สุตมยญาณ เป็นต้น - ๒๒ ม.ค. ๒๕๕๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 ม.ค. 2554
หมายเลข  17735
อ่าน  3,231

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

•••..... มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ....•••

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๒๒ ม.ค. ๒๕๕๔

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

มหาวรรค มาติกา

ว่าด้วย ปัญญาญาณ ๗๓

...จาก...

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๒๔๓ - ๒๔๖



...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 68] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๖๘ - หน้าที่ ๑

มหาวรรค มาติกา

ว่าด้วย ปัญญาญาณ ๗๓

(นำมาเพียง ๓ ประการ)

๑. ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็น สุตมยญาณ

๒. ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสังวรไว้ เป็น สีลมยญาณ

๓. ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี เป็น สมาธิภาวนามยญาณ


อรรถกถาญาณกถามาติกา

(นำมาเพียงบางส่วน)

๑. อรรถกถาสุตมยญาณุทเทส

ก็ บทว่า ปญฺญา ได้แก่ ปัญญา โดยอรรถว่า เป็นเครื่องทำให้รู้ชัด กล่าวคือเป็นเครื่องทำอรรถะนั้นๆ ให้ปรากฏ อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใด ย่อมรู้ธรรมทั้งหลายโดยประการนั้นๆ คือ โดยอนิจจลักษณะ เป็นต้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่าปัญญา ... สุต ศัพท์ มีอรรถว่า ทรงไว้ซึ่งสัททารมณ์อันตนรู้แล้ว โดยครรลองแห่งโสตทวารได้ในคำเป็นต้นว่า พหุสฺสุโต โหติ สุตธโร สุตสนฺนิจโย (เป็นผู้สดับมากเป็นผู้ทรงสุตะ เป็นผู้สั่งสมสุตะ) แต่ในที่นี้ สุตะ ศัพท์ มีอรรถว่า อันตนรู้แล้วเข้าไปทรงไว้แล้ว โดยครรลองแห่งโสตทวาร. บทว่า สุตมเย ญาณํ ความว่า ปัญญานี้ ได้ปรารภพระสัทธรรม คือ สุตะนี้ ที่รู้แล้ว ทรงจำไว้ได้แล้ว กระทำให้เป็นอารมณ์ เป็นไปแล้วในครั้งแรกและครั้งต่อๆ มา, ปัญญาญาณนั้น ย่อมเป็นอันท่านกล่าวแล้วว่า สุตมเย ญาณํ (ญาณอันสำเร็จแล้วด้วยการฟัง) อธิบายว่า สุตมยํ ญาณํ นั่นเอง … ชื่อว่า ญาณ มีการแทงตลอดสภาวะเป็นลักษณะ หรือ มีการแทงตลอดอย่างไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะ เหมือนการยิงลูกศรอันนายขมังธนูผู้ชาญฉลาดยิงไปแล้วฉะนั้น มีการส่องซึ่งอารมณ์ เป็นลักษณะ เหมือนดวงประทีปส่องสว่าง ฉะนั้นมีความไม่หลงเป็นปัจจุปัฏฐาน เหมือนพรานป่าบอกทางแก่คนหลงทาง ฉะนั้นมีสมาธิเป็นปทัฏฐาน ตามพระบาลีว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีใจตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง”.

๒. อรรถกถาสีลมยญาณุทเทส

ปัญญา ของกุลบุตรผู้ฟังธรรมตามที่กล่าวแล้วในสุตมยญาณแล้วสังวรอยู่ ทำการสังวร เป็นไปแล้วในการสังวรนั้น สัมปยุตต์กับสังวร นั้น ท่านกล่าวแล้วว่า สุตฺวานสํวเร ปญฺญา (ปัญญา ในการฟังแล้ว สำรวม) . อีกอย่างหนึ่ง มีความว่า ปัญญาในการสังวร เพราะมีการฟังเป็นเหตุบ้าง เพราะมีคำว่า เหตุอตฺเถ สุตฺวา (ฟังเหตุและผล) ปรากฏอยู่ด้วย. บทว่า สีลํ ในคำนี้ว่า สีลมเย ญาณํ ความว่า ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม, ชื่อว่า การสำรวมนี้ อย่างไร? คือการตั้งมั่น, อธิบายว่า ความเป็นกายกรรมเป็นต้น ไม่เกลื่อนกล่น ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้สำรวมด้วยดี หรือความเข้าไปตั้งมั่น, อธิบายว่า ความที่แห่งกุศลธรรมทั้งหลายเป็นที่รองรับด้วยสามารถเป็นที่ตั้ง. ก็ในศีลนี้ นักปราชญ์ผู้รู้ลักษณศัพท์ รับรู้ตามๆ กันมาซึ่งอรรถะทั้ง ๒ นี้เท่านั้น. แต่อาจารย์พวกอื่นพรรณนาว่า ชื่อว่า ศีล เพราะอรรถว่าเสพยิ่ง เพราะอรรถว่าเป็นที่รองรับ เพราะอรรถว่าเป็นปกติ เพราะอรรถว่าเป็นศีรษะ เพราะอรรถว่าเย็น เพราะอรรถว่าเกษม. ศีลนั้น แม้จะมีประเภทต่างๆ หลายอย่าง ก็มีการสำรวมเป็นลักษณะ เหมือนรูปมีประเภทต่างๆ เป็นอันมาก ก็มีการเห็นได้ด้วยตาเป็นลักษณะ ฉะนั้น. ความสำรวมแห่งศีลแม้มีประเภทต่างๆ หลายอย่างโดยประเภทแห่งวิรัติมีเจตนาวิรัติเป็นต้น ท่านกล่าวแล้วว่าเป็นที่รองรับกายกรรมเป็นต้น และเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมนี้ได้, การสำรวมนั้นนั่นแหละเป็นลักษณะของศีลแม้มีประเภทต่างๆ หลายอย่างโดยประเภทแห่งวิรัติมีเจตนา วิรัติเป็นต้น เพราะไม่ก้าวล่วงความเป็นที่รองรับและเป็นที่ตั้ง. ก็ การกำจัดความเป็นผู้ทุศีล และคุณคือความไม่มีโทษ ท่านเรียกว่าเป็นรส เพราะอรรถว่าเป็นกิจและสมบัติของศีลนั้นมีลักษณะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างนี้. เพราะฉะนั้น ธรรมดาว่าศีลนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า มีการกำจัดความเป็นผู้ทุศีลเป็นรส เพราะรสมีอรรถว่ากิจ, มีความไม่มีโทษเป็นรส เพราะรสมีอรรถว่าสมบัติ.

ศีลนี้นั้น วิญญูชนทั้งหลาย พรรณนาไว้ว่า มีความสะอาดเป็นปัจจุปัฏฐานมีโอตตัปปะและหิริเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น. ศีลนี้นั้น มีความสะอาดเป็นปัจจุปัฏฐาน ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ความสะอาดกาย, ความสะอาดวาจา, ความสะอาดใจย่อมถึงซึ่งความนับว่า ปรากฏโดยความเป็นของสะอาด.

ส่วน หิริและโอตตัปปะ วิญญูชนทั้งหลาย พรรณนาไว้ว่า เป็นปทัฏฐานของศีลนั้น, อธิบายว่า เป็นเหตุใกล้. เพราะเมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ ศีลก็ย่อมเกิดขึ้นและตั้งอยู่, เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี ศีล ก็ย่อมไม่เกิดขึ้นและไม่ตั้งอยู่ฉะนั้น ญาณที่สหรคตด้วยศีล สัมปยุตด้วยศีลนั้น โดยวิธีที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้ ชื่อว่า สีลมเย ญาณํ. อีกอย่างหนึ่ง ศีลนั่นแหละ สำเร็จแล้ว ชื่อว่า สีลมัย, ญาณในสีลมัยนั้น คือ สัมปยุตต์ด้วยศีลมัยนั้น การพิจารณาโทษในการไม่สำรวม ๑ การพิจารณาอานิสงส์ในการสำรวม ๑ การพิจารณาความบริสุทธิ์ในการสำรวม ๑ การพิจารณาความขาวสะอาดจากสังกิเลสในเพราะการสำรวม ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสีลมยญาณนั่นแล.

๓. อรรถกถาสมาธิภาวนามยญาณุทเทส

คำว่า สํวริตฺวา สมาทหเน ปญฺญา ความว่า ปัญญา ของกุลบุตรผู้สำรวมด้วยสีลสังวรตามที่กล่าวไว้ในสีลมยญาณ แล้วทำการสำรวมตั้งอยู่ในศีลมีจิตตั้งไว้ด้วยดี กระทำจิตให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ด้วยสามารถแห่งอุปจารสมาธิและอัปปนา-สมาธิ เป็นไปแล้วในสมาธิจิตนั้นคือสัมปยุตกับด้วยสมาธิจิตนั้น. การวางไว้ ตั้งไว้ด้วยดีโดยชอบฉะนั้น จึงชื่อว่า สมาทหนํ (การตั้งไว้ด้วยดี) คำนี้ เป็นคำเรียกสมาธิโดยปริยาย. กุศลจิตเอกัคคตา ชื่อว่า สมาธิ ในคำนี้ว่าสมาธิภาวนามเย ญาณํ ชื่อว่า สมาธิ เพราะอรรถว่ากระไร ? ชื่อว่า สมาธิ เพราะอรรถว่าตั้งมั่น (สมาธานํ) . ชื่อว่า สมาธาน นี้อย่างไร? มีคำอธิบายว่าการวาง การตั้ง ซึ่งจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์เดียวโดยชอบด้วยดี เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิก ไม่ฟุ้งไป ไม่เกลื่อนกล่น ตั้งอยู่โดยชอบด้วยดีในอารมณ์เดียว ด้วยอานุภาพแห่งธรรมใด คำที่กล่าวมาแล้วนี้ พึงทราบว่าเป็น สมาธาน. ก็ ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ การกำจัดความฟุ้งซ่านเป็นรส การไม่หวั่นไหวเป็นปัจจุปัฏฐาน และมีความสุขเป็นปทัฏฐาน ของสมาธินั้นแล. -สมาธิอย่างหนึ่ง คือ เอกัคคตาจิต, สมาธิ ๒ อย่าง คือ โลกิยสมาธิ ๑ โลกุตตรสมาธิ ๑ -บทว่า โลกิโย วัฏฏะ ท่านกล่าวว่า โลก เพราะอรรถว่าแตกสลายไป สมาธิประกอบแล้วในโลก โดยความเป็นสมาธิเนื่องอยู่ในวัฏฏะนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า โลกิยะ. -บทว่า โลกุตตโร ชื่อว่า อุตตระ เพราะข้ามไปแล้ว ชื่อว่า โลกุตตระ เพราะข้ามไปจากโลก โดยความเป็นสมาธิไม่เนื่องอยู่ในโลก.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 16 ม.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปัญญาญาณ ๓ ประการ

๑. ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตมยญาณ

๒. ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสังวรไว้ เป็นสีลมยญาณ

๓. ปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี เป็นสมาธิภาวนามยญาณ

- สุตมยญาณ เป็นปัญญาที่เกิดจากการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังแล้วพิจารณาเหตุผลของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

- สีลมยญาณ คือ ปัญญาอันสำเร็จมาแต่ศีล, ปัญญาในการสำรวมเพราะมีการฟังพระธรรมเป็นเหตุ เป็นปัญญาที่รู้ ขั้นน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม มีการสำรวมตามพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อได้ฟังพระธรรม มีปัญญา (ความเข้าใจไป) ตามลำดับ จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลต่อความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจทีดีงาม มีการสำรวมทางกายทางวาจา และทางใจ

-สมาธิภาวนามยญาณ เป็นปัญญาที่เกิดจากการอบรมเจริญให้มีมากขึ้น สมาธิ มีทั้งที่เป็นโลกิยะ (นับเนื่องในวัฏฏะ) และ โลกุตตระ (ข้ามพ้นจากการเกิดดับ)

* หมายเหตุ เนื่องจาก เป็นธรรมที่ควรค่าแก่การพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ขอให้อ่านและพิจารณาข้อความจากอรรถกา เพิ่มเติมนะครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความต่อไปนี้เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ครับ

เหตุใดจึงต้องเป็น...จิรกาลภาวนา?

อะไรเป็นเครื่องปกครองคน?

อยากสำรวม...อยากสงบ

ทาน ศีล ภาวนา

ปัญญาต้องมีกำลังกว่าอวิชชาแน่นอน

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มกร
วันที่ 17 ม.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 17 ม.ค. 2554

ขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
intira2501
วันที่ 18 ม.ค. 2554
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ตัวตน
วันที่ 18 ม.ค. 2554

ปัญญาเกิดจากอะไร อะไรเรียกปัญญา มีปัญญาแล้วจะเกิดอะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 18 ม.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๕ ครับ

ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เ้ข้าใจถูก เห็นถูก,ในภาษาไทยไม่มีคำว่าปัญญา (เพราะคำว่าปัญญา เป็นภาษาบาลี) แต่มีคำว่า เข้าใจ ดังนั้นปัญญา ก็คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ปัญญา จะเจริญขึ้นได้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการอบรมจากการฟัง การศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ที่สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม และที่ถามว่า มีปัญญาแล้วจะเกิดอะไร ปัญญาทำกิจหน้าที่ของปัญญา คือ เข้าใจถูก เห็นถูก เมื่อปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้นก็สามารถถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ได้ ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เหมือนอย่างเช่นพระอริยสาวกทั้งหลายในอดีต ที่ท่านเป็นอย่างนั้นได้ ก็เพราะปัญญา ที่ท่านได้สะสมอบรมมา, การรู้แจ้งอริย-สัจจธรรม เป็นเรื่องที่ไกลมาก แต่อย่างไรก็ตาม ปัญญาที่ได้สะสมในขณะนี้ ไม่สูญหายไปไหน ยังสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ และจะมีกำลังเพิ่มมากยิ่งขึ้น ถ้าได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมต่อไป ดังธรรมวาทะที่ท่านอาจาย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวไว้ว่า "ฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น แล้วจะเห็นกำลังของปัญญา" ครับ ขอให้คุณผู้ใช้นามว่า "ตัวตน" ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ต่อไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย นะครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pamali
วันที่ 19 ม.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบท่านอจ.สุจินต์

ขอบพระคุณอจ.คำปั่น และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผิน
วันที่ 19 ม.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 19 ม.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kulwilai
วันที่ 20 ม.ค. 2554

๓๗. อรรถกถาสัลเลขัฏฐญาณุทเทส (ว่าด้วยสัลเลขัฏฐญาณ) " สุตมยญาณ, สีลมยญาณ, และภาวนามยญาณ ที่เป็นบาทแห่งวัฏสงสาร ย่อมไม่ชื่อว่า สัลเลขะ - ธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา, ญาณเหล่านี้ก็ดี ญาณเหล่าอื่นก็ดี เฉพาะที่เป็นบาทแห่งโลกุตระ ท่านเรียกว่า สัลเลขะ - ธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา "

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
aurasa
วันที่ 22 ม.ค. 2554

ขอบพระคุณ อจ.คำปั่น ที่ไ้ด้อธิบาย ให้กระจ่างขึ้น และขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ