สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 8 (จบ)

 
kanchana.c
วันที่  21 ธ.ค. 2553
หมายเลข  17645
อ่าน  4,435

รำลึกถึง คุณอลัน ไดร์เวอร์

เพื่อให้เรื่องท่านอาจารย์สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติจบอย่างสมบูรณ์ ขอนำบทความที่ถอดจากเทปคำบรรยายของท่านอาจารย์ที่บรรยายหลังจากคุณอลัน ไดร์เวอร์สิ้นชีวิตไปแล้ว และคำบรรยายนั้นไม่ได้นำมาออกอากาศ แต่ทุกท่านที่ได้อ่านก็เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก จึงควรเผยแพร่ให้ได้อ่านทั่วกัน

ถอดเทปคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่วัดบวรนิเวศ วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๑

วันนี้ขอกล่าวถึงสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา ซึ่งเป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป ในชีวิตประจำวัน ถ้ากล่าวถึงพระธรรม บางคนอาจจะคิดเป็นพระธรรมเทศนาต่างๆ เหมือนกับไม่ใช่ชีวิตจริง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดไม่พ้นจากทุกขณะในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นจิตเจตสิก รูป ในชาติก่อนๆ แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ในสวรรค์ ในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน หรือในพรหมโลก ก็คือ จิต เจตสิก รูป ที่เกิดดับสืบต่อกันจากภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง ไปสู่อีกภพหนึ่งชาติหนึ่ง ไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีกิเลสซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้ปฏิสนธิ และบางภพบางชาติก็สั้นมาก เพียงเล็กน้อย อย่างสัตว์เดรัจฉานบางประเภท และ บางภพบางชาติก็ยืนยาวนานมากนับไม่ถ้วน เป็นกัปๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นภพน้อย ภพใหญ่ ภพสั้นภพยืนยาวสักเท่าไรก็ตาม เมื่อภพนั้นๆ ชาตินั้นๆ ผ่านไปแล้ว ก็ไม่มีใครที่สามารถจะจดจำระลึกได้ ซึ่งทุกท่านก็พิสูจน์ได้จากชาตินี้ว่า ทุกท่านทราบว่าได้ผ่านความเป็นบุคคลต่างๆ ในชาติก่อนในแสนโกฎิกัปมาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถที่จะระลึกได้หรือจำได้เลย

ในวันนี้ขอกล่าวถึงชีวิตของชาวพุทธท่านหนึ่ง ซึ่งเมื่อทุกท่านศึกษาพระไตรปิฎกก็จะมีชีวิตของชาวพุทธในอดีต ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีข้อความที่แสดงเรื่องสภาพจิตใจของบุคคลนั้นๆ แต่ว่าในยุคนี้สมัยนี้ ก็จะขอกล่าวถึงชีวิตของชาวพุทธในสมัยนี้ด้วย ซึ่งก็จะเห็นว่า จากภพนี้สู่ภพอื่น ในระหว่างที่ยังเป็นชาตินี้อยู่ มีอะไร เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล

ในวันนี้ขอกล่าวถึงชีวิตของคุณอลัน ไดร์เวอร์ ผู้ซึ่งจากภพนี้ชาตินี้ไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๑ คือเมื่ออาทิตย์ก่อน โดยอุบัติเหตุทางรถยนต์ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เวลาประมาณ ๑๘ นาฬิกา ซึ่งมีการฟังพระธรรมของคุณอลันที่นี่ครั้งสุดท้าย คือในวันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๑ คือในปีนี้เอง เพราะฉะนั้นก็เพียงการเว้นไม่มาฟังพระธรรมที่นี่ในวันที่ ๑๗ มกราคม ซึ่งวันรุ่งขึ้น คุณแม่ของคุณอลันจะมาจากต่างประเทศ นี้เป็นเหตุให้คุณอลันตระเตรียมจัดบ้านเพื่อต้อนรับมารดา ที่จะมาเยี่ยมเพราะว่าปกติแล้วคุณอลันจะไปเยี่ยมคุณแม่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ว่าปีนี้ขอให้คุณแม่มาที่กรุงเทพฯ

เพราะฉะนั้น ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ก็เป็นวันที่คุณอลันจัดเตรียมจัดบ้านเพื่อต้อนรับคุณแม่ คุณอลันมีรสนิยมในทางศิลปะ ชอบสิ่งที่สวยงาม สดชื่น มีการสะสมภาพเขียน และเป็นนักซื้อสิ่งที่น่าซื้อ ทั้งโดยราคา คุณภาพและความสวยงาม ในวันที่จัดเตรียมบ้านให้คุณแม่ ก็ปรากฏว่านอกจากความสะดวกสบายต่างๆ แล้ว ก็ยังจัดดอกไม้ไว้เกือบทุกห้อง ที่จะทำให้บ้านน่าอยู่ และคุณแม่อลันก็มาถึงในวันจันทร์ที่ ๑๘ เวลาตีห้า ซึ่งคุณอลันก็ไปรับที่สนามบิน และรีบไปทำงาน เพราะเหตุว่าคุณอลันเพิ่งมาทำงานที่อัมโบร ซึ่งเป็นองค์การสหประชาชาติด้านช่วยเหลือผู้อพยพ คุณอลันเพิ่งย้ายจากงานเก่ามาสู่งานใหม่ คือเริ่มมาทำงานที่อัมโบรในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๑ งานเก่าเป็นงานเลขานุการกรรมการประสานงานช่วยเหลือผู้อพยพ คล้ายๆ กัน แต่สำหรับงานใหม่นี้เป็นองค์การสหประชาชาติ เพราะฉะนั้นคุณอลันก็พยายามไม่ลางานที่เพิ่งมาทำได้ไม่กี่วัน เพราะฉะนั้นเมื่อไปรับคุณแม่ที่สนามบินตอนตีห้า ก็ได้กลับไปทำงาน

คุณแม่และสามีของคุณแม่คือคุณบ๊อบ ได้พักผ่อนตอนเช้า และตอนบ่ายก็ได้ไปซื้อของเล็กๆ น้อย และเที่ยวชมเมืองไทย วันรุ่งขึ้นคือวันอังคารก็ได้ไปกับคุณอลันที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่ต่างจังหวัด อังคาร พุธ พฤหัส ๓ วัน เพราะคุณอลันกะรายการเที่ยวเมืองไทยให้คุณแม่ ๓ อาทิตย์ครึ่ง เมื่อกลับมาวันพฤหัส วันศุกร์ก็มาที่บ้านของดิฉัน ซึ่งเป็นบ้านของน้องสาว คุณอลันอยากให้คุณแม่คุ้นเคยกับนักธรรมะ เพราะฉะนั้นก็ได้ทำอาหารรับประทานกัน เป็นอาหารของชาติออสเตรเลีย และตอนบ่ายก็ได้ไปซื้อของ เพราะเตรียมว่า วันรุ่งขึ้นจะไปจังหวัดอยุธยา เป็นรายการตามลำดับขั้น จากกรุงเทพฯ ไปสู่หัวเมืองใกล้ๆ เพื่อที่จะได้ไปจังหวัดภาคเหนือ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ เพราะคุณแม่ของคุณอลัน ต้องการที่จะได้เห็นวัดที่คุณอลันเคยอยู่ ในสมัยที่ยังเป็นพระภิกษุทุกหนทุกแห่ง เพราะฉะนั้นก็คิดว่าวันรุ่งขึ้นจะไปจังหวัดอยุธยาก่อน

วันเสาร์ดิฉันและน้องและเพื่อนของคุณอลัน คือคุณไอแวนและคุณฟองจันทร์ ก็ได้ร่วมเดินทางไปเที่ยวอยุธยา โดยไปที่บางไทร และไปวัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน และเมื่อรับประทานอาหารกลางวันแล้ว ก็ไปพักผ่อนที่บ้านของ นาวาอากาศโทหญิงกาญจนา สิงหพานิช ซึ่งมีเพื่อนไปด้วย คือ นาวาอากาศโทสุชาดา มิญฌา คุณกาญจนามีบ้านที่จังหวัดอยุธยา ก็ขอเชิญคุณอลัน คุณแม่ และคุณบ๊อบพักที่นั่น เพื่อวันรุ่งขึ้นก็จะไปจังหวัดกาญจนบุรี ว่าจะไปน้ำตกเอราวัณ กับถ้ำมังกรทอง ซึ่งดิฉันเห็นว่า ทั้งสองแห่งเป็นการเดินทางที่ลำบากพอสมควร ก็คิดว่าไม่น่าจะไปเลย ในวันเสาร์ หลังจากรับประทานอาหารและไปที่บ้านคุณกาญจนาแล้ว ดิฉันก็ได้เรียนให้คุณกาญจนาทราบว่า สำหรับจังหวัดอยุธยานั้น ดิฉันได้ไปเที่ยวชมวัดวาอารามต่างๆ เกือบทุกหนทุกแห่งทีเดียว แม้แต่วัดโกโรโกโสก็ได้ไปแล้ว เพราะว่าเป็นชื่อที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง ในสมัยนั้นก็ต้องไปทางเรือ เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปเที่ยว ก็ขอเป็นสนทนาธรรมกับผู้ที่สนใจธรรมที่รับฟังรายการนี้ที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งคุณกาญจนาก็ได้โทรศัพท์เชิญ ผู้ที่สนใจมาสนทนากัน ปรากฏว่าวันนั้นทุกคนก็เหน็ดเหนื่อยพอสมควร ทั้งคุณอลันคุณแม่ และคุณบ๊อบก็ได้นอนพัก คุณอลันก็ได้นอนฟังดิฉันสนทนาธรรมกับผู้ที่สนใจด้วย พร้อมทั้งญาติของคุณกาญจนา มีทั้งคุณยาย คุณย่า ผู้สูงอายุ ประมาณห้าโมงเย็นดิฉัน กับน้อง และคุณไอแวน และคุณฟองจันทร์ก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ หลังจากที่รับประทานอาหารว่างเบาๆ ซึ่งภาพที่เห็นคุณอลันครั้งสุดท้ายก็คือ มายืนส่งที่หน้าประตู โดยที่ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเห็นกันแล้วก็จะไม่เห็นกันอีก เมื่อเห็นตอนเช้าก็อาจจะไม่ได้เห็นตอนเย็น หรือเมื่อเห็นตอนเย็น ก็อาจจะไม่ได้เห็นตอนเช้า เพราะฉะนั้นการกล่าวถึงชีวิตของคนในยุคนี้ ก็ไม่พ้นจากการพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดขึ้น กับแต่ละบุคคล ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย

วันรุ่งขึ้นดิฉันก็ได้มาบรรยายธรรมที่นี้ คือวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคม คุณกาญจนาในวันอาทิตย์นั้นปวดศีรษะไม่อยากจะไปไหนเลย เพราะฉะนั้น ทั้งสามท่านก็ตกลงไม่ไปน้ำตกเอราวัณ ไม่ไปถ้ำมังกรทอง แต่ว่าสนทนากันและก็ดูโทรทัศน์ แต่ว่าคุณอลันก็อยากให้คุณแม่ได้ไปเที่ยวที่สถานที่ต่างๆ ใกล้ๆ นั้นด้วย ก็ชวนทั้งหมดนั้นไปอนุสรณ์ดอนเจดีย์ ทั้งๆ ที่คุณกาญจนาไม่อยากไปเลย ก็พยายามหน่วงเหนี่ยว พยามยามทำให้หมดเวลาไป เพื่อที่จะไม่ไป โดยเอารถไปแก้ ไปซ่อมบ้าง แต่ในที่สุดคุณอลันก็บอกว่าไปเถอะ ขับไปช้าๆ ก็ได้ และก็ได้ออกจากบ้านไปในตอนเย็น ภูมิภาพของจังหวัดสุพรรณบุรีก็น่าดู มีคลองข้างทางและมีฝูงเป็ดมาก ทั้งสามท่านก็ไม่เคยเห็นฝูงเป็ดเมืองไทยเป็นพันๆ ตัว ก็รู้สึกมีความสุข สดชื่น ร้องเพลง มีความเบิกบานใจ ที่ได้หยุดพัก ได้พักผ่อนเที่ยวเตร่ ได้พบปะกันทั้งมารดาและบุตร เมื่อขึ้นรถไปเพียง ๒ กิโลเมตร ก็ได้เกิดอุบัตเหตุ ซึ่งคุณอลันก็เสียชีวิตทันที

หลังจากที่ดิฉันได้กลับไปที่บ้าน ก็ได้ติดต่อเรียนให้คณะของมูลนิธิทราบว่า คุณแม่ของคุณอลันมา ก็ใคร่ที่จะพบปะกับนักธรรมะทั้งหลาย ที่คุณอลันสนิทสนมคุ้นเคยด้วย ก็นัดวันที่จะพบปะกัน แต่เพียงหลังจากนั้นไม่นาน คุณฟองจันทร์ก็โทรศัพท์มาบอกว่า คุณอลันเสียชีวิตแล้ว เพราะฉะนั้นการพบปะนั้นก็ต้องเปลี่ยนไป ก็คือท่านที่ไม่ได้พบกับคุณแม่คุณอลันก็ไม่ได้พบ คุณแม่คุณอลันเป็นสุภาพสตรีที่น่ารักมากทีเดียว คุณบ๊อบ ก็เป็นคนมีอัธยาศัยน่ารัก สามารถที่จะคุ้นเคยสนิทสนมกันได้ในเวลาที่รวดเร็วมาก แต่ว่าในขณะนี้ทั้งคุณอลันและคุณแม่ก็เสียชีวิตแล้ว ก็ยังคงมีคุณบ๊อบ ที่ยังต้องรักษาตัวอยู่

ตอนแรกหลังจากอุบัติเหตุก็ไปที่โรงพยาบาลสุพรรณบุรี แล้วก็ย้ายมาที่โรงพยาบาลภูมิพล ขณะนี้ทั้งนาวาอากาศโทกาญจนา และนาวาอากาศโทสุชาดาก็ยังคงอยู่ที่โรงพยาบาลภูมิพล แต่สำหรับคุณบ๊อบย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลเนิร์สซิ่งโฮม เพราะเหตุว่าจะได้สะดวกในการอธิบายความรู้สึก ความป่วยไข้ให้หมอและพยาบาลที่นั่นฟัง ผู้ที่ได้มาฟังพระธรรมที่นี้เป็นเวลานาน ก็คงจะจำคุณอลันได้ แต่สำหรับคนที่มาใหม่ๆ ก็คงจะสังเกตเห็นชาวต่างประเทศที่มักจะนั่งข้างหน้า นั่งสักประมาณ ๓ - ๔ แถวของข้างหน้า และครั้งสุดท้ายที่มาก็คือวันที่ ๑๐ มกราคม

แม้ว่าทุกท่านไม่สามารถจะระลึกถึงอดีตชาติได้ เพราะว่าผ่านไปหมดแล้ว สำหรับท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่สำหรับคุณอลัน ชาตินี้ก็ผ่านไปแล้ว ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า คุณอลันสามารถที่จะจดจำชาตินี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุว่าหลังจากจุติดับ กรรมหนึ่งเป็นชนกกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลยว่าจะเกิดในภพภูมิไหน จะสามารถมีความทรงจำ รู้ว่าชาติก่อนนั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหนหรือไม่ เพราะเหตุว่าแล้วแต่ว่าถ้าเกิดเป็นโอปปาติกะกำเนิด ก็สามารถที่จะรู้ได้ แต่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ หรือว่าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในนรก ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้นการกล่าวถึงชีวิตของคุณอลัน ก็จะขอกล่าวถึงเหมือนกับการกล่าวถึงชาติหนึ่งของชาวพุทธท่านหนึ่ง ในสังสารวัฎ เพราะเหตุว่าในสมัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้ทรงแสดงพระธรรมก็ดี หรือว่าในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ได้ทรงแสดงธรรมก็ดี ไม่มีใครระลึกได้ว่าเคยได้ฟังพระธรรมอย่างนี้จากสมัยไหน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านผู้ฟังในที่นี้ ไม่เคยได้รับฟังพระธรรมมาก่อนในอดีตชาติ ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ หรือแม้ในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก็คงจะไม่มีฉันทะ มีความสนใจที่จะเห็นประโยชน์ของพระธรรม แล้วก็สะสม การศึกษา การเข้าใจพระธรรม แม้ในปัจจุบันนี้

เพราะฉะนั้นทุกท่านที่มานั่งอยู่ ณ ที่นี้ แม้ว่าจะระลึกชาติไม่ได้ แต่ว่าโดยเหตุโดยปัจจัยที่ทำให้มีความสนใจที่จะฟังพระธรรม ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงการสะสมในอดีตชาติที่ได้เคยฟังพระธรรมมาแล้ว แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะไม่มีการแสดงพระธรรม หรือการสนทนาธรรม ณ พระวิหารเชตวัน และพระวิหารเวฬุวัน แต่ว่าผู้ที่เคยสะสมเหตุปัจจัยมาแล้วในสมัยโน้นๆ ต่างก็ได้พากันแยกย้ายไปสู่ภพภูมิต่างๆ ตามกาลเวลา จนกระทั่งมาถึงสมัยนี้ แม้ว่าที่สนทนาธรรม ที่แสดงธรรม จะไม่ใช่พระวิหารเชตวัน หรือไม่ใช่พระวิหารเวฬุวัน แต่เป็นที่หนึ่งที่ใดก็ได้ เมื่อมีการแสดงพระธรรม ผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยมา ก็ย่อมมาสู่การศึกษา และการสนทนาธรรม เช่น คุณอลัน ไดร์เวอร์ ไม่ใช่คนไทย และไม่ใช่คนอินเดีย แต่เป็นชาวออสเตรเลีย เมืองเอดเดเล สำเร็จปริญญาปรัชญาทางจิตวิทยา และได้ทำงานเป็นผู้จัดรายการโทรทัศน์ที่ออสเตรเลีย หลังจากนั้นจึงได้เดินทางมาประเทศไทย โดยแวะที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมเวลาที่อยู่เมืองไทยประมาณ ๑๘ ปี และสิ้นชีวิตเมื่ออายุ ๔๒ ปี

ตอนแรกที่ คุณ อลันมาเมืองไทย ได้เป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อคุณอลันได้สังเกตเห็นชีวิตของพระภิกษุผู้อยู่ในระเบียบวินัย ก็ใคร่ที่จะฝึกตนให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีงามด้วย เพราะเป็นผู้ที่สังเกตรู้ตนเองว่า ยังจะต้องฝึกตนอีกมากมายหลายประการ และรู้ว่าไม่สามารถจะบังคับจิตใจของตนเองได้ ถ้าไม่มีวินัยที่จะเป็นเครื่องฝึก ด้วยเหตุนี้ คุณอลันจึงตัดสินใจลาออก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยที่แม้คืนก่อนที่จะบวช คุณอลันก็ดื่มเหล้าเป็นวันสุดท้ายก่อนบวช แต่ละชีวิตในสังสารวัฏฏ์จะแสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมที่เมื่อสะสมมาอย่างไร ก็มีการโน้มเอียงที่จะเป็นอย่างนั้น ผู้ที่เพลิดเพลินในสังคม ในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส ไม่ใช่เพียงชาติเดียว แต่ว่านับชาติไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครที่จะเลิกการดื่มเหล้าได้เป็นสมุจเฉท เมื่อยังไม่ใช่พระอริยบุคคล แม้ว่ามีเจตนาความตั้งใจที่จะบวช แต่ให้เห็นก่อนจะบวชวันสุดท้าย คืนสุดท้าย ก่อนจะบวช ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการโน้มเอียงที่จะพอใจที่จะได้ดื่มเหล้าเป็นครั้งสุดท้าย เพราะฉะนั้นขอให้พิจารณาชีวิตในเพศบรรพชิตของคุณอลัน ว่าจะต้องชีวิตที่จะต้องพากเพียรด้วยความอดกลั้น ด้วยความอดทน ที่จะทำตามพระธรรมวินัยให้ได้ครบถ้วนทุกประการ ทั้งๆ ที่มีการสะสมความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เมื่อรู้ว่าควรฝึกตน เพราะฉะนั้นเมื่อพระวินัยเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ฝึกตนได้ ทั้งๆ ที่ยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็แสดงว่าต้องมีวิริยะ มีความอดทน มีความอดกลั้น มีความขวนขวายที่จะศึกษาพระธรรม ที่ทำให้สามารถจะดำรงอยู่ในสมณเพศได้ ด้วยความเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาด เมื่อเห็นว่าเพียงพระวินัยเท่านั้นไม่พอ คุณอลันก็ได้ศึกษาพระธรรมด้วย ตอนที่คุณอลันบวชนั้น เป็นตอนที่ดิฉันเริ่มสอนพระอภิธรรมแก่ชาวต่างประเทศ ที่วัดมหาธาตุ ซึ่งในครั้งนั้นมีคุณนีน่า วัน กอร์คอม เรียนอยู่ด้วยผู้หนึ่ง หลังจากที่คุณนีน่าวัน กอร์คอม ได้เขียนบทความธรรมออกอากาศ ซึ่งได้รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือ ชื่อ “ธรรมทัศนะในชีวิตประจำวันและธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน” คุณนีน่าก็ได้เขียน “อภิธรรมในชีวิตประจำวัน” ด้วย

คุณอลันได้ศึกษาพระอภิธรรมที่คุณนีน่าเขียน เมื่อเห็นชาวพุทธศึกษาพระอภิธรรมที่วัดเพลงวิปัสสนา ก็มีกระดาน มีวงกลมเป็นรูปจิต คุณอลัน ก็สงสัยว่านี่อะไร มีคนบอกว่าเขากำลังเรียนพระอภิธรรม ก็ทำให้คุณอลันมีความสนใจ เมื่อเลิกสอนพระอภิธรรมที่วัดมหาธาตุแล้ว ดิฉันก็ได้สนทนาธรรมกับชาวต่างประเทศที่สนใจพระธรรมทุกวันพุธตอนบ่าย ที่ห้องสมุดของวัดบวรนิเวศ ซึ่งท่านพระภิกษุธัมมธโร หรือคุณอลันก็ได้มาร่วมสนทนาธรรมด้วย ในภายหลังที่ได้มาสนทนาธรรมหลายครั้ง คุณอลันก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มาสนทนาธรรมด้วยในครั้งแรกว่าวันแรกที่ได้ฟังที่ดิฉันพูด คุณอลันก็คิดว่า ผู้หญิงคนนี้โง่มาก ไม่ฉลาดเลย ถามอะไรก็ไม่ได้ตอบเฉยๆ แต่ให้คุณอลันคิดแล้วก็กลับถามในสิ่งที่คุณอลันจะต้องพิจารณา ซึ่งตอนแรกคุณอลันก็รู้สึกไม่ค่อยพอใจเลย เพราะเหตุว่ารู้สึกออกจะขุ่นใจ ออกจะโกรธๆ ถ้าท่านจำได้ มีนิตยสารฉบับหนึ่งขอสัมภาษณ์คุณอลัน คุณอลันก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วย แต่หลังจากที่คุณอลันกลับคิดทบทวนถึงการสนทนา

คุณอลันก็รู้สึกตัวได้ว่าก่อนนั้นที่คุณอลันเข้าใจว่าตนเองมีความฉลาด มีความเข้าใจชีวิต ปรัชญาและจิตวิทยานั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นความพอใจผิวเผินในบทกวีที่ไพเราะ แต่ยังไม่ใช่สัจธรรม เพราะเหตุว่าบทกวีบางบทกลอน ก็ทำให้เราโน้มเอียงไปที่จะเห็นความจริงของชีวิต แต่แม้กระนั้นก็ไม่มีความละเอียด มาเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสัจธรรมจริงๆ เพียงแต่เป็นความไพเราะที่ทำให้คนคล้อยตามเท่านั้นเอง
ตั้งแต่นั้นมาคุณอลันก็เริ่มศึกษาพระอภิธรรม สนทนาธรรมเรื่องพระอภิธรรม ควบคู่กันไปกับพระสูตรและอรรถกถา และคุณอลันก็ได้ศึกษาพระวินัย และตอนหลังก็ได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ด้วย สำหรับกิจที่คุณอลันได้กระทำสำหรับพระพุทธศาสนาตั้งแต่บวชรวมทั้งสิ้น ๘ พรรษา คือ ได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

ถ้าฟังอย่างนี้ก็ดูเหมือนว่าไม่เห็นเป็นกิจทางพระศาสนา แต่ว่าทุกครั้งคณะศึกษาธรรมซึ่งภายหลังก็ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา มีการเดินทางไปที่ต่างๆ ก็เพื่อประโยชน์ของผู้ที่เดินทางร่วมกัน มีโอกาสที่จะได้พบ และมีเหตุการณ์ประจำวันซึ่งเป็นข้อธรรมที่ทำให้ใช้ธรรม หรือปฏิบัติธรรมและสนทนาธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงแต่ไปนมัสการสังเวชนียสถานเท่านั้น นอกจากประเทศอินเดียก็ได้ไปที่ประเทศศรีลังกา และเมื่อคุณอลันได้เดินทางไปประเทศศรีลังกาก็ยังไม่กลับ แต่ว่าคณะศึกษาธรรม คือดิฉันและคนอื่นๆ ก็ได้กลับมาก่อน คุณอลันอยู่ที่นั่นเพื่อที่จะเผยแพร่การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันแก่ชาวศรีลังกา ซึ่งก็มีผู้ที่สนใจพอสมควร ทำให้คุณอลันกราบเรียนขอให้พระมหานายกของศรีลังกาจัดสัมมนาที่ศรีลังกา โดยเชิญ ดิฉัน คุณนีน่า วัน กอร์คอม และคุณซาร่า รวมทั้งท่านเองซึ่งขณะนั้นเป็นพระภิกษุ และได้มีการสนทนาธรรมที่จังหวัดต่างๆ ของศรีลังกา เช่น โคลอมโบ อนุราธปุระ แคนดี้ และเมืองอื่นๆ ด้วย รวมทั้งหมดเป็นเวลาเดือนครึ่ง

หลังจากนั้นคุณอลันก็ได้กลับมาประเทศไทย และได้ศึกษาภาษาบาลีต่อ ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง หลังจากนั้นคุณอลัน ได้ปรึกษาเรื่องความไม่สะดวกในเพศบรรพชิต และรู้จักตัวเองจากการศึกษาและการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานว่า แม้การเป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ยาก ซึ่งคฤหัสถ์ก็คงจะไม่ปฏิเสธ ใช่หรือไม่ ศีลเพียง ๕ ข้อ ซึ่งควรจะเป็นนิจศีลของคฤหัสถ์ ผู้ที่จะรักษาได้สมบูรณ์คือพระอริยบุคคล พระโสดาบันบุคคลเป็นต้นไป เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล แม้การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ที่จะมีนิจศีล ก็จะได้พิสูจน์ตนเองว่า เป็นเรื่องที่ยากหรือเรื่องที่ง่าย

เมื่อการครองชีวิตในเพศบรรพชิตไม่สะดวก คุณอลันก็ได้ลาสิกขาบท กลับคืนสู่ชีวิตสังคมของชาวโลก เป็นเวลานานที่เพื่อนธรรมทั้งหลายรอคอยว่า เมื่อไรคุณอลันจะกลับมาสู่วงของธรรมอีกครั้งหนึ่ง คุณอลันได้กลับไปออสเตรเลียบ้าง และได้กลับมาอยู่เมืองไทยบ้าง และได้ทำงานเป็นเลขานุการประสานงานช่วยเหลือผู้อพยพ และย้ายมาทำงานที่อัมโบรเมื่อวันที่ ๑ มกราคม

ก่อนปี ๒๕๓๐ คุณอลันก็หวนกลับมาสนใจพระธรรม และได้เริ่มได้ทำประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา เมื่อวันมาฆบูชา มูลนิธิได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย และได้กระทำมาฆบูชาที่พระวิหารเวฬุวัน รวมเวลาที่ไปนมัสการสังเวชนียสถานประมาณ ๒๐ กว่าวัน ซึ่งคุณอลันได้เดินทางไปด้วย หลังจากที่ได้สนิทสนมคุ้นเคย ได้ฟังพระธรรม ได้กลับมาในวงธรรมอีกครั้งหนึ่ง คุณอลันก็กระทำกิจของพระศาสนา คือได้ร่วมเดินทางไปตอบปัญหาธรรมตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนผู้บังคับฝูง ค่ายทหารที่จังหวัดกาญจนบุรี และได้ตอบปัญหาธรรมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เขื่อนภูมิพล ที่กองตำรวจตระเวนชายแดนจังหวัดตาก และที่วัดต่างๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่

ความตั้งใจที่จะแปลธรรมภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ แต่ความยากของภาษา และความเป็นผู้ละเอียดของคุณอลัน ก็ทำให้ไม่สามารถจะกระทำได้สำเร็จ แม้ว่ามีการเริ่มลงมือ และมีความตั้งใจที่จะทำงานของคุณอลันที่ยังค้างอยู่ ก็คืออาสาที่จะตรวจอักษรหนังสือ “พุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน” ภาษาอังกฤษ ซึ่ง ดร.ช่วย กันวัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสเปน เมื่อครั้งที่กษัตริย์เดินทางมาประเทศไทย เมื่อคราวเฉลิมพรรษาครั้งนี้ ท่านเอกอัครราชทูต ก็ได้บริจาคเงินสำหรัพิมพ์หนังสือ “พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน” เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับแจกจ่ายให้ชาวต่างประเทศ เพราะเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ และเห็นว่าหมดแล้ว ชาวต่างประเทศก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นก็บริจาคเงินพิมพ์ คุณอลัน ก็รับอาสาที่จะตรวจให้ แต่ก็ตรวจได้เพียง ๓๐ หน้าเท่านั้นเอง ยังมีส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้ตรวจ

นอกจากนั้นในระยะหลังจากกลับจากประเทศอินเดีย คุณอลันก็เป็นผู้ที่มีศรัทธาเมื่อได้ฟังพระธรรม ไม่ว่าที่วัดบวรนี้ ที่ห้องประชุมนี้ หรือว่าในการเดินทางไปตอบปัญหาในที่ต่างๆ มีธรรมสิ่งใดที่จะเกื้อกูล เป็นประโยชน์ต่อสหายธรรม เช่น คุณนีน่า วัน กอร์คอม คุณซาร่า แอบบอท หรือคุณแกบบี้ ซึ่งเดินทางไปด้วย คุณอลันก็เริ่มเขียนจดหมายธรรมติดต่อกัน ซึ่งผู้ที่ได้รับข่าวการสิ้นชีวิตของคุณอลันก็บอกว่า เพิ่งตอบจดหมายมาให้คุณอลัน แต่คุณอลันก็คงยังไม่ได้รับ ไม่ทราบว่า ผู้ที่คุ้นเคยกับคุณอลัน อยากจะกล่าวถึงคุณอลันในเรื่องใดบ้างไหมคะ?

การตายของคุณอลัน ก็เป็นอนุสติที่ทำให้ทุกคนมองเห็นความจริงว่า ไม่มีใครที่สามารถจะหลีกเลี่ยงหรือต่อรองความตายได้ จะขอให้ไปพักผ่อนให้ครบ ๓ อาทิตย์เสียก่อน ให้คุณแม่ได้มีโอกาสเห็นเมืองไทย เที่ยวเมืองไทยเสียก่อน แล้วถึงค่อยจากโลกนี้ไปก็ไม่ได้ หรือว่าจะขอให้ตรวจอักษรหนังสือที่ตรวจค้างอยู่ให้เสร็จเสียก่อนก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

สำหรับเหตุที่ทำให้คุณอลันกลับมาสู่ธรรม และได้กระทำกิจที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา เคยมีผู้ถามคุณอลันว่าเพราะอะไร ซึ่งคุณอลันก็ตอบว่า เพราะข้อความในขุททกนิกาย เปตวัตถุเรื่องหนึ่ง ซึ่งในวันนี้ก็จะขอกล่าวถึงเรื่องนั้น คือ

ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุรควรรคที่ ๑ อรรถกถา เขตตูปมาเปตวัตถุที่ ๑ มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงประทับอยู่ที่พระเวฬุวันกรันทกนิวาปวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ทรงปรารภเปรต บุตรเศรษฐีคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนั้นดังต่อไปนี้ ทุกคนมีโอกาสจะเกิดเป็นเปรต สัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์นรก ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ได้ยินว่า ในกรุงราชคฤห์ ได้มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์ที่น่าปลื้มใจอย่างมากมาย สั่งสมทรัพย์ไว้เป็นจำนวนหลายโกฎิ เศรษฐีก็มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ว่าการสะสมความคิดและจิตใจของเศรษฐีแต่ละคนก็ต่างกันไป ตามแต่ละชาติ เศรษฐีได้มีบุตรคนเดียว น่ารักน่าชอบใจ เมื่อบุตรนั้นรู้เดียงสา บิดามารดาก็พากันคิดอย่างนี้ว่า เมื่อบุตรของเราจ่ายทรัพย์ให้สิ้นเปลืองไป วันละหนึ่งพันทุกวัน แม้ถึง ๑๐๐ ปี ทรัพย์ที่สั่งสมไว้นี้ก็ไม่หมดสิ้นไป แสดงให้เห็นถึงว่ามีทรัพย์มาก ใช้ตลอดชีวิตก็ไม่หมด จะประโยชน์อะไรด้วยการที่จะให้บุตรนี้ลำบาก ด้วยการศึกษาศิลปะ ขอให้บุตรมีความไม่ลำบากกายและจิต บริโภคสมบัติตามสบายเถิด ดังนี้แล้ว ก็ไม่ได้ให้บุตรศึกษาศิลปะใดๆ เมื่อบุตรนั้นเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาได้นำหญิงสาวแรกรุ่น ผู้สมบูรณ์ด้วยสกุล รูปร่าง ความเป็นสาว และความงาม ผู้เอิบอิ่มด้วยกามคุณ บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา แสดงให้เห็นว่าทุกคนที่สะสมทั้งกุศลและอกุศล หรือแม้ความสนใจในพระธรรม แต่ละภพแต่ละชาติ ชีวิตจะเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นสำหรับบุตรเศรษฐีก็บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา

การที่เคยฟังพระธรรม การที่เคยมีฉันทะในการฟังพระธรรมก็ค่อยๆ ลดน้อย หายไป เขาอภิรมย์กับหญิงสาวนั้น ไม่ให้เกิดแม้ความคิดถึงธรรม ไม่มีความเอื้อเฟื้อในสมณพราหมณ์และคนที่ควรเคารพ ห้อมล้อมด้วยพวกนักเลง กำหนัดยินดี ติดอยู่ในกามคุณ ๕ เป็นผู้มืดมนไปด้วยโมหะ ให้เวลาผ่านไป ถ้าพิจารณาดู ก็จะเห็นว่าเหมือนชีวิตของใครบ้าง ในทุกชาติที่ปล่อยให้ชีวิตผ่านไปด้วยความรื่นรมย์ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ซึ่งมีอายุที่สั้นมาก นิดเดียว ไม่ว่ารสอร่อย ก็ชั่วครู่เพียงนิดเดียว ขณะนี้เชื่อได้ว่าไม่มีใครกำลังลิ้นรสอร่อย เพราะเหตุว่า รสอร่อยจะลิ้มในขณะที่บริโภค แล้วก็หมดไป เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมลง ให้สิ่งที่น่าปรารถนาแก่นักรำ นักร้องเป็นต้น ผลาญทรัพย์ ให้วอดวายไป ทรัพย์สมบัติถึงแม้จะมีมากสักเท่าไร ถ้าจะใช้จริงๆ ก็หมดอย่างรวดเร็ว ไม่นานเท่าไรนัก ก็สิ้นเนื้อประดาตัว เที่ยวขอยืมเงิน เลี้ยงชีวิต เมื่อยืมหนี้ไม่ได้อีกถูกเจ้าหนี้ทวงถาม ก็ต้องให้ที่นา ที่สวน และเรือน เป็นต้น แก่เจ้าหนี้เหล่านั้น แล้วก็ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานกิน พักอยู่ที่ศาลาคนอนาถาในพระนครนั้นนั่นแล ก็คงจะมีเศรษฐีในยุคนี้หลายท่านที่ได้เปลี่ยนสภาพเป็นขอทาน อันนี้ก็แล้วแต่กรรมที่ได้ทำมา

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พวกโจรมาประชุมกัน กล่าวกับเขาอย่างนี้ว่า “นายผู้เจริญ ท่านจะมีประโยชน์ด้วยการเป็นอยู่ลำบากอย่างนี้ ท่านยังเป็นหนุ่ม มีเรี่ยวแรง กำลังก็ยังสมบูรณ์ เหตุไฉนท่านจึงอยู่เหมือนมีมือเท้าพิกล มาเถอะ มาร่วมกับพวกเรา เที่ยวปล้นทรัพย์ของชาวบ้าน แล้วเป็นอยู่ สบายดี” ทางที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องทำการงานอะไรเลย ก็คือเที่ยวปล้นทรัพย์ของชาวบ้าน ชายคนนั้นพูดว่า “เราไม่รู้วิธีโจรกรรม” ทำอะไรก็ไม่เป็นสักอย่างเดียว แม้แต่โจรกรรมก็ทำไม่เป็น พวกโจรก็ตอบว่า “พวกเราจะสอนให้เธอ ขอให้เธอจงเชื่อคำของพวกเราอย่างเดียว” ชายนั้นรับคำแล้วได้ไปกับพวกโจรเหล่านั้น

ลำดับนั้น พวกโจรเหล่านั้นได้ใช้ให้เขาถือฆ้อนใหญ่ ตัดช่อง ย่องขึ้นเรือน ให้เขายืนตรงปากช่อง และสอนว่า “ถ้าคนอื่นมาในที่นี้ เจ้าจงเอาฆ้อนนี้ทุบผู้นั้นทีเดียวให้ตายเลย” แต่เขาเป็นคนบอดเขลา ไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ก็เพียงแต่ยืนอยู่ในที่นั่น และมองดูทางมาของคนเหล่าอื่นอย่างเดียว

ฝ่ายพวกโจรก็เข้าไปในเรือน ถือเอาสิ่งของที่ควรถือเอาไปด้วย พอพวกคนในเรือนรู้ตัวเท่านั้น พวกโจรก็แตกแยกกันไป หนีไปคนละทิศคนละทาง พวกคนในเรือนก็ลุกขึ้นแล้วก็วิ่งตามจับ เห็นชายคนนั้นยืนอยู่ที่ช่องประตู ก็พากันล้อมจับไว้ และพาไปกราบทูลแก่พระราชาว่า “ขอเดชะ คนนี้เป็นโจร ข้าพระองค์จับได้ที่ปากช่อง” พระราชามีพระบัญชาให้ผู้รักษาพระนคร ลงโทษด้วยพระดำรัสว่า “จงตัดศีรษะของผู้นี้”

ผู้รักษาพระนครรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว จึงให้จับชายคนนั้นแล้ว ให้มัดไพล่หลังอย่างมั่นคง ให้ตระเวนผู้ถูกคล้องคอด้วยพวงมาลัยสีแดงห่างๆ มีศีรษะเปื้อนด้วยผงอิฐ ตามทางที่เขาแสดงด้วยกลอง ตีประจานโทษ จากทางรถบรรจบทางรถ จากทางสี่แพร่งบรรจบทางสี่แพร่ง แล้วให้เฆี่ยนด้วยหวาย แล้วให้นำไปที่ประหารชีวิต ประชาชนก็พากันแตกตื่นมาดูโจรซึ่งปล้นสะดม มีคนจับได้

ก็สมัยนั้น ในพระนครนั้น มีหญิงงามเมืองคนหนึ่ง ชื่อสุลสา ยืนอยู่ที่ประสาทมองไปช่องหน้าต่าง เห็นชายคนนั้นถูกนับไปอย่างนั้น เธอเคยถูกชายผู้นั้นบำเรอมาในกาลก่อน จึงเกิดความสงสารชายคนนี้ขึ้นว่า “ชายคนนี้เคยเสวยสมบัติเป็นอันมากในพระนครนี้เอง บัดนี้ถึงความพินาศวอดวายถึงเพียงนี้” จึงได้ส่งขนมต้ม ๔ ลูก และน้ำดื่มไปให้ และได้แจ้งให้ผู้รักษาพระนครทราบว่า ขอให้ชายคนนี้กินขนมต้มและดื่มน้ำก่อนที่จะประหารชีวิต

ครั้นในระหว่างนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะตรวจดูด้วยทิพจักษุ เห็นชายคนนั้นจะถึงความวอดวาย ด้วยความกรุณาท่านจึงคิดว่า “ชายคนนี้ไม่เคยทำบุญ ทำแต่บาป เพราะฉะนั้นชายคนนี้จะเกิดในนรก แต่ครั้นพอเราไป เขาถวายขนมต้มและน้ำดื่มแล้ว จักเกิดในภุมเทพ ไฉนหนอ เราจึงจะเป็นที่พึ่งของชายคนนี้ ดังนี้” แล้วท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ไปปรากฏข้างหน้าของชายคนนั้น ในขณะที่เขานำน้ำดื่มและขนมต้มเขาไปให้ เขาครั้นเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใสคิดว่า “เราผู้จะถูกคนเหล่านี้ฆ่าในบัดนี้เอง จะมีประโยชน์อะไรด้วยขนมต้มที่เราจะกินเข้าไปคือจะตายอยู่แล้ว จะกินขนมต้มทำไม ในเมื่อกินแล้วก็ต้องตาย ไม่กินก็ต้องตาย ก็ผลทานนี้จะเป็นเสบียงของคนไปสู่ปรโลก” เขาจึงถวายขนมต้มและน้ำดื่มแด่พระเถระ เพื่อที่จะเจริญความเลื่อมใสของชายผู้นั้น เมื่อชายผู้นั้นกำลังดูนั่นแหละ ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงนั่งในที่เช่นนั้น ฉันขนมต้มและน้ำดื่มแล้ว ลุกจากอาสนะ หลีกไป

ฝ่ายชายผู้นั้นถูกเพชฌฆาตนำไปสู่ที่ประหาร ด้วยบุญที่เขาทำไว้ในพระมหาโมคคัลลานะเถระ ผู้เป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม แม้จะเป็นผู้ที่ควรจะเกิดในเทวโลกชั้นเยี่ยม แต่เป็นเพราะเหตุที่เขามีจิตเศร้าหมองในเวลาใกล้จะตาย ที่มีความคิดถึงนางสุลสาว่า เราได้ไทยธรรมเพราะอาศัยนางสุลสา ฉะนั้นเขาจึงเกิดเป็นหมู่เทพชั้นต่ำ คือเกิดเป็นรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่อันเกิดแทบภูเขา

อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ได้ยินว่า ถ้าในปฐมวัย เขาจะได้ขวนขวายในการดำรงวงศ์สกุลไซร้ เขาจะเป็นผู้เลิศกว่าเศรษฐีทั้งหลายในพระนครนั้นนั่นเอง ถ้าขวนขวายในมัชฌิมวัย เขาจะเป็นเศรษฐีในวัยกลางคน ถ้าขวนขวายในปัจฉิมวัยเขาก็จะเป็นเศรษฐีในวัยสุดท้าย แต่ถ้าในปฐมวัยเขาได้บวชไซร้ เขาก็จะได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าบวชในมัชฌิมวัยเขาก็จะได้เป็นพระสกทาคามีหรือพระอนาคามี ถ้าบวชในปัจฉิมวัย เขาก็จะได้เป็นพระโสดาบัน แต่เพราะเขาคลุกคลีด้วยปาปมิตร เขาจึงนักเลงหญิง นักเลงสุรายินดีในความไม่สุจริต เป็นคนไม่เอื้อเฟื้อ เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง ถึงความย่อยยับอย่างใหญ่หลวงโดยลำดับ

นี่ก็เป็นเรื่องที่คุณอลันคิดที่จะหันกลับมาสู่วงธรรมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะสิ้นชีวิต ซึ่งก่อนที่จะสิ้นชีวิต คุณอลันก็พยายามสะสมความดีทุกประการ บางท่านก็จะรู้สึกซาบซึ้งที่คุณอลันช่วยหยิบรองเท้าส่งให้ เพราะว่าท่านที่มาที่วัดบวรก็ถอดรองเท้าไว้ข้างนอก แต่ถ้าคุณอลันทราบว่าเป็นรองเท้าของใคร ก็จะหยิบรองเท้าให้ และบางครั้งที่มีการพบปะกันในการสนทนาธรรมหรือการรับประทานร่วมกัน คุณอลันก็จะมีผ้าเช็ดหน้าที่ปักเป็นรูปดอกบัวให้ เพราะรู้ว่าดอกบัวเป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนา

แม้ในวันเสาร์ที่ ๒๓ มกราคม ซึ่งได้ไปเที่ยวที่บางไทร น้องสาวของดิฉันเป็นคนที่ชอบแอบทำกุศล วันนั้นก็ได้แอบให้เงินคนงานซึ่งมีของวางอยู่ แต่ไม่เห็นตัว เขามีความรู้สึกว่า ถ้าคนงานคนนั้นกลับมาและเห็นเงินวางอยู่จำนวนหนึ่ง ก็คงจะดีใจมากทีเดียว โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครให้ แต่ก็ต้องรู้ว่ามีผู้ให้ เมื่อคุณอลันได้เห็นการกระทำอย่างนี้ คุณอลันก็เตรียมเงินจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะทำอย่างนั้น แต่ว่าน้องสาวดิฉันได้ถามว่า แล้วคุณอลันได้ทำอย่างนี้ไหมคะ ปรากฏว่าไม่มีโอกาส เพราะไม่เห็นคนงานที่วางของไว้ที่คุณอลันจะแอบวางเงินไว้ให้เขาเหมือนที่น้องสาวดิฉันทำ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า คุณอลันได้พยายามทุกอย่างที่จะทำความดีอย่างที่คนอื่นกระทำเท่าที่เขาจะกระทำได้ก่อนที่จะสิ้นชีวิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นที่น่าอนุโมทนา ที่คุณอลันกลับมากระทำความดีเป็นอันมากก่อนที่จะสิ้นชีวิต

เมื่อได้ฟังเรื่องของคุณอลัน ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีความรู้สึกอย่างไร ท่านที่ได้ฟังข่าวการสิ้นชีวิตของคุณอลันก็คงจะตกใจ เพราะเป็นเรื่องไม่คิดฝัน เป็นการจากไปกระทันหัน แต่ขอให้พิจารณาจิต บางท่านรำพันถึงความดี บางท่านเสียใจเสียดายความรู้และประโยชน์ ที่สามารถช่วยคนที่สนใจในพระศาสนา ทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย เพราะว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการตอบปัญหาธรรม ก็ทำให้คนอื่นได้เห็นว่า แม้แต่ชาวต่างประเทศก็ยังมีความสนใจในการศึกษาพระศาสนาถึงอย่างนี้ เช่น มีวันหนึ่งคุณอลันก็ได้โทรศัพท์ไปถึงโรงพิมพ์ และพูดกันเป็นภาษาไทย ในเรื่องที่จะตรวจตัวอักษร คุณเพียงใจซึ่งเป็นผู้รับโทรศัพท์ก็เล่าให้ฟังว่า พูดกันเป็นภาษาอังกฤษนิดหน่อย แล้วคุณอลันก็บอกว่า “ขอผมพูดภาษาไทยดีกว่าครับ” และคุณอลันก็พูดภาษาไทยว่า “ผมจะต้องตรวจข้อความที่คุณนีน่าคัดมาจากพระไตรปิฎกอีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งทำให้คุณเพียงใจแปลกใจมากทีเดียว ที่ชาวต่างประเทศจะตรวจสอบข้อความพระธรรมจากพระไตรปิฎก ซึ่งแม้คุณเพียงใจเอง ก็อาจจะยังไม่เคยเห็นหรือไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกจริงๆ

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านเมื่อได้ฟังเรื่องของคุณอลันแล้ว ก็ควรที่จะได้ระลึกถึงสภาพจิตที่กำลังฟัง ว่าเป็นจิตประเภทใด เป็นความเสียดาย เป็นความอาลัยอาวรณ์ เป็นความโศกเศร้า ซึ่งเป็นอกุศล เพราะขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา โยนิโสมนสิการ การพิจารณาสภาพของจิตและธรรมโดยแยบคายเกิดหรือยัง แทนที่จะเป็นความเสียใจ อาลัยอาวรณ์ก็อาจจะเป็นความเบิกบานในพระธรรม ซึ่งได้เข้าใจความจริงที่เป็นสัจธรรม ซึ่งไม่ผิดจากที่ตรัสรู้และทรงแสดงถึงธรรมดาของการเกิด ซึ่งจะต้องมีการตาย เมื่อเกิดแล้วที่จะไม่ตายนั้นไม่มี และการตายนั้นไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้เลย

เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นความจริงที่เป็นสัจธรรมก็จะพิจารณาได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังฟังนี่เอง สติปัฏฐานสามารถที่จะระลึกได้ว่า เป็นเสียง และก็เป็นการคิดนึก เป็นเรื่องราวเป็นบัญญัติต่างๆ เพราะเหตุว่ายังมีการคิดถึงสมมติบัญญัติที่เป็นคุณ อลัน ไดร์เวอร์ คนหนึ่งที่รู้จักกัน แต่ว่าโดยปรมัตถธรรมแล้ว หลังจากที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันทีไม่มีการที่จะต้องเสียดาย เศร้าโศก หรือว่าเสียใจ เพราะเหตุว่าแม้จิตของคุณอลันในขณะนี้กำลังเกิดดับเช่นเดียวกับจิตของทุกคนที่อยู่ที่นี่ เมื่อมีการเกิดขึ้นก็ต้องมีการเห็นการได้ยิน การคิดนึก เหมือนๆ กับทุกคนที่นี้เพราะจิตใดที่เกิด จิตนั้นจะไม่ดับ ไม่มีเลย

เพราะฉะนั้น ไม่มีความต่างอะไร เพียงแต่ว่าสิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลหนึ่งในสังสารวัฎสู่ความเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งก็เป็นจิต เจตสิก รูป เกิดดับอยู่เรื่อยๆ เท่านั้นเอง ไม่มีสิ่งใดที่ควรต้องโศกเศร้าหรือเสียใจ หรือหวั่นไหว เพราะเหตุว่าไม่มีใครทำลายการเกิดดับของจิต เจตสิก รูป ได้ แต่ว่าทุกท่านที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ควรที่ต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แม้ในขณะที่กำลังฟังเรื่องของคุณอลันอยู่ ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ได้ยิน แล้วก็ดับ แล้วคิดนึกแล้วก็ดับ แล้วก็เห็น แล้วก็ดับ แล้วคิดนึกแล้วก็ดับ เท่านั้นเอง

ถ้าขณะนี้จิตไม่เกิดขึ้น จะไม่มีเรื่องคุณอลัน จะไม่มีการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะแยกให้รู้ความจริงของปรมัตถธรรมกับบัญญัติ มิฉะนั้นแล้วก็คงจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สืบเนื่องติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ปรมัตถธรรมก็ดับไป ดับไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ผู้ฟัง เรื่องของคุณอลันก็คงจะต้องมาสู่ความคิดนึกไปอีกหลายๆ วัน กว่าจะจางไปตามความเป็นจริง แล้วผมก็อยากจะนำคำของอาจารย์ว่า จุติจิตเป็นวิบากจิต จุติจิตของคุณอลันได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครที่จะไปดลบันดาล หรือจะไปผลัดผ่อนเวลาได้ เพราะเป็นวิบากจิตที่คุณอลันได้ทำไว้อย่างนั้น เมื่อมีหน้าที่ก็เกิดขึ้น ใครจะไปทำ ใครจะไปยับยั้งอะไรไม่ได้ ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ตอนที่คุณอลันสนทนาธรรมทุกๆ วันพุธ ที่ห้องสมุดวัดบวรนิเวศ เป็นเวลานานเท่าไร

สุ. ดิฉันเป็นคนไม่จำเรื่อง พ.ศ. เรื่องวัน เดือน ปี สิ่งใดที่ทำไปแล้ว ก็แล้วไปแล้ว ถ้าจะให้แน่นอนต้องไปเปิดดูในหนังสือ คิดว่าเป็นเวลาหลายปี

ผู้ฟัง ผมเชื่อว่า การสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ทำให้คุณอลันได้ความเข้าใจดีกว่าการฟังธรรมฝ่ายเดียว ผมยังอนุโมทนากับการสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ แต่ว่าโอกาสที่จะสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์มีน้อย ผมเองได้ความเข้าใจธรรมจากการสนทนาธรรมกับอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะไม่มากครั้งนัก แต่ได้ประโยชน์มากกว่าการฟังข้างเดียวหลายเท่า

สุ. สำหรับเรื่องของคุณอลันที่ขอกล่าวถึง ทุกท่านก็คงจะทราบว่ามีทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม จะมีแต่กุศลธรรมอย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้ สำหรับคุณอลันเองก็รู้ตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีมานะมาก นี่ก็เป็นของแน่นอนสำหรับผู้ที่มีความฉลาด มีความรู้ มีความคิดอ่านในทางโลก แต่เมื่อได้อ่านหนังสือ “เมตตา” คุณอลันก็เห็นว่า ถ้ายังมีมานะอยู่ก็จะทำให้เกิดอกุศลอีกมากมาย และทำให้กุศลที่ควรเจริญขึ้นนั้นหมดโอกาสที่จะเจริญ เช่น ถ้าเป็นผู้ที่มีมานะ ก็จะทำให้ขาดโอกาสที่จะศึกษาพระธรรม เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นผู้รู้แล้ว เมื่อเป็นผู้เข้าใจแล้ว ก็จะศึกษาจากใคร หรือว่าจะฟังจากใคร เพราะฉะนั้นก็จะทำให้เป็นผู้ไม่ขวนขวาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้ว่ามีมานะมาก เพราะฉะนั้นคุณอลันก็รู้ว่าต้องเจริญเมตตามากด้วย ด้วยเหตุนี้คุณอลันก็เริ่มใส่บาตรเป็นประจำ ซึ่งแต่ก่อนนี้คุณอลันไม่ได้คิดว่า การที่จะละมานะมีหลายทาง ด้วยการเป็นผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือเป็นผู้ที่ช่วยเหลือบุคคลอื่น ก็จะช่วยลดคลายมานะลง ซึ่งถ้ายังเป็นผู้ที่มีมานะอยู่ คุณอลันก็คงไม่ช่วยหยิบรองเท้าให้ใคร ไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ แต่เพราะเหตุว่าเมื่อเห็นโทษของอกุศลของตนเอง และก็มีความรู้สึกว่า มีอกุศลอะไรบ้างที่ควรจะขัดเกลา เช่น มานะ ก็ทำให้คุณอลันเจริญกุศลขึ้น เพราะฉะนั้น ชีวิตของคุณอลันก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า บุคคลใดก็ตามที่สามารถจะเห็นกิเลส อกุศลของตนเอง ผู้นั้นก็จะเห็นโทษของอกุศลและเริ่มเจริญกุศล และสำหรับทุกชีวิตซึ่งยังคงเพลิดเพลิน รื่นรมย์อยู่ในโลก ทั้งในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ฝันก็รู้สึกว่าสนุกสนานเพลิดเพลินสวยงาม บางคนก็ตื่นขึ้นมาก็บอกว่าฝันดี ฝันสนุก ฝันว่าไปเที่ยวที่นั่น พบสิ่งโน้น สิ่งนี้ต่างๆ แต่พอตื่นขึ้น ชีวิตไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ทุกคนมีกิจการงานที่จะกระทำ เวลาฝันก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำอะไร แต่พอตื่นขึ้น เด็กก็ต้องเรียนหนังสือ ผู้ใหญ่แต่ละคนก็ต้องมีกิจการงาน

เพราะฉะนั้น ความฝันเป็นเรื่องสวยงาม แต่ว่าชีวิตจริงๆ แล้วเป็นเรื่องการงาน แต่ถ้าจะพิจารณาชีวิตว่า ยังไม่ต้องคิดถึงการงานตามหน้าที่ของแต่ละบุคคล แต่ว่าจิตเจตสิกที่เกิดก็ยังต้องทำกิจการงานของจิต เจตสิกนั้นๆ แล้ว เพราะฉะนั้นระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีการงาน ๒ อย่าง คือการงานซึ่งเป็นกุศลกับการงานที่เป็นอกุศล นี่แน่นอนที่สุด โยนิโสมนสิการ จะเลือกทำการงานที่เป็นกุศล หรือการงานที่เป็นอกุศลในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ในภพหนึ่งชาติหนึ่งไม่ทราบว่าจะสั้นหรือจะยาวสักเท่าไร แต่ว่าก็จะจากความเป็นบุคคลนี้แน่นอนในวันหนึ่ง

สำหรับเรื่องของคุณอลันก็ได้จบสิ้นไปแล้ว สำหรับผู้ที่ยังอยู่ที่โรงพยาบาล ก็ได้รับผลของอกุศลกรรม เพราะว่าคุณกาญจนา เชิงกรานหัก ก็จะต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างน้อย ๓ อาทิตย์ สำหรับคุณสุชาดาเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว ก็สมองกระทบกระเทือน แต่ขณะนี้ก็สามารถรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ แต่ก็กลับไปกลับมา เพราะว่าขณะนี้มีความเสียใจที่เข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่ทำให้คุณอลันเสียชีวิต ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย

เพราะเหตุว่า คุณอลันมีกรรมที่จะทำให้จุติจิตเกิด เพราะเหตุว่าจุติจิตเป็นวิบากจิต วิบากจิตต้องเป็นผลของกรรม ถ้ากรรมนั้นยังไม่เป็นปัจจัยที่จะให้จุติจิตเกิด ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้จุติจิตเกิดได้เลย เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่คุณสุชาดา ซึ่งเป็นผู้ทำให้คุณอลันเสียชีวิต แต่เป็นกรรมของคุณอลันแน่นอน

ถ้าคุณสุชาดาจะคิดถึงกุศลของตนและของคุณกาญจนา ซึ่งมีใจเอื้อเฟื้อ เห็นว่าคุณแม่คุณอลันมา ก็ใคร่ที่จะเป็นผู้ทำให้คุณแม่และคุณอลันมีความเบิกบาน มีความสุข พาไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ นี่คือจิตที่เป็นกุศลของคุณสุชาดาและคุณกาญจนา ซึ่งทั้งสองท่านไม่มีเจตนาที่จะทำให้คุณอลันและคุณแม่สิ้นชีวิต ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เห็นอย่างนี้จริงๆ ก็จะไม่เสียใจ เพราะรู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าคุณอลันสิ้นชีวิตพร้อมกับมารดาในขณะที่กำลังมีความสุข ก็ยังดีกว่าที่จะไปเสียชีวิตโดดเดี่ยว ในที่ๆ ไม่มีมารดาอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่ว่าเป็นเรื่องของกรรม และได้ทราบว่า มีผู้มาเยี่ยมคุณกาญจนาหลายท่าน และบางท่านก็พาไปสอบถามเรื่องกรรมกับผู้ที่สามารถจะพยากรณ์กรรมได้ และถามว่าคุณพ่อคุณแม่คุณกาญจนาเคยไปตีใครหลังหักบ้างหรือเปล่า จึงเป็นเหตุให้คุณกาญจนาได้รับอุบัติเหตุ และนอกจากนั้นยังให้คุณแม่ของคุณกาญจนาไปปล่อยควาย เพื่อที่จะทำให้คุณกาญจนาหายเร็วขึ้น บางคนก็บอกว่าให้เอาช้างไม้ไปถวาย เพื่อจะได้หมดเคราะห์ ซึ่งความจริงถ้ากุศลของคุณกาญจนาเกิด นั่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะนำมาซึ่งกุศลวิบาก แต่ถ้าเป็นความกลัว หรือเป็นความรักตัว แล้วทำ เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง ในขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต เรื่องของการปล่อยควายหรือการไว้ชีวิตสัตว์ ควรจะคิดว่าเป็นกุศลอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยเพื่อชีวิตของเราเองจะรอด ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น จะไม่ถึงการอบรมเจริญเมตตา เพราะเหตุว่าการไว้ชีวิตของสัตว์อื่น การไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ผู้นั้นต้องมีจิตเมตตาจึงจะละเว้นได้

แต่ว่าถ้าคิดเรื่องของความเมตตา หรือจิตเมตตาที่จะต้องเจริญขึ้น ก็กลับไปคิดถึงผลที่ได้จากการปล่อยสัตว์ เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ก็ขอให้ย้อนกลับไปคิดถึงสภาพของจิตว่า แม้แต่เรื่องของการปล่อยควาย ไว้ชีวิตของสัตว์ ปล่อยปูปล่อยปลา เพื่ออบรมจิตใจให้มีเมตตา ไม่ใช่เพื่อให้เราไปได้ผลของการกระทำนั้นๆ

เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า วันหนึ่งๆ จิตเมตตาของเราเพิ่มขึ้นไหม ถ้าจิตเมตตาของเรายังไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะปล่อยควายสัก ๑๐๐ ตัว แต่จิตเมตตาไม่เพิ่มขึ้น การปล่อยนั้นเพื่ออะไร เพื่อตนเองที่จะได้รับผล หรือว่าเพื่อให้คิดถึงสัตว์อื่น ชีวิตอื่น ด้วยความเมตตาเพิ่มขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าใครก็ตามมีศรัทธาจะปล่อยควายสักหนึ่งตัว ก็ขอให้คิดถึงชีวิตประจำวันว่า เมื่อปล่อยควายไป ๑ ตัวแล้ว เรามีเมตตาต่อคนอื่นเพิ่มขึ้นทีละคนสองคนบ้างไหม หรือว่าละคลายความโกรธบุคคลอื่นไป เพราะระลึกได้ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นไม่เมตตา เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่สติเกิด และระลึกได้จริงๆ ว่าขณะที่โกรธ ขณะที่ขุ่นเคือง ขณะที่พยาบาท ขณะที่ไม่อภัย ขณะที่ผูกโกรธอยู่ ขณะนั้นไม่เมตตา ควรที่จะให้อภัย ไม่ผูกโกรธ แล้วก็มีเมตตา ไม่ใช่เพียงแต่หวังจะไปปล่อยควาย โดยที่ยังคงผูกโกรธอยู่

ขอเรียนให้ทราบข่าวกุศลเนื่องในงานศพของคุณอลัน ได้มีผู้ร่วมทำกุศลทั้งหมดเป็นเงิน สองหมื่นห้าพันห้าร้อยห้าสิบบาท และค่าใช้จ่าย มีการถวายภัตตาหาร พระเทศน์ ฉีดยาศพ ให้พนักงานเก็บดอกไม้ต่างๆ เมื่อจ่ายไปแล้ว ยังมีเงินเหลือ ๑๘,๕๕๕ บาท แต่ในจำนวนนี้มีผู้ระบุว่า ให้เป็นค่าพิมพ์หนังสือสำหรับอุทิศส่วนกุศลให้คุณอลัน ยอดสุทธิก็ควรจะเป็น ๑๘,๐๐๐ บาทถ้วน ซึ่งได้เรียนปรึกษาท่านผู้ใหญ่ของมูลนิธิแล้ว ก็มีความเห็นว่า ควรเป็นทุนอนุสรณ์ของคุณอลัน ไดร์เวอร์ ก็ขออนุโมทนาในกุศลจิตของสหายธรรมทุกๆ ท่านด้วย

ไม่ทราบมีใครต้องการจะพูดถึงคุณอลันอีกไหมคะ ท่านที่คุ้นเคยกับคุณอลัน

ผู้ฟัง ผมก็ไม่สนิทสนมคุ้นเคยกับคุณอลัน แต่คราวที่ไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดียพร้อมกับอาจารย์นั้น ก็ได้คุ้นเคยกันพอสมควร บางสถานที่ที่ไปก็ได้พักห้องเดียวกัน สังเกตดูคุณอลันเวลาพัก เมื่อมีโอกาสจะอ่านหนังสือธรรมภาษาอังกฤษ์ เวลาติดศัพท์ที่เป็นภาษาบาลี ก็เคยถามผม ผมก็ให้ความเห็นไป แกบอกว่าแกติดอยู่นาน พอได้รับคำแนะนำจากผม ก็บอกว่าเข้าใจ สิ่งที่ผมประทับใจคุณอลันที่สุด ก็คือเมื่อประมาณปลายปีนี้ ที่กระผมถามอาจารย์เรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาว่าคืออะไรกันแน่ หลังจากอาจารย์บรรยายจบแล้ว คุณอลันก็เดินมาบอกว่า จะให้ช่วยอธิบายบ้างได้ไหม ผมก็บอกว่ายินดี ซึ่งคำอธิบายของคุณอลันบอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา คือสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า ที่เห็นอยู่เฉพาะหน้า หูก็ไม่เห็น จมูกก็ไม่เห็น ลิ้นก็ไม่เห็น กายก็ไม่เห็น จับต้องก็ไม่ได้ ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก อะไรๆ ก็ไม่เห็น นอกจากตา คือตาดี ไม่หลับตา ก็ต้องเห็น นี่แหละคือสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ทำให้ผมมีรู้สึกเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นอีก และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีงานเลี้ยง คุณกาญจนาเป็นเจ้าภาพ คุณอลันเอาผ้าเช็ดหน้าขาวปักลายมาแจกทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแจกสุภาพสตรีก่อน พอมาถึงผมคุณอลันบอกว่า ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้ เพราะผมเป็นสุภาพบุรุษอยู่คนเดียวในที่นั้น ในวันนั้น คุณอลันชอบสนุก ชอบพูดเล่น แต่ในเรื่องธรรมผมของยกย่องนับถือว่า เป็นชาวต่างประเทศที่มาอยู่เมืองไทยไม่นาน ก็เข้าใจธรรมดี

สุ. ขอกล่าวถึงเรื่องของคุณอลันอีกเล็กน้อย คือ การฟังเรื่องของคุณอลันในวันนี้ทำให้เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องสัญญาขันธ์ เรื่องสังขารขันธ์หรือเปล่า เพราะเหตุว่าพระธรรมทั้งหมดใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องของขันธ์ ๕ เรื่อง รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑

สำหรับเรื่องรูปขันธ์ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทุกท่านก็เข้าใจว่ารูปคืออะไร ได้แก่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อสภาพนั้นเกิดขึ้น มีเย็น ร้อนบ้าง เป็นเสียงบ้าง แล้วก็ดับไปเวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึก ก็ไม่มีอะไรน่าสงสัย เพราะว่าทุกคนก็ดีใจบ้าง เสียใจบ้างอยู่ตลอดเวลาหรือเฉยๆ บ้าง วิญญาณขันธ์ก็คือสภาพรู้นั่นเอง ขณะที่กำลังเห็น ก็เข้าใจได้ว่า วิญญาณขันธ์ก็คือจิต เพราะฉะนั้น สำหรับที่ฟังเรื่องของคุณอลัน ระลึกถึงสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์บ้างหรือยัง เพราะเหตุว่า สัญญาขันธ์ คือ สภาพที่จำเรื่องราวต่างๆ จำสี จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำเรื่อง ในขณะที่ฟัง สัญญาเจตสิกกำลังจำเรื่องที่ได้ยินเสียงจากหู ส่วนสังขารขันธ์ล่ะ นี่คือการที่จะรู้สภาพธรรมที่ต่างกันซึ่งเกิดร่วมกันทุกภพทุกชาติเหมือนอย่างนี้ คือนามขันธ์ทั้ง ๔ ต้องเกิดร่วมกัน ทั้งเวทนาขันธ์ ทั้งสัญญาขันธ์ ทั้งสังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์

แต่สัญญาขันธ์ในขณะที่กำลังฟัง เป็นความจำ เป็นลักษณะที่จำเรื่อง ส่วนสังขารขันธ์ก็คือเจตสิกต่างๆ ที่ปรุงแต่ง ที่เกิดกับจิตที่กำลังจำเรื่องของคุณอลัน ในขณะนั้นสังขารขันธ์ปรุงแต่งเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลจิต นี่เป็นขณะที่จะทำให้สติเกิดระลึกรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นขณะจิตที่จะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย ส่วนในขณะที่กำลังปรุงแต่งเป็นเรื่องราวที่ทรงจำอยู่เป็นทางใจ เพราะฉะนั้น สำหรับสังขารขันธ์ในขณะที่กำลังได้ยินเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะทำให้รู้ว่าขณะทีปรุงแต่งให้ตื่นเต้น ดีใจ โศกเศร้าเสียใจ หรือว่าอนุโมทนาด้วยในกุศลของคนอื่น ในขณะนั้นก็สังขารขันธ์ แยกจากขณะที่เป็นสัญญาขันธ์คือขณะที่เพียงจำ ด้วยเหตุนี้สัญญาจึงเพียงจำ เวลาพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จำ จำเรื่องนั้นได้ แต่ความรู้สึก ความตื่นเต้น ความพอใจ ความไม่พอใจที่เกิดที่จำเรื่องนั้น เป็นสังขารขันธ์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแม้ขณะที่กำลังฟัง สติสามารถที่จะเกิดระลึกและศึกษาลักษณะของขันธ์ ๕ โดยแยกลักษณะที่สัญญาเป็นสภาพที่จำ แต่สังขารเป็นสภาพที่ปรุงแต่งให้เกิดโลภะ โทสะ เมตตา กรุณาต่างๆ

ขออุทิศส่วนกุศลทุกอย่างที่ได้ทำมาแล้ว โดยเฉพาะในการเผยแพร่พระธรรมให้กว้างขวางออกไปตามกำลังสติปัญญา ขอให้คุณอลันได้ร่วมอนุโมทนาด้วยเทอญ

ขอเชิญคลิกอ่านตอนอื่นๆ ได้ที่นี่...

- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 1
- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 2
- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 3
- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 4
- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 5
- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 6
- สนทนาธรรมกับชาวต่างชาติ 8 (จบ)

: ท่านสามารถคลิกชมและฟังคลิปธัมมะ ทางช่องยูทูปของคุณ อลัน เวลเลอร์ ได้ (คลิก) ที่นี่ :
Alan Weller


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chaiyut
วันที่ 22 ธ.ค. 2553

ขออนุโมทนาอาจารย์ kanchana.c ครับ ผมเคยได้ฟังคุณอลันตอบปัญหาธรรมร่วมกับท่านอาจารย์ รู้สึกว่าท่านเป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งสำหรับผมแล้ว ท่านเป็นผู้ที่น่าทึ่งในไหวพริบปฏิภาณ ในความเฉลียวฉลาดทางธรรมเป็นอย่างมาก

เมื่อได้อ่านสิ่งที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงคุณอลันจนจบ ก็ทำให้ได้ทราบความเป็นไปของท่านในอดีต สิ่งนี้ช่วยเป็นปัจจัยให้เกิดความซาบซึ้งในคุณความดีที่ท่านได้กระทำไว้ทั้งต่อพระพุทธศาสนา และต่อสหายธรรมด้วยกันมากยิ่งๆ ขึ้นไป กุศลกรรมของท่านเป็นแบบอย่างที่ดีที่ควรกระทำตามและ บางสิ่งที่เกิดกับท่านก็เป็นอนุสสติเตือนใจให้ไม่ประมาทและให้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนที่ได้ศึกษา กระทู้นี้เป็นประโยชน์อย่างมากครับ

ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 24 ธ.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของอาจารย์กาญจนา มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ups
วันที่ 24 ธ.ค. 2553

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ มี ธรรม เตือนใจ มากมาย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 27 ธ.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่แดงเป็นอย่างมากครับ สาระธรรมที่ได้จากกระทู้นี้เป็นประโยชน์และอุปการะให้เกิดความเพียรต่อการศึกษา อบรมและมิให้ประมาทในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่งครับ

ผมขออนุญาตคัดลอกถ้อยคำและความหมายเก็บไว้เป็นบันทึกส่วนตัวช่วยเตือนสติ และ ขออนุญาตเผยแพร่หากจะมีประโยชน์และเกื้อกลูผู้อื่นตามกาลอันสมควร หวังว่าพี่แดงคงกรุณาอนุญาตนะครับ (เมื่อได้อ่านข้อความธรรมะภาษาอังกฤษที่แปลเป็นตอนๆ เช่นนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์ที่มีถ้อยคำสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ่งมากมาย หากได้มีการรวบรวมในลักษณะเดียวกันนี้ ก็จะเป็นประโยชน์และเกื้อกูลมากๆ แก่ผู้ศึกษาธรรมไว้ใช้เป็นเครื่องเตือนสติได้ดีเป็นอย่างยิ่งเลย ครับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kanchana.c
วันที่ 28 ธ.ค. 2553

เห็นด้วยกับคุณจักรกฤษณ์ค่ะ ถ้อยคำสั้นๆ ของท่านอาจารย์ที่กล่าวเตือนใจนั้นมีค่าอย่างยิ่ง ยิ่งนำมาคิดพิจารณาก็ยิ่งเห็นคุณค่ามากขึ้น ถ้าประจักษ์แจ้งตามที่ท่านพูด ค่ายิ่งมีมหาศาล (แม้จะยังไม่ประจักษ์ ก็พอจะอนุมานได้) ความจริงพวกเรามาช่วยกันรวบรวม "ประโยคทอง" สำหรับแต่ละท่านก็น่าจะดีนะคะยินดีที่จะนำข้อความเหล่านี้ไปเผยแพร่ต่อไป นั่นเป็นจุดประสงค์ำสำคัญ คือ ช่วยกันเผยแพร่ความเห็นถูกให้กว้างขวางออกไปมากๆ ค่ะ

ขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
napachant
วันที่ 28 ธ.ค. 2553

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาพี่แดงค่ะ. ที่ได้มีโอกาสอ่านบทความการสนทนาของท่านอาจารย์ชุดนี้ มีประโยชน์มากที่ได้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น.

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สุรศักดิ์
วันที่ 28 ธ.ค. 2553

ขอกราบอนุโมทนาบุญที่ทุกท่านได้กระทำ สะสม เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ได้มาทราบเรื่องราวตามหลัง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
theiteam
วันที่ 1 ก.ย. 2555

thx you...

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 ก.ย. 2555

เป็นการจากไปที่น่าเสียดายค่ะ เพราะคุณอลันเป็นผู้ที่มีความเข้าใจธรรมและมีปฏิภาณดีมาก เคยปรารภให้ท่านอาจารย์ฟังว่า.. ถ้าคุณอลันยังมีชีวิตอยู่ คงได้เป็นมือขวาของท่านอาจารย์ ลองฟังบทสนทนาธรรมของคุณอลันได้ที่ลิงค์ค่ะ พระฝรั่ง...ตอบปัญหาธรรม

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ms.pimpaka
วันที่ 13 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 13 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ