จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 053


    เพราะฉะนั้น เหตุให้เกิดความเห็นผิด คือ

    อริยานํ อทสฺสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น ด้วยความเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ อันแบ่งเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ด้วยความขาดวินัย กล่าวคือ ความแตกแห่งสังวรในธรรมของพระอริยะ อันมีประเภท เป็นปาติโมกขสังวร อินทรียสังวร สติสังวร ญาณสังวร และปหานสังวร ในธรรมของสัตบุรุษ

    7844 การสังวร

    การสังวรก็ต้องมี แต่ไม่ใช่เป็นการที่ตัวตนจะทำสังวร แต่รู้ว่า “สังวร” หมายความถึง การที่สติเกิดขึ้นเป็นกุศลธรรม แล้วก็อบรมเจริญโดยประเภทของปาติโมกสังวร คือ ตามข้อบัญญัติที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้

    7845 ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ

    สำหรับในเรื่องของคำว่า “ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ” คือ ไม่เฉียบแหลมในธรรมของพระอริยะ

    ข้อความในอรรถกถาอัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายคำว่า

    “ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของพระอริยะ” ซึ่งมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดนะคะ สำหรับผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเข้าใจด้วย

    ชื่อว่า “วินัย”

    ซึ่งได้ยินได้ฟังกันบ่อยเหลือเกิน ระเบียบวินัย แต่วินัยจริงๆ คืออย่างไร

    ชื่อว่า “วินัย” มี ๒ อย่าง ในวินัย ๒ อย่างนี้ แต่ละอย่างๆ มี ๕ อย่าง ปุถุชนนี้เรียกว่า ไม่ได้ฝึกฝน เพราะไม่มีวินัยนั้น

    นี่คือ วินัย การฝึกฝน ที่จะทำให้ปุถุชนเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งมี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑

    “สังวรวินัย” คือ การฝึกฝน การสังวร การสำรวมด้วยสติ ไม่ใช่เป็นเราที่จะทำสำรวม และ “ปหานวินัย” อีก ๑

    7846 สังวรวินัย ๕

    สำหรับ “สังวรวินัย” ก็มี ๕ อย่าง คือ

    “ศีลสังวร” ความสำรวม คือ ศีล ซึ่งถ้าเป็นภิกขุก็ต้องตามพระปาติโมกข์ ในขณะใดที่สติระลึกที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระปาติโมกข์ ขณะนั้นก็เป็นปาติโมกขสังวร

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นภิกษุนี้เพียบพร้อมด้วยปาติโมกขสังวรหรือเปล่า เพราะเหตุว่าสิ่งที่ทำให้เพศบรรพชิตต่างกับเพศคฤหัสถ์ ก็คือพระปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุ

    เพราะฉะนั้นพระภิกษุก็จะต้องมีสติระลึกได้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระปาติโมกข์ แต่สำหรับฆราวาสก็เป็นศีลสังวร คือ การมีระเบียบวินัยในการที่จะรักษาศีล ไม่ล่วงศีล ๑

    ศีลสังวร ๑ สติสังวร ความสำรวม คือ สติ ๑ ญาณสังวร ความสำรวม คือ ญาณ ๑ ขันติสังวร ความสำรวม คือ ขันติ ๑ วิริยสังวร ความสำรวม คือ ความเพียร ๑

    ฟังดูเป็นตำรา เป็นวิชาการ แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นชีวิตปกติประจำวัน เป็นข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้เข้าใจในศีลสังวร ที่จะไม่ล่วงศีล แล้วจะต้องเข้าใจในสติสังวร คือ ความสำรวมในจักขุนทรีย์ เป็นต้น ซึ่งหมายความถึงในขณะที่เห็นต้องมีสติที่จะระลึกได้รู้ว่า สภาพธรรมที่เห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม

    นี่คือชีวิตประจำวัน แต่ถ้าตามตำรา ก็คือ “สติสังวร” หรือ สติสังวร และสังวร หรือสังวร ที่มาดังนี้ว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อชิตะ กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เราย่อมกล่าวการกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้อันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา ดังนี้ ชื่อว่า “ญาณสังวร” ดังนี้

    พูดกันบ่อยๆ ใช่ไหมคะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสของอกุศลธรรม เวลาที่สติเกิดอกุศลธรรมเกิดไม่ได้ในขณะนั้น ที่รู้อย่างนั้น ก็เป็น “ญาณสังวร”

    ส่วน “ขันติสังวร” คือ สังวรที่มาดังนี้ว่า “เป็นผู้ที่อดทนต่อความหนาว ต่อความร้อน” ดังนี้ ชื่อว่า “ขันติสังวร”

    ท่านผู้ฟังมีหรือเปล่าคะ อากาศก็กำลังจะร้อนขึ้นๆ ทุกวัน แล้วชีวิตประจำวันของผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา ซึ่งการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่ง อดทนที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ว่าจะร้อนหรือจะหนาว ก็รู้ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ช่วยให้อดทนได้ไหมคะ ถ้ารู้อย่างนี้

    เมื่อมีกาย ก็ต้องมีความทุกข์ ซึ่งเกิดเพราะกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยกาย เย็นบ้าง ร้อนบ้าง เป็นของธรรมดา เมื่อมีกายแล้ว จะไม่กระทบกับเย็นร้อนที่ทำให้เกิดความทุกข์ เป็นไปได้ไหมคะ ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหลงลืมไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบกายแล้วก็ดับไป

    ถ้าไม่รู้อย่างนี้จริงๆ ย่อมเดือดร้อน ย่อมคร่ำครวญ ย่อมรำพัน ในขณะนั้นก็หลงลืมสติไปมาก ไม่ได้รู้ว่า ในขณะนั้นลักษณะที่ร้อน หรือว่าลักษณะที่เย็น ลักษณะของความรู้สึกซึ่งทุกข์กายในขณะนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วถ้าอดทนไม่ได้ เป็นยังไงคะ จะยิ่งเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง ใช่ไหมคะ พยายามที่จะหาสิ่งซึ่งจะผ่อนคลายความทุกข์กายนั้น ถ้าหาได้ก็ดี แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ยิ่งเดือดร้อน รำคาญใจ เพราะฉะนั้นก็ยิ่งเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เวลาที่มีการสังวรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ย่อมเป็นผู้ที่อดทนต่อความหนาว ต่อความร้อนได้ เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้น ชื่อว่า “ขันติสังวร”

    ดีหรือไม่ดีคะ ก็อย่าลืมนะคะเวลาที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทั้งหลาย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    นอกจากนั้นก็มี

    ประการที่ ๕ คือ “วิริยสังวร” สังวร คือ ความเพียร

    สังวร ดังที่กล่าวมานี้ว่า “ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ทับ” ดังนี้ ชื่อว่า “วิริยสังวร”

    นี่คือข้อความในอรรถกถา ซึ่งมาจากพระไตรปิฎก ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นความสมบูรณ์ของพยัญชนะได้ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะพูดเอง อาจจะไม่ได้ความหมายที่กระชับอย่างนี้ แต่ว่าข้อความในอรรถกถามีว่า “ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ทับ” ทุกคนมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่น้อยนะคะ มาก และไม่มีวันอิ่ม ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันพอ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่อบรมเจริญปัญญา “ก็ย่อมยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ทับ” ไม่มีวันที่จะพ้นไปได้เลย แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดวันหนึ่ง “ย่อมไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว ให้อยู่ทับ” หมายความว่า กามวิตกนั้นไม่สามารถที่จะครอบงำต่อไปด้วย “วิริยสังวร”

    ก็สังวรทั้งหมดนี้ เรียกว่า “สังวร” เพราะระวังกายทุจริตเป็นต้น อันควรระวังตามควรแก่ตน และเรียกว่า “วินัย” เพราะกำจัดกายทุจริตเป็นต้น อันควรกำจัดตามควรแก่ตน

    สังวรวินัยพึงทราบว่า แจกได้ ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้ก่อน

    สำหรับปกติประจำวันนะคะ

    7847 ปหานวินัย ๕

    สำหรับ “ปหานวินัย” ๕ อย่าง คือ ตทังคปหาน คือ การละกิเลสได้ด้วยองค์นั้นๆ ๑ (วิปัสสนาญาณ) วิกขัมภนปหาน คือ การละกิเลสได้ด้วยการข่มไว้ ๑ (ฌานจิต) เหมือนเขี่ยสาหร่าย สมุจเฉทปหาน คือ การละกิเลสได้เด็ดขาด ๑ (มรรคจิต) เกิดขึ้นดับกิเลส ปฏิปัสสัทธิปหาน คือ การละกิเลสอย่างระงับ ๑ (ผลจิต) นิสสรณปหาน คือ การละกิเลสด้วยการสลัดออก ๑ (นิพพาน)

    7848 ตทังคปหาน - วิกขัมพนปหาน

    สำหรับปหานวินัยประการที่ ๑ คือ “ตทังคปหาน” ได้แก่ วิปัสสนาญาณทั้งหลาย มีนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น

    ปหานวินัยประการที่ ๒ คือ “วิกขัมพนปหาน” ได้แก่ การละธรรม มีนิวรณธรรม เป็นต้นนั้น เพราะห้ามความเป็นไปด้วยสมาธิ อันเจริญถึงขั้นอุปจาระและขั้นอัปปนา ดุจการละสาหร่ายบนหลังน้ำได้ ด้วยการทำลายความสืบต่อกันอันใด นี้ชื่อว่า “วิกขัมภนปหาน”

    นี่แสดงให้เห็นว่า การที่จะละอกุศลมีหลายขั้น สำหรับขั้นที่เป็น ตทังคปหาน ได้แก่ วิปัสสนาญาณ สำหรับขั้นที่เป็นวิกขัมภนปหาน ได้แก่ การเจริญสมถะ จนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ซึ่งอุปมาเหมือนกับการละสาหร่ายที่อยู่บนหลังน้ำได้ ด้วยการทำลายความสืบต่อกัน

    ธรรมดาสาหร่ายที่อยู่ในน้ำก็ติดกันแน่น แต่ถ้าท่านผู้ฟังจะเอาไม้ฉีก หรือเขี่ยออก ก็ได้ชั่วครู่ แล้วหลังจากนั้นก็เข้ามาต่อกันอีก ฉันใด กิเลสทั้งหลายก็ย่อมระงับไปชั่วคราว ในขณะที่ความสงบมั่นคงขึ้น จนถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งเมื่อถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว คือ ขั้นฌานจิต ก็เป็นวิกขัมพนปหาน

    7849 สมุทเฉทปหาน - ปฏิปัสสัทธิปหาน

    สำหรับปหานวินัย ประการที่ ๓ คือ “สมุจเฉทปหาน” ได้แก่ ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น ดับกิเลส

    ปหานวินัย ประการที่ ๔ คือ “ปฏิปัสสัทธิปหาน” คือ ภาวะที่กิเลสถูกปราบเสร็จแล้วในขณะแห่งผลจิต ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิปหาน

    สำหรับปหานในขณะของมรรคจิต เป็นสมุจเฉทปหาน สำหรับปหานในขณะของผลจิต เป็นปฏิปัสสัทธิปหาน

    7850 นิสสรณปหาน

    และสำหรับธรรมซึ่งปหานกิเลส ได้แก่ “นิพพาน” นั้น เป็น “นิสสรณปหาน” คือ นิสสรณปหาน คือ นิพพาน อันมีสังขตธรรมทั้งปวงละได้แล้ว เพราะสลัดสังขตธรรมออกไปได้หมดอันใด นี้ชื่อว่า “นิสสรณปหาน

    เวลาที่สภาพของนิพพานปรากฏ กิเลสจะเกิดในขณะนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นนิพพานอันมีสังขตธรรมทั้งปวง ละได้แล้ว เพราะสละสังขตธรรมออกไปได้หมด นี่ชื่อ นิสสรณปหาน

    7891 ปหานวินัย

    ก็ปหาน คือการละนี้ทั้งหมด เรียกว่า ปหานวินัย เพราะชื่อว่า ปหาน ด้วยอรรถว่า ละ ชื่อว่า วินัย ด้วยอรรถว่า กำจัด

    วินัย ๒ อย่างโดยย่อ และ ๑๐ อย่างโดยแจก ดังว่ามาฉะนี้ ย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เพราะความเป็นผู้มีสังวรอันทำลายแล้ว และเพราะยังละไม่ได้ซึ่งธรรมอันจะพึงละ เหตุนั้นปุถุชนนี้จึงชื่อว่า ผู้มิได้ฝึกฝน เพราะไม่มีวินัยนั้น ฉะนี้แล

    ก็เป็นเรื่องที่ต้องฟังและพิจารณา และตรวจสอบตัวท่านเอง เพื่อการเจริญปัญญาของท่านว่า ได้อบรมเจริญวินัยถึงขั้นใดแล้ว

    7892 ในขณะวิรัติทุจริต

    ถาม ผมมีความสงสัยที่อาจารย์ได้กล่าวมาเมื่อกี้ ตามธรรมดาทั่วไปเรื่องของสังวร มีปาติโมกข์สังวรเป็นต้น อาจารย์ทั้งหลายก็สอนว่า อย่าไปยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส คิดนึก ถ้าอาจารย์สั่งว่าอย่างนี้ พอจะเข้าใจ แต่อาจารย์บอกว่า การสังวรนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน และเมื่อไม่ใช่ตัวตน เวลาจะสังวร จะสังวรอย่างไรครับ ขออาจารย์ช่วยอธิบายให้ละเอียดกว่านี้หน่อย คือ ผมสงสัยอย่างนี้ เราก็สมาทานอยู่ศีล ๕ ประการ แต่บางครั้งเมื่อเหตุปัจจัยมันมี ทำให้ล่วงทุจริตไป เช่น ไปทำให้ยุงหรือมดตาย อย่างนี้เป็นต้น ขณะที่ล่วงทุจริตกรรมไป ขณะนั้นก็เผลอสติไป ทีนี้อาจารย์ต่างๆ บอกว่า ไม่ให้ฆ่าสัตว์ ไม่ให้ลักทรัพย์ ไม่ให้ประพฤติผิดในกาม มันก็คล้ายๆ กับว่า มันมีตัวตนที่จะไปวิรัติทุจริต ที่ผมสงสัยก็เพราะอาจารย์บอกว่า ไม่มีตัวตน การสังวรนี่ไม่มีตัวตน ที่ผมสงสัยก็สงสัยอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ การฟังพระธรรมต้องฟังโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรม ก็จะต้องสอดคล้องกัน เพราะมิฉะนั้นแล้วท่านผู้ฟังจะประพฤติธรรมได้เพียงขั้นศีล ไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติได้สูงกว่านั้น แต่เพราะเหตุว่ามีการฟังและเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ในพระสูตร ในพระอภิธรรมประกอบกับพระวินัย จึงเข้าใจได้ว่า แม้ขณะที่วิรัติทุจริตนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นจึงกระทำกิจวิรัติทุจริต ซึ่งการที่จะรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น ไม่ใช่ท่องตาม ไม่ใช่พูดตาม หรือไม่ใช่เพียงคิดตาม แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่สามารถจะถึงปหานวินัย คือ วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ก็เป็นเรื่องของชีวิตประจำวันที่จะต้องศึกษาไป พิจารณาไป ฟังไป ประพฤติปฏิบัติไป จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้น

    7893 เหตุให้เกิดทิฏฐิประการที่ ๔

    สำหรับเหตุประการที่ ๔ ที่ทำให้เกิดทิฏฐิ คือ อโยนิโสมนสิกาโร กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย มีคำอธิบายว่า

    ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย ซึ่งเหตุเหล่านี้แหละอบรมแล้ว และด้วยการเป็นผู้ขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าว เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิ

    น่าพิจารณาไหมคะในชีวิตประจำวัน ด้วยการเป็นผู้ขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าว เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิ

    วิธีที่จะทราบว่า ท่านผู้ฟังยังมีความเห็นผิดนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ หรือว่ายังมีความโน้มเอียงที่จะไปสู่ความเห็นผิดได้ อย่างมากในวันหนึ่งข้างหน้า ก็อยู่ที่การพิจารณาว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังถือมงคลตื่นข่าวอยู่หรือเปล่า ซึ่งน่าพิจารณาไหมคะในชีวิตประจำวัน

    7894 เรื่องของมงคลตื่นข่าว ... ๑

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยไหมคะในเรื่องนี้

    ถาม ผมอยากให้ท่านอาจารย์อธิบายเรื่องมงคลตื่นข่าว ผมเพิ่งมาฟังและจะรับไปปฏิบัติ ก็เลยไม่ทราบข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นก็ขอให้อาจารย์อธิบายเรื่องมงคลตื่นข่าว มันเป็นอย่างไร ต้นสายปลายเหตุ ผมไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ขอฟังความเห็นของท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วยในเรื่องของมงคลตื่นข่าว ซึ่งไม่น้อยเลย แทบจะเรียกได้ว่า ในชีวิตประจำวันมีมาก และยังคงเพิ่มขึ้นอีก

    ผู้ฟัง มงคลตื่นข่าวเท่าที่ผมคิดเอา เมื่อหลายปีแล้ว สระน้ำที่เป็นน้ำวิเศษ คนตื่นกัน จ้างรถไปวันละ ๓,๐๐๐ ๕,๐๐๐ เป็นหมื่น ขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้ายมีน้ำทิพย์มาขายที่ตลาดคลองเตยใส่ถุงพลาสติก ถุงละ ๕ บาท ๑๐ บาท เป็นต้น นี่เป็นลักษณะของมงคลตื่นข่าวประเภทหนึ่ง และมีอีกเยอะ เวลานี้พระอรหันต์ในประเทศไทยมากมายเหลือเกิน พากันไปหาพระอรหันต์ พากันไปถวายภัตตาหารแก่พระอรหันต์เยอะแยะ แบบนี้ก็เป็นมงคลตื่นข่าว เท่าที่ผมคิดเอา จะผิดหรือจะถูกก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าทุกท่านมีความรักตนเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้ตนเองได้ดีมีสุข แต่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุผลตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ขณะนั้นเป็นมงคลตื่นข่าว เพราะเหตุว่าไม่ใช่การประจักษ์แจ้งจริงๆ เชื่อมั่นในเรื่องของกรรมและผลของกรรมเท่านั้น แต่เมื่อไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ก็ย่อมยึดถือในสิ่งอื่น ซึ่งไม่ใช่เหตุผลตามความเป็นจริงขณะใด ขณะนั้นก็เป็นมงคลตื่นข่าวทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ฟังอยากจะทราบว่า มงคลตื่นข่าวมีอะไร หรือสงสัยว่าจะเป็นมงคลตื่นข่าวหรือเปล่า ก็อาจจะพิจารณาในชีวิตประจำวันได้

    ไม่ทราบวันนี้ท่านผู้ฟังชมรายการโทรทัศน์ตอนเที่ยงหรือเปล่า มีรายการหนึ่งมีนักศึกษากำลังจะสอบไล่เข้ามหาวิทยาลัย ก็มีคนหนึ่งท่องหนังสือเป็นการใหญ่ แต่มีอีกคนหนึ่งไม่ท่อง มีอะไรไม่ทราบ ดิฉันก็ลืม เรียกว่างูอะไรก็ไม่ทราบ เป็นก้อนๆ แล้วก็ถูตามหน้า มีหลายสี ถ้าถูด้วยสีเลือดหมู ก็จะสอบเข้าวิศวะได้ ถ้าถูด้วยสีอะไร ก็จะเข้าคณะต่างๆ ได้ จริงไหมคะ มงคลตื่นข่าวหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจว่า อะไรเป็นมงคลตื่นข่าว ไม่ยาก แต่ต้องอาศัยการพิจารณาจริงๆ ว่า ในขณะนั้นตัวท่านมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อในสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่ในเรื่องกรรมของตนเอง หรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้ายังอาศัยบุคคลอื่น อาศัยวัตถุอื่นภายนอก คิดว่าเป็นสิ่งที่สามารถดลบันดาล หรือมีผลที่จะให้ความสำเร็จ ความสุขกับตัวท่าน โดยที่ไม่คิดถึงเลยว่า ต้องเป็นกุศลกรรมของท่านเองเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขทุกประการให้แก่ท่าน ไม่ใช่วัตถุภายนอกสิ่งอื่นเลย แต่ถ้าขณะใดลืม แล้วก็โน้มเอียงที่จะยึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดภายนอก ในขณะนั้นก็หมายความว่า มงคลตื่นข่าว เป็นผู้ยึดถือในมงคลตื่นข่าว ซึ่งมีมาก ใช่ไหมคะในชีวิตประจำวัน

    7895 เรื่องของมงคลตื่นข่าว ... ๒

    เรื่องอื่นยังมีอีกไหมคะ ที่เป็นมงคลตื่นข่าว เชิญค่ะ

    ถาม คือมีบุคคลที่นับถือศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก อย่างหลวงพ่อพระแก้วมรกต ก็มีคนนับถือมาก หรืออย่างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็มีผู้นับถือมาก แต่ละคนนั้นก็ปรารถนาความสำเร็จ อย่างพระแก้วมรกตก็มีคนบนบาน เช่น เอาไข่ต้มบนบานเพื่อขอให้สำเร็จผล ถ้าสำเร็จผลแล้วก็ต้องแก้บนตามที่ติดสินบนท่านไว้ หรือบางครั้งพระพุทธรูปที่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็จะติดสินบนโดยใช้ธูปเทียน หรือบางครั้งก็ปิดทองท่านด้วย ทีนี้ผมก็ขอเรียนถามอาจารย์ว่า ความเชื่อเช่นนี้จัดว่าเป็นมงคลตื่นข่าว หรือจะจัดว่าเป็นความเห็นอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ ใครต้องการไข่คะ ก่อนที่จะเอาไข่ไปให้ใคร ก็จะต้องพิจารณาว่า ใครต้องการไข่ เพื่อเหตุผลตามความเป็นจริง ซึ่งจะไม่เป็นผู้ที่ถือมงคลตื่นข่าว เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครๆ จะทำอะไรตามๆ ๆ กันไป อาจจะเป็น ๑๐๐ ปี ๒๐๐ ปี ๓๐๐ ปี จนถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี ท่านผู้ฟังก็ต้องพิจารณาว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้และทรงแสดงธรรมเพื่อต้องการไข่ หรือเพื่ออะไร ใครเป็นผู้ต้องการไข่ รู้ได้อย่างไรว่า ต้องการ จึงได้เอาไปให้ ต้องแสดงว่า มีผู้ต้องการ เมื่อผู้นั้นต้องการสิ่งใด ก็ให้สิ่งนั้น ทำไมไม่ใช่สิ่งอื่น ทำไมไข่ ต้องมีเหตุผลทุกอย่าง แต่ถ้ายังไม่ได้เหตุผล ก็ไม่จำเป็นที่จะท่านผู้ฟังจะต้องเชื่อหรือจะต้องทำตาม ท่านผู้ฟังอาจจะเคยทำตามมาแล้วมากในอดีต แต่ปัจจุบันนี้เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมจริงๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อจุดประสงค์อะไร เพื่อให้ผู้ฟังถวายไข่ หรือเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเหตุผลของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง เพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ท่านผู้ฟังทุกท่านพิจารณาเอง คิดเองได้ ใช่ไหมคะ กรรมอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคตรัสรู้และทรงแสดงเรื่องกรรม กรรมของใคร กุศลกรรมให้ผลเป็นกุศลวิบาก อกุศลกรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องไข่ไว้ในพระสูตรไหน มีไหมคะ เมื่อไม่มี ทำไมไม่พึงพระธรรม มีพระธรรมเป็นสรณะ ที่จะพิจารณาและประพฤติปฏิบัติตามได้ถูกต้อง ที่จะทำให้ไม่เกิดมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าไม่พิจารณา ก็ย่อมเป็นผู้มีความรักตนเป็นพื้นฐาน และไม่พิจารณาเหตุผลให้ตรงตามความเป็นจริงว่า กุศลวิบากทั้งหลายเป็นผลของกุศลกรรมของตน

    พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนใดถวายไข่ แต่ทรงแสดงเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป เรื่องของกุศลจิต อกุศลจิต และกุศลกรรม อกุศลกรรม กุศลวิบาก อกุศลวิบาก

    ยังมีการยึดถือมงคลตื่นข่าวอะไรอีกไหมคะ ท่านผู้ฟังจะเอาไข่ไปถวายไหมคะ คนอื่นไม่สำคัญ ตัวท่านเองค่ะ เพราะฉะนั้นพระอริยบุคคล เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในกรรมและในผลของกรรม เป็นผู้ที่มีกัมมสกตปัญญาจริงๆ ท่านเป็นผู้ไม่ยึดถือมงคลตื่นข่าว

    7896 เป็นผู้ที่มั่นคงขึ้นในเรื่องของกรรม

    มีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหมคะ ถ้าตราบใดที่ไม่มั่นคงในการอบรมเจริญปัญญาที่จะละ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ