อามคันธสูตร ... เสาร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 ต.ค. 2553
หมายเลข  17331
อ่าน  3,985

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมที่

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๖ ต.ค. ๒๕๕๓

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

อามคันธสูตร

ว่าด้วยมีกลิ่นดิบและไม่มีกลิ่นดิบ

จาก ...

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 80 - 112


นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 80 - 112

อามคันธสูตรที่ ๒

ว่าด้วยมีกลิ่นดิบไม่มีกลิ่นดิบ

ติสสดาบสทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ด้วยคาถา ความว่า

[๓๑๕] สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้แล้วโดยธรรม หาปรารถนากาม กล่าวคำเหลาะแหละไม่.

ขาแตพระผูมีพระภาคเจาพระนามวากัสสปะ พระองคเมื่อเสวยเนื้อชนิดใด ที่ผูอื่นทําสําเร็จดีแลว ตบแตงไวถวายอยางประณีต เมื่อเสวยขาวสุกแหงขาวสาลี ก็ชื่อวายอมเสวยกลิ่นดิบ.

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่นดิบย่อมไม่ควรแก่เรา แต่ยังเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีกับเนื้อนกที่บุคคลปรุงดีแล้ว.

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้อนี้กะพระองค์ว่า กลิ่นดิบของพระองค์มีประการอย่างไร.

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูดเท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การเรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย.

ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย ยินดีในรสทั้งหลาย เจือปนด้วยของไม่สะอาด มีความเห็นว่าทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล มีการงานไม่เสมอ บุคคลพึงแนะนำได้โดยยาก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย.

ชนเหล่าใดผู้เศร้าหมอง หยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านี้ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย.

ความโกรธ ความมัวเมา ความเป็นคนหัวดื้อ ความตั้งอยู่ผิด มายา ริษยา ความยกตน ความถือตัว ความดูหมิ่น และความสนิทสนมด้วยอสัตบุรุษทั้งหลาย นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย.

ชนเหล่าใดในโลกนี้ มีปกติประพฤติลามก กู้หนี้มาแล้วไม่ใช้ พูดเสียดสี พูดโกง เป็นคนเทียม เป็นคนต่ำทราม กระทำกรรมหยาบช้า นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย.

ชนเหล่าใดในโลกนี้ มีปกติไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ชักชวนผู้อื่นประกอบการเบียดเบียน ทุศีล ร้ายกาจ หยาบคาย ไม่เอื้อเฟื้อ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย.

สัตว์เหล่าใดกำหนัดแล้วในสัตว์เหล่านี้ โกรธเคือง ฆ่าสัตว์ ขวนขวายในอกุศลเป็นนิตย์ ตายไปแล้วย่อมถึงที่มืด มีหัวลง ตกไปสู่นรก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย.

การไม่กินปลาและเนื้อ ความเป็นคนประพฤติเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา ความเป็นผู้หมักหมมด้วยธุลี การครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ การบำเรอไฟ หรือแม้ว่าความเศร้าหมองในกายที่เป็นไปด้วยความปรารถนา ความเป็นเทวดา การย่างกิเลสเป็นอันมากในโลก มนต์และการเซ่นสรวง ยัญและการซ่องเสพฤดู ย่อมไม่ยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้. ผู้ใด คุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหกเหล่านั้น รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรงและอ่อนโยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ละทุกข์ได้ทั้งหมด ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์ ไม่ติดอยู่ในธรรมที่เห็นแล้ว และฟังแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบอกความข้อนี้บ่อยๆ ด้วยประการฉะนี้ ติสสดาบสผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ได้ทราบความข้อนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นมุนี ทรงประกาศด้วยพระคาถาทั้งหลาย อันวิจิตรว่า บุคคลผู้ที่ไม่มีกลิ่นดิบ ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก.

ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวงของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นผู้มีใจนอบน้อม ถวายบังคมพระบาทของตถาคต ได้ทูลขอบรรพชา ณ ที่นั่งนั่นแล.

จบอามคันธสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 10 ต.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

อามคันธสูตรที่ ๒

ว่าด้วยมีกลิ่นดิบและไม่มีกลิ่นดิบ

ก่อนจะถึงข้อความที่ปรากฏในพระสูตร

ในกาลสมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ เมื่อครั้งที่พระองค์เป็นกัสสปโพธิสัตว์ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงพาราณสี และได้เป็นสหายกับติสสพราหมณ์ซึ่งเกิดในวันเดียวกัน บิดาของติสสพราหมณ์ได้สั่งลูกชายว่า พระโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ลูกบวชในสำนักของพระองค์ ซึ่งจะเป็นเหตุให้สามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เมื่อถึงเวลาอันสมควร ติสสพราหมณ์ได้ไปชวนพระโพธิสัตว์ให้ออกบวชด้วยกัน แต่พระโพธิสัตว์ยังไม่บวช ทำให้ติสสพราหมณ์มีความคิดว่า ญาณของพระโพธิสัตว์ยังไม่แก่กล้า ตนเองก็เลยไปบวชก่อน โดยบวชเป็นฤาษีอาศัยอยู่ที่เชิงเขาแห่งหนึ่ง

ในกาลต่อมาพระโพธิสัตว์ ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในเรือน เจริญอานาปานสติ ยังฌานอภิญญาให้บังเกิดขึ้น แล้วจึงบวชเป็นบรรพชิต เสด็จไปที่ต้นพระศรีมหาโพธิ ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กล่าวถึงบุรุษชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ไปหาของป่า ได้เดินทางไปถึงอาศรมของติสสดาบส ได้สนทนาปราศัยกันว่า มีข่าวคราวอะไรเกิดขึ้นบ้างในเมืองพาราณสี ซึ่งบุรุษคนนั้นได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก เพียงได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้า (พุทฺโธ) ก็ทำให้ติสสดาบสเกิดความปีติเป็นอย่างยิ่ง และได้ถามว่า พระพุทธเจ้าเสวยกลิ่นดิบหรือไม่? บุรุษได้ย้อนถามว่า กลิ่นดิบ คืออะไร? ติสสดาบสตอบว่า กลิ่นดิบ ได้แก่ ปลาและเนื้อ บุรุษจึงกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเสวยปลาและเนื้อ พอได้ฟังอย่างนั้น ติสสดาบสเกิดความเดือดร้อนใจเป็นอย่างยิ่ง มีความประสงค์จะเข้าเฝ้าและบอกให้พระองค์ทราบว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควร ท่านจึงได้เดินทางไปเข้าเฝ้าและได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์เสวยกลิ่นดิบหรือไม่ พระพุทธเจ้า ตรัสว่า เราหาบริโภคกลิ่นดิบไม่ (คือ ไม่บริโภคกลิ่นดิบ)

คำตอบของพระองค์นั้น กลิ่นดิบหมายถึงกิเลส ไม่ใช่ปลาและเนื้อ แต่ติสสดาบสไม่เข้าใจ จึงดีใจว่าพระพุทธเจ้าไม่เสวยปลาและเนื้อ พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์จะให้ติสสดาบสเข้าใจ ในวันรุ่งขึ้น พระองค์จึงไม่เสด็จไปบิณฑบาต โดยเสวยภัตตาหารที่พระเจ้ากิกิ (พระราชาในสมัยนั้น) นำมาถวาย ซึ่งสมบูรณ์ด้วยเนื้อทั้งหลาย ทำให้ติสสดาบสโกรธมาก กล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าตรัสคำเท็จ ที่ตรัสว่าไม่บริโภคกลิ่นดิบ แต่ก็ยังเสวยเนื้ออยู่ ในขณะนั้นติสสดาบส ได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะของพระองค์ ทำให้ท่านเกิดความคิดว่า "ผู้มีลักษณะอย่างนี้ จักไม่กล่าวคำเท็จ กลิ่นดิบในความมุ่งหมายของพระองค์ กับ กลิ่นดิบที่เราเข้าใจ คงจะมีนัยที่ต่างกัน" จึงได้กราบทูลเพื่อให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ฟัง ว่า กลิ่นดิบ นั้นเป็นอย่างไร (ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร) เมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจบลง ติสสดาบสทูลขอบวชในสำนักของพระองค์ เพียง ๒-๓ เท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอัครสาวกของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ (พระสมณโคดม) จะทรงนำเรื่องดังกล่าวมาแสดง พระองค์ทรงปรารภ อามคันธดาบส * ที่มีความสงสัยในเรื่องกลิ่นดิบนี้เหมือนกัน ซึ่งได้เข้าไปเฝ้าและทูลถามพระองค์ว่า พระองค์เสวยกลิ่นดิบหรือไม่? พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า กลิ่นดิบนั้นคืออะไร ดาบสกราบทูลว่า ปลาและเนื้อชื่อว่ากลิ่นดิบ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปลาและเนื้อไม่ใช่กลิ่นดิบ กิเลสทั้งปวงที่เป็นบาป เป็นกุศลธรรม ชื่อว่ากลิ่นดิบ ... จึงได้ทรงนำเหตุการณ์ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มาแสดงในที่สุด อามคันธดาบสก็เข้าใจและได้ขอบวชในสำนักของพระองค์ พร้อมกับลูกศิษย์อีก ๕๐๐ คน เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ท่านเหล่านั้นก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

* หมายเหตุ อามคันธะ แปลว่า กลิ่นดิบ มาจากคำว่า อามะ (ดิบ) + คันธะ (กลิ่น)

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ครับ

การบริโภคเนื้อสัตว์

เนื้อที่ไม่ควรบริโภค [ชีวกสูตร]

การไม่ทานเนื้อสัตว์

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ups
วันที่ 11 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
aditap
วันที่ 11 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 11 ต.ค. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
hadezz
วันที่ 12 ต.ค. 2553

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 12 ต.ค. 2553

ขออนุโมทนาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผิน
วันที่ 13 ต.ค. 2553
ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pamali
วันที่ 16 ต.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 30 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 30 ธ.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 12 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2564
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ