ถ้าเสียงมีลักษณะดัง แล้วได้ยินจะมีลักษณะอย่างไร

 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่  19 เม.ย. 2553
หมายเลข  15919
อ่าน  3,089

ขอเรียนถามว่า ถ้าเสียงมีลักษณะดัง แล้วได้ยินจะมีลักษณะอย่างไร ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 19 เม.ย. 2553

ได้ยินเป็นจิตประเภทหนึ่ง มีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ (อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ)

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 เม.ย. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก หรือ ชาติกิริยา ก็ตามมีลักษณะเดียว เท่านั้น คือ มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเกิดขึ้น ย่อมรู้อารมณ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไร (อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้) เช่น เสียง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน (โสตวิญญาณ) แต่เมื่อศึกษาในรายละเอียดของวิถีจิต ก็จะทราบได้ว่าจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางโสต-ทวาร ไม่ได้มีเฉพาะโสตวิญญาณเท่านั้นที่มีเสียงเป็นอารมณ์ แต่จิตทุกขณะที่เกิดขึ้นทางโสตทวาร รู้เสียงเหมือนกัน มีเสียงเป็นอารมณ์เหมือนกัน แต่รู้โดยกิจหน้าที่ที่ต่างกันเท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 20 เม.ย. 2553

ถ้าผมจะกล่าวว่าได้ยินก็ดังเหมือนเสียงที่เป็นอารมณ์นั่นแหละ ท่านวิทยากรว่าถูกไหมครับ ผมต้องขออภัย ถ้ากล่าวไม่ถูก ผมขอให้ท่านถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นของผมเองนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สามารถ
วันที่ 20 เม.ย. 2553

เสียง มีธรรมชาติที่ ดัง เป็นลักษณะ

ได้ยิน มีธรรมชาติที่ รู้ว่าดัง เป็นลักษณะ รู้ว่าดัง คือ บอกได้ว่า "นี้เสียงค่อย, นี้เสียงกังวาล, นี้เสียงแหลม, นี้เสียงทุ้ม, นี้เสียงผู้ชาย, นี้เสียงผู้หญิง, นี้เสียงประสาน, นี้เสียงแตก, นี้เสียงจากข้างบน, นี้เสียงจากข้างล่าง, นี้เสียงน้ำ, นี้เสียงเหร๊ยญกระทบกัน ฯลฯ " บอกลักษณะได้อย่างแจ่มแจ้ง

เมื่อมีเสียงหนึ่งดังขึ้น สัญญา นั้น รู้จัก ว่านี้เป็นเสียงของคุณพ่อไม่ใช่เสียงของคุณแม่หรืออย่างอื่น จิต/ได้ยิน นั้น รู้แจ้ง ว่าเสียงนี้ค่อนข้างแหลมปนค่อยไม่ทุ้มหรือดังมาก ปัญญา นั้น รู้ทั่ว ว่านี้เป็นสิ่งที่ถูกรู้...ถูกรู้ด้วยได้ยิน ขณะนี้เป็นอารมณ์ของได้ยิน เป็นสิ่งที่ไม่ได้รู้ เป็นนามธรรม (รู้ทั่วไปหมดทุกๆ อย่างในธรรมะคือเสียงนี้)

เมื่อเห็นเงา สัญญา นั้น รู้จัก ว่านี้เป็นเงาของโต๊ะ จิต/เห็น นั้น รู้แจ้ง ว่าเหลี่ยมๆ ดำ ตั้งนิ่งอยู่ ปัญญา นั้น รู้ทั่ว ว่าที่ชื่อว่าโต๊ะนี้นเป็นบัญญัติ นี้เป็นลักษณะที่ชิมไม่ได้ กำลังปรากฎอยู่ รู้อยู่ด้วยเห็น ตั้งอยู่ได้ด้วยรู้ที่ตานี้ มีได้ด้วยการเห็นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้รู้ เป็นรูปธรรม กำลังเป็นอารมณ์ของตา (รู้ทั่วไปหมดทุกๆ อย่างในธรรมะคือสี/วรรณธาตุนี้)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 20 เม.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ 3

ได้ยินเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตทำหน้าที่รู้ รู้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จิตได้ยินรู้เสียง จิตได้ยิน ไม่ดัง เพราะไม่ใช่ลักษณะของเสียง จิตรู้เท่านั้น ถ้าจิตได้ยินดังเหมือนเสียงที่ดังแล้ว ก็จะไม่มีการได้ยินอะไรเลย เพราะไม่มีธาตุรู้สภาพรู้เพราะมีแต่ความดัง แต่ไม่มีสิ่งที่ไปรู้ความดังเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 20 เม.ย. 2553

จิตได้ยินเกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะ รู้อารมณ์คือเสียงที่มากระทบแล้วดับทันที ไม่มีการ ตรึกนึกถึงเรื่องราวของเสียงว่า เป็นเสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงผู้หญิง เสียงจากข้าง นอก เสียงสัตว์ ฯลฯ เพราะปัญจทวารมีปรมัตถอารมณ์เท่านั้น......เสียงก็คือเสียง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 21 เม.ย. 2553

ครับ รู้อย่างเดียว แต่ไม่ใช่สภาพที่ดัง

ดุจเราได้ยินเสียงเพลง ก็เพียงได้ยิน แต่ไม่ใช่เราเป็นผู้ร้องเพลงนั้น เพลงจะเพราะหรือไม่เพราะ เสียงค่อย, เสียงกังวาล, เสียงแหลม, เสียงทุ้ม, เสียงผู้ชาย, เสียงผู้หญิง, เสียงประสาน, เสียงแตก เป็นต้น ดุจเราเห็นสิ่งสวยๆ งามๆ ก็เป็นความสวยงามของสิ่งนั้นๆ เราไม่ได้สวยงามไปด้วย เป็นต้นถามต่อครับ

1. การรู้ลักษณะที่ต่างกันของเสียงกับการได้ยินนี้ เราต้องประจักษ์ทุกขณะจิตทั้ง 17 ขณะหรือไม่ครับ?

2. ผมเข้าใจว่าเราสามารถจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนาม-รูปได้ที่ชวนวิถีจิตที่เป็นกุศลจิตเท่านั้น เพราะว่ากุศลจิตจะมีสติประกอบด้วยครับ ไม่ทราบว่าถูกไหมครับ?

3. จักขุทวารก็ดี อารมณ์ทางตาก็ดี ท่านกล่าวเป็นอันดับแรก ก่อนทวารอื่น อารมณ์อื่น เพราะเหตุใดครับ? เพราะเหตุว่ากามาวจรจิตยึดติดอารมณ์ทางตา คือ รูปสี มากกว่าอารมณ์อื่น หรือว่าอารมณ์ทางตารู้ได้ง่ายกว่าอารมณ์อื่นๆ ครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สามารถ
วันที่ 21 เม.ย. 2553

เรียนคุณ ไตรสรณคมน์

มโนทวารก็รู้ในเสียง (สัทธรูป) ได้ไม่ใช่หรือครับ? แม้จะไม่มี โสตประสาทรูป ก็ตาม

รบกวนขอความเห็นท่านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
prachern.s
วันที่ 21 เม.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ ๗

๑.ปัญญาระดับเราไม่สามารถรู้ละเอียดขนาดนั้นได้

๒.ส่วนมากก็รู้ในขณะแห่งชวนะ เพราะชวนจิตเกิดต่อเนื่องกันหลายขณะ

๓.เข้าใจว่าเป็นลำดับของเทศนาของพระพุทธองค์ และอีกส่วนหนึ่ง เพราะสัตว์ทั้งหลายยึดติดข้องในรูปทางตามาก จึงแสดงลำดับแรกครับ..

เรียนความเห็นที่ ๘

มโนทวารวิถี สามารถรู้เสียงได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 22 เม.ย. 2553

กราบขอบพระคุณครับ ท่านวิทยากร กราบขอบคุณครับ ท่าน prachern.s
ถ้าสัตว์ทั้งหลายยึดติดข้องในรูปทางตามาก คงยากที่จะประจักษ์ปรมัตถ์ในรูปทางตา

ผมขอแสดงความคิดเห็นครับจิตที่รู้ปรมัตถ์ พอให้ปัจจัยแก่จิตดวงใหม่แล้วก็ดับไป วิถึจิตใหม่ที่เกิดขึ้นจึงตรึกนึกถึงเรื่องราวของเสียงว่า เป็นเสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงผู้หญิง เสียงจากข้างนอก เสียงสัตว์ ฯลฯ ตามความคิดเห็นของท่านไตรสรณคมน์์โปรดแสดงความคิดเห็นด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 22 เม.ย. 2553

เรียนท่าน สามารถ

มโนทวารรู้เสียงได้ โดยการรับอารมณ์ต่อจากปัญจทวารค่ะ (โสตทวารวิถี) ถ้าไม่มีโสตปสาท เช่น คนหูหนวก การรับอารมณ์ทางทวารนี้จะมีไม่ได้เลยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
สามารถ
วันที่ 23 เม.ย. 2553

ผมเข้าใจในความหมายที่คุณไตรสรณคมน์ได้ช่วยอธิบายในข้อความที่ 6 ครับ คือหากมีการเรียกชื่อ/กำหนดฃื่อขึ้นเมื่อใด เมื่อนั้นเองไม่มีโลกทางปัญจทวาร การได้ยินจะไม่มี ข้อนี้เป็นความจริงที่สุดครับ แต่ในข้อความที่ 4 ผมตั้งใจจะอธิบายอย่างนี้ครับคือ การบอกได้ว่าเสียงนี้มีลักษณะ เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ นั้นมีเพียง "ได้ยิน" เท่านั้นที่จะบอกได้

แต่การสนทนาของเราเราจะอธิบายให้กันทราบว่า ลักษณะของเสียงเป็นอย่างนี้ๆ ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรดีครับ ก็เห็นจะมีเพียงแต่ทางนี้ในตอนนั้น (ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการพิจารณาจริงครับ) และด้วยผมเห็นว่า หากผู้อ่าน ผู้พิจารณาสามารถชี้บอกลักษณะของเสียงหลังจากการได้ยินอย่างนี้ได้ (ซึ่งเป็นมโนทวารไปแล้ว) ก็ยังดีที่จะได้เป็นปัจจัยให้ได้ระลึกศึกษาลักษณะของจิตได้ยินและเสียงว่าเป็นอย่างไร ...ก่อนที่จะมีการรู้ว่าแท้จริงแล้วขณะที่บอกลักษณะของเสียงว่า "นี้ดัง,ค่อย,ทุ้ม,..เสียงเบา" เป็นอาการของมโนทวารที่กำลังรู้ในบัญัติครับ

ผมเห็นว่าการศึกษาของเราจริงๆ แล้วนั้นเป็นเรื่องยากที่จะรู้จักลักษณะของได้ยินและเสียงโดยทันที่ โดยขาดการพิจารณาก่อน (ซึ่งเกิดทางมโนทวาร) ด้วยทุกขณะจิตนั้นรวดเร็ว ยกเว้นจะเป็นผู้ที่เคยได้สั่งสมความรู้นี้มาก่อนเท่านั้นที่จะเกิดการระลึกรู้ลักษณะของได้ยินและเสียงได้โดยทันที่หลังจากได้สดับเพียงครั้งแรก ผมเห็นว่าการละความตรงในปริยัติไว้ก่อนในบางครั้งทำให้เกิดการระลึกที่ตรงในลักษณะที่แท้จริงได้ครับ (ด้วยไม่ถูกปิดกั้นจาก ความกังวลว่ากลัวจะไม่ตรงตามปริญัติ/ความยึดติดในปริยัติว่าต้องเป็นอย่างนี้ๆ ) ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่มีแนวทาง (แม้แนวทางที่จะดำเนินตามปริยัติที่ถูกตรง) แต่เป็นผู้ดำเนินชีวิตตามปกติรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ออกจากห้วงแห่งความคิด (อรรถะ) สู่การพิจารณาความคิด (ลักษณะ) ต้องขอขอบพระคุณคุณ ไตรสรณคมน์ ที่ไม่ละเลยครับ ซึ่งผมควรอธิบายให้ละเอียดและตรงกว่านี้

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
BudCoP
วันที่ 15 พ.ค. 2553

โส พุทฺโธ มยา นมิตฺวา ธมฺโม อริโย สงฺโฆ จ

ปีติสุขํ อุปฺปาเทตฺวา ธมฺมสฺสากจฺฉํ กโรมิ

พระพุทธเจ้านั้น ข้าพเจ้าได้นอบน้อมแล้ว-

ทั้งพระธรรมและพระอริยสงฆ์ด้วย,

เมื่อยังปีติและสุข ให้เกิดขึ้นแล้วด้วยอุบายในโพชฌงค์อย่างนี้-

ข้าพเจ้าจะขอเข้าร่วมสนทนาธรรม.

สวัสดีทุกท่าน และขอโอกาสเข้าร่วมสนทนาอีกครั้ง ครับ.

วิสุทธิมรรค ปัญญานิทเทส

บ้านธัมมะ น่าจะเปิดสอนวิสุทธิมรรค และ อภิธัมมัตถสังคหะ แบบเป็นเรื่องเป็นราวบ้างนะครับ, ผมไปที่นี่ตั้งแต่ประมาณปี 48 ก็ไม่เห็นมีการเรียนเป็นเรื่องเป็นราวกัน มีแค่หยิบมาคุยกันผ่านๆ ไปเฉยๆ ปล่อยให้ไปเรียนอยู่ โชติกะบ้าง วัดระฆังบ้าง จะดีหรือครับ.

จากประเด็นที่แตกมาในกระทู้นี้ ควรทราบว่า ลักษณะมีทั้งปรมัตถ์และบัญญัติ ครับ, และควรทราบต่อไปว่า ทั้ง 2 ท่าน คือ คุณสามารถ และคุณไตรสรณคมน์ นั้น กล่าวออกมาเป็นลักษณะแบบบัญญัติเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ บัญญัตินั้นสื่อตรงและอ้อมต่างกัน. โดยพิจารณาจากประโยคนี้ .-

เสียง มีการกระทบหูเป็นลักษณะ มีวิสัยแห่งโสตวิญญาณเป็นกิจ มีโคจรแห่งโสตวิญญาณเป็นผล, มีมากอย่างโดยนัยเป็นต้นว่า เสียงกลอง เสียงตระโพน ฯลฯ

(จากวิสุทธิมรรค ปัญญานิทเทส)

ที่คุณสามารถกล่าวนั้น เอามาจากวิสุทธิมรรค ครับว่า "เสียงมีมากอย่างโดยนัยเป็นต้นว่า เสียงกลอง เสียงตระโพน ฯลฯ " อันนี้คือลักษณะในรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งใช้ทั้งสัททบัญญัติและอุปาทาบัญญัติมากล่าวเพื่อให้มโนทวารวิถีสามารถนึกถึงเสียงในสภาวะนั้นๆ ได้ ครับ, เหมือนกับที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกะทีฆนขปริพพาชกว่า "ก็กายนี้มีรูป เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด" ตรงนี้มีทั้งบัญญัติและปรมัตถ์ แต่ก็สื่อให้เห็นปรมัตถ์ทั้งนั้น อรรถกถาจึงอธิบายว่า ข้อความในทีฆนขสูตรตรงนี้เป็นการแสดงอารมณ์ของญาตปริญญา (วิสุทธิ 3-4/7) .

ส่วนที่คุณไตรสรณะคมณ์ว่ามานั้น อยู่ในวิสุทธิมรรค ย่อหน้าเดียวกับที่ผมยกมานั่นเอง. เป็นการใช้สัททบัญญัติมาอธิบายถึงปรมัตถ์, เหมือนกับลักขณาทิจตุกกะอื่นๆ นั่นเอง ครับ.

สรุปเบื้องต้นว่า .-

ทั้งสองท่าน ใช้ลักษณะแบบบัญญัติ มาอธิบายปรมัตถ์เหมือนกัน, แต่คุณสามารถ จะเพิ่มอุปาทาบัญญัติที่ใช้เข้าถึงลักษณะแบบปรมัตถ์ (ปัจจัตตลักษณะ) ที่ท่านแสดงไว้ในประโยคถัดมาด้วย.

ทั้งสองท่าน ล้วนพูดถูกและมีหลักฐานตามตำราเหมือนกัน ทั้งยังพูดเรื่องเดียวกัน ในย่อหน้าเดียวกัน ต่างกันที่คนละประโยค เท่านั้นเอง ครับ.

คำของทั้งสองท่านใช้ระลึกถึงลักษณะของสัททรูปได้เหมือนกัน.

แต่ทั้งสองท่าน (รวมถึงเจ้าของกระทู้) ยังบกพร่อง เพราะไม่แสดงตามพระพุทธพจน์ หรือ อรรถกถาตรงๆ ทำให้คนอื่นไม่ยอมรับได้ เป็นที่ ตั้งแห่งการถกเถียง เช่น ถ้าผมจะแย้งเจ้าของกระทู้และหลายๆ ท่านเพื่อเถียง (คงไม่ทำจริงเพราะไร้ค่า) ผมจะแย้งได้ว่า ตำราเล่มไหน สอนว่า เสียงมีปัจจัตตลักษณะมีลักษณะดัง? ถ้างั้นเสียงมด ก็ไม่ใช่เสียงหน่ะสิ เป็นต้น เพราะคำนี้ไม่มีในตำรา และ ยังไม่ใช่ลักษณะแบบปัจจัตลักษณะ เสียงนั้นแค่กระทบโสตปสาทะ ยังโสตวิญญาณให้เกิดได้ ก็พอแล้ว เบา หรือดัง ไม่เกี่ยง นี้จึงตรงตามคำสอน ครับ.

เอาเป็นว่า เท่านี้ผมคิดว่าทั้งสองท่านคงเข้าใจกันแล้วนะ, เดียวจะกลายเป็นตาแก่จู้จี้ขี้บ่นไป ครับ.

อธิบายเพิมจากหลักฐานและหลักฐานเพิ่มเติม (ประดับปัญญาบารมี) .-

ชีวิตของเราทั้งตอนเจริญบาปและเจริญบุญ ล้วนรู้สลับกันระหว่างปรมัตถ์และบัญญัติ เช่น เห็นสีแล้ว เราก็ต้องคิดว่า สีนี่ใช่อาจารย์สุจินต์ไหม ถ้าใช่ก็ต้องไหว้ หรือ กราบ เป็นต้น ซึ่งความจริงจะสลับกันไวกว่านี้มาก ครับ.

ในการเจริญวิปัสสนาก็เช่นกัน ในตำราหลายที่ที่ท่านแสดงว่า แม้แต่พลวอุทยัพยญาณ ก็ยังมีขันธ์กับอสมูหุปาทาบัญญัติ * เป็นอารมณ์ นอกจากนี้ ถ้าอ่านตามวิสุทธิมรรค คนที่เรียนทั้งปรมัตถ์และบัญญัติมาดี จนสังเกตแยกแยะออก จะยิ่งเห็นภาพว่า การเจริญ ศีล สมถะ และวิปัสสนา จะมีปรมัตถ์สลับกับบัญญัติสลับกันจนแยกกันไม่ได้เลย สมดังที่พระพุทธโฆสาจารย์ พระธัมมปาลาจารย์ พระอานันทาจารย์ พระสุมังคลมหาสามี เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ในตำราจริงๆ .

* หมายเหตุ : อสมูหุปาทาบัญญัติ คือ บัญญัติที่ไม่ได้ถือกันจากความเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งในที่นี้เจาะจงไปที่ไตรลักษณ์ (สามัญญลักษณะ) ครับ, พระสุมังคลมหาสามีท่านเรียกอย่างนี้, ส่วนพระธัมมปาลาจารย์นิยมเรียกตัชชาบัญญัติ, แต่อาจารย์โชฯ (ปริจเฉท 9) เรียกอาการบัญญัติ ซึ่งก็ใช้ได้เหมือนกัน, แต่ผมเรียกตามของพระสุมังคลมหาสามีเพราะชัดเจนที่สุด ครับ.

ใครอ่านโพสต์นี้ ไม่รู้เรื่อง ก็ให้ช่วยกันโหวตให้บ้านธัมมะของเรามีการเรียนวิสุทธิมรรค และ อภิธัมมัตถสังคหะอย่างจริงๆ จังๆ กันนะ ครับ, เพราะถ้าอ่านเรื่องวิธีปฏิบัติเหล่านี้ตามตำราไม่รู้เรื่อง ผมเชื่อว่า จะเหมือนคนที่เดินทางแต่จำไม่ได้และไม่เข้าใจแผนที่นั่นเอง คือ คงต้องหลงทาง หลุดมรรค ไปมิจฉามรรคแน่นอนโดยส่วนเดียว ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
สามารถ
วันที่ 16 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนากับคุณ BudCop ครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นผมก็ขอโหวตด้วยครับ

อยากให้คุณ BudCop ช่วยอธิบายหรือลิ้งแหล่งข้อมูลของคำว่า ปัจจัตตลักษณะ ครับ ผมจะได้ศีกษาเพิ่มเติมครับขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 16 พ.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 13 และ 14

ขอเชิญอ่านข้อความอันเป็นประโยชน์นี้ครับ เรื่อง อย่าเพิ่งไปไหน

บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

คุณอรวรรณ แต่ในการศึกษาเพื่อให้ทราบความละเอียดของวิถีจิต ก็จะเป็นความ อะไรที่ผู้ฟังผู้ศึกษาก็เหมือนกับว่า เป็นทั้งศัพท์บาลี ทั้งยุ่งยาก ทั้งอะไร ก็แยกแยะไม่ ออกว่า แล้วความละเอียดขนาดไหน ที่จะสามารถทำให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่ ปรากฎ

ท่านอ.สุจินต์ คุณอรวรรณมีเพื่อนหลายคน เพื่อนดีของคุณอรวรรณคือใคร ไม่ต้องเป็นชื่อ (บอกชื่อ) คนที่สามารถทำให้คุณอรวรรณมีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่ เห็นผิดเข้าใจผิดใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ถ้าเป็นเพื่อน ที่ดีเนี่ย จะพาให้คุณอรวรรณ ห่างไกลจากสิ่งที่ปรากฎ ไปสนใจในเรื่องที่คุณอรวรรณ ไม่สามารถจะรู้ได้ หรือ ให้รู้ว่าแม้สิ่งนี้มี แต่ก็ยากแสนยากเพราะว่าไม่เคยคิดจะเข้าใจ สิ่งที่ปรากฎจริงๆ นะคะ คิดเรื่องราวทั้งหมด เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง เป็น เรื่องราวนะคะ มากมาย แม้ขณะนี้ค่ะก็มีสิ่งที่ปรากฎทางตา แต่ก็เห็นเป็นคนนั้น คนนี้ เป็นอย่างนี้ไปทุกชาติ กับคนที่รู้ว่าทำไมไม่รู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฎซึ่งเป็นประโยชน์ สูงสุดที่จะรู้ว่า อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ

มิฉะนั้นก็พูดแต่ชื่อ ปรมัตถ์กับบัญญัติ บัญญัติเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ปรมัตถ์เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วเมื่อไหร่จะรู้จักตัวปรมัตถ์ละคะว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นใครจะพาคุณอรวรรณไปไหน ไกลไกล ตามไปหรือว่า ให้มาสู่การที่จะเข้าใจเห็นถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และกำลังจะมีต่อไปอีกนานแสนนาน

ถ้าไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฎขณะนี้จริงๆ ประโยชน์อะไรกับการที่มีเห็น แล้ว กี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้เลยว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นไม่อยากจะพาไปไหนนะคะ แต่ว่าให้ฟัง จนกระทั่งสามารถที่จะไม่สนใจสิ่งอื่นและก็กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฎเฉพาะหน้าจริงๆ ไม่ห่างเหินจากสิ่งที่ปรากฎเฉพาะหน้า

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
paderm
วันที่ 16 พ.ค. 2553

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ถามว่าจะต้องศึกษาปริยัติธรรมละเอียดสักแค่ไหน จึงจะปฏิบัติได้

ท่านอาจารย์สุจินต์ ซึ่งก็ขอเรียนให้ทราบว่าที่ว่าเป็นปริยัติธรรมที่ละเอียดนี้นะคะ ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลยแต่อยู่ที่ทุกท่านในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง เพียงแต่ว่า ท่านจะเข้าใจ "ลักษณะของสภาพธรรม" ที่กำลังเกิดและ กำลังปรากฏที่ตัวท่านแต่ละบุคคล ได้อย่างละเอียดแค่ไหน. แม้ไม่ทราบเรื่องของปัจจัยโดยละเอียด ก็ทราบว่า สภาพธรรรมที่กำลังเกิด และปรากฏในขณะนี้เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง เช่น กำลังเห็น เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม ได้ยินเป็นนามธรรม เป็นต้น

นี่คือเข้าใจโดยความไม่ละเอียดเพราะว่าแม้จะเข้าใจอย่างนั้น ก็ยังยึดถือเห็น ยึดถือได้ยินยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตา ยึดถือเสียงที่ปรากฏทางหู ฯลฯ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุต่างๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม ก็ยังไม่พอ.

เพราะฉะนั้น ที่จะปฏิบัติธรรมไม่ใช่รอให้เรียนจบ หรือให้ละเอียดถึงขั้นนั้น ขั้นนี้ แต่ขณะใด ที่ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ เกิดขึ้น และปรากฏ และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเป็น "สังขารขันธ์" ปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นและ ระลึกได้ ตามที่เข้าใจแล้ว ว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง คือ ความเข้าใจว่า ที่ไม่ใช่ตัวตนนั้น หมายความว่า สภาพธรรมใดที่ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะว่า สภาพธรรมนั้นเป็น นามธรรม ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือ เป็น รูปธรรม ชนิดใดชนิดหนึ่ง.

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 16 พ.ค. 2553
ผมกลับมาอ่านกระทู้นี้อีกครั้ง อ่านถึงความคิดเห็นที่ 13 แล้วผมก็หยุดไปชง Chocolate เพื่อจะดื่ม แต่น้ำยังไม่ร้อน จึงเสียบกระติกน้ำร้อน ผมเท Chocolate แบบซองใส่แก้วทิ้งรอไว้ แล้วนั่งคอยที่โต๊ะอาหาร พอดีมีคนเข้ามาจึงบอกให้เขาชงให้ ส่วนผมนั่งกินขนมเปี๊ยะไปพลาง ผมอยากมีอายุยืน เมื่อเช้าไปออกกำลังกายปั่นจักรยาน เลยรู้สึกหิว เมื่อวานไปทำบุญคนข้างบ้านอายุครบ 7 รอบ 84 ปี เขายังปั่นจักรยานได้ ยังมีอาจารย์ที่มาร่วมงานอีกคนอายุ 94 ปี ดูยังไม่แก่ ทุกคนอารมณ์ดี คงเจริญด้วยพรสี่ประการ ไม่ใช้อายุยืนอย่างเดียว พอเขาชง Chocolate มาให้ ผมยังไม่ดื่มทันที่เพราะผมคิดว่า ปัจจัตตลักษณะของมันร้อน ทำให้ลิ้นพองได้ พอดื่มไปหนึ่งจิ๊บไม่หวานเพราะผมเพิ่งกินขนมเปี๊ยกไป ผมลุกไปหยิบกระปุกน้ำตาลทรายมาเติมไปหนึ่งช้อน หวานเกินไปหน่อย ทำไมเมื้อกี้มันจืดจัง นี่มันน้ำตาลอะไรหว่า แต่ช่างมันๆ เราไม่ติดในรส แต่สงสัยว่าปัจจัตตลักษณะของรส (น้ำตาล) มันเป็นอย่างไร จะเป็นที่ลิ้นรู้ก็ไม่ใช้ จิ๊บแรกจืดกว่าขนมเปี๊ยก จิ๊บสองหวานไป ขอเชิญท่านทั้งหลายสนทนาธรรมครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
BudCoP
วันที่ 16 พ.ค. 2553

เรียน คุณสามารถ :

ปัจจัตตลักษณะ คือ ลักษณะที่ท่านอาจารย์พูดถึงบ่อยที่สุด ได้แก่ ลักษณะในลักขณาทิจตุกกะ ที่มาในหลายคัมภีร์, สามารถศึกษาได้ในอรรถกถาธัมมสังคณีปกรณ์, ใน วิสุทธิมรรค หมวดของวิปัสสนา ได้แก่ ปฐวีกสิณนิทเทส (วิตก วิจาร ปีติ สุข อุเบกขา ในตอนว่าด้วยเรื่องขององค์ฌาน) จตุธาตุววัตถาน (ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ) และ ขันธนิทเทส (วิปัสสนาภูมิที่เหลือ) เช่น

ปฐวีธาตุ

กกฺขฬ (ตฺต) ลกฺขณา มีความแข็ง เป็นลักษณะ ปติฏฺฐาน รสา มีการทรงอยู่ เป็นกิจ สมฺปฏิจฺฉน ปจฺจุปฏฺฐานา มีการรับไว้ เป็นผล อวเสสธาตุตฺตย ปทฏฺฐานา มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้

เป็นต้น

เรียน คุณ paderm :

ขอบคุณ ครับ สำหรับคำแนะนำ ผมจะพยายามนำมาประพฤติตามเท่าที่เป็นไปได้ ครับ.

เห็นคุณ paderm น่าจะมีความรู้มากท่านหนึ่ง จึงมีคำถามอยากเรียนถามว่า.-

อยากทราบว่า ลักษณะของมานะ, การยกตน, การข่มผู้อื่น, การไม่พอใจเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่า นั้นมีลักษณะอย่างไร

ลักษณะเหล่านี้ นอกจากสังเกตที่สภาพธรรมแล้ว เบื้องต้นเราจะค้นในคำสอนที่พอจะเป็นแนวทางได้จากคัมภีร์ไหนบ้าง

พอจะมีตัวอย่างของผู้ที่มีมานะกล้า และ ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน จากพระไตรปิฎก-อรถกถาเล่มไหนบ้าง

ขออนุโมทนา สำหรับคำตอบจากท่านผู้มีความรู้ล่วงหน้า ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
paderm
วันที่ 17 พ.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 18

1.อยากทราบว่า ลักษณะของมานะ, การยกตน, การข่มผู้อื่น, การไม่พอใจเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่า นั้นมีลักษณะอย่างไร เชิญคลิกอ่านที่นี่มานะ [ธรรมสังคณี]

มานะ มานสัญโญชน์

มานะ [สังคีติสูตร]

อธิมานะ [สัลเลขสูตร] ไม่พึงยกตน ไม่พึงข่มบุคคลเหล่าอื่น [เถรคาถา]

สำหรับการยกตน ข่มผู้อื่น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 343

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 90

สำหรับ การไม่พอใจเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่า เชิญคลิกอ่านที่นี่

อิสสามีลักษณะอย่างไร

อิสสา

2. ลักษณะเหล่านี้ นอกจากสังเกตที่สภาพธรรมแล้ว เบื้องต้นเราจะค้นในคำสอนที่พอจะเป็นแนวทางได้จากคัมภีร์ไหนบ้าง หลักฐานอยู่ในกระทู้ที่ให้ลิ้งอ่านแล้วครับ

3. พอจะมีตัวอย่างของผู้ที่มีมานะกล้า และ ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน จากพระไตรปิฎก-อรรถกถาเล่มไหนบ้าง

ผู้มานะกล้า เช่น มานัตถัทธพราหมณ์และท่านพระเชนตปุโรหิตปุตตเถระผู้ไม่ไหว้แม้บิดา มารดา เป็นต้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 283

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 201

ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระสุนีตะ ท้าวสักกะ เป็นต้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 437

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 358

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 757 ฆฏสูตร

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
BudCoP
วันที่ 17 พ.ค. 2553

อ่านบ้างแล้ว ครับ, มีบางที่ยังตกหล่นอยู่ รบกวนพิจารณาข้อความที่โพสต์ไนกระทู้นั้นๆ ด้วย ครับ.

ขอบคุณและอนุโมทนากุศลจิต ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
ชีวิตคือขณะจิต
วันที่ 18 พ.ค. 2553

ผมอ่านเรื่อง "สุนีตเถรคาถา" แล้วครับ ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ