ความจริงแห่งชีวิต [73] ชาติ ของจิต - กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

 
พุทธรักษา
วันที่  5 ส.ค. 2552
หมายเลข  13103
อ่าน  1,228

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาเรื่องชาติทั้ง ๔ ของจิต คือ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ จึงทำให้รู้ว่าจิตขณะใดเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ ​วิบากจิตข้างหน้า และจิตขณะใดเป็นวิบาก ​คือ ผลของเหตุที่ได้กระทำ​แล้วในอดีต ฉะนั้น การศึกษาเรื่องจิตซึ่งเป็นวิถีจิตและจิตที่ไม่ใช่วิถีนั้น จะต้องรู้ด้วยว่าจิตนั้นๆ เป็นชาติอะไร เช่น ปฏิสนธิ​จิตเป็นวิบาก​จิต ซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งในกรรมทั้งหลายที่ได้กระทำ​แล้วในอดีต เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตที่ทำ​กิจปฏิสนธิในภพหนึ่งชาติหนึ่งเพียงชั่วขณะเดียว จะทำ​กิจปฏิสนธิในชาตินั้นอีกไม่ได้เลย ทำได้เพียงชั่วขณะแรกขณะเดียวที่เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเท่านั้นแล้วปฏิสนธิจิตก็ดับไปไม่ยั่งยืนเลย


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนาขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ และ คุณแม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 6 ส.ค. 2552

"ปฏิสนธิจิต" เกิดขึ้น และ ดับไปไม่ยั่งยืนเลย

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
noynoi
วันที่ 6 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 6 ส.ค. 2552

"ปฏิสนธิจิต" เป็น "วิบากจิต" เกิดสืบต่อจากจุติจิต ผมขอเรียนถาม ดังนี้ครับ

๑. จุติจิตเกิดที่ทวารใด?

๒. ปฏิสนธิเกิดที่ใด?

๓. ปฏิสนธิอาศัยทวารใดเกิดขึ้น หรือไม่?

๔. กรรมทั้งหลาย ที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต (อนันตชาติ-ในสังสารวัฏฏ์) สั่งสมอยู่ในจุติจิตหรือไม่? กรรมนั้นส่งผลสืบต่อในปฏิสนธิจิตหรือไม่?

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 6 ส.ค. 2552

เรียน ความเห็นที่ 3

๑., ๒., ๓., ไม่ต้องอาศัยทวารใดๆ ครับ

๔. สะสมทุกขณะจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Sam
วันที่ 6 ส.ค. 2552

ขออนุญาตสนทนาด้วยครับ

๑. จุติจิตเกิดที่ทวารใด?

จุติจิตไม่ใช่วิถีจิต จึงไม่ต้องอาศัยทวาร (ทวารเป็น "ทางให้จิตเกิด" ไม่ใช่ "ที่เกิดของจิต" ครับ)

๒. ปฏิสนธิเกิดที่ใด?

ปฏิสนธิเกิดที่หทยวัตถุ (เช่นเดียวกับจุติจิต)

๓. ปฏิสนธิอาศัยทวารใดเกิดขึ้น หรือไม่?

ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่วิถีจิต จึงไม่ต้องอาศัยทวารเป็นทางให้เกิดขึ้นครับ

๔. กรรมทั้งหลาย ที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต (อนันตชาติ-ในสังสารวัฏฏ์) สั่งสมอยู่ในจุติจิตหรือไม่? กรรมนั้นส่งผลสืบต่อในปฏิสนธิจิตหรือไม่?

กรรมได้แก่เจตนาเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม กรรมทั้งหมดที่ได้ทำแล้วสะสมอยู่ในจิต ทุกดวงที่เกิดขึ้นทำกิจแล้วดับไป และจิตดวงก่อนเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ทำกิจในทันที

ส่วนการส่งผลหรือให้ผลของกรรมนั้น ควรกล่าวถึงวิบากจิตครับ ซึ่งปฏิสนธิจิตนี้ก็ เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่ง (กรรมเดียว) ที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 ส.ค. 2552

ปฏิสนธิเกิดที่หทยวัตถุ (เช่นเดียวกับจุติจิต) หมายความว่า หทยวัตถุ (รูปที่เป็นที่เกิดของจิตทั้งหมด ยกเว้น ทวิปัญจวิญญาณ) นั้นต้องเกิดพร้อมกับจุติจิต ขณะที่จุติจิตเกิด.? ต้องเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด.? ฉะนั้น จิตทุกขณะต้องมีที่เกิด คือ รูป (วัตถุ) และรูปที่เป็นที่เกิดของจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน และจิตขณะแรกของชาตินี้คือ หทยรูป.?

ขอเรียนถามว่า "หทยรูป" อยู่ที่ไหน ในขณะดังกล่าวข้างต้น และ มีลักษณะอย่างไรคะ.?

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 ส.ค. 2552

จากการค้นคว้าเพิ่มเติม

จิตอื่นๆ นอกจากนี้ เกิดที่รูปๆ หนึ่ง เรียกว่า หทยรูป เพราะเป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

รวม อวินิพโภครูป ๘ + ลักขณรูป ๔ + ปริจเฉทรูป ๑ + ปสาทรูป ๕ + หทยรูป ๑ เป็น ๑๙ รูป หมายความว่า หทยรูป เกิดที่ กลุ่มของรูป ๑๙ รูปนี้ และโดยบัญญัติ ก็คือ กลุ่มของรูป ที่ภาษาไทย เรียกว่า "ทารก" (ในชาติที่เป็นมนุษย์) ใช่ไหมคะ.?

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sam
วันที่ 7 ส.ค. 2552

หทยรูป เป็นรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ซึ่งเกิดในกลุ่มของหทยรูป ๑๐ รูป (หทยทสก กลาป) ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ + หทยรูป ๑ + ชีวิตินทริยรูป ๑ ครับ

หทยรูปเป็นกัมมชรูป ซึ่งกัมมชรูปทั้งหลาย จะหยุดเกิดก่อนจุติจิต (ดับ) ๑๗ ขณะ ดังนั้น จุติจิตจะต้องเกิดที่หทยรูป ที่เกิดมาแล้ว ๑๖ ขณะจิตก่อนจุติจิตนั้นจะเกิดครับ แล้วทั้งนาม (จุติจิต ๑ ขณะจิต) และกัมมชรูปทั้งหลายก็จะดับพร้อมกัน หมดสิ้นความเป็นบุคคลนั้น โดยไม่กลับมาอีกเลย

สำหรับปฏิสนธิจิตนั้น ผมเข้าใจว่าเกิดที่หทยรูปที่เกิดพร้อมกันครับ และหลังจาก ปฏิสนธิขณะแล้ว หทยรูปซึ่งเป็นกัมมชรูปจะเกิดขึ้นในทุกอนุขณะของจิตทุกดวง ซึ่ง จะเป็นหทยวัตถุในขณะที่เป็นที่เกิดของจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 ส.ค. 2552

ขอบพระคุณสำหรับคำอธิบายค่ะ อ่านตรงนี้แล้ว คงต้องใช้เวลาพิจารณานานพอสมควรและ คงต้องหาเวลาไปทบทวนบทเก่าๆ เรื่องรูปปรมัตถ์ ที่เขียนไปแล้ว

ขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pornpaon
วันที่ 8 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 8 ส.ค. 2552

จุติจิต และปฏิสนธิจิต ไม่อาศัยทวาร เช่นนี้แล้ว และกรรมทั้งหลาย ที่ได้กระทำแล้ว ในอดีต (อนันตชาติ-ในสังสารวัฏฏ์) ก็สั่งสมอยู่ในจิตทุกดวง มีหรือที่จะพ้นกรรมไปได้

ท่าน K ผู้เจริญ ท่านกล่าวว่า "ปฏิสนธิจิตนี้ก็เป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรมหนึ่ง (กรรมเดียว) ที่ได้กระทำแล้วในสังสารวัฏฏ์" ผมขอถามว่า

๑. กรรมทั้งหลายไปอยู่เสียที่ไหนเล่า?

๒. การดับสัญญาเจตสิกที่สั่งสมกรรมนั้นมีอยู่หรือ?

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Sam
วันที่ 8 ส.ค. 2552

คุณจำแนกไว้ดีจ๊ะอย่าเรียกผมว่าเป็นผู้เจริญเลยครับ

ผมเป็นเพียงผู้ศึกษา เพื่อทำความเข้าใจตามพระธรรมที่ท่านอาจารย์นำมาแสดงไว้ดีแล้วครับ การแสดงความคิดเห็นของผมก็เป็นไปตามความเข้าใจที่มีอยู่ ซึ่งยังต้องอาศัยเปิดตำราเพื่อตรวจสอบอยู่เสมอ และทั้งหมดเป็นข้อคิดเห็นครับ ไม่ใช่ข้อสรุป ก็คงต้องอาศัยสหายธรรมทั้งหลายช่วยกันตรวจสอบความถูกต้อง และท้วงติงกันต่อไปครับ

๑. กรรมทั้งหลายไปอยู่เสียที่ไหนเล่า?

กรรมทั้งหลายยังคงสะสมอยู่ในจิต (ซึ่งในกรณีนี้คือปฏิสนธิจิต) ไม่ได้หายไปไหนเลยครับ แต่วิบากอันเป็นผลของกรรมนั้น เป็นการให้ผลทีละขณะจิตที่สั้นแสนสั้น เหมือนกรรมทั้งหลายเป็นผลมะม่วงที่มีอยู่เต็มต้น นับจำนวนไม่ได้ แต่เวลาที่สุกงอมเต็มที่และร่วงลงสู่พื้น ก็ร่วงลงทีละลูกครับ ส่วนผลมะม่วงที่เหลือก็ยังอยู่ และรอคอยการสุกงอมของตัวต่อไป โดยต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่เหมาะสมครับ

๒. การดับสัญญาเจตสิกที่สั่งสมกรรมนั้นมีอยู่หรือ?

สัญญาเจตสิกซึ่งเป็นลักษณะที่จำ และเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรม เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง การดับสัญญาและเจตนานั้นมีอยู่ครับ คือจุติจิตของพระอรหันต์ อันเป็นจิตดวงสุดท้ายในสังสารวัฏฏ์

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 8 ส.ค. 2552

ท่าน K ผู้ศึกษาธรรม ผมเรียก ท่านผู้เจริญ เพราะท่านสนทนาธรรมโดยลำดับ เมื่อมี เหตุสงสัย ผมก็ตั้งประเด็นถาม ผมมีโอกาสฟังน้อย แต่อ่านมาก คิดมาก ถามมาก พอดี ไปหาเพื่อน กล่าวถึงการดับสัญญาที่จำกรรมไว้ ด้วยฌานขั้นที่ดับสัญญาได้

อนึ่ง ผมก็เคยอ่านปรมัตถธรรม ที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ดีแล้วเช่นกันว่า มีเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตหลายดวง อยากให้ท่านทบทวนจะได้ไหมว่ามีอะไรบ้าง ผมเหมือนเอาเปรียบ ได้แต่ถามไม่ค่อยจะอ่านหนังสือ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Sam
วันที่ 8 ส.ค. 2552

เรื่องการดับสัญญา (ชั่วคราว) ที่คุณจำแนกไว้ดีจ๊ะ ได้ยินได้ฟังมา คือ สัญญา เวทยิตนิโรธ หรือนิโรธสมาบัติ ซึ่งผู้ที่จะปฏิบัติได้ คือพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ผู้ได้สมาบัติ ๘ ครับ หากสนใจลองคลิกอ่านได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

สัญญาเวทยิตนิโรธ

นิโรธสมาบัติ

เมื่อท่านถาม ผมก็ได้โอกาสทบทวนว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง หรือสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้น มีอะไรบ้าง

๑. สัญญาเจตสิก

๒. เวทนาเจตสิก

๓. ผัสสเจตสิก

๔. เจตนาเจตสิก

๕. เอกัคคตาเจตสิก

๖. มนสิการเจตสิก

๗. ชีวิตินทริยเจตสิก

คำอธิบาย คลิกอ่านได้ที่นี่เลยครับ

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 9 ส.ค. 2552

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เจตสิก ๗ ดวงที่เกิดกับจิตทุกดวงนั้นเจตสิกดวงใดสะสมกรรม? ดับเสียได้ด้วยนิโรธสมาบัติหรือ?

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Sam
วันที่ 10 ส.ค. 2552

การสะสมของกรรมนั้น เป็นการสะสมอยู่ในจิต โดยจิตดวงก่อนที่ดับไปเป็นปัจจัยให้ จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทำกิจต่อเนื่องในทันที ซึ่งเป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกว่าจะดับจิตและเจตสิกทั้งหลายแบบถาวรด้วยจุติจิตของพระอรหันต์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 10 ส.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ