ทัตวาอวชานาติสูตร ... เสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

 
บ้านธัมมะ
วันที่  31 ต.ค. 2553
หมายเลข  17463
อ่าน  2,186

••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ••• ... สนทนาธรรมที่ ...
••• ... มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ... •••

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๖ พ.ย. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ทัตวาอวชานาติสูตร

(ว่าด้วยคนเลว ๕ จำพวก มีบุคคลผู้ให้แล้วดูหมิ่น เป็นต้น)

... จาก ...

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๒๙๙ - ๓๐๑


... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓๖ - หน้าที่ ๒๙๙ - ๓๐๑

๑. ทัตวาอวชานาติสูตร (ว่าด้วยคนเลว ๕ จำพวก มีบุคคลผู้ให้แล้วดูหมิ่น เป็นต้น)

[๑๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก, ๕ จำพวกเป็นไฉน? คือ บุคคลให้แล้วย่อมดูหมิ่น ๑ บุคคลย่อมดูหมิ่น เพราะอยู่ร่วมกัน ๑ บุคคลเป็นผู้เชื่อง่าย ๑ บุคคลเป็นผู้โลเล ๑ บุคคล เป็นผู้เขลาหลงงมงาย ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลให้แล้วย่อมดูหมิ่นเป็นอย่างไร? คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้จีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารแก่บุคคล เขาย่อมคิดอย่างนี้ว่า เราให้ ผู้นี้รับ ดังนี้ ให้แล้วย่อมดูหมิ่นบุคคลนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลให้แล้วย่อมดูหมิ่น เป็นอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลย่อมดูหมิ่น เพราะอยู่ร่วมกัน เป็นอย่างไร? คือบุคคลบางคนในโลกนี้ อยู่ร่วมกับบุคคลสองสามปี ย่อมดูหมิ่นผู้นั้นเพราะอยู่ร่วมกันดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ย่อมดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกันเป็นอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็บุคคลเป็นผู้เชื่อง่ายเป็นอย่างไร? คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อเขากล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่น ย่อมน้อมใจเชื่อโดยเร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้เชื่อง่ายเป็นอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นผู้โลเล เป็นอย่างไร? คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเล็กน้อย มีความภักดีเล็กน้อย มีความรักเล็กน้อย มีความเลื่อมใสเล็กน้อย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้โลเล เป็นอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้เขลาหลงงมงาย เป็นอย่างไร? คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่รู้กุศลธรรม และอกุศลธรรม ย่อมไม่รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มี-โทษ ย่อมไม่รู้ธรรมที่เลวและ ประณีต ย่อมไม่รู้ธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเป็นผู้เขลาหลงงมงาย เป็นอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก.

จบทัตวาอวชานาติสูตรที่ ๑ .

อรรถกถา ทัตวาอวชานาติสูตรที่ ๑

พึงทราบวินิจฉัยในทัตวาอวชานาติสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า สํวาเสน ได้แก่ เพราะการอยู่ร่วมกัน. บทว่า อาเทยฺยมุโข ได้แก่ตั้งหน้าเชื่ออธิบายว่า ตั้งหน้ายึดถือ. บทว่า ตเมนํ ทตฺวา อวชานาติ ความว่า ย่อมดูแคลนอย่างนี้ว่า ผู้นี้รู้จักแต่จะรับสิ่งที่เราให้เท่านั้น. บทว่า ตเมนํ สํวาเสน อวชานาติ ความว่า เป็นผู้โกรธในใครๆ เพียงเล็กน้อยแล้วมักกล่าวคำเป็นต้นว่า เรารู้กรรมที่ท่านทำไว้ เราทำอะไรอยู่ ตลอดกาลนานประมาณเท่านี้ เราพิจารณาทบทวนดูกรรมที่ท่านทำไว้และไม่ได้ทำไว้มิใช่หรือ ทีนั้นคนนอกนี้คิดว่าโทษไรๆ ของเราจักมีเป็นแน่ จึงไม่ สามารถจะโต้ตอบอะไรๆ ได้. บทว่า ตํ ขิปฺปญฺเว อธิมุจฺจิโต โหติ ความว่า บุคคลย่อมเชื่อทั้งคุณและโทษนั้นทันทีทันใด. ก็บุคคลนี้ท่านกล่าวว่า ชื่อว่า อาทิยนมุโข เพราะอรรถว่า เชื่อง่าย. แต่ในบาลีว่า อาธียมุโข คือ ตั้งหน้าเชื่อ อธิบายว่า ตั้งหน้าแต่จะรับทั้งคุณหรือโทษ ด้วยความเชื่อง่าย ดุจบ่อที่เขาขุดที่หนทางคอยรับแต่น้ำที่ไหลมาๆ . บทว่า อิตฺตรสทฺโธ คือ มีศรัทธานิดหน่อย. ในบทว่า กุสลากุสเล ธมฺเม น ชานาติความว่าไม่รู้ธรรมเป็นกุศลว่า ธรรม เหล่านี้เป็นกุศล ไม่รู้ธรรมเป็นอกุศลว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล. อนึ่ง ไม่รู้ธรรมมีโทษ คือ ธรรมที่เป็นไปกับโทษว่า ธรรมเหล่านี้มีโทษ ไม่รู้ธรรมไม่มีโทษ คือ ธรรมที่ไม่เป็นไปกับโทษ ว่า ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษไม่รู้ธรรมเลว ว่า เลว ไม่รู้ธรรมประณีตว่า ประณีต. บทว่า กณฺหสุกฺกสปฺปฏิภาเค ได้แก่ บุคคลย่อมไม่รู้ว่า ธรรมฝ่ายดำเหล่านี้ ชื่อว่าเทียบกันเพราะห้ามกันธรรมฝ่ายขาวตั้งอยู่ และธรรมฝ่ายขาวเหล่านี้ ชื่อว่า เทียบกันเพราะห้ามกันธรรมฝ่ายดำตั้งอยู่ ดังนี้.

จบอรรถกถาทัตวาอวชานาติสูตรที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ต.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป ทัตวาอวชานาติสูตร * (ว่าด้วยคนเลว ๕ จำพวก มีบุคคลผู้ให้แล้วดูหมิ่น เป็นต้น) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคนเลว (คนไม่ดี) ๕ จำพวกที่มีปรากฏอยู่ในโลกนี้ คือ ๑. บุคคลให้แล้วย่อมดูหมิ่น (ให้ปัจจัย ๔ คือ ผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค แก่ผู้รับแล้ว ดูหมิ่นผู้รับ // ใน[เล่มที่ 79] ปุคคลบัญญัติ เล่ม ๗๙ ใน หน้า ๔๓๒ แสดงตัวอย่างของบุคคลผู้ให้แล้วดูหมิ่นผู้รับ ไว้ว่า ภิกษุรูปหนึ่งมีบุญมาก ย่อมเป็นผู้มีปกติได้ปัจจัย ๔ เธอได้ปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นแล้ว ย่อมถามโดยเอื้อเฟื้อกะภิกษุรูปอื่นผู้มีบุญน้อย เธอนั้นเมื่อภิกษุผู้มีบุญมากถามอยู่บ่อยๆ จึงรับเอาปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ไป ทีนั้นภิกษุผู้มีบุญมากโกรธภิกษุผู้มีบุญน้อยนั้นหน่อยหนึ่ง ประสงค์จะให้เธอเกิดความเก้อเขิน จึงกล่าวว่า ภิกษุนี้ไม่ได้ปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ตามธรรมดาของตน เพราะอาศัยเราจึงได้ บุคคลนี้จึงชื่อว่า ให้แล้วดูหมิ่น) ๒. บุคคลผู้ดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกัน (เมื่ออยู่ร่วมกันนานๆ ย่อมมีบ้างที่จะมีความผิดพลาด มีการกระทำไม่ดี เป็นธรรมดา บุคคลประเภทนี้ พอโกรธเขาเข้าก็หาเรื่องขุดคุ้ยว่าตัวเองรู้ว่าเขาทำอะไรไม่ดีไว้บ้าง ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งที่อยู่ร่วมกันไม่กล้าที่จะทำอะไร // ใน[เล่มที่ 79] ปุคคลบัญญัติ เล่ม ๗๙ หน้า ๔๓๒ แสดงถึงบุคคลผู้ดูหมิ่นเพราะอยู่ร่วมกันไว้ว่า "ก็บุคคลคนหนึ่งเมื่ออาศัยอยู่กับบุคคลคนหนึ่ง ๒-๓ ปี เขากระทำความเคารพในบุคคลนั้นอยู่แต่กาลก่อน ต่อมาภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปๆ ไม่กระทำความเคารพยำเกรง คือ ไม่ลุกขึ้นจากอาสนะบ้าง ไม่ไปสู่ที่บำรุงบ้าง บุคคลนี้ชื่อว่าย่อมดูหมิ่นด้วยการอยู่ร่วม) ๓. บุคคลผู้เชื่อง่าย (ไม่ว่าบุคคลอื่นจะกล่าวคุณหรือโทษของผู้อื่นอย่างไร ก็เชื่อในทันที) ๔. บุคคลผู้โลเล (มีศรัทธา มีความภักดี มีความรัก มีความเลื่อมใส เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เป็นผู้โลเล ก็เพราะยังเป็นผู้หวั่นไหวด้วยอำนาจของกุศลธรรม) ๕. บุคคลผู้เขลาหลงงมงาย (ไม่รู้ธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นต้น) ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ครับ การเจริญกุศล...เพื่อการขัดเกลากิเลส ความเชื่อกับความงมงาย งมงายอย่างยิ่ง การหลงงมงาย

* หมายเหตุ คำว่า ทัตวาอวชานาติ หมายถึง ให้แล้วย่อมดูหมิ่น ซึ่งเป็นบุคคลประเภทแรก ในพระสูตร นี้ มาจากคำว่า ทตฺวา (ให้แล้ว) +อวชานาติ (ย่อมดูหมิ่น) ครับ. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 1 พ.ย. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 1 พ.ย. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 3 พ.ย. 2553
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
raynu.p
วันที่ 4 พ.ย. 2553
อนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 6 พ.ย. 2553

ขอบคุณและขออนุโมทนา อ. กำปั่นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
อินทรีย์พละ
วันที่ 6 พ.ย. 2553

เนื่องจากว่า วันเสาร์ต้องทำงาน ไม่มีโอกาสที่จะได้ไปฟังพระธรรมโดยตรงที่มูลนิธิฯ แต่อย่างน้อยก็ได้อ่านพระสูตรที่อาจารย์คำปั่นได้ กรุณาถ่ายทอดมาให้ได้อ่าน ทำให้มีความเข้าใจมากขึ้น รวมทั้งขออนุโมทนาบุญ กับผู้ที่ได้ไปฟังพระสูตรนี้ และกราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นที่ได้ถ่ายทอดพระสูตรนี้ ผ่าน website ให้ได้ศึกษากันทั่วถึงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
narong-homc
วันที่ 7 พ.ย. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
nui_sudto55
วันที่ 13 ก.พ. 2567

กราบสาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ