จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 052


    โดยที่ไม่พิจารณาเหตุที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ถาม ก็มีครับ ส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ พระอริยบุคคลมีเยอะแยะเลย ส่วนใหญ่เอาบุคคลเป็นที่อ้าง ประชาชนไปกันวันหนึ่งเป็นหมื่นเป็นแสน เอาพวกนี้เป็นข้ออ้าง ว่าบุคคลนั้นเป็นพระอริยบุคคล

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้นะคะว่า แต่ละท่านนี้มีอัธยาศัยอุปนิสัยที่สะสมมาต่างๆ กัน แต่ก็จะมีผู้ที่มีเหตุผลและเป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุผล มิฉะนั้นแล้ว พระธรรมของพระผู้มีพระภาคก็คงจะสูญสิ้นหมดไปนานแล้ว ถ้าไม่มีผู้ที่ฟังพระธรรม แล้วพิจารณาเหตุผลจริงๆ เพราะฉะนั้นบุคคลอื่นแต่ละบุคคลรวมทั้งตัวท่านเอง ก็เป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยต่างๆ กันมา เพราะฉะนั้นไม่ต้องคำนึงถึงบุคคลอื่นนะคะ เพราะว่าการที่จะละความเห็นผิดของบุคคลอื่นเป็นเรื่องยาก แต่ควรที่จะได้พิจารณาความเห็นผิดของตนเองว่า มีไหม ถ้ามีก็จะได้ละ เพราะฉะนั้นการที่ตัวท่านเอง เป็นผู้ที่ต้องการเห็นพระอริยบุคคล ก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้หนทางที่จะทำให้ผู้นั้นเป็นพระอริยบุคคลเสียก่อน แล้วก็ไม่ต้องห่วงถึงบุคคลอื่นค่ะ เพราะว่าการที่จะให้ทุกคนมีความเห็นถูก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    ผู้ถาม การเห็นพระอริยบุคคล เดี๋ยวนี้ผมไม่ตื่นเต้นเสียแล้ว ก็รู้เสียแล้วว่า ในเมื่อได้พบได้เห็นแล้ว คำสอนและคำสนทนาของท่าน ก็คืออย่างนี้ ไม่พ้นไปจากพระไตรปิฎก แล้วปัญญาของเราจะเกิดพรวดพราดก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นก็อย่างนั้น ไม่เห็นก็อย่างนั้น ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญทราบไม่ได้ใช่ไหมคะ ว่าใครเป็นพระอริยบุคคล ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ถาม ทราบได้แต่ว่าบุคคลนั้นไม่ใช่พระอริยบุคคล แต่ว่าบุคคลนั้นเป็นพระอริยบุคคล ทราบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ามีใครบอกว่า คนโน้นเป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็นพระอรหันต์ ก็ทราบได้ใช่ไหมว่า แม้ผู้ที่กล่าวอย่างนั้น ก็ยังไม่ได้รู้จริง เพราะเหตุว่าผู้นั้นเองก็ไม่ใช่พระอรหันต์

    ผู้ถาม แน่นอนครับ ถ้าบุคคลใดไม่ได้เจริญสติปัฏฐานแล้ว บุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์ไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นก็เยอะแยะครับที่คนเราเขาลือกันทุกวันนี้ คนนั้นเป็นพระอรหันต์ คนนี้เป็นพระอรหันต์ แต่ข้อปฏิบัติของท่านมันไม่ใช่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน แล้วเขาจะเป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร เพราะว่าเรารู้จากแค่นี้ล่ะครับ ผู้ใดไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ผู้นั้นก็ไม่ใช่พระอรหันต์แน่ เพราะเป็นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนาในความเห็นถูกนะคะ

    7836 เหตุเกิดแห่งทิฏฐิ

    ซึ่งในวันนี้ก็จะขอกล่าวถึง เหตุเกิดแห่งทิฏฐิ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุเกิดแห่งทิฏฐิ ก็ขอทวนลักษณะของทิฏฐิที่ว่า มิจฉาทิฏฐินั้น

    อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา มีความยึดมั่นโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นลักษณะ

    ขณะใดก็ตามมีความเห็น มีการเชื่อมั่นในความเห็น แต่ความเห็นนั้นขาดการพิจารณาโดยแยบคาย โดยถูกต้อง ในขณะนั้นต้องพิจารณาให้ทราบว่า เป็นความเห็นผิดอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเปล่า เวลาที่เกิดความยึดถือชนิดหนึ่งชนิดใดขึ้น

    ปรามาส รสา มีความยึดถือไปด้านอื่น ล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นรสะ คือเป็นกิจ

    แทนที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็กลับมีความยึดถือไปด้านอื่นล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นกิจ

    มิจฺฉาภินิเวส ปจฺจุปฏฺฐานา มีความยึดมั่นอย่างผิดๆ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

    อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฺฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นต้น เป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง

    ซึ่งบางท่านก็อาจจะแย้งว่า คงจะไม่มีใครที่ไม่อยากเห็นพระอริยบุคคล เพราะชื่อว่าพระอริยบุคคลแล้ว โดยเฉพาะพระอรหันต์ ก็มีผู้อยากเห็นจริงๆ แต่การที่จะเห็นพระอรหันต์ หรือไม่เห็น ไม่ใช่ด้วยจักขุ คือ ด้วยตา เพราะเหตุว่าตาสามารถที่จะเห็นเพียงวัณณะ หรือสีสันต่างๆ ตาไม่สามารถจะเห็นความเป็นพระอรหันต์ ตาไม่สามารถจะเห็นคุณธรรมของผู้ที่ดับกิเลสหมดด้วยการอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีพระอรหันต์ แต่ว่าผู้นั้นไม่รู้เหตุที่จะให้บุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า บุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์ ฉันใด ในยุคนี้ ในสมัยนี้ ถ้าผู้ใดเพียงอยากจะเห็นพระอรหันต์ด้วยจักขุปสาท คือ เพียงอยากจะเห็นว่า ใครที่ไหน รูปร่างหน้าตาอย่างไร เป็นพระอรหันต์ ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นได้ เพราะเหตุว่าไม่รู้คุณธรรมและเหตุที่จะให้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นการที่จะไม่มีความเห็นผิด ก็ต้องเป็นผู้ที่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลายด้วยปัญญา คือ ด้วยการรู้จริงๆ ว่า เหตุของข้อประพฤติปฏิบัติอย่างไร จะทำให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ได้ ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าคนหนึ่งคนใดเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่เข้าใจหนทางปฏิบัติที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์เลย แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่า บุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์ หรือว่าแม้แต่ตัวท่านเอง ซึ่งเห็นเพียงวัณณะ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็จะรู้ได้อย่างไรว่า บุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่

    เพราะฉะนั้นการที่เป็นบุคคลที่อยากเห็นพระอริยะจริงๆ ก็คือจะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาจนกระทั่งเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลนั้นสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า เป็นโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล ก็อย่าเพิ่งอยากจะเห็นพระอริยเจ้า เพราะว่าไม่มีโอกาสที่จะเห็น และไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจได้ด้วย ว่าการเป็นพระอริยบุคคลนั้นเป็นได้อย่างไร

    ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี มีว่า

    อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฺฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน

    พึงเห็นว่า เป็นโทษอย่างยิ่ง

    คือ การที่จะไม่ศึกษาให้รู้ข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้พระอริยบุคคลได้ เป็นการไม่อยากเห็นพระอริยะ ซึ่งเป็นโทษอย่างยิ่ง เพราะอาจจะเข้าใจผิด และคิดว่าบุคคลนั้นๆ เป็นพระอรหันต์ โดยที่บุคคลนั้นๆ ไม่ใช่พระอรหันต์

    ซึ่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ให้แยบคายให้ละเอียด ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า ท่านเกี่ยวข้อง เนื่องอยู่ในความเห็นผิดประการหนึ่งประการใดหรือไม่ ซึ่งความเห็นผิดนี้เป็นโทษ เป็นอันตรายมาก เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะทำให้สามารถดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคล

    สำหรับธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นต้องมีเหตุ มีปัจจัย ด้วยเหตุนี้แม้ทิฏฐิ ความเห็นผิด ก็จะต้องมีเหตุ ที่จะให้เกิดขึ้น

    ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี ได้แสดงเหตุให้เกิดทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด มีข้อความว่า

    พึงทราบการเกิดขึ้นแห่งความเห็นผิด กล่าวคือ ทิฏฐิคตะ นี้ ด้วยเหตุมีอาทิอย่างนี้

    อาทิ คือ เป็นต้น คือ ยกเหตุประการสำคัญ คือ

    อสทฺธมฺมสวนํ การฟังแต่อสัทธรรม

    บางท่านก็อยากที่จะฟังธรรม แต่ธรรมที่ฟังเป็นอสัทธรรม ไม่ใช่เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ และทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยลึกซึ้ง ที่จะต้องอาศัยการพิจารณาโดยแยบคาย โดยรอบคอบจริงๆ บางท่านกล่าวว่า ขอฟังธรรมสัก ๕ นาที ๑๐ นาที แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่เพื่อจะทรงแสดงธรรมเพียง ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที แต่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จนกระทั่งถึงกาลใกล้ที่จะปรินิพพาน เพราะเห็นว่าธรรมจะเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ หลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ธรรมใดก็ตามที่ฟังเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที จะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน จะทำให้สามารถรู้ทั่วถึงในธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงมีพระมหากรุณาแสดงแก่สัตว์โลกได้หรือไม่ ถ้าเพียงแต่จะฟัง ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที เท่านั้น แต่ว่าผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วจะทราบได้ว่า ต้องฟังตลอดชีวิต และไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว

    7837 กว่าการฟังจะมีการเข้าใจ

    ผู้ที่เป็นพระอริยสาวกในสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ หลายพระองค์ ก่อนการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยบุคคล

    เพราะฉะนั้นบางท่านก็คิดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็บอกว่า เวลาที่สติเกิดระลึกขึ้นมา ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงแต่คิดเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ทางตาในขณะนี้ กำลังเห็น ระลึกได้ แต่ไม่ตรงลักษณะของสภาพรู้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เป็นการนึกเรื่องจักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ก็ยังเป็นการดีที่เมื่อได้ฟังแล้วก็ไม่ได้หลงลืมสติเสียทีเดียว แต่ว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิดนึกถึงเรื่องของการเห็น เพียงแต่สติยังไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า กว่าการฟังจะฟังๆ ๆ ๆ และมีการเข้าใจๆ ๆ ไปเรื่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สตินี้ระลึกได้ ไม่ใช่เพียงขั้นคิด แต่ยังระลึกได้ตรงลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต้องอาศัยกาลเวลาไม่ใช่น้อยเลย

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เพียงฟัง แล้วระลึกได้ตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องเป็นหลังจากที่ฟังแล้วหลายหมื่นกัป พร้อมทั้งอบรมเจริญสติหลายหมื่นกัป เพราะฉะนั้นมีปัจจัยพร้อมที่เมื่อเพียงได้ฟังเรื่องลักษณะของสติ ก็เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันทีได้ และเมื่อได้อบรมในเวลาไม่นานนัก ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าขณะใดที่สติเกิด แต่ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าท่านผู้นั้นเองบอกว่า ไม่มีลักษณะของธรรมปรากฏ เช่น ทางตาระลึกได้ ก็เป็นเรื่องของการเห็น แต่ไม่ใช่เป็นเพราะรู้ว่า เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมจึงยังไม่ปรากฏว่า เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนคล่อง สามารถที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนที่สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานจะระลึกได้ตรงลักษณะของธาตุรู้ หรือสภาพที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด ในขณะนั้นก็จะทราบได้ว่า เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสติปัฏฐาน และรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลาย จนรู้ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมทั้งสิ้น ตรงกับพระพุทธวจนะ ที่ว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” ธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเมื่อสติระลึกก็ระลึกตรงลักษณะของธรรม รู้ในอาการที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม นั่นคือผู้ที่ชำนาญและรู้ว่า นอกจากธรรมแล้ว ไม่มีอะไร ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ลักษณะของธรรมเท่านั้นที่ปรากฏ แล้วก็เป็นธรรมจริงๆ คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    นั่นคือผู้ที่เข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาถูกต้อง เพราะเหตุว่าต้องเป็นธรรมทั้งหลายจริงๆ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ใช่ธรรมทั้งหลาย บางกาลก็เป็นธรรม บางกาลก็ไม่ใช่ธรรม แล้วเวลาที่สติระลึก บางครั้งก็ไม่ได้ระลึกตรงลักษณะที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาจนรู้ว่า ธรรมเท่านั้นที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกกำลังได้กลิ่น ทางลิ้นกำลังลิ้มรส ทางกายกำลังกระทบสัมผัส ทางใจกำลังคิดนึก แล้วยังจะเป็นลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีใจ เสียใจ เป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ หรือไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ มัจฉริยะ หรืออิสสา หรือสภาพธรรมใดๆ ก็ตามทั้งหมด ผู้ที่รู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะสติระลึกตรงลักษณะของธรรม จึงรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ แล้วก็เป็นธรรมเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องฟังไปอีก และอบรมเจริญปัญญาไปอีก เพื่อที่จะรู้ว่าข้อประพฤติปฏิบัติอย่างไรจะทำให้รู้ได้จริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ตามที่พระอริยสาวกทั้งหลายท่านได้ตรัสรู้แล้ว เพื่อที่จะได้ไม่เห็นผิด

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบด้วยค่ะว่า แม้การฟังธรรมก็ควรฟังธรรมที่เป็นสัทธรรม มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นไปกับความเห็นผิด ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและการปฏิบัติผิดได้

    7838 เหตุให้เกิดทิฏฐิประการที่ ๑

    สำหรับข้อความในอัฏฐสาลินี ซึ่งอธิบายเหตุให้เกิดทิฏฐิ

    ประการที่ ๑ คือ อสทฺธมฺมสวนํ การฟังแต่อสัทธรรม มีข้อความว่า

    จริงอยู่ ความเห็นผิดนี้ พึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยการฟัง อันเว้นจากเข้าไปพิจารณาเห็นอย่างรอบคอบ ก้าวล่วงความเป็นกลางเสียแล้ว มุ่งที่จะนับถือเป็นอย่างมากซึ่งอสัทธรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยวาทะ คือ ทิฏฐิเหล่านี้

    แม้แต่การที่จะฟังธรรม ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่มุ่งจะนับถือเป็นอย่างมากซึ่งอสัทธรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยวาทะ ก้าวล่วงย่อมเป็นกลางเสียแล้ว

    เพราะเหตุว่าเวลาฟังธรรม ต้องฟังจริงๆ คือ ฟังพระธรรม ฟังธรรม ไม่ใช่ฟังบุคคลว่า บุคคลผู้กล่าวธรรมนั้นเป็นใคร เพราะเหตุว่าถ้าฟังบุคลในขณะนั้นเป็นผู้ที่มุ่งจะนับถือเป็นอย่างมาก ทำให้ในขณะนั้นก้าวล่วงความเป็นกลาง หมายความว่าขาดการพิจารณาโดยเที่ยงตรงจริงๆ ว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้นประกอบด้วยเหตุผลสมบูรณ์ถูกต้อง หรือว่ายังคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องของการฟังธรรมด้วยความรอบคอบ ด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่มุ่งที่จะนับถืออสัทธรรมทั้งหลาย ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าคะ ในการฟังธรรม พิจารณาได้จากการฟังของตัวท่านเองว่า จุดประสงค์ของการฟังนั้นเป็นอย่างไร อย่าลืมว่า อย่ามุ่งที่จะนับถือเป็นอย่างมาก แต่ต้องไม่ก้าวล่วงความเป็นกลาง คือ การพิจารณาโดยรอบคอบ

    7839 เหตุให้เกิดทิฏฐิประการที่ ๒

    สำหรับเหตุประการที่ ๒ คือ อกลฺยาณมิตฺตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

    สำหรับเหตุประการที่ ๒ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก มิฉะนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคคงไม่ทรงแสดงไว้ในมงคลสูตร ซึ่งเป็นมงคลข้อที่ ๑ คือ การไม่คบคนพาล เป็นมงคลอันสูงสุด

    นี่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมิตรว่า ถ้ามีคนชั่วหรือคนที่เห็นผิดเป็นมิตร ย่อมคล้อยตามความเห็นนั้นๆ ได้ เพราะเหตุว่าถ้ามีเพื่อนที่เห็นผิด ก็จะชักชวนให้ฟังในเรื่องที่ผิด แล้วก็ชักชวนไปสู่สถานที่ซึ่งมีการเห็นผิด การปฏิบัติผิด บางท่านแล้วแต่เพื่อนฝูงจะไป แม้แต่ในที่ๆ มีความเห็นผิด เหมือนกับเป็นผู้ที่ติดในหมู่คณะและในสำนัก

    อย่าลืมว่า ถ้าเกิดเพลี่ยงพลั้ง ไม่พิจารณาธรรมโดยรอบคอบ อาจจะค่อยๆ คล้อยตามความเห็นนั้นไปทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่รู้สึกตัว

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วต้องเห็นโทษของการเป็นผู้มีมิตรชั่ว คือ เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด

    7840 อาทิจจสูตร ข้อ ๕๑๖

    ข้อความในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อาทิจจสูตร ข้อ ๕๑๖ มีข้อความว่า

    [๕๑๖] สาวัตถีนิทาน.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งโพชฌงค์ ๗ แก่ภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญโพชฌงค์ ๗ จักกระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗

    7841 โพชฌงค์ ๗

    ถาม คำว่า “โพชฌงค์ ๗” หมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ “โพชฌงค์” หมายถึงธรรมซึ่งเป็นองค์ธรรมทำให้ตรัสรู้ค่ะ สติ แน่นอน และองค์ธรรมอื่นๆ กุศลเจตสิกซึ่งเป็นองค์ของการตรัสรู้

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็จะต้องเลือกผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร คือ ผู้ที่เป็นมิตรดี คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระธรรม ซึ่งจะทำให้มีความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม

    7842 เกื้อกูลผู้ที่ปฏิบัติผิด

    ถาม ข้อนี้เกี่ยวกับบารมีในอดีตที่สั่งสมมา ในเวลานี้ในกรุงเทพนี้ มีข้อปฏิบัติที่ผิดจากมรรคมีองค์ ๘ แล้วก็เข้าใจว่าเป็นมรรคมีองค์ ๘ มากมายหลายสำนัก และเป็นที่นับถือของคนทั้งหลายด้วย ซึ่งคนทั้งหลายเชื่อว่า ข้อปฏิบัตินั้นเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก เพราะฉะนั้นผู้ที่ไปปฏิบัติตามข้อปฏิบัติต่างๆ ในกรุงเทพนี้ เขาก็พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อปฏิบัตินั้นถูก ถ้าเขาไม่ได้พิจารณา เขาก็คงไม่เข้าไปปฏิบัติ เพราะว่าเมื่อเข้าไปปฏิบัติแล้ว บางคนเขาก็ได้ผลต่างๆ นานา เห็นโน่นเห็นนี่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้สั่งสมมาอย่างถูกต้อง การที่จะคบกัลยาณมิตรอย่างถูกต้องก็เป็นการยากอีกเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้ฟัง หรือมีโอกาสที่จะเกื้อกูลกันด้วยการสนทนา ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกันว่า ลึกลงไปของการสะสมของบุคคลนั้น จะมีเชื้อไฟของปัญญาพอที่จะเป็นแสงไฟขึ้นมาได้อีกหรือเปล่า

    ผู้ถาม อันนี้ยากมากครับ ส่วนใหญ่นี่ ลงเขาปฏิบัติไปแล้ว เห็นโน่น เห็นนี่ เขาเกิดได้ผล จะเอาข้อปฏิบัติที่ถูกไปให้เขา เราจะเสนอข้อปฏิบัติไปให้เขา เขามักจะติงว่า ข้อปฏิบัติของเขาดีกว่า ถูกต้องกว่า อย่างนี้เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ตรงกับเหตุที่จะให้เกิดทิฏฐิ ประการที่ ๓ คือ

    อริยานํ อทสฺสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น

    นั่นก็แสดงอยู่แล้วว่า เป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่พิจารณาหนทางที่จะทำให้เห็นพระอริยบุคคล ไม่รู้ว่าพระอริยบุคคลนั้นเจริญปัญญาอย่างไร

    ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี อธิบายว่า

    ด้วยความเป็นผู้ไม่ต้องการเห็นพระอริยะทั้งหลายและสัตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ด้วยความเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ อันแบ่งเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ด้วยความขาดวินัย กล่าวคือ ความแตกแห่งสังวรในธรรมของพระอริยะ อันเป็นประเภทเป็นปาติโมกขสังวร อินทรียสังวร สติสังวร ญาณสังวร ปหานสังวร และในธรรมของสัตบุรุษ

    7843 ฉลาดในธรรมของพระอริยะ

    เพียง ๕ นาที เข้าใจไม่ได้แน่ใช่ไหมคะ ในการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ คือจะต้องรู้ว่า ธรรมใดเป็นธรรมของพระอริยะ อันแบ่งเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ก็จะต้องเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เคยยึดถือว่า เป็นกายของเรา หรือเป็นตัวเรา เป็นเวทนา ความรู้สึกของเรา เป็นจิตของเรา เป็นธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังมากๆ ไม่พิจารณาจริงๆ แม้ในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ การประพฤติปฏิบัติก็ย่อมผิด เพราะอาจจะเข้าใจว่า ไม่ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา การที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ทางที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่ทางที่จะทำให้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นถ้าใครบอกว่า ไม่ต้องเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านผู้ฟังก็พิจารณาทราบได้ใช่ไหมว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ปัญญา ความรู้จริง รู้ชัด จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเหตุว่ากำลังเห็นทางตา กำลังได้ยินทางหู เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสภาพธรรมใดซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้น ปรากฏในขณะนั้น ก็ดับในขณะนั้น ถ้าไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างไร ก็ไม่มีทางที่เป็นปัญญาซึ่งสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น เหตุให้เกิดความเห็นผิด คือ

    อริยานํ อทสฺสนกามตาทีนิ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ