จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034


    เมื่อทรงแสดงโดยหมวด ๓ แต่ถ้าทรงแสดงโดยชาติ ๔ หมายเฉพาะจิตและเจตสิก

    7391 ฝ่ายกุศลวิบาก มีที่เป็นโสภณ และ อโสภณ

    เพราะฉะนั้นสำหรับทางฝ่ายกุศลวิบาก จึงมีที่เป็นอโสภณและโสภณ ถ้าขณะใดที่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ขณะนั้นเป็นโสภณ เป็นกุศลวิบาก ที่เป็นโสภณ

    7392 ทวิปัญจวิญญาณกุศลวิบาก เป็นอโสภณจิต

    “จักขุวิญญาณ” เป็นสภาพธรรมที่มีจริง กระทำกิจเห็น แต่ว่าต่างกันโดยกรรม เป็น ๒ ประเภท คือ เห็นสิ่งที่ไม่ดีขณะใด เป็นอกุศลวิบากขณะนั้น เห็นสิ่งที่ดี น่าพอใจขณะใด เป็นกุศลวิบากในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นทางตาที่เห็นเป็นจักขุวิญญาณ มี ๒ ดวง ๒ ประเภท ต่างกันตามกรรม คือ เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ๑ และเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรม ๑

    ทางหูก็เหมือนกันค่ะ ที่ได้ยินเสียงเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นผลของอดีตกรรม ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ดี ที่น่าพอใจ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นโสตวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก เกิดขึ้นเพราะกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แต่ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อยากจะเปลี่ยนให้ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นจิตเกิดขึ้นเป็นผลของอดีตอกุศลกรรม

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน แต่ว่าจักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่เห็นสิ่งที่ดี โสตวิญญาณซึ่งเป็นกุศลวิบาก ซึ่งได้ยินเสียงที่ดี ฆานวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่ได้กลิ่นที่ดี ชิวหาวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่ได้รสที่ดี กายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ที่กระทบโผฏฐัพพะที่ดี ไม่ประกอบด้วยโสภณเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก โสตวิญญาณกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบาก เป็นอโสภณจิต

    นี่น่ะค่ะที่จะต้องทราบความต่างกันของความหมายของคำว่า “โสภณ” กับ “อโสภณ” เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า กุศลวิบากทั้งหมดเป็นโสภณจิต

    นี่เป็นความต่างกันนะคะของชีวิตประจำวันในแต่ละขณะ

    7393 ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอเหตุกกุศลวิบาก พิการตั้งแต่กำเนิด

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะทราบได้ว่า ท่านผู้ฟังมีกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นของที่แน่นอนที่สุด แต่ว่าปฏิสนธิจิตของภูมิมนุษย์กับปฏิสนธิจิตของอบายภูมินั้นต่างกัน เพราะผู้ที่ปฏิสนธิจิตในอบายภูมิ เป็นสัตว์ที่เกิดในนรก หรือเปรต หรืออสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉานทั้งหมด ปฏิสนธิด้วยอกุศลวิบากจิต เป็นผลของอกุศลกรรม และปฏิสนธิจิตของผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดาชั้นต่างๆ ซึ่งเป็นสุคติภูมิต้องเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง ซึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในสุคติภูมิ แล้วแต่ว่าจะเกิดเป็นบุคคลใด ถ้าเกิดเป็นคนที่พิการตั้งแต่กำเนิด กุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ ไม่ได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิก คือ ไม่ได้เกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก นั่นเป็นประเภทหนึ่ง คือ ผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด บ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิดเป็นต้น

    แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่เป็นผู้ที่บ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด ก็เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอาการต่างๆ ปฏิสนธิจิตย่อมต่างกัน ตามกำลังของกุศลซึ่งเป็นเหตุ

    กุศลกรรมอย่างอ่อน ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ทำกิจปฏิสนธิเป็นบุคคลที่บ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด แต่สำหรับผู้ที่ไม่บ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธิจิตนั้นประกอบด้วยโสภณเจตสิก คือ อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิก ๒ เหตุ เป็นทวิเหตุกบุคคล แต่ว่าปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นไม่ใช่เป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกในขณะที่กระทำปฏิสนธิกิจเกิดขึ้น บุคคลนั้นแม้ว่าจะได้ยินได้ฟังพระธรรมก็อาจจะมีการพิจารณาและเข้าใจ แล้วก็อาจจะมีการอบรมเจริญปัญญา แต่ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต หรือมรรคผลนิพพาน ไม่บรรลุคุณธรรมที่จะเป็นพระอริยบุคคล ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ ในชาตินั้น แต่ว่าสะสมเหตุปัจจัย ซึ่งถ้ากรรมที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกให้ผล ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก เป็นติเหตุกบุคคล คือ บุคคลที่ประกอบพร้อมด้วยโสภณเหตุทั้ง ๓ ในชาติต่อไปได้

    7394 ไม่ควรประมาทในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม อบรมปัญญา

    เพราะฉะนั้นไม่ควรประมาท เพราะบางท่านเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ปฏิสนธิจิตของท่านอาจจะหรือคงจะเกิดร่วมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ประมาทการเจริญกุศล ประมาทการฟังพระธรรม ท่านจะเป็นผู้ที่มีมนสิการ คือ สามารถที่จะพิจารณา ใช้สติปัญญาซึ่งก็ได้สะสมมาในอดีต แต่ไม่ใช่ในการอบรมเจริญปัญญาในทางธรรม เพราะฉะนั้นท่านก็เป็นผู้ที่ฉลาดในทางโลก ในวิชาการต่างๆ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะว่าบางท่านก็อาจจะเป็นผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยสนใจธรรม อาจจะเป็นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม หรืออาจจะถึงกับบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุสามเณร แต่ว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า จะรู้แจ้งในเพศใด ในเพศของบรรพชิต หรือในเพศของฆราวาส เพราะว่าทุกท่านจะต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงไม่ใช่ว่าแต่ละท่านสามารถที่จะเลือกชีวิตของท่านได้ ถ้าคิดว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอัตตา ก็จะคิดว่าตัวท่านเลือกที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้ารู้อย่างถ่องแท้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้แต่ความคิดที่จะเกิดแต่ละขณะ ก็มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดเป็นไปในขณะนั้นอย่างนั้นๆ แม้แต่การตัดสินใจแต่ละครั้ง แต่ละขณะ ก็ไม่มีอัตตาที่จะตัดสิน แม้แต่การคิดตัดสินในขณะนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ที่จะคิดอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น หรือตัดสินอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าท่านเป็นผู้ที่แม้ว่าในกาลครั้งหนึ่ง อาจจะเคยสนใจธรรม ฝักใฝ่ในการศึกษาในการปฏิบัติธรรม แต่อย่าลืมว่า กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ยังมีอกุศลที่สะสมมามากมายหนาแน่นที่จะทำให้หลงไป เพลินไปในอกุศลได้ ถ้าเป็นผู้ที่ประมาท

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะปฏิสนธิด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก แต่เมื่อใดเป็นผู้ประมาท ปัญญาเจตสิกในชาตินั้นจะไม่เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าไม่ได้อบรมด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ด้วยการปฏิบัติธรรม

    เพราะฉะนั้นก็น่าเสียดายชาติซึ่งปฏิสนธิพร้อมกับปัญญาเจตสิก แต่ว่าไม่ได้อบรมให้เจริญขึ้น แล้วก็ในชาติต่อไปกรรมใดจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดก็ไม่แน่ว่า จะเป็นอกุศลกรรม ทำให้อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ซึ่งก็ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก หรือว่ากรรมซึ่งเป็นกุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโทสเจตสิก แต่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นก็น่าเสียดายในแต่ละภพ แต่ละชาติ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาให้เจริญยิ่งขึ้น

    7395 ทำไมผู้ที่จะบรรลุมรรคผลหรือได้ฌาน ต้องเป็นติเหตุกปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    ถาม ทำไมผู้ที่จะบรรลุมรรคผลได้ หรือได้ฌานในชาตินั้น จะต้องมีเหตุกปฏิสนธิ ส่วนผู้ที่เป็นทวิเหตุกบุคคลจะบรรลุมรรคผล หรือได้ฌานในชาตินั้นไม่ได้ ด้วยเหตุอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ โดยมากท่านผู้ฟังพิจารณาบุคคล แต่ไม่รู้ว่าที่จัดจำแนกบุคคลออกเป็นประเภทนั้นๆ เพราะปฏิสนธิจิตต่างกัน ใช่ไหมคะ เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลแล้ว ก็จำแนกออกไปว่า เป็นสัตว์ต่างกับมนุษย์ และเวลาที่เห็นมนุษย์อุปนิสัยต่างๆ กัน บางท่านก็เป็นผู้ที่เฉลียวฉลาด บางท่านก็เป็นผู้ที่ไม่เฉลียวฉลาด เป็นผู้ที่สติปัญญาน้อย เป็นผู้ที่มีความสามารถของการคิดการ พิจารณาน้อย ท่านจัดประเภทเป็นบุคคลต่างๆ แต่ลืมว่า ที่จัดอย่างนั้น เพราะจิตของบุคคลนั้นต้องหยั่งลงไปถึงขณะปฏิสนธิว่า เพราะปฏิสนธิจิตประกอบด้วยปัญญาเจตสิก หรือไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก

    7396 คนที่โกงเก่ง จะเป็นผู้ปฏิสนธิด้วยติเหตุกหรือไม่

    ผู้ฟัง อยากถามว่า คนที่โกงเก่งๆ วางแผนปล้นธนาคารได้สำเร็จ จะพูดได้ไหมว่า เขาปฏิสนธิด้วยติเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนนั้นได้ฟังพระธรรม แล้วก็เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และสามารถที่จะปฏิบัติรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ผู้นั้นปฏิสนธิพร้อมด้วยปัญญา แต่ถ้ายังไม่มีเหตุการณ์อย่างนั้นที่จะพิสูจน์ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

    7397 ทราบได้ไหมว่าปฏิสนธิด้วยอเหตุก

    ถาม สมมติคนที่คลอดออกมาแล้วพิการ เราจะทราบได้หรือไม่ว่าเป็นอเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ทราบไม่ได้ค่ะ เพราะต้องถือตั้งแต่ปฏิสนธิ ว่าจะมีกรรมใดที่จะทำให้เป็นผู้ที่พิการ บ้า ใบ้ บอด หนวก เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาทไงคะ ไม่ว่าจะปฏิสนธิอย่างไร ก็อบรมเจริญได้ จนกว่าจะเจริญขึ้นๆ ในทางกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้นเรื่องของโสภณจิตและอโสภณจิต ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดที่ควรที่จะได้พิจาณาในชีวิตประจำวัน เพราะว่าทุกท่านไม่ได้มีแต่โสภณจิต แต่มีทั้งโสภณจิตและอโสภณจิต ซึ่งควรที่จะได้ทราบว่า ในขณะเป็นโสภณ และในขณะไหนเป็นอโสภณจิต

    7398 ปฏิสนธิจิตที่เป็นโสภณจิตมี ๒ ประเภท คือ ทวิเหตุ กับ ติเหตุ

    สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ ซึ่งไม่บ้า ใบ้ บอด หนวก พิการตั้งแต่กำเนิดแล้วละก็ ปฏิสนธิจิตเป็นโสภณจิต แต่ก็ยังแยกออกเป็น ๒ ประเภท ว่าเป็นทวิเหตุ ประกอบด้วย อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิก ประเภทหนึ่ง แล้วก็เป็นติเหตุกบุคคล ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก หรือปัญญาเจตสิก อีกประเภทหนึ่ง

    ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดว่า ตัวเองเป็นประเภทไหน แต่ว่าอบรมเจริญขึ้นๆ ๆ ๆ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นติเหตุกปฏิสนธิ คือ ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก แต่ก็ยังไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในปัจจุบันชาติได้ ไม่ใช่ว่าผู้ที่เป็นติเหตุกบุคคลแล้ว จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ทุกคนในปัจจุบันชาติ ถึงแม้ว่าจะเป็นติเหตุกปฏิสนธิ ก็ยังต้องแล้วแต่การอบรมเจริญปัญญาอีก ว่าควรแก่การที่จะรู้แจ้ง หรือว่ายังไม่พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ท่านไม่ได้บ้า ใบ้ บอด หนวก มาแต่กำเนิด นอนหลับสนิท ขณะนั้นเป็นโสภณจิต ถูกไหมคะ

    ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก เป็นทวิเหตุกบุคคล หรือปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และปัญญาเจตสิก เป็นติเหตุกบุคคล

    แม้กำลังนอนหลับยังเป็นโสภณ กิเลสไม่เกิด ไม่มีความยินดียินร้าย เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้กระทบสัมผัส ยังไม่ได้คิดนึกเรื่องของสิ่งที่เห็นทางตา ได้ยินทางหู รู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นโสภณ เป็นจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

    ดีใจไหมคะ เป็นโสภณบุคคลในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท แต่ว่าพอตื่นขึ้นจะเสียใจ หรือว่าจะดีใจ ขึ้นอยู่กับอกุศลจิตจะเกิด หรือว่ากุศลจิตจะเกิดในวันหนึ่งๆ

    7399 เพียงเห็นเป็นอโสภณ แต่เห็นแล้วเป็นกุศล หรือ อกุศล

    เพียงเห็นเป็นอโสภณ แต่เห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอกุศล ไม่น่าจะยินดีเลย ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าสะสมสืบต่อไปอยู่เรื่อยๆ และอกุศลนี้รวดเร็วเหลือเกิน ทันทีที่เห็นดับไป ถ้ากุศลจิตไม่เกิดเป็นไปในทาน หรือในศีล หรือในความสงบ หรือในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ทราบได้ทันทีค่ะ ว่าเป็นอกุศลแล้ว รวดเร็ว แล้วก็มาก เพราะเหตุว่าในขณะหนึ่งๆ ซึ่งมีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เพียงจักขุวิญญาณขณะเดียวเกิดดับสืบต่อสลับกับอกุศลอีก ๗ เท่า ๗ เท่าของจักขุวิญญาณซึ่งเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาครั้งหนึ่งๆ ๆ ๆ น่าดีใจหรือเสียใจคะ โสภณบุคคลนอนหลับเป็นโสภณ แต่พอตื่นขึ้นจะเป็นโสภณ หรืออโสภณในวันหนึ่งๆ

    เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่จะไม่ประมาท เมื่อได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดถึงขณะจิตว่า ขณะใดเป็นโสภณ ขณะใดเป็นอโสภณ และอโสภณนั้นเป็นอกุศล หรือว่าเป็นวิบาก

    เพราะฉะนั้นก็คงจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ในการที่จะให้พืชเชื้อของสติปัญญาซึ่งสะสมมาพร้อมกับโสภณเจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกับภวังคจิตในขณะที่นอนหลับ ควรที่จะเป็นพืชเชื้อที่ได้รับการอบรมเจริญจนกระทั่งเติบโตขึ้นเป็นกุศลธรรมที่ยิ่งใหญ่ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นภวังค์ สำหรับผู้ที่ไม่บ้า ใบ้ บอด หนวก เป็นโสภณจิต ซึ่งมีโอกาสที่จะเจริญเติบโตเป็นกุศลที่เจริญขึ้นๆ เรื่อยๆ ได้ ถ้ามีการฟังพระธรรมโดยละเอียด และโดยเข้าใจชัดเจนถูกต้อง เพื่อที่จะให้การประพฤติปฏิบัติไม่ผิด

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องของโสภณจิตและอโสภณจิต

    7400 พระอรหันต์มีอโสภณจิตหรือไม่

    พระอรหันต์มีอโสภณจิตไหมคะ ต้องคิดอีกแล้ว ใช่ไหมคะ ตอบว่า “มี” ถูก พระอรหันต์มีอกุศลจิตไหมคะ ไม่มี พระอรหันต์มีอโสภณจิต แต่พระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิต เพราะเหตุว่าพระอรหันต์มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น ซึ่งเป็นอโสภณจิต เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้นนั้น ไม่มีโสภณเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณเหตุ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    7401 โสภณเจตสิก ๒๕ - อกุศลเจตสิก ๑๔ - อัญญสมาเจตสิก ๑๓

    สำหรับ “เจตสิก” ทั้งหมด มี ๕๒ ประเภท ซึ่งทางธรรมใช้คำว่า ดวง เป็นโสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท ที่เหลือ ๑๓ ประเภท เป็นอัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่เสมอกันกับจิตและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วย คือ เป็นกุศลก็ได้ ถ้าเกิดกับกุศลจิตและเจตสิกที่เป็นเจตสิก เป็นอกุศลก็ได้ ถ้าเกิดกับอกุศลจิตและเจตสิกอื่น เป็นวิบากก็ได้ ถ้าเกิดกับวิบากจิตและวิบากเจตสิกอื่น เป็นกิริยาก็ได้ เวลาเกิดกับกิริยาจิตและกิริยาเจตสิกอื่น

    7402 เวทนาเจตสิกดีหรือไม่ ในภาษาไทย

    “เวทนาเจตสิก” ดีไหมคะ ทีนี้ภาษาไทยนะคะ ถ้าจะไม่ใช้คำว่า โสภณ อโสภณ ลองใช้ภาษาไทยดู ความหมายจะเหมือนกับที่เข้าใจว่า โสภณ หรืออโสภณไหม

    เวทนาเจตสิก ดีไหมคะ มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งตอบว่า ถ้าเป็นสุขเวทนาก็ดี “สุขเวทนา” โดยนัยของเวทนา ๕ หมายความถึง เวทนาเจตสิกที่เกิดเฉพาะกับกายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก ในขณะที่กระทบกับอารมณ์ที่น่าสบายทางกาย ขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เพราะฉะนั้นถ้าเปลี่ยนเป็นภาษาบาลี สุขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณ กุศลวิบากเป็นโสภณหรืออโสภณ เป็นอโสภณ ไม่ดีแล้ว ใช่ไหมคะ

    นี่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ดีต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับโสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก

    7403 รูปที่กำลังกระทบสัมผัสแล้วสบายๆ ตอนนี้ ดีหรือไม่ดี

    “รูป” ที่ทุกท่านกำลังกระทบสัมผัสสบายๆ ตอนนี้นะคะ ดีหรือไม่ดีคะ ไม่ตอบภาษาไทยแล้วใช่ไหมคะ เพราะตอบภาษาไทยแล้ว ไม่ชัดเจน

    นี่เป็นเหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้ภาษาบาลี เพราะมีความหมายที่กำชับถูกต้องในอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรม

    “รูป” นี้ถึงแม้จะน่ายินดี น่าพอใจ ดูสีสันวรรณะที่ปรากฏผ่องใส สวยงาม แต่ว่าไม่ใช่โสภณ ไม่ประกอบด้วยเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรือสภาพธรรมใดๆ ที่เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เพราะเหตุว่า “รูป” ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปเป็นอัพยากตะ สำหรับสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ได้แก่ จิตและเจตสิกเท่านั้นที่จะเป็นโสภณหรืออโสภณได้ แต่ว่าสภาพธรรม เช่น รูปทั้งหมด แม้ว่าจะสวยงามก็ไม่ใช่โสภณ แต่ว่ารูปเป็นที่รองรับของความรู้สึกยินดีหรือพอใจได้ เพราะเหตุว่าความยินดีหรือพอใจอยู่ที่ไหนในวันหนึ่งๆ

    ความยินดีความพอใจของท่านอยู่ที่ไหนในวันหนึ่งๆ พ้นจากรูปไหมคะ ยินดีที่จะได้เห็นสิ่งที่ต้องการ ยินดีที่จะได้ฟังเสียงที่น่าพอใจ ยินดีที่จะได้กลิ่นที่น่าพอใจ ยินดีที่จะลิ้มรสที่น่าพอใจ ยินดีที่จะได้กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าสบายทางกายตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย พ้นไหมคะ จากความต้องการ ความรู้สึกที่มีต่อรูปทั้งหลาย โดยที่รูปนั้นเองเป็นอัพยากต รูปไม่รู้อะไรเลย แต่รูปนั้นเองเป็นที่รองรับความยินดี ความพอใจ หรือเวทนาต่างๆ

    เพราะเหตุว่าทำไมต้องการเห็นรูป ทำไมต้องการได้ยินเสียง ทำไมต้องการกลิ่นหอมๆ ทำไมต้องการรสอร่อย ทำไมต้องการได้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่น่าพอใจ เพื่อความรู้สึกที่เป็นสุข จะได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้เพียงนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ทำให้รู้สึกเป็นสุขได้ ใช่ไหมคะ ในวันหนึ่งๆ เป็นสุขกับการคิดนึกถึงรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้างหรือเปล่า

    7404 อุปมาเปรียบเทียบขันธ์ ๕

    เพราะฉะนั้นขันธ์ทั้ง ๕ จึงได้อุปมาเปรียบเทียบว่า

    รูปขันธ์เหมือนกับภาชนะที่รองรับความรู้สึกที่ยินดี เวทนาขันธ์อุปมาเหมือนกับอาหารที่อยู่ในภาชนะนั้น สัญญาขันธ์อุปมาเหมือนกับกับข้าวชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นผู้ปรุงให้เกิดความยินดีขึ้น

    เพราะคงจะไม่มีความพอใจที่จะกินข้าว โดยที่ไม่มีกับ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีสัญญาที่เพิ่มเติมรสของความรู้สึกนั้นขึ้นอีก ที่จะให้ยินดีอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง

    สังขารขันธ์เปรียบเหมือนพ่อครัวนักปรุง

    อาหารนี้ถ้าไม่มีพ่อครัว แม่ครัวที่มีฝีมือ จะเป็นอย่างไร มีผัก มีเนื้อ แต่ไม่มีพ่อครัว แม่ครัวที่มีฝีมือ รสชาดของอาหารนั้นจะเป็นอย่างไรคะ รับประทานได้ รับประทานลง อร่อยไหม ก็ไม่เหมือนกับพ่อครัวที่มีฝีมือ เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ปรุงรสต่างๆ ขึ้นเป็นสัญญา กับข้าวต่างๆ พร้อมทั้งรสของอาหารซึ่งมีรูปเป็นเครื่องรองรับอยู่

    วิญญาณขันธ์ คือ ผู้เสวย หรือผู้รับประทาน ผู้บริโภครสนั้นๆ เพราะเหตุว่าจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์

    7405 นามขันธ์ ๔ เกิดด้วยกัน ไม่ขาดจากกันแม้แต่ขณะเดียว

    ซึ่งนามขันธ์ทั้ง ๔ เกิดร่วมกัน ไม่เคยแยกขาดจากกันได้เลยสักนามขันธ์เดียว จะมีนามขันธ์หนึ่ง ขาดนามขันธ์ ๓ ไม่ได้ จะมีเพียงนามขันธ์ ๒ ขาดนามขันธ์ ๒ ไม่ได้ จะมีเพียงนามขันธ์ ๓ ขาดไปแม้เพียงนามขันธ์หนึ่งไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ