จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049


    ข้อความต่อไปแสดงถึงความลึก เหนียวแน่นของความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป

    คิดว่าชาตินี้ละได้ แต่ไม่ได้ค่ะถ้าโสตาปัตติมรรคจิตไม่เกิด สกทาคามิมรรคจิตไม่เกิด อนาคามิมรรคจิตไม่เกิด อรหัตตมรรคจิตไม่เกิด ไม่มีหนทางอื่นที่จะละกามราคะได้

    7749 โลภะ มีการไม่ละไปเป็นอาการปรากฏ จาก คังคมาลชาดก

    ซึ่งจะขอกล่าวถึงลักษณะของโลภะ ซึ่งเป็นอาการปรากฏ คือ อปริจาค ปจฺจุปัฏฺฐาโน มีการไม่ละไป เป็นอาการปรากฏ ดุจการติดสีที่หยอดน้ำมัน

    ขอกล่าวถึงชาดกเรื่องหนึ่ง ที่จะแสดงให้เห็นว่า การไม่บริจาคเป็นอย่างไร เวลาที่โลภะเกิดขึ้นแล้ว มีการไม่บริจาค เป็นอาการปรากฏ

    ในครั้งนั้นท่านพระอานนท์เป็นคนรับจ้างตักน้ำ สมบัติที่มีอยู่ก็เพียงเงินครึ่งมาสก ซึ่งซ่อนไว้ใต้แผ่นอิฐที่กำแพงประตูเมืองด้านหนึ่ง เวลามีงานมหรสพในเมือง ภรรยาของท่านก็ขยั้นขยอให้ไปเที่ยว และถามว่า มีเงินพอที่จะไปเที่ยวงานมหรสพนั้นหรือเปล่า ซึ่งท่านก็ตอบว่า มีอยู่เพียงครึ่งมาสก และซ่อนไว้ไกลถึง ๑๒ โยชน์ ภรรยาก็บอกให้ไปเอา แม้ตัวภรรยาเองก็เก็บเงินไว้ได้ครึ่งมาสกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อรวมกัน ๒ คน ก็ได้ ๑ มาสก ซึ่งก็พอที่จะซื้อมาลัยของหอม หรือสุราเครื่องดื่มได้ ท่านพระอานนท์ในครั้งนั้นซึ่งเป็นคนรับจ้างตักน้ำ ก็ได้เดินตากแดดไปเพื่อที่จะไปเอาเงินที่ซ่อนไว้ที่แผ่นอิฐใต้กำแพง ในขณะนั้นก็คิดถึงเรื่องที่จะไปเที่ยวให้สนุก ก็ร้องเพลงไปด้วย เวลาที่ผ่านลานพระราชวัง พระเจ้าอุทัย พระเจ้ากรุงพาราณสีเห็นคนรับจ้างตักน้ำคนนี้ร้องเพลง เดินฝ่าแดด เดินตากแดดไป ก็สงสัยว่า อะไรที่ทำให้เขามีความสุข

    เพราะฉะนั้นก็ตรัสถามถึงเหตุที่ทำให้เขารู้สึกเป็นสุข ทั้งๆ ที่แดดก็ร้อนออกอย่างนั้น ซึ่งเขาก็ตอบว่า เขาไม่รู้สึกถึงความร้อนของแดดเลย เพราะว่าเขากำลังทำสิ่งที่เขาปรารถนาอย่างเหลือเกิน คือ ต้องการที่จะไปเอาเงิน สำหรับจะไปเที่ยวงานมหรสพ

    พระราชาก็ตรัสถามเขาว่า เขามีเงินอยู่เท่าไร มีประมาณถึงแสนหรือที่จะไปเอา

    ตอนนั้นยังไม่ทรงทราบว่า มีอยู่เพียงครึ่งมาสก แต่เมื่อทรงทราบว่า เขามีเงินเพียงครึ่งมาสกเท่านั้น ก็ตรัสว่า ไม่ต้องเดินตากแดดไปเอาไกลถึง ๑๒ โยชน์ พระองค์จะประทานเงินครึ่งมาสกนั้นให้ ซึ่งเขาก็ตอบว่า เขารู้สึกดีใจมากที่จะได้เงิน ๑ มาสก เพราะเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินจะประทานให้ครึ่งมาสก รวมทั้งของเขาเองอีกครึ่งมาสก เพราะฉะนั้นเขาก็ดีใจที่เขาจะได้เงิน ๑ มาสก

    ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเห็นว่า ทำอย่างไรเขาก็ไม่ละ คือ ไม่บริจาค ไม่สละเงินครึ่งมาสกของตน เพราะฉะนั้นก็เพิ่มขึ้นให้อีกเป็น ๒ มาสก ๓ มาสก ๔ มาสก ๕ มาสก มากขึ้นไป เขาก็ไม่ยอม ถึงได้จากพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็จะต้องไปเอาเงินครึ่งมาสก ซึ่งฝังไว้ใต้แผ่นอิฐที่กำแพงเมือง จนกระทั่งพระเจ้าอุทัยจะประทานตำแหน่งเศรษฐีให้ เขาก็ไม่ยอมสละเงินครึ่งมาสกซึ่งฝังไว้ ในที่สุดพระเจ้าอุทัยก็ได้ตรัสว่า จะพระราชทานพระราชสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แล้วพระราชาก็ได้ประทานพระราชสมบัติให้เขาครึ่งหนึ่ง ด้วยเหตุนั้นเขาจึงได้นามว่า พระเจ้าอัฑฒมาสก หมายความถึงพระเจ้าครึ่งมาสก “อัฑฒ” แปลว่า ครึ่ง

    ข้อความนี้มาใน คังคมาลชาดก อัฏฐกนิบาต นี่คือ ท่านพระอานนท์

    ลักษณะของโลภะ อปริจาคํ ปจฺจุปฏฺฐาโน มีการไม่สละ

    ถาม โลภะยิ่งมากยิ่งดี เพราะว่าโลภะนิดเดียว ก็ได้เพียงมาสก ๒ มาสก ก็พอแล้ว แต่ทีนี้ โลภะของท่านพระอานนท์ สมัยนั้นน่ะมีมาก เพราะว่าโลภะมากจึงได้ตำแหน่งพระราชา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกท่านจะเห็นได้ว่า เวลาที่โลภะเกิดขึ้นขณะใด ไม่บริจาค สละไม่ได้ ท่านผู้ฟังลองกลับไปบ้าน ดูเสื้อผ้าก็ได้ค่ะ ของใช้ต่างๆ ก็ได้ บางอย่างไม่ได้ใช้ ไม่ได้ใส่ สละหรือเปล่า ทั้งๆ ที่อาจจะเก็บไว้เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายๆ ปี เวลาที่โลภะเกิดขึ้น อาการที่ปรากฏ คือ ไม่สละ เพราะฉะนั้นเพียงครึ่งมาสกเท่านั้นเอง ยังไม่ยอมที่จะทิ้งไป ถึงแม้ว่าจะมีเงินถึง ๔ – ๕ มาสก ๘ พัน ๘ หมื่น เท่าไรก็ตาม แต่ก็ยังจะต้องกลับไปเอาครึ่งมาสกซึ่งฝังไว้ที่ใต้แผ่นอิฐ

    7750 เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัส แล้วคล้อยตามอารมณ์

    ผู้ถาม แล้วอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมสงสัยที่ฟังมาเมื่อกี้นี้ โลภะ คือ ความยินดี พอใจ นี้เป็นลักษณะของโลภะ อันนี้ชัด ไม่สงสัย แต่ที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัส แล้วก็คล้อยตามอารมณ์ คือ ขณะที่คล้อยตามอารมณ์ ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ที่ว่าคล้อยตามอารมณ์ ขอให้อาจารย์ขยายความอีกหน่อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเดินไปตามถนน เห็นอะไรบ้าง เห็นอะไรก็นึกถึงสิ่งที่เห็น “คล้อยตามอารมณ์” ที่ปรากฏหรือเปล่าคะ

    ผู้ถาม ก็หมายความว่า ขณะที่เห็นดอกไม้ แล้วรู้ว่าเป็นดอกไม้

    ท่านอาจารย์ คิดถึงดอกไม้ เห็นคนไหนก็คิดถึงคนนั้น เห็นอะไร ก็นึกถึงเรื่องของสิ่งนั้น

    7751 สังโยชน์ -- ปฐมสังโยชนสูตร

    สำหรับปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดของโลภะ ซึ่งมีความเห็นความสำราญ หรือความน่าพอใจในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ข้อความในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฐมสังโยชนสูตร ข้อ ๒๐๐ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกข โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประทีปน้ำมันพึงติด เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ บุรุษพึงเติมน้ำมันและใส่ไส้ในประทีปน้ำมันทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ประทีปน้ำมันนั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงลุกโพลงตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    7752 อุปมาผู้ที่เห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาผู้ที่เห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย มีข้อความว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประทีปน้ำมันพึงติด เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ บุรุษไม่พึงเติมน้ำมัน ไม่ใส่ไส้ในประทีปน้ำมันนั้นทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ประทีปน้ำมันนั้นไม่มีอาหาร พึงดับไป เพราะสิ้นเชื้อเก่า และเพราะไม่เติมเชื้อใหม่ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์อยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    จบสูตรที่ ๓

    ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่โลภะเกิด ขณะนั้นก็เหมือนกับการเติมน้ำมันลงในประทีปน้ำมันทุกระยะ

    7753 อารมณ์ต่างๆ กระทบไม่ว่างเว้น เป็นปัจจัยให้โลภะเกิด

    อารมณ์ต่างๆ ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่างเว้นเลย ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต มีการตื่นขึ้นก็จะต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการกระทบสัมผัส มีการคิดนึก สังเกตได้ไหมว่า มีการเห็นความสำราญ หรือความน่าพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดโลภะ ความยินดี พอใจ ติดข้องในสิ่งนั้น ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ก็คงไม่อยากได้ ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน แต่สิ่งใดก็ตาม ซึ่งรู้สึกน่าดู น่าพอใจขณะใด ขณะนั้นเป็นเหตุให้เกิดโลภมูลจิต ไม่ว่าจะเห็นอะไร

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ก็จะทราบได้ว่า มีการเห็นความสำราญในธรรมทั้งหลายอยู่เนืองๆ จึงเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดขึ้น

    7754 โลภมูลจิต ๘ ดวง จัดเป็น ๔ คู่ -- โลภมูลจิตคู่ที่ ๑

    สำหรับโลภมูลจิต ๘ ดวง จัดเป็น ๔ คู่ คือ

    โลภมูลจิตคู่ที่ ๑ โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ เป็นโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา โสมนสฺสสหคตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ เกิดเองโดยไม่อาศัยการชักจูง ๑ ดวง และเป็นสสงฺขาริกํ คือ เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง ๑ ดวง เป็นคู่ที่ ๑ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เป็นโสมนสฺสสหคตํ เกิดพร้อมกับความเห็นผิด ทิฏฐิคตสัมปยุตตํ ดวงที่ ๑ เป็นอสงฺขาริก เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง ดวงที่ ๒ เป็นสสงฺขาริก เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง

    7755 โลภมูลจิตคู่ที่ ๒

    โลภมูลจิตคู่ที่ ๒ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา โสมนสฺสสหคตํ แต่ไม่เกิดร่วมความเห็นผิด ทิฏฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงขาริกํ เกิดเองโดยไม่อาศัยการชักจูง ๑ ดวง สสงฺขาริกํ เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง ๑ ดวง

    7756 โลภมูลจิตคู่ที่ ๓

    โลภมูลจิตคู่ที่ ๓ และคู่ที่ ๔ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา สำหรับโลภมูลจิตคู่ที่ ๓ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ เกิดพร้อมกับความเห็นผิด ทิฏฐคตสมฺปยุตตํ อสงขาริกํ เกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูง ๑ ดวง และทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง ๑ ดวง เป็นคู่ที่ ๓

    7757 โลภมูลจิตคู่ที่ ๔

    โลภมูลจิตคู่ที่ ๔ เป็นโลภมูลจิต ที่เกิดร่วมกับอุเบกขา แต่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด สำหรับคู่ที่ ๔ อุเปกฺขาสหคตํ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด อสงฺขาริกํ เกิดเองโดยไม่อาศัยการชักจูง และดวงที่ ๘ คือ อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิ คตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด และเกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง จึงเป็นสสังขาริก

    7758 ทบทวนโลภมูลจิต ๘ ดวง ในภาษาบาลี

    ขอทบทวนโลภมูลจิต ๘ ดวง ในภาษาบาลีอีกครั้งหนึ่ง

    โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ ๑

    โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ สงฺขาริกํ ๑

    โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ ๑

    โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ ๑

    อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ ๑

    อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ ๑

    อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ ๑

    อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ ๑

    รวมเป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง

    โดยจำแนกเป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ดวง เป็นโลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๔ ดวง เป็นโลภมูลจิตเกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ดวง เป็นโลภมูลจิตไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ๔ ดวง และเป็นโลภมูลจิตที่เป็นอสังขาริก ๔ ดวง เป็นโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ๔ ดวง

    7759 ทรงแสดงโลภมูลจิต ๘ ดวงตามลำดับของโทษ

    สำหรับโลภมูลจิต ๘ ดวง ทรงแสดงตามลำดับของโทษและความแรงกล้าของโลภมูลจิต ซึ่งจะเห็นได้ว่า สำหรับโลภมูลจิตคู่ที่ ๑ และดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด อสงฺขาริกํ เกิดขึ้นเอง โดยไม่อาศัยการชักจูง ย่อมเป็นโลภมูลจิตที่มีกำลังกว่าโลภมูลจิตดวงอื่น เพราะเหตุว่าเกิดพร้อมกับความยินดี เป็นความพอใจอย่างแรง แล้วก็เกิดร่วมกับความเห็นผิด แล้วก็เกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูง เพราะฉะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตซึ่งมีโทษและมีกำลังแรง

    7760 จิตทุกดวงต้องเกิดร่วมกับเจตสิก

    สำหรับจิตทุกดวง จะต้องเกิดร่วมกับเจตสิกอื่น ซึ่งแยกเป็นนามขันธ์ ๔

    สำหรับเจตสิก ได้แก่ นามขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และจิตเป็นวิญญาณขันธ์

    เพราะไม่ว่าจิตจะเกิดขึ้นขณะใด ก็จะต้องไม่ปราศจากขันธ์ ที่เป็นนามขันธ์อื่นๆ เพราะฉะนั้นนามขันธ์ทั้ง ๔ ไม่แยกจากกันเลย

    เวลาที่แสดงประเภทความต่างกันของจิต จะแยกแสดงต่างกันโดยเวทนา ประการหนึ่ง และต่างกันโดยเจตสิกอื่นซึ่งเกิดร่วมด้วย อีกประการหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า ในขณะหนึ่งๆ เป็นโลภมูลจิตประเภทใด ดวงใดใน ๘ ดวง ก็จะรู้ได้โดยความต่างกันของเวทนาเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับโลภมูลจิต และโดยความต่างกันของโลภมูลจิต ที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด หรือไม่ได้เกิดพร้อมกับความเห็นผิด ประการหนึ่ง และโดยความต่างกันที่ว่า โลภมูลจิตนั้นเกิดขึ้นมีกำลังด้วยตนเอง หรือว่าเกิดขึ้นโดยการชักจูงของบุคคลอื่น หรือว่าของตนเอง อีกประการหนึ่ง

    7781 ลักษณะของเวทนาเจตสิก

    ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายลักษณะของเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีความสำคัญ เพราะเหตุว่าทุกท่านแสวงหาสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ต้องการที่จะมีความรู้สึกเป็นสุข หรือโสมนัส ยินดี เพราะฉะนั้นในบรรดาเจตสิกธรรมทั้งหลาย เวทนาเจตสิกเป็นเจตสิกซึ่งมีความสำคัญในการที่จะทำให้สัตว์วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ด้วยอำนาจความพอใจในสุขเวทนา หรือในโสมนัสเวทนา

    ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายเวทนา มีข้อความว่า

    ที่ชื่อว่า “เวทนา” เพราะเสวยอารมณ์ เวทนานั้นมีการเป็นไปโดยอาการเสวยอารมณ์ เป็นลักษณะ

    “เสวย” ก็คือเสพ หรือกิน หรือบริโภค หรือรู้สึกในอารมณ์ที่ปรากฏ รู้สึกเป็นสุข หรือรู้สึกเป็นทุกข์ หรือว่ารู้สึกยินดี หรือว่ารู้สึกเสียใจ แล้วแต่ว่าจะเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด

    ที่ชื่อว่า “เวทนา” เพราะเสวยอารมณ์ เวทนานั้นมีการเป็นไปโดยอาการเสวยอารมณ์ เป็นลักษณะ

    อย่าลืมนะคะ ปรมัตถธรรมทุกประเภท ต้องมีลักษณะ มีกิจการงาน มีอาการปรากฏ และมีเหตุใกล้ให้เกิด

    เพราะฉะนั้นสำหรับลักษณะของเวทนาเจตสิก ก็คือมีการเป็นไปโดยอาการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ เวลาที่จิตดวงหนึ่งๆ เกิดขึ้น อย่าลืมว่า มีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเวทนาเจตสิกเท่านั้น สำหรับนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน คือ จิตและเจตสิกนั้น เป็นสัมปยุตธรรม เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมด้วยกัน

    สำหรับสัมปยุตตธรรมอื่น คือ เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกัน ย่อมรู้อารมณ์หรือเสวยอารมณ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่เหมือนกับเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นใหญ่ในการเสวย คือ การรู้สึกในอารมณ์ที่ปรากฏ จิตทุกดวงจะขาดผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ไม่ได้ จะขาดสัญญาเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมที่หมายรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏไม่ได้ จะขาดเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นธรรมชาติที่จงใจ ตั้งใจไม่ได้

    แต่ว่าในบรรดาสัมปยุตธรรมทั้งหลาย เวทนาเท่านั้นย่อมเสวยรสแห่งอารมณ์โดยตรง เพราะเหตุว่าเป็นเจ้าของโดยที่เป็นใหญ่ มีอำนาจ ที่จะทำให้จิตและเจตสิกอื่นๆ ฟูขึ้น เป็นสุข หรือห่อเหี่ยว ฟุบ เป็นทุกข์ ก็เพราะเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย

    อารมณ์เดียวกัน แต่ถ้าโสมนัสเวทนาเกิดขึ้น จิตในขณะนั้นก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าโทมนัสเวทนาเกิดขึ้น จิตในขณะนั้นก็ตรงกันข้ามเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ แทนที่จะฟูด้วยความสุข ก็ตรงกันข้าม จะใช้คำว่า ฟุบ หรือเหี่ยวแห้งไป เพราะโทมนัสเวทนาก็ได้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เวทนาเป็นสภาพธรรมที่สำคัญ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในความรู้สึกในอารมณ์ที่ปรากฏ

    7782 เวทนาเปรียบเหมือนพระราชา

    ข้อความในอัฏฐสาลินี อุปมาว่า

    ความจริง “เวทนา” เปรียบเหมือนพระราชา ธรรมนอกจากนี้ คือ เจตสิกอื่นๆ เปรียบเหมือนพ่อครัว ต้นเครื่อง ผู้ที่ปรุงโภชนะมีรสดีต่างๆ และใส่ลุ้งหรือโตกไว้ ประทับตรา นำเข้าไปวางไว้ใกล้พระราชา แกะเอาตราออก เปิดลุ้งหรือโตก ตักเอาส่วนบนๆ จากแกงและกับทั้งหมด ใส่ในภาชนะแล้วชิม เพื่อลองดูว่า มีโทษหรือไม่มีโทษ ต่อจากนั้นก็นำภาชนะซึ่งมีรสต่างๆ เข้าไปถวายพระราชา พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เสวยได้ตามพระราชประสงค์ เพราะทรงเป็นใหญ่และทรงมีอำนาจ ธรรมนอกจากนั้นเสวยอารมณ์เพียงบางส่วน เหมือนต้นเครื่อง ซึ่งเพียงแต่ชิมทดลองซึ่งพระกระยาหารเพียงบางส่วนเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นผัสสะก็รู้อารมณ์นิดหนึ่งส่วนหนึ่ง โดยกระทบ สัญญา ก็รู้อารมณ์ที่ปรากฏ โดยหมายรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ แต่เจตสิกซึ่งเสวยอารมณ์โดยตรง ได้แก่ เวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพที่ทำให้จิตฟูขึ้น เป็นสุข หรือทำให้จิตห่อ เหี่ยว แห้ง เป็นทุกข์ แล้วแต่ลักษณะของเวทนา

    7783 ลักษณะของโสมนัสเวทนา ข้อความในอรรถสาลินี

    สำหรับลักษณะของ “โสมนัสเวทนา” ข้อความในอัฏฐสาลินี มีว่า

    “โสมนสฺสสหคตํ” คือ ถึงภาวะมีการเกิดร่วมกัน ดับร่วมกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกันกับโสมนัสเวทนา คือ การเสวยอารมณ์ที่แช่มชื่น อุปมาเหมือนน้ำหวาน

    น้ำเปล่าๆ กับน้ำหวาน รสต่างกัน เวลาที่ทุกท่านดื่มน้ำหวาน รู้สึกอย่างไรคะ แช่มชื่นอย่างไร อย่างนั้น คือ ลักษณะของโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตเป็นโสมนสฺสสหคตํ เพราะถึงภาวะมีการเกิดร่วมกันกับโสมนัสเวทนา ดับพร้อมกัน มีอารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกันกับโสมนัสเวทนา คือ การเสวยอารมณ์ที่แช่มชื่น อุปมาเหมือนน้ำหวาน

    วันหนึ่งๆ ดื่มน้ำหวานบ่อยไหมคะ ขณะใดที่จิตใจรู้สึกสบาย แช่มชื่น ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นเพราะสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเสวยรสของอารมณ์ที่ปรากฏ แล้วเป็นสุข สภาพธรรมนั้น คือ “โสมนัสเวทนา” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่ได้ยั่งยืนเลย เพราะทั้งๆ ที่กำลังเป็นสุขโสมนัส เพียงแต่มีข่าวที่จะทำให้ทุกขเวทนาเกิด โสมนัสเวทนาก็ไม่สามารถที่จะเกิดต่อไปได้ หรือแม้ทุกขเวทนาในวันหนึ่งๆ ซึ่งบางท่านอาจจะกำลังเป็นทุกข์อย่างมาก แต่ถ้าบังเอิญมีข่าวดี ทำให้โสมนัสเวทนาเกิดขึ้น ทุกขเวทนานั้นก็ไม่สามารถที่จะเกิดได้ตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้เวทนาก็เป็นเพียงชั่วขณะเล็กน้อยจริงๆ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยของตนก็เกิดขึ้น เป็นโสมนัสเวทนา หรือโทมนัสเวทนา

    7784 ลักษณะของโสมนัสเวทนา ข้อความในอภิธรรมมัตถวิภาวิณีฎีกา

    สำหรับลักษณะของ “โสมนัสเวทนา” ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา อธิบายว่า

    เพราะสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต ซึ่งเป็นเหตุให้จิตสบาย ไม่เป็นทุกข์ เป็น “สุมนะ”

    จิตซึ่งสบาย ไม่เป็นทุกข์ขณะใด เป็น “สุมนะ” เพราะฉะนั้นสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต ที่เป็นเหตุให้จิตสบาย ไม่เป็นทุกข์ เป็น “สุมนะ” เพราะฉะนั้นสภาพความรู้สึกนั้น จึงชื่อว่า “โสมนัส"


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ