ปริยัติแค่ไหน จึงจะปฏิบัติ

 
prasopsuk
วันที่  20 พ.ย. 2553
หมายเลข  17543
อ่าน  1,694

เมื่อได้ศึกษาปริยัติแล้ว เมื่อไรจึงจะปฏิบัติได้ มีหลักเกณฑ์อย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chaiyut
วันที่ 23 พ.ย. 2553

ควรทราบครับว่า ปริยัติคืออะไร ปริยัติคือการศึกษาพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง เพื่อเกื้อกูลให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง รู้ความจริงโดยรอบในสิ่งที่มีเป็นปกติ ในชีวิตประจำวันทางตา หู .......กาย ใจ รู้ตาม เห็นตาม ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามความเป็นจริง ไม่ใช่จะไปรู้อะไรอื่นที่ไม่จริง แต่กว่าจะรู้ได้ ก็ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาให้เข้าใจธรรมะที่ทรงแสดงตามลำดับขั้น เพราะปัญญาจะเจริญข้ามขั้นทันทีไม่ได้ครับ

ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ก็จะไม่มีใครทราบความจริงของธรรมอันลึกซึ้งที่ทรงแสดงไว้ฉะนั้น ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น พุทธสาวก ซึ่ง "พุทธ"หมายถึง ผู้รู้ด้วยปัญญาส่วน สาวก มาจากคำว่า "สาวโก" หมายถึง ผู้ฟัง จึงควรฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อรู้ถูก เห็นถูก จนเป็นปัญญาของตนเอง ไม่ใช่การไม่ฟังแล้วไปหาทางเอง ไม่ใช่การฟังนิดเดียว แล้วคิดว่าเข้าใจหมดแล้ว แล้วก็ไปหาทางพากเพียรปฏิบัติธรรมเอง แต่หากสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่สอดคล้องกับธรรมทั้งหมดที่แสดงไว้ อย่างนี้ก็ยังไม่ใช่พุทธสาวก แต่ผู้ที่เป็นสาวกที่ดี ควรฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ ฟังแล้วพิจารณาตาม ถึงเหตุผลอันละเอียดลึกซึ้งของพระธรรม เพื่ออย่างเดียว คือ เพื่ออบรมปัญญา เพราะปริยัติที่ศึกษาด้วยดีและรอบคอบ ย่อมทำให้เกิดปัญญาที่จะเกื้อกูลต่อการน้อมประพฤติปฏิบัติตามในกุศลประการต่างๆ ได้

ขอแนะนำให้ฟังธรรมที่ถูกต้องต่อไปเรื่อยๆ ความเข้าใจจากการฟังจะน้อมใจให้ค่อยๆ เห็นประโยชน์ของสิ่งที่ได้ฟัง และจะทำให้ค่อยๆ น้อมประพฤติปฏิบัติตามทีละเล็กทีละน้อยได้ ตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตามที่กะเกณฑ์หรือตามต้องการ เพราะธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา จึงไม่ควรคำนึงถึงความมาก-น้อย หรือ ระยะเวลาของการเรียนปริยัติว่าเท่านี้ หรือเท่านั้น หรือเท่าไรจึงจะสมควรปฏิบัติ เพราะทั้งหมดไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรได้ตามใจชอบ แต่เป็นเรื่องของปัญญา ที่เมื่อเข้าใจธรรมมากขึ้นแล้ว จะเจริญขึ้นตามลำดับขั้น

ปริยัติที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่ปฏิบัติที่ถูกต้อง

ปฏิบัติที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่ปฏิเวธที่ถูกต้อง (รู้แจ้งอริยสัจธรรม) แต่เป็นเรื่องไม่ง่าย ไม่เร็ว และเป็นเรื่องที่สวนทางกับความต้องการ เพราะยิ่งต้องการผลเร็วๆ ก็ยิ่งช้า ควรเจริญเหตุ คือ การอบรมปัญญา เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่หาฟังได้โดยยาก แล้วตั้งใจศึกษาพระธรรมต่อไป ไม่ท้อถอย มีความอดทนพากเพียร ไม่ละทิ้ง และไม่ประมาทแม้ปัญญาที่เข้าใจขั้นปริยัติ เพราะพระอริยสาวกทั้งหลาย กว่าที่ท่านจะบรรลุธรรมะได้ ท่านก็ผ่านการเรียนปริยัติ และได้ปฏิบัติตามที่รู้ ในขั้นปริยัติมานาน เป็นแสนกัปป์ เป็นอสงไขยก็มี นี่เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการศึกษาปริยัติที่ถูกต้อง ย่อมจะนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้แน่นอนครับ

ขอเชิญคลิกอ่าน >>>

ความหมายของคำว่า ปริยัติ ตามรากศัพท์บาลี

การอบรมเจริญปัญญาขาดปริยัติไม่ได้ ไม่ใช่จะไปปฏิบัติเลย

ปฏิบัติ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prasopsuk
วันที่ 24 พ.ย. 2553

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นพอเข้าใจครับ และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่การฟังมากๆ บางทีเรื่องเดียวกันได้ฟังมาจากหลายผู้รู้ ก็จะได้ประเด็นบางประเด็นที่ไม่ตรงกัน ทำให้เกิดสงสัยและไม่รู้อันไหนถูกต้องอันไหนผิด แต่ละสำนักก็ยึดแนวของตนเอง เมื่อศึกษาจากพระไตรปิฎก ดูจะเข้าใจได้ยาก ต้องศึกษาภาษาบาลีควบคู่ไปด้วย บางทีทำให้แปลความหมายผิดไป บางเรื่องก็ไม่ได้อธิบายความเอาไว้ ก็ตีความหมายไปต่างๆ นาๆ หลายคนอ่านเรื่องเดียวกัน แต่ได้ความหมายคนละความหมาย ไปๆ มาๆ ก็วนกลับมาศึกษาเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนบัดนี้สรุป (เอาเอง) ได้ว่า ชีวิตของปุถุชนเดินดินกินข้าวแกงนิ่ ให้ทำดังนี้คือ ทาน (ลดละตัวตน) ศีล (มีวินัย) สมาธิ (ตั้งมั่น) ในกุศลกรรม ก็น่าจะเพียงพอ ส่วนชาติหน้าจะเป็นอย่างไรจะมีหรือไม่มี มันยังไม่ใช่ปัจจุบัน ก็ปล่อยไปตามกรรม อย่างนี้จะพ้นทุกข์ (ออกจากวงจร) ไหมครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chaiyut
วันที่ 24 พ.ย. 2553

จะพ้นทุกข์ได้ เหตุต้องสมควรแก่ผลครับ คือต้องอบรมปัญญา เพื่อรู้ความจริงของธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ว่าเป็นธรรม มีจริง แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน อบรมไปเรื่อยๆ พร้อมกับเจริญกุศลทุกประการในแต่ละชาติ ที่บุญจะเป็นปัจจัยให้มีโอกาสได้ฟังและได้เข้าใจพระธรรม เรื่องราวอาจจะซ้ำ ความคิดเห็นของผู้แสดงอาจจะต่างและชวนให้สับสน แต่ถึงยังไง ธรรมก็มีจริงๆ ไม่ใช่จริงแต่เพียงคำ ในพระไตรปิฎก เต็มไปด้วยคำภาษาบาลียากๆ แต่ไม่พ้นไปจากเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย เราคนไทย ก็ฟังธรรมให้เข้าใจในภาษาไทยของเราก่อนก็ได้ครับ ไม่ควรกังวลเรื่องภาษาบาลี ไม่รู้คำไม่รู้ความหมายก็ไม่แปลก เพราะไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา แต่สิ่งที่มีจริงทางตา หู...ใจ มีให้รู้ ให้เข้าใจ ให้พิสูจน์ได้ในขณะนี้ไม่ซ้ำ คือไม่มีของเก่ากลับมาเกิดเลย ใหม่อยู่ตลอดแล้วก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น นี่คือธรรมตัวจริง มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ควรรู้ ควรเข้าใจครับ ถ้าไม่อบรมปัญญาเพราะเห็นว่ายากไป จะอาศัยแต่กุศลขั้นอื่น ก็ไม่สามารถจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ถ้าเห็นว่าฟังหลายอาจารย์แล้วสับสน ก็ขอแนะนำให้ลองฟังธรรมในเว็ปนี้บ่อยๆ ดูครับ ฟังแล้วพิจารณาในเหตุในผลถ้ามีโอกาสก็เทียบเคียงกับพระไตรปิฎกได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องภาษาบาลี ฟังไปบ่อยๆ ก็จะชิน และก็จะเห็นว่าปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้นได้ทีละเล็กทีละน้อยเอง

ขอเชิญคลิกฟัง >>พูดถึงสภาพธรรมให้เข้าใจในภาษาของเราก่อนจะใช้คำบาลีพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเป็นภาษาบาลี

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ