ว่าด้วยการค้าขาย [วาณิชชสูตร]
[เล่มที่ 35] พระสุตตันต ปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 239
๙. วณิชชสูตร
ว่าด้วยการค้าขาย
[๗๙] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้การค้าขายอย่างเดียวกัน พ่อค้าบางคนประกอบแล้วขาดทุน บางคนประกอบแล้วได้กำไร ไม่เท่าที่ประสงค์ บางคนประกอบแล้วได้กำไรตามที่ประสงค์ บางคนประกอบแล้วได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์
พ. ตรัสตอบว่า ดูก่อนสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้เข้าไปหาสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี ปวารณาสมณะหรือพราหมณ์นั้นให้บอกขอปัจจัยได้บุคคลนั้นปวารณาด้วยปัจจัยใด ไม่ให้ปัจจัยนั้น (แก่สมณพราหมณ์นั้น) บุคคลนั้นถ้าตายจากอัตภาพนั้นมาสู่อัตภาพนี้ หากประกอบการค้าขายอันใด การค้าขายอันนั้นย่อมขาดทุน ส่วนบุคคลบางคน เข้าไปหาสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี ปวารณาสมณะหรือพราหมณ์นั้นให้บอกขอปัจจัยได้ บุคคลนั้นปวารณาด้วยปัจจัยใด ให้ปัจจัยนั้นไม่เท่าที่ (สมณพราหมณ์นั้น) ประสงค์ บุคคลนั้นถ้าตายจากอัตภาพนั้นมาสู่ อัตภาพนี้ หากประกอบการค้าขายอันใด การค้าขายนั้นย่อมได้กำไรไม่เท่าที่ประสงค์ ส่วนบุคคลบางคน เข้าไปหาสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี ปวารณาสมณะหรือพราหมณ์นั้นให้บอกขอปัจจัยได้ บุคคลนั้นปวารณาด้วยปัจจัยใด ให้ปัจจัยนั้นตามที่ (สมณพราหมณ์นั้น) ประสงค์ บุคคลนั้นถ้าตายจากอัตภาพนั้นมาสู่อัตภาพนี้ หากประกอบการค้าขายอันใด การค้าขายอันนั้นย่อมได้กำไร ตามที่ประสงค์ ส่วนบุคคลบางคน เข้าไปหาสมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี ปวารณาสมณะหรือพราหมณ์นั้นให้บอกขอปัจจัยได้ บุคคลนั้นปวารณาด้วยปัจจัยใด ให้ปัจจัยนั้นยิ่งกว่าที่ (สมณพราหมณ์นั้น) ประสงค์ บุคคลนั้นถ้าตายจากอัตภาพนั้นมาสู่ อัตภาพนี้ หากประกอบการค้าขายอันใด การค้าขายอันนั้นย่อมได้กำไรยิ่ง กว่าที่ประสงค์ ดูก่อนสารีบุตร นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้การค้าขายอันเดียวกันพ่อค้าบางคนประกอบ แล้วขาดทุน บางคนประกอบแล้วไม่ได้กำไรเท่าที่ประสงค์ บางคนประกอบแล้วได้กำไรตามที่ประสงค์ บางคนประกอบแล้ว ได้ กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์
จบวณิชชสูตรที่ ๙
แล้วพวกฝรั่งที่รวยกัน เค้าไม่มีสมณะให้ทำบุญ เค้ารวยกันด้วยเหตุอะไร รวยมากกว่าชาวพุทธเสียหลายเท่าตัว
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นความจริงที่ลึกซึ้งจากพระปัญญาตรัสรู้ ด้วยพระบารมีที่สั่งสมอย่างยาวนานและยากยิ่งนั้นค่อยๆ ชำระขัดเกลาจิตของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย จิตที่ละเอียด ประณีต ผ่องใส บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส มีกำลัง ปัญญาของพระพุทธองค์ จึงไม่มีผู้ใดจะถึงได้ ด้วย ทสพลญาณ คือ พระญาณเป็นกำลังของพระพุทธเจ้า ๑๐ ประการ ซึ่งประการหนึ่งในนั้นคือ การระลึกชาติในอดีตที่ผ่านมายาวไกลแสนไกล จนอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีที่สุดสิ้น ดัง พระไตรปิฎก ขีรสูตร ที่ทรงตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ โดยกาลนานนี้ดื่มแล้ว กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไหนจะมากกว่ากัน ฯ
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว น้ำนมมารดาที่พวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ โดยกาลนานดื่มแล้วนั่นแหละมากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ฯ
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว น้ำนมมารดาที่พวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่โดยกาลนานดื่มแล้วนั่นแหละ มากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ
เหตุนี้ ทุกชีวิตที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นชาติชั้นวรรณใด เป็นสัตว์ มนุษย์ เทวดา หรือพรหม ต่างก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปทั้งสิ้น กรรมจำแนกให้เป็นบุคคลฐานะต่าง ได้อยู่ในภูมิประเทศไหนก็ตาม ไม่พ้นความจริง คือเป็นสภาพธรรม การเป็นชนเชื้อชาติใด ประเทศใด เป็นคำที่สมมติเรียกกันเท่านั้น ทุกชีวิตที่ยังได้เกิด ล้วนต่างก็มีอดีตชาติที่ยาวนาน ทำกรรมฝ่ายต่างๆ ไว้มากมายนับไม่ถ้วน สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายเหตุในอดีตชาติ ไม่รู้ว่าชาติไหน ก็ให้ผลพบความทุกข์ยาก หรือ สุขสบายต่างๆ กันไป
สำคัญที่สุดที่ควรพิจารณาบ่อยๆ คือ ทุกขณะในชาตินี้ กำลังจะเป็นเหตุ ให้เกิดผลของชาติต่อๆ ไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจจะมีข้อสงสัยอีกว่า ทำไมเราต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมคนนั้นเป็นอย่างนั้น ความสงสัยนี้จะค่อยๆ คลาย เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นคำที่มีคุณค่า เกื้อกูลต่อการอบรมสติปัญญา ด้วยทรงมีพระมหากรุณาชี้ให้สัตว์โลกที่ได้ฟัง เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณของกุศล เข้าใจความเป็นเหตุและผล ที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด เหตุฝ่ายอกุศล คือบาปที่สำเร็จแล้ว ย่อมให้ผลที่เป็นทุกข์ เหตุฝ่ายกุศล คือบุญที่สำเร็จแล้ว ย่อมให้ผลที่เป็นสุข และที่สำคัญ บุญมีถึง 10 ประการ ไม่ได้มีเพียงการทำกับสมณะเท่านั้น แม้การให้ช่วยเหลือชีวิตอื่นให้พ้นจากความเดือดร้อน การบูชาผู้ที่มีคุณควรบูชา การเคารพอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรเคารพเช่น บิดามารดา ผู้มีพระคุณ การยินดีในความดีของผู้อื่น การอุทิศกุศลให้ผู้อื่น การศึกษาพระธรรม การแสดงธรรม การมีความเห็นที่ถูกต้อง ก็เป็นบุญ
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
สัตว์โลกตายแล้วไปไหน และอะไรตาย
ขออนุโมทนา ค่ะ