ทำอย่างไรจึงจะระวังรักษาจิตไม่ให้ตกไปในกิเลสและอกุศลทั้งหลาย?

 
namarupa
วันที่  14 พ.ค. 2553
หมายเลข  16164
อ่าน  1,317

การระวังรักษาจิตของเราให้ดี... ไม่ให้ตกไปในกระแสของกิเลสอกุศลทั้งหลาย

ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แต่ถ้าเราไม่เริ่มที่จะหมั่นสังเกต.....พิจารณาในจิตที่

กำลังเป็นกุศลหรืออกุศล...เราก็จะตกเป็นเหยื่อของอกุศลอยู่เรื่อยไปไม่มีวันลด

รา แล้วเมื่อไหร่ เราถึงจะเริ่มต้นเสียที โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์บ้าน

เมืองที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ทำอย่างไร? เราถึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อขอกิเลส

อกุศลทั้งหลาย ที่กำลังถาโถมเข้ามา เป็นสิ่งที่พวกเรากำลังโดนทดสอบอยู่

วันเสาร์ที่ ๑๕ นี้ท่านอาจารย์ได้รับเชิญจากกลุ่มธรรมภาคภาษาอังกฤษ กลุ่มเล็ก

ๆ ไปร่วมสนทนาธรรมที่บ้านคุณหมอหนู่มที่นนทบุรี คงจะมีโอกาสได้ฟังข้อ

ธรรมดีๆ จากท่านอาจารย์มากมาย ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นในหัวข้อของการเมืองด้วย

และคาดว่าคำตอบจากท่านก็คงไม่พ้นไปจากเรื่องของธรรมอย่างแน่นอน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Pinyapachaya
วันที่ 14 พ.ค. 2553

ความเยอะ ความถี่ ของอกุศลในชีวิตประจำวันนั้นพรรณนาทั้งวันก็คงไม่หมด

ขนาดว่านั่งฟังธรรมอยู่ทั้งวัน รู้สึกเบาเป็นระยะๆ เท่านั้น ไม่ได้เบาทั้งวัน

เพราะยังเกิดอกุศลแทรกเป็นระยะๆ ตลอดเลยค่ะ มีเบื่อ มีคิดเรื่องอื่น วิจิตรมาก

พอเห็นว่าตนเองเกิดอกุศลถี่จัง ก็เริ่มรำคาญตัวเองอีก

เป็นอกุศลเพราะรำคาญอีก หรือพอฟังธรรมเข้าใจ อกุศลก็เกิดต่อทันทีอีก

ก็เป็นโลภะพอใจว่าเราเข้าใจธรรมต่อทันที ไวมาก เป็นสภาพในใจที่น่ารังเกียจ

แต่ถ้าไม่รู้ทัน ก็จะพอใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่รู้เลยว่าเป็นอกุศล

หรือฟังธรรมอยู่ดีๆ เจอตอนที่ทำให้คิดจนมานะเกิด คิดเปรียบเทียบกับคนอื่นอีก

อคติแบ่งแยกตามมาอีก

นี่ขนาดฟังธรรมนะ แล้วเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อการละคลาย จะวุ่นวายขนาดไหน

สติเกิดน้อยมาก อกุศลในชีวิตประจำวัน เหมือนอะไรที่เหนียวเหนอะ

ติดแน่นและเพิ่มจำนวนอยู่ตลอดเวลา

เหตุเพราะการสะสมด้านอกุศลมาเยอะในอดีต นับชาติไม่ถ้วน

ซึ่งส่วนใหญ่ปุถุชนทั่วๆ ไปก็มักจะเป็นแบบนั้น

คือเป็นอกุศลเกือบจะตลอดเวลา แต่ไม่เห็นโทษ เพราะโลภะน่าพอใจไปหมด

ซึ่งก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจต่างๆ ตามมามากมาย

แต่โลภะก็เป็นสิ่งที่ละยากที่สุด ที่ควรละก่อนอื่นคือละความเห็นผิด

คือความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ซึ่งจะละได้ ก็ไม่ง่าย ต้องอาศัยการสะสมความเข้าใจ

ถ้าไม่เจอกัลยาณมิตรหรือสัปบุรุษ ที่ชักชวนให้ศึกษาพระธรรม ก็จะยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ

ยากที่จะลดละอกุศลของตนเอง เพราะสะสมความเข้าใจผิดเพิ่มขึ้นทุกวัน

พอมาศึกษาพระธรรมถึงได้รู้ว่าอกุศลตนเองนั้นมากมายเหลือเกิน

ทำให้คิดได้ว่า เรื่องเล็กน้อยแค่นี้ยังละไม่ได้ แล้วจะพ้นไหม

ยิ่งรู้แบบนี้ ยิ่งต้องเพียรระลึกศึกษาพระธรรม ประพฤติธรรมทั้งทาน ศีล ภาวนา

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสะสมความเข้าใจที่จะละคลายอกุศล

แม้การให้ทานเล็กๆ น้อยๆ ก็สะสมจนทำให้ระลึกได้ทันว่าที่แข่งขันกับคนอื่น

เพราะไม่ยอมให้ เพราะมานะ เพราะอคติ เพราะอิสสา ตระหนี่ มากันเป็นเซ็ท

กับคนที่เราไม่ชอบ ไม่พอใจ ก็เพราะอกุศลของเราเองทั้งนั้น ซึ่ง

ดิฉันเห็นว่านี่คงจะเป็นทางออกทางเดียวของการละคลายอกุศล นั่นก็คือ

สร้างเหตุที่สมควรแก่ผล

สะสมเหตุที่ดี เพื่อผลที่ดี

เริ่มจากคบกัลยาณมิตร หากไม่มีกัลยาณมิตรที่เป็นคน ก็คบกับพระธรรม

ระลึกศึกษาพระธรรมและพิจารณาถึงเนืองๆ

เป็นเหตุให้เกิดศรัทธาเจตสิกถี่ขึ้น (ศรัทธาที่แท้ต้องน้อมไปทางกุศลเท่านั้น)

น้อมเข้ามาเรื่อยๆ จนเป็นอาจิณ เป็นอุปนิสัย

เป็นเหตุให้พิจารณาในใจโดยแยบคายมากขึ้นตามลำดับ

เป็นเหตุให้เกิดสติและปัญญาที่เป็นเครื่องกั้นกิเลสได้ตามลำดับ

สะสมต่อเนื่องกันตามลำดับ (ไม่รวดเร็ว แต่เป็นเส้นทางเดียวที่มีเหตุต่อเนื่องกัน)

ไม่หยุดสะสมเหตุที่ดีในแต่ละโมงยาม เพราะอายุมนุษย์นั้นน้อย 100ปีก็ยังไม่พอ

เพื่อค่อยๆ สมควรแก่การละคลายหรือดับอกุศลได้ในที่สุด

ดังที่พระสูตรนี้กล่าวไว้ พระพุทธองค์ท่านทรงเรียงลำดับได้งดงามจับใจมากค่ะ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 197

ยมกวรรคที่ ๒

๑. อวิชชาสูตร

ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ

....

.... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา

ควรจะกล่าวว่า นิวรณ์ ๕

แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕

ควรกล่าวว่า ทุจริต ๓

แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของทุจริต ๓

ควรกล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์

แม้การไม่สำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่สำรวมอินทรีย์

ควรกล่าวว่า ความไม่มีสติสัมปชัญญะ

แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ

ควรกล่าวว่า การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย

ควรกล่าวว่า ความไม่มีศรัทธา

แม้ความไม่มีศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา

ควรกล่าวว่า การไม่ฟังสัทธรรม

แม้การไม่ฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม

ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้

การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์

ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์

การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์

ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์

ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์

ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์

การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์

ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์

ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์

ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์

การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์

ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์

ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์

นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์

ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์

อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่

น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม

ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม

หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม

แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม

แม่น้ำใหญ่ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม

มหาสมุทรสาครนั้น มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้

แม้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์

ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์........

นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์

อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ฉันนั้น เหมือนกันแล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ

ควรกล่าวว่าโพชฌงค์ ๗

แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็ควรกล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗

ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔

แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอะไร

ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔

ควรกล่าวว่า สุจริต ๓

แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓

ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์

แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์

ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ

แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ

ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย

ควรกล่าวว่า ศรัทธา

แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธา

ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม

แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม

ควรกล่าวว่า การคบสัปบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้

การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์

ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์

การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์

ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์

ศรัทธาที่บริบูรณ์

ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์

การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์

ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์

สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์

ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์

การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์

ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์

ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์

ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์

โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์

ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้

และบริบูรณ์อย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝนตกหนักๆ อยู่

น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม

ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม

หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม

แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม

แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม

มหาสมุทรสาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้

แม้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์

ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์......

โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้

และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

จบอวิชชาสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Pinyapachaya
วันที่ 14 พ.ค. 2553

แม้เหตุการณ์ในบ้านเมืองจะเสื่อมรอบ แต่อย่าให้ปัญญาเสื่อม

เมื่อบ้านเมืองกำลังเสื่อม ควรระลึกถึงเรื่องที่สำคัญสุด คือ

"การเจริญและเสื่อมของปัญญา"

พระพุทธองค์ทรงตรัสย้ำเรื่องการเจริญปัญญานี้ ว่าเลิศที่สุด

และถ้าเสื่อม ก็ชั่วร้ายที่สุด

บ้านเมืองหรือเรื่องคนอื่นจะเสื่อม ก็แก้ไม่ได้ เพราะเป็นการสะสมของแต่ละคน

เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมแล้ว ตามเหตุปัจจัย

วิบากของใครของมัน

เราอาจช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อแบ่งปันได้ ตามความเหมาะสมตามกำลัง

แต่ถ้ามนุษย์พยายามไปจัดการ พยายามแก้ไขปัญหาโลก (แตก)

พิจารณาเนืองๆ กับปัญหาโลก

อาจยิ่งทำให้ปัญญา (ทางธรรม) เสื่อม และมีส่วนของความเป็นบ้า

ความเจริญที่ประเสริฐที่สุด

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ – หน้าที่ 143

[๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ความเจริญด้วยญาติมีประมาณน้อย

ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นแหละ

เธอทั้งหลายพึงสำเนียกอย่างนี้ว่า

เราทั้งหลายจักเจริญด้วยปัญญา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเนียกอย่างนี้แล.

[๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ความเสื่อมแห่งโภคะมีประมาณน้อย

ความเสื่อมแห่งปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าควานเสื่อมทั้งหลาย.

[๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ความเจริญด้วยโภคะมีประมาณน้อย

ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายพึงสำเนียกอย่างนี้ว่า

เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญปัญญา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเนียกอย่างนี้แล.

[๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ความเสื่อมยศมีประมาณน้อย

ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย.

[๘๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ความเจริญด้วยยศมีประมาณน้อย

ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงสำเนียกอย่างนี้ว่า .

เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญด้วยปัญญา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Unclemax
วันที่ 14 พ.ค. 2553
สาธุครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 14 พ.ค. 2553

กุศลจิตเปรียบเหมือนเพื่อนสนิท เหมือนญาติ ให้ผลเป็นความสุข

อกุศลจิตเปรียบเหมือนศัตรู ทำลายความดี อกุศลให้ผลเป็นทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 15 พ.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผิน
วันที่ 15 พ.ค. 2553

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 15 พ.ค. 2553

จะทำเมื่อไหร่ก็ผิดเมื่อนั้น เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น

เดือดร้อนในอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะลืมว่าเป็นธรรมและเป็นอนัตตา อกุศลเกิดแล้วมีจริง

กุศลเกิดแล้วมีจริง เป็นสิ่งที่ควรรู้ รู้ก่อนว่าเป็นธรรมจึงละได้ สำคัญคือฟังให้เข้าใจ อยู่ด้วยความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Komsan
วันที่ 15 พ.ค. 2553

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
คุณ
วันที่ 17 พ.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wannee.s
วันที่ 21 พ.ค. 2553

ถ้าปัญญาเกิด ขณะนั้นก็รู้ว่าอกุศลก็เป็นธรรมะที่ไม่ใช่เราค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
อภิรมย์
วันที่ 21 พ.ค. 2553

สาธุ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Preawpraw
วันที่ 15 ก.ค. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ