ปฐมปัญจเวรภยสูตร...วันเสาร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 เม.ย. 2554
หมายเลข  18134
อ่าน  2,063

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••... สนทนาธรรมที่ ... 
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

ในวันเสาร์ ๙ เม.ย. ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ปฐมปัญจเวรภยสูตร

(ว่าด้วยภัยเวร ๕ ประการ)


...จาก...

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒๖ - หน้าที่ ๒๑๓

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒๖ - หน้าที่ ๒๑๓


คหบดีวรรคที่ ๕

๑. ปฐมปัญจเวรภยสูตร

(ว่าด้วยภัยเวร ๕ ประการ)



[๑๕๑] พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ-บิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี เมื่อใดแล ภัยเวร ๕ ประการ ของอริยสาวกสงบแล้ว เมื่อนั้นอริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และญายธรรมอย่างประเสริฐอริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรา เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในกายหน้า. [๒๕๒] ภัยเวร ๕ ประการ สงบแล้ว เป็นไฉน. ดูก่อนคฤหบดี บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรใด อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัสบ้าง เพราะปาณาติบาตเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวกผู้พ้นขาดจากปาณาติบาต สงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้, บุคคลผู้ลักทรัพย์ ย่อมประสบภัยเวร ใด อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติ หน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัสบ้างเพราะอทินนาทานเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวกผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน สงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้, บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ย่อมประสบภัยเวรใด อันมีในชาตินี้บ้างอันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัสบ้าง เพราะกาเมสุมิจฉาจารเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวกผู้เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร สงบแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้, บุคคลผู้พูดเท็จ ย่อมประสบภัยเวรใด อันมีในชาตินี้บ้าง อันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัสบ้าง เพราะมุสาวาทเป็นเหตุ ภัยเวรของอริย-สาวกผู้เว้นขาดจากมุสาวาท สงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้, บุคคลผู้ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย ย่อมประสบภัยเวรใด อันมีในชาตินี้บ้างอันมีในชาติหน้าบ้าง ย่อมเสวยเจตสิกทุกข์คือโทมนัสบ้าง เพราะการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นเหตุ ภัยเวรของอริยสาวกผู้เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท สงบแล้วด้วยอาการอย่างนี้ ภัยเวร ๕ ประการนี้ สงบแล้ว. [๑๕๓] อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างเป็นไฉน. ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้, ย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้, ย่อมประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้,ย่อมประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าปรารถนา อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ครอบงำได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ อริยสาวก ย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างนี้. [๑๕๔] ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวก เห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญาเป็นไฉน. ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ถึงปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างดี ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ ด้วยประการดังนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนาเพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับเพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โลกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ญายธรรมอันประเสริฐนี้ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้วแทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา. [๑๕๕] ดูก่อนคฤหบดี เมื่อใดแล ภัยเวร ๕ ประการนี้ ของอริยสาวกสงบแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และญายธรรมอย่างประเสริฐนี้ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ด้วยตนเองได้ว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีปิตติวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในภายหน้า. จบปฐมปัญจเวรภยสูตรที่ ๑.




  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป ปฐมปัญจเวรภยสูตร

(ว่าด้วยภัยเวร ๕ ประการ) เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระองค์ได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้ ภัยเวร ๕ ประการ ได้แก่ เจตนาเป็นเครื่องกระทำปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ และดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้ประสบกับภัยเวรในชาตินี้หรือในชาติหน้ า หรือ ได้ประสบกับความทุกข์ทางใจ อันมีการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นเหตุ เมื่อภัยเวร ๕ ประการ ของพระอริยสาวก สงบแล้ว อริยสาวก ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยองค์คุณของผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ๔ ประการ คือ มีความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย (พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระอริยสงฆ์) และ มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ขาด นอกจากนั้นยังชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยญายธรรม คือ ปัญญาที่รู้ปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น) ตามความเป็นจริง เป็นผู้พ้นจากอบายภูมิ และ เป็นผู้แน่นอนที่จะได้ตรัสรู้ในภายหน้า กล่าวคือ ตรัสรู้เป็นพระสก-ทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

องค์แห่งโสดาปัตติ ๒ นัย [อรรถกถา ปัญจเวรภยสูตร]
โสตาปัตติยังคะ ๔ ไม่เกี่ยวกับสถานที่ โสตาปัตติยังคะ ๔

ศีลทั้งหมดเป็นมหาทาน การให้... ธรรมที่พระโสดาบันละได้แล้ว [ปหีนสูตร] เรียนถามเกี่ยวกับ พระโสดาบันปิดประตูอบาย เป็นพระโสดาบัน ทำยากไหมคะ มีข้อปฎิบัติอย่างไรบ้าง ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paew_int
วันที่ 3 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 4 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 4 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tanakase
วันที่ 4 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 5 เม.ย. 2554
ขอขอบคุณขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
มกร
วันที่ 6 เม.ย. 2554
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
petcharath
วันที่ 7 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 8 เม.ย. 2554
อนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 9 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ