชั่วโมง หรือ ๒ วัน ขณะที่เป็นฌานจิต ภวังคจิตจะไม่เกิดคั่นเลย ไม่เหมือนกับเวลาที่เป็นกามาวจรจิต ซึ่งเป็นขณะที่เล็กน้อยและสั้นมาก ซึ่งใช้คำว่า “ปริตตะ” “ปริตธรรม” เพราะเหตุว่าเห็นนิดหนึ่ง แล้วก็ได้ยิน ได้ยินนิดหนึ่ง แล้วก็เห็น หรือว่าแล้วก็คิดนึก เพราะฉะนั้นเป็นชั่วขณะที่สั้นจริงๆ เวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้นเห็น เมื่อรูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป ภวังคจิตต้องเกิดทันที ก่อนที่มโนทวารวิถีจิตจะรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากทางปัญจทวารวิถี

    เพราะฉะนั้นก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏชั่วขณะที่เล็กน้อยและสั้นมาก เพราะว่าเดี๋ยวก็เห็นทางตา เดี๋ยวก็ได้ยินทางหู ประเดี๋ยวก็ได้กลิ่น ประเดี๋ยวก็ลิ้มรสที่ปรากฏ ประเดี๋ยวก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ประเดี๋ยวก็คิดนึก ในขณะเหล่านี้เองเป็นขณะสั้นๆ เพราะท่านผู้ฟังไม่เพียงแต่เห็น คิดด้วย คนละวิถีจิต แล้วก็ได้ยินอีก แล้วก็คิดอีก เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และจิตซึ่งรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นปริตธรรม

    เพราะฉะนั้น คำว่า “ปริตธรรม” นี้ เป็นชื่อแห่งธรรมฝ่ายกามาวจร แต่สำหรับ “มหัคคตะ ซึ่งได้แก่ รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต เป็นมหัคคตะ เพราะถึงความเป็นสภาวะอันใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้

    เวลาที่อัปปนาสมาธิเกิด เป็นฌานจิต ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จึงชื่อว่า สามารถข่มกิเลส แต่ถ้าฌานจิตดับแล้ว กามาวจรจิตเกิด หลังจากเห็นแล้ว อกุศลเกิดทันที ถ้าไม่ใช่กุศล

    เพราะฉะนั้นกามาวจรจิตข่มกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อกิเลสยังไม่ได้ดับ เวลาเห็นแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาได้ยินแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาได้กลิ่นแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาลิ้มรสแล้ว กิเลสก็เกิด เวลาที่กระทบสัมผัสแล้ว กิเลสก็เกิด มีใครรู้บ้างไหมคะว่า กิเลสเกิดอยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ข่มและไม่ได้อบรมเจริญหนทางที่จะดับ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด โดยไม่รู้ตัวเลยค่ะว่า เป็นวิสัยของกิเลส ซึ่งเมื่อยังไม่ได้ดับ ก็จะเกิดต่อจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นโทษของกิเลสซึ่งเกิดต่อจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ว่าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้พยายามหาทางที่จะข่มกิเลส แล้วก็รู้ว่าทางเดียวที่จะข่มได้ คือ ต้องไม่เห็น ต้องไม่ได้ยิน ต้องไม่ได้กลิ่น ต้องไม่ลิ้มรส ต้องไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าถ้าเห็น รู้ได้เลยว่า กั้นกิเลสไม่ได้ ต้องรู้อย่างนี้จึงจะอบรมเจริญถึงอัปปนาสมาธิ เพื่อที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และต้องเป็นผู้ที่รู้ด้วยว่า ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่าเมื่อฌานจิตไม่เกิด เมื่อเห็น กิเลสก็เกิด เมื่อได้ยิน กิเลสก็เกิด

    ด้วยเหตุนี้ชั่วขณะที่รูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต ขณะนั้นเป็นสภาวะอันใหญ่ ชื่อว่า “มหัคคตะ” เพราะสามารถข่มกิเลสได้ โดยไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เหมือนพระอนาคามีบุคคล ซึ่งเห็น แต่ดับความยินดีพอใจในรูป ได้ยิน แต่ดับความยินดีพอใจในเสียง ได้กลิ่น แต่ดับความยินดีพอใจในกลิ่น ลิ้มรส แต่ดับความยินดีพอใจในรส กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ดับความยินดีพอใจในเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นจิตจึงต่างกันเป็นระดับขั้น

    สำหรับรูปาวจรจิตและอรูปาวจรจิต มี ๓ ชาติ คือ เป็นชาติกุศลประเภทหนึ่ง เป็นชาติวิบากประเภทหนึ่ง เป็นชาติกิริยาประเภทหนึ่ง

    7271 โลกุตตรจิต

    สำหรับโลกุตตรจิตมีเพียง ๒ ชาติ คือ โลกุตตรกุศลประเภทหนึ่ง และเป็นโลกุตตรวิบากประเภทหนึ่ง ไม่มีโลกุตตรกิริยาจิต

    โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง คือ โสตาปัตติมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ