ผู้โลเลด้วยจักษุ

 
pirmsombat
วันที่  14 เม.ย. 2554
หมายเลข  18206
อ่าน  1,515

ผู้โลเลด้วยจักษุ (ย่อ)

ผู้โลเลด้วยจักษุคิดว่า รูปที่ยังไม่เคยดูเราควรดู รูปที่เคยดูเราควรผ่านไป ดังนี้ เป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเที่ยวไปนาน ซึ่งความเที่ยวไปไม่แน่นอน สู่อารามแต่อาราม สู่สวนแต่สวน สู่บ้านแต่บ้าน สู่นิคมแต่นิคม สู่นครแต่นคร สู่แว่นแคว้นแต่แว่นแคว้น สู่ชนบทแต่ชนบท เพื่อจะดูรูป ภิกษุเป็นผู้โลเลด้วยจักษุแม้อย่างนี้.อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนเป็นผู้ไม่สำรวมเดินไป คือแลดูช้าง แลดูม้า แลดูรถ แลดูพลเดินเท้า แลดูสตรี แลดูบุรุษ แลดูกุมาร แลดูกุมารี แลดูร้านตลาด แลดูหน้ามุขเรือน แลดูข้างบน แลดูข้างล่าง แลดูทิศน้อย ทิศใหญ่ เดินไป ภิกษุเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ แม้อย่างนี้.อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วย จักษุแล้ว เป็นผู้ถือนิมิต เป็นผู้ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ

แม้อย่างนี้.อนึ่ง ท่านสมณพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมขวนขวายดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือการฟ้อน การขับ การประโคม มหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย เพลง ปรบมือ ฆ้อง ระนาด หนัง เพลงขอทาน เล่นไต่ราว การเล่นหน้าศพ ชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ ชนนกกระทา รำกระบี่กระบอง ชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ ฉันใด ภิกษุเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ แม้ฉันนั้น.ภิกษุไม่เป็นผู้โลเลด้วยจักษุอย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน เป็นผู้สำรวมเดินไป ไม่แลดูช้าง ไม่แลดูม้า ไม่แลดูรถ ไม่แลดูคนเดินเท้า ไม่แลดูสตรี ไม่แลดูบุรุษ ไม่แลดูกุมาร ไม่แลดูกุมารี ไม่แลดูร้านตลาด ไม่แลดูหน้ามุขเรือน ไม่แลดูข้างบน ไม่แลดูข้างล่าง ไม่แลดูทิศน้อยทิศใหญ่ เดินไป ภิกษุไม่เป็นผู้โลเลด้วยจักษุ

แม้อย่างนี้.อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่ไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุไม่เป็นผู้โลเลด้วยจักษุ แม้อย่างนี้.อนึ่ง ท่านสมณพราหมณ์บางพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ย่อมขวนขวายดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือการฟ้อน การขับ การประโคม มหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย ฯลฯกองทัพ ฉันใด ภิกษุเป็นผู้เว้นขาดจากการขวนขวายในการดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ ภิกษุเป็นผู้ไม่โลเลด้วยจักษุ แม้อย่างนี้. คำว่า ไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ ความว่า พึงละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป ให้ถึงความไม่มี ซึ่งความเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ คือเป็นผู้งดเว้น เว้นขาด ออกไป สลัดออกไป หลุดพ้นไม่เกี่ยวข้อง ด้วยความเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ เป็นผู้มีจิตปราศจากแดนกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ผู้โลเลด้วยจักษุ

จักษุคือสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมคือจักขุปสาท เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ดังนั้นตัว จักษุเองไม่โลเล แต่เพราะอาศัยจักขุปสาท กระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณคือการเห็นสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เมื่อเห็นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ย่อมไม่พิจารณาโดยแยบคาย ยึดถือโดยนิมิตและ อนุพยัญชนะคือสำคัญในสิ่งที่เห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคลสิ่งต่างๆ ด้วยอำนาจกิเลส คือยึดถือ ในสิ่งที่เห็นด้วยกิเลส มีตัณหาคือโลภะและความเห็นผิด เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่เห็นสิ่งต่างๆ แล้วเกิดอกุศลจิตในสิ่งที่เห็น เมื่อนั้นชื่อว่าเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ ความเป็นผู้โลเลจึงอยู่ที่ใจที่เป็นอกุศล แต่เพราะอาศัยทวารทางตาจึงทำให้มีการเห็น แล้วเกิดอกุศลจิต จึงเรียกว่าเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ

ความเป็นผู้ต้องการเห็นรูปประการต่างๆ ด้วยอำนาจโลภะ ความติดข้อง การต้องการ เห็นรูปต้องอาศัยตา เพราะฉะนั้นอกุศลคือโลภะนั้นโลเล ด้วยความต้องการเห็นรูปต่างๆ จึงชื่อว่าเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 14 เม.ย. 2554

ความเป็นผู้ไม่โลเลด้วยจักษุ

คือ เมื่อมีการเห็นเกิดขึ้น ปัญญาย่อมพิจารณาในสิ่งที่ เห็นในสภาพธรรมทีเกิดขึ้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นอกุศลธรรมไม่เกิดแต่ ปัญญาเกิดรู้ตามความเป็นจริงจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่โลเลด้วยจักษุ ใจนั้นเองไม่โลเลด้วย อำนาจกิเลส อันอาศัยตาครับ

ความเป็นผู้ไม่โลเลด้วยจักษุจึงไม่ใช่เพียงอาการภายนอกว่าดูสำรวม ไม่มองสิ่งใด แต่สำคัญที่ปัญญาเมื่อเห็นสิ่งใดแล้วรู้ความจริงและจิตเป็นอย่างไร

สำรวมและความไม่โลเลจึงเป็นเรื่องของปัญญา เพราะฉะนั้นการอบรมปัญญาคือการเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จึงชื่อว่าเป็นผู้สำรวมและเป็นผู้ไม่โลเลด้วยจักษุครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 14 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า จากการที่เป็นบุคคลผู้ที่เต็มไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยอกุศลนานาประการ มีโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจทางตา ทางหู เป็นต้น (และกิเลสประการอื่นๆ ด้วย) แต่เพราะได้อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นเครื่องฝึกที่ดี ก็สามารถทำให้เข้าใจถึงโทษของอกุศลและคุณประโยชน์ของกุศล ทำให้รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แล้วน้อมไปในทางที่เป็นกุศล ในทางที่ถูก ที่ควร มากขึ้น และประการที่สำคัญ จากที่ไม่มีปัญญา ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็มีปัญญาที่เจริญขึ้นไปตามลำดับ จนสามารถละกิเลสอันเป็นเหตุของความไม่ดีทั้งหมดได้ในที่สุด ทั้งหมดต้องได้ฟังพระธรรมที่พระ-ผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง แล้วเกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นปัญญาของตนเองครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ,คุณผเดิม และ ทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 14 เม.ย. 2554

เพราะอวิชชา ความไม่รู้สิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะเห็นเกิด ขึ้นเห็น เพียงสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้น แต่ด้วยความไม่รู้ ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรม นิมิตจึงตั้งขึ้นพร้อมเห็น เห็นเป็นบ้าน เห็นเป็นคน เห็นเป็นสิ่งต่างๆ จากการศึกษา จึงเข้าใจได้ว่า เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของจิต ทันทีที่เห็นจึงปรากฏ เป็นสิ่งต่างๆ เรื่องราวมากมาย แท้ที่จริงจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ- เจ้า ขณะที่เห็นไม่มีนิมิตเลย แต่ขณะคิดต่างหากนิมิตจึงจะปรากฏ...

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 395

บทว่า นิมิตฺตคฺคาหี เป็นผู้ถือนิมิต คือ ถือนิมิตหญิงและชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส มีสุภนิมิตเป็นต้นด้วยอำนาจฉันทราคะ. เพียงเห็นเท่านั้นนิมิตไม่ปรากฏ. บทว่า อนุพฺยญฺชนคฺคาหี ถืออนุพยัญชนะ คือถืออาการหัน ต่าง ด้วยมือ เท้า หัวเราะ ขบขัน พูด ชำเลืองดู และการเหลียวดู เป็นต้น เรียกว่าอนุพยัญชนะ เพราะทำให้ปรากฏ โดยเป็นเหตุให้กิเลสทั้งหลาย ปรากฏ.

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่...

ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ

ผู้ถือเอานิมิตอนุพยัญชนะด้วยกิเลส

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.คำปั่น คุณผเดิม และคุณหมอ ค่ะ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 15 เม.ย. 2554

พระพูทธเจ้าทรงสอนให้ภิกษุ สำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 ทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สำรวมระวังไม่ให้อกุศลเกิด ให้มีปัญญารักษาตัว เช่น ภิกษุไม่ควรเห็นสตรี ถ้าจำเป็นต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วยให้มีสติ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 15 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chaiyut
วันที่ 15 เม.ย. 2554

ชีวิตของเพศบรรพชิต ต้องขัดเกลากิเลสอกุศลทุกทางทุกประการอย่างยิ่งดุจสังข์ขัดทีเดียว ท่านบวชอุทิศพระพุทธเจ้า เพื่ออบรมศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อน้อมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ด้วยดี จุดหมายสูงสุดคือถึงความเป็นพระ-อรหันต์ ซึ่งไม่ง่ายที่จะเป็นได้ ต้องอาศัยพระโอวาทและอนุศาสนีย์ที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาพร่ำสอนและตักเตือนบ่อยๆ ไม่ให้ตกไปในความประมาทแม้ในเรื่องของจักษุที่จะเป็นที่ตั้งให้พอกพูนกิเลสจนกำเริบ อันจะเป็นอันตรายแก่การประพฤติพรหมจรรย์ในผู้ที่เป็นภิกษุได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนพระภิกษุเช่นไร พระธรรมที่ทรงแสดงนั้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเกื้อกูลให้ฆราวาสเกิดความเข้าใจถูกเช่นนั้นได้เช่นกัน แม้ฆราวาสก็ควรศึกษาโดยเคารพและน้อมประพฤติปฏิบัติตามตามกำลังของความเข้าใจถูกของตนด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 16 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pirmsombat
วันที่ 23 เม.ย. 2554

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ ทุกๆ ท่านครับ...

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ