จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
ถึงแม้จะไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ก็เป็นอารมณ์แห่งจิตตุปาท เป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้นโดยอาการ คือ เงาของอรรถถูกกำหนดหมายโดยอาการนั้นๆ เพราะเทียบเคียง คือ เปรียบเทียบ ได้แก่ทำอาการมีสัณฐานเป็นต้นนั้นให้เป็นเหตุกล่าวกัน เข้าใจกัน เรียกร้องกัน ให้รู้ความหมายกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกกันว่า “บัญญัติ”
อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า ไม้ก็เป็นไม้ แต่ก็เรียกเป็นโต๊ะ เรียกเป็นเก้าอี้ หรือธาตุดิน ที่เพียงอ่อนหรือแข็ง แต่โดยสัณฐาน ก็เป็นจานบ้าง เป็นถ้วยบ้าง เป็นข้อนบ้าง เป็นส้อมบ้าง แม้ว่าคำบัญญัติเรียก “ช้อน” เรียก “จาน” เรียก “ถ้วย” ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ใช่ไหมคะ ถ้วย จาน ช้อน ส้อม ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่ใช่มีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์แท้ๆ ต่างหากจากธาตุดิน แต่ก็เป็นเงาของอรรถ คือให้รู้ความหมายของสิ่งที่ต้องการให้เข้าใจในขณะนั้น โดยเทียบเคียง หรือเปรียบเทียบ ได้แก่ทำอาการ มีสัณฐานเป็นต้น ให้เป็นเหตุกล่าวกัน เข้าใจกัน เรียกร้องกัน ให้รู้ความหมายกัน
ธาตุดินมี แต่ถ้วย จาน ชามทั้งหมดเป็นบัญญัติ เพื่อให้รู้ในอรรถของสัณฐาน ซึ่งเหมือนเงาของปรมัตถ์ เพราะเหตุว่าเป็นสัณฐานที่ทำให้สามารถรู้ว่าหมายถึงสิ่งใด
7494 พระอรหันต์ไม่มีตัวตนใช่หรือไม่
ถาม พระอรหันต์ไม่มีตัวตน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ นามธรรมและรูปธรรมมี แต่ไม่มีการหลงผิดยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน
ผู้ถาม หมดบัญญัติสมมติหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ชื่อทั้งหมดเป็นคำที่บัญญัติ เพื่อที่จะให้เข้าใจในอรรถของสิ่งที่มี หรือสิ่งที่ไม่มี
ผู้ถาม แล้วชื่อนี้ไม่มีเกิด ไม่มีดับ
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์มีจริงไหมคะ
ผู้ถาม จริงครับ
ท่านอาจารย์ มีจริงนะคะ เพราะฉะนั้นบัญญัติคำพระอรหันต์เพื่อให้เข้าใจในสภาพที่มีจริง เพราะฉะนั้นบัญญัตินี้มีทั้งคำที่หมายถึงสิ่งที่มีจริง หรือสิ่งที่ไม่มีจริง
7495 นามบัญญัติ ๖ -- วิชชมานบัญญัติ
ซึ่งสำหรับ “นามบัญญัติ” ถ้าท่านผู้ฟังสนใจก็จะขอกล่าวถึงว่า “นามบัญญัติ” มี ๖ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งบัญญัติสิ่งที่มีอยู่ ชื่อว่า “วิชชมานบัญญัติ” เรื่องคำก็เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ จำว่า
บัญญัติที่หมายถึงสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีอยู่ ชื่อว่า เป็น “วิชชมานบัญญัติ” แต่บัญญัติคือคำที่ใช้หมายถึงสิ่งที่ไม่มี เป็น “อวิชชมานบัญญัติ”
เพราะฉะนั้นก็มีบัญญัติ คือ คำหรือชื่อที่ใช้หมายถึงสิ่งที่มี อย่างหนึ่ง และบัญญัติ คือ คำหรือชื่อที่หมายถึงสิ่งที่ไม่มี อีกอย่างหนึ่ง และยังมีบัญญัติ คือ คำหรือชื่อ ซึ่งรวมกัน หมายถึงสิ่งที่มีและสิ่งที่ไม่มี ประกอบกัน รวมกัน จึงเป็นบัญญัติ หรือนามบัญญัติ ๖ อย่าง ซึ่งได้แก่
๑. “วิชชมานบัญญัติ” เช่น คำว่า รูป นาม หรือเวทนา หรือสัญญา หรือเจตนา พวกนี้เป็น วิชชมานบัญญัติ เพราะเป็นคำที่หมายถึงสภาพธรรมที่มีอยู่ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง
เพราะฉะนั้นที่ถามว่าพระอรหันต์มีไหม ใช่ไหมคะ เป็นบัญญัติ เป็นคำที่หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง
7496 นามบัญญัติ ๖ -- อวิชชมานบัญญัติ
๒. “อวิชชมานบัญญัติ” เป็นบัญญัติที่หมายถึงสภาพธรรมที่ไม่มี เช่น พระราชา หรือไทย ฝรั่ง เป็นต้น เหล่านี้
มีไหมคะ พระราชา มีหรือไม่มี มีนามธรรม มีรูปธรรม มีจิต มีเจตสิก มีรูป มีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ มีสัญญาขันธ์ มีสังขารขันธ์ มีวิญญาณขันธ์ แต่ว่าพระราชาเป็นสมมติ ไม่ใช่เป็นสภาวะปรมัตถธรรม สภาวะปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป
อกุศลจิตเป็นพระราชาหรือเปล่าคะ
อกุศลจิตเป็นปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่พระราชาไม่มีจริง อกุศลจิต มี กุศลจิต มี แต่พระราชา ไม่มี
เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงพระราชา เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นการบัญญัติ คือ ชื่อ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ เป็น “อวิชชมานบัญญัติ”
7497 นามบัญญัติ ๖ -- วิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ
๓. “วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ” บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มีรวมกัน เช่นพูดว่า บุคคลชื่อว่า ชลภิญญะ เพราะอรรถว่า มีอภิญญา ๖ อภิญญา มี แต่บุคคล ไม่มี
เพราะฉะนั้นก็เป็นบัญญัติที่รวมสิ่งที่มีและสิ่งที่ไม่มี
7498 นามบัญญัติ ๖ -- อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ
๔. “อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ” บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงของผู้หญิง เสียงมีจริง แต่ผู้หญิงไม่มี ถูกไหมคะ
7499 นามบัญญัติ ๖ -- วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ
๕. “วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ” บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่มี เช่นคำว่า จักขุวิญญาณ “จักขุ" มีจริง เป็นจักขุปสาท “วิญญาณ” มีจริง เป็นสภาพรู้
เพราะฉะนั้นสำหรับ “จักขุวิญญาณ” เป็นคำบัญญัติประเภทวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ คือ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่มี
7500 นามบัญญัติ ๖ -- อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ
๖. “อวิชชมาเนน อวิชชามานบัญญัติ” บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่ไม่มี เช่น พระโอรสของพระราชา พระโอรส ก็ไม่มี พระราชาก็ไม่มี
สัมมติสัจจะมีทั้งนั้น ใช่ไหมคะ พระโอรสก็มี พระราชาก็มี แต่โดยสภาพตามความเป็นจริงแล้ว ก็คือ จิต เจตสิก รูป
7501 ไม่เลือกว่าจะฟังธรรมโดยย่อ โดยปานกลาง หรือโดยละเอียด
เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรมมากเหลือเกินที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยประการต่างๆ ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาได้ว่า แม้ว่าอัธยาศัยของท่านอาจจะชอบย่อ เพราะเห็นว่าละเอียดนัก ก็อาจจะยุ่งยากเกินไปสำหรับท่าน แต่ว่าประโยชน์ของการฟัง คือ เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น และสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่เกิดดับ ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะดับกิเลสได้
เพราะฉะนั้นไม่เลือกใช่ไหมคะ จะโดยย่อ จะโดยปานกลาง หรือจะโดยละเอียด ขอเพียงให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องตามความเป็นจริง
7502 พระอรหันต์มีทุกขเวทนาหรือไม่ ถ้ามีจะต่างจากคนธรรมดาอย่างไร
ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยไหมคะ
ถาม ขอเรียนถามสักอย่าง ทุกขเวทนาของพระอรหันต์มีหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ มีค่ะ
ผู้ถาม มีแล้ว ต่างกับคนธรรมดาอย่างไร
ท่านอาจารย์ “ทุกขเวทนา” หมายถึงความรู้สึกไม่สบายกาย โดยนัยของเวทนา ๕ ซึ่งแยกโดยอินทรีย์ ๕ คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑
พระอรหันต์มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน จะต้องมีจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าวิบากจิตย่อมเกิดเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แต่เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
สำหรับปุถุชนส่วนใหญ่เป็นอกุศล สำหรับพระอริยบุคคลที่เป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล ยังมีอกุศลจิตแต่น้อยประเภทลง สำหรับพระอรหันต์ดับกิเลสหมด
เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการกระทบกับโผฏฐัพพะทางกาย คือ สภาพที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ทางกาย ผู้ที่มีอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย ย่อมทำให้กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจแม้ทางกาย โผฏฐัพพะที่กระทบก็จะเป็นแข็งเกินไปบ้าง ร้อนจัดบ้าง ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจิตที่เป็นกายวิญญาณจะเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา เวลาที่กายปสาทกระทบกับรูปที่ร้อนจัด ไม่มีใครที่จะทำให้สุขเวทนาเกิดได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นสำหรับพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านยังมีกายวิญญาณ ซึ่งเป็นอกุศลวิบาก ซึ่งเกิดร่วมกับทุกขเวทนา แต่เมื่อกายวิญญาณอกุศลวิบากซึ่งเกิดร่วมกับทุกขเวทนาดับไปแล้ว อกุศลไม่เกิดเลย ในขณะที่ปุถุชนเดือดร้อน พระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็ยังมีโทมนัส คือ ความขุ่นเคืองใจ ความเดือดร้อนใจ ความรำคาญใจ ความเป็นห่วง ความกังวล เวลาที่มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือว่าได้กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจต่างๆ ทางกาย แต่สำหรับพระอรหันต์ หลังจากที่วิบากจิตดับไปแล้ว กุศลจิตก็ไม่เกิด อกุศลจิตก็ไม่เกิด จิตที่เกิดมีแต่เพียงกิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิตข้างหน้า และกิริยาจิตนั้นก็ไม่ใช่วิบากจิต
เพราะฉะนั้นโดยชาติ พระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติ คือ มีวิบากจิตและกิริยาจิต แต่ว่าสำหรับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พระอรหันต์ก็มีอดีตอกุศลกรรมเป็นปัจจัยทำให้จักขุวิญญาณอกุศลวิบากเกิด โสตวิญญาณอกุศลวิบากเกิด ฆานวิญญาณอกุศลวิบากเกิด ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบากจิต กายวิญญาณอกุศลวิบากเกิด
7503 ความหมายของคำว่า โลก
ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหมคะ ถ้าไม่มีจะได้ต่อเรื่องของการจำแนกจิต โดยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้ต่างกันโดยประเภท เป็นโลกียจิตและโลกุตตรจิต
แต่ก่อนอื่นควรจะได้เข้าใจความหมายของคำว่า “โลก” ซึ่งไม่ทราบว่า ท่านผู้ฟังเคยเข้าใจความหมายของโลก ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่า
ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่ ๔ ข้อ ๑๐๑ ปโลกสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกกันว่า “โลก โลก” ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอจึงเรียกกันว่า โลก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลาย เป็นธรรมดา ฯลฯ
เป็นธรรมดาของใครคะ ของพระอริยเจ้า แต่ยังไม่ใช่ธรรมดาของผู้ที่ไม่ได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ต้องประจักษ์ความเกิดดับจริงๆ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่เว้นค่ะ อย่างทางตา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูป (สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา) มีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุวิญญาณ (คือสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้) มีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลาย เป็นธรรมดา ตลอดไปจนกระทั่งถึงทางกาย ทางใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ สิ่งใดความแตกสลาย เป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ฯ
เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็ทราบความหมาย คือ คำจำกัดความ คำนิยามของโลกได้แล้วนะคะว่า ทุกสิ่งที่เกิดดับเป็นโลก
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมซึ่งไม่เกิดดับเท่านั้นที่ไม่ใช่โลก เหนือโลก พ้นจากโลก เป็น “โลกุตระ"คือ “นิพพาน”
แต่เมื่อจำแนกจิตโดยประเภท จิตใดที่ไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน คือ ไม่รู้แจ้งนิพพาน ไม่ดับกิเลส จิตนั้นเป็น “โลกียะ” แต่ว่าจิตใดก็ตามซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยประจักษ์แจ้งและดับกิเลส จิตนั้นเป็น “โลกุตระ”
7505 ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล ต้องอบรมโลกียปัญญา
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล ต้องอบรมเจริญโลกียปัญญา ซึ่งรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โลกียปัญญาที่นี่ไม่ใช่ความคิดที่ว่า ปัญญาอย่างโลกๆ คือ ปัญญารู้วิธีสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ต่างๆ ไม่ใช่โลกียปัญญาในพระพุทธศาสนา แต่ “โลกียปัญญา” คือ ปัญญาที่จะรู้ลักษณะของโลก ของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เกิดดับ ซึ่งไม่ใช่นิพพาน
ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่นิพพาน เป็น “โลกียปัญญา” และจิตนั้นๆ ก็เป็นโลกียจิต
7506 โลกุตตรกุศลเป็นกุศลประเภทเดียวที่ไม่ต้องคอยกาลที่จะให้ผล
แต่กุศลประเภทเดียวซึ่งไม่คอยกาลที่จะให้ผลเลย คือ โลกุตรกุศล ทันทีที่โลกุตรกุศลจิตดับ โลกุตรวิบากจิตเกิดสืบต่อทันที ให้ผลโดยที่ไม่มีกาลระหว่างคั่นเลย ไม่ต้องทำปฏิสนธิกิจด้วยนะคะ สำหรับโลกุตรวิบาก
เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลส โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อ มีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว ในขณะที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อเป็นผลจิต นี่เป็นคู่ที่ ๑
ซึ่งใช้คำว่า พระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล ก็ได้แก่ พระโสดาบันบุคคล ซึ่งโสตาปัตติมรรคจิตเกิดแล้วดับไป โสตาปัตติผลจิตเกิดสืบต่อ นี่ก็เป็น ๑ คู่ ๒ บุคคล
และเมื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป สกทาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ชั่วขณะจิตเดียวที่ดับกิเลส ตามขั้นของพระสกทาคามีบุคคล ดับไปแล้ว สกทาคามิผลจิต ซึ่งเป็นโลกุตรวิบากจิตเกิดสืบต่อ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน มีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสขั้นของสกทาคามีบุคคล
เมื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป โลกุตตรจิตซึ่งเป็นอนาคามิมรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสตามขั้นของอนาคามีบุคคล เมื่ออนาคามิมรรคจิตดับไป อนาคามิผลจิตก็เกิดต่อ
และเมื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป ก็จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ โดยที่อรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสที่เหลือทั้งหมด เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เมื่ออรหัตตมรรคจิตดับไปแล้ว อรหัตตผลจิตก็เกิดต่อมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสทั้งหมดแล้ว เป็นพระอรหันตบุคคล
รวมเป็นพระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล
แล้วเฉพาะจิต ๘ ดวงนี้ จำแนกเป็นโลกุตตรจิต เพราะเป็นจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ และดับกิเลส
7507 โลกุตตรจิต ๘ ดวง
แต่จิตใดซึ่งรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน ซึ่งไม่เกิดดับ ไม่ใช่โลก จิตนั้นจึงจะเป็น “โลกุตตรจิต” ซึ่งมีทั้งหมด ๘ ดวง คือ โสตาปัตติมรรคจิต เกิดขึ้นทำกิจดับกิเลส เมื่อดับไปแล้ว โสตาปัตติผลจิต เกิดขึ้นสืบต่อทันที โสตาปัตติมรรคจิต เป็นกุศลจิต เป็นโลกุตรกุศลจิต เพราะฉะนั้นต้องมีวิบาก ซึ่งเป็นโสตาปัตติผลจิตเกิดขึ้น เป็นผลของโลกุตรกุศล ทันที สืบต่อกัน โดยที่ไม่มีธรรมอื่นคั่นได้เลย
เพราะฉะนั้นการให้ผลของโลกุตรกุศลให้ผลทันที ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า
7508 โลกิยกุศลและอกุศลอื่นๆ ยังต้องคอยกาลที่จะให้ผล
เพราะเหตุว่ากุศลและอกุศลอื่นๆ ยังต้องรอภพชาติ เช่น ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาและฌานจิตเกิด ยังไม่สามารถเป็นพรหมบุคคลในขณะที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ แต่เวลาที่ฌานจิตไม่เสื่อม เกิดก่อนจุติจิต เมื่อจุติจิตดับ ทำให้ปฏิสนธิจิตที่เป็นรูปาวจรจิต ถ้าเป็นผลของรูปฌานกุศล หรือว่าอรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของอรูปาวจรกุศลเกิดขึ้นในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคล นั่นยังต้องคอยกาลเวลาที่จะให้ผล
7509 ทำไมไม่เรียกโลกุตตรจิตซึ่งเกิดดับ ว่า โลก
ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรไหมคะในเรื่องนี้
ถาม ทำไมโลกุตตรจิตทั้ง ๘ จึงเกิดดับ ทำไมไม่เรียกว่า “โลก” ทำไมเรียก “โลกุตตรจิต” ล่ะครับ
ท่านอาจารย์ เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ และดับกิเลส
ผู้ถาม ก็การเกิดดับของจิต ไม่มีความหมายหรือครับ
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวโดยลักษณะของจิต เป็นสังขารธรรมโดยนัยต่างๆ แต่ถ้าจำแนกโดยโลกียะ โลกุตระ แล้วจิตนั้นชื่อว่า โลกุตตรจิต แต่จิตนั้นไม่ใช่นิพพาน ต้องเข้าใจความหมายด้วยค่ะ
จิตไม่ใช่นิพพาน ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะมีการต่างกันอะไรระหว่างจิตที่รู้แจ้งนิพพาน กับจิตที่ไม่รู้แจ้งนิพพาน ก็ต้องมีคำหรือมีชื่อ ซึ่งจะบัญญัติจิตที่รู้แจ้งนิพพานว่า ไม่ใช่โลกียจิต ไม่ใช่จิตที่เพียงประจักษ์ลักษณะเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม โดยที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน เพราะเหตุว่าขณะใดเมื่อใดที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน เพราะนิพพานเป็นโลกุตรธรรม เพราะฉะนั้นจิตที่ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน โดยประเภทที่จำแนกให้ต่างกับจิตอื่นๆ จึงเป็นโลกุตตรจิต
มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีคำที่จะแสดงความต่างกันของจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ กับจิตซึ่งไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์
7510 ชื่อว่าโลกิยธรรม - ชื่อว่าโลกุตตรธรรม
โดยนัยของการจำแนกจิต โดยประเภทที่เป็นโลกะและโลกุตระ ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา สังคิณีปกรณ์ ข้อความใน จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย จุฬันตรทุกะ มีข้อความว่า
ชื่อว่า “โลกียธรรม” เพราะประกอบในโลก โดยเหตุที่นับเนื่องอยู่ในโลกนั้น
ชื่อว่า “อุตตรธรรม” คือ ธรรมอันยิ่งเพราะธรรมอันยิ่ง เพราะข้ามขึ้นจากโลกนั้น
ชื่อว่า “โลกุตรธรรม” เพราะข้ามขึ้นจากโลก โดยเหตุที่ไม่นับเนื่องอยู่ในโลก
ก็คงจะเป็นที่เข้าใจความหมายของโลกียจิตกับโลกุตตรจิต เพราะจิตทั้งหลายเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ที่จำแนกเป็นโลกียจิตและโลกุตตรจิต ก็เพราะโลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ และดับกิเลส และชื่อว่า “โลกุตรธรรม” เพราะข้ามขึ้นจากโลก เป็นเหตุที่ไม่นับเนื่องอยู่ในโลก
7511 คำว่า โลก
มีข้อสงสัยบ้างไหมคะในเรื่องของโลก
และสำหรับคำว่า “โลก” ในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๕๐๕ ก็มีข้อความเช่นเดียวกับในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่ ๔ ปโลกสูตร แต่ข้อความในตอนต้นมีว่า
คำว่า “โลก” ในอุเทศว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ ดังนี้ คือ นิรยโลก ติรจฺฉานโลก ปิตฺติวิสยโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก คือ ธาตุ อายตนโลก โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลก พร้อมทั้งเทวโลก
7512 สูญญสูตร - ที่เรียกว่าโลกว่างเปล่าด้วยเหตุเพียงเท่าไร
ข้อความต่อไป ในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ภาค ๒ โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส ก็มีข้อความตรงกับสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สุญญสูตร ข้อ ๑๐๒ ซึ่งมีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า โลกว่างเปล่า โลกว่างเปล่า ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า
เรียกได้ไหมคะ โลกว่างเปล่า ว่างจริงหรือเปล่าคะนี่ กำลังว่างๆ อยู่หรือเปล่าคะ ที่ชอบคำว่า “ว่าง” แล้วก็บอกว่า “ว่าง” ก็ควรที่จะได้เข้าใจความหมายว่า ที่ว่า “โลกว่าง หรือว่า โลกว่างเปล่า” นั้น พระผู้มีพระภาคทรงหมายว่าอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ เพราะว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฉะนั้น จึงเรียกว่า “โลกว่างเปล่า”
ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอะไรเลยนะคะ มี แต่ว่าสิ่งที่มีนั้น เพราะว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฉะนั้นจึงเรียกว่า โลกว่างเปล่า
7513 อะไรเล่า ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน
อะไรเล่าว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน
ตอบได้ใช่ไหมคะ ตอนนี้เหมือนเมื่อกี้ค่ะ เหมือนในปโลกสูตร
จักขุแลว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน รูปว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน จักขุวิญญาณว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน จักขุสัมผัสว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ฯลฯ ทางใจ คือ ใจว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน ธรรมารมณ์ว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน มโนวิญญาณว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน มโนสัมผัสว่างเปล่าจากตน หรือจากของๆ ตน
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050