ปฐม-ทุติยนกุหนาสูตร ... วันเสาร์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 เม.ย. 2554
หมายเลข  18275
อ่าน  2,393

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ปฐม นกุหนาสูตร (ว่าด้วยแนวประพฤติพรหมจรรย์) ทุติย นกุหนาสูตร

(ว่าด้วยพรหมจรรย์เครื่องกำจัดจัญไร)

... จาก ...

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม ๔๕ หน้าที่ ๒๐๗, ๒๑๗

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม ๔๕ หน้าที่ ๒๐๗

๘. ปฐม นกุหนาสูตร (ว่าด้วยแนวประพฤติพรหมจรรย์)

[๒๑๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ ภิกษุ ไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวงชน ไม่อยู่ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติ ด้วยคิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติ เพื่อการสำรวม และเพื่อการละ. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์ เครื่องกำจัดจัญไร อันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อการสำรวม เพื่อการละ, ทางนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหา คุณอันใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่า ใดๆ ย่อมปฏิบัติพรหมจรรย์ นั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ ผู้กระทำตาม คำสั่งสอนของพระศาสดา จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้. เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบ ปฐม นกุหนาสูตรที่ ๘

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม ๔๕ หน้าที่ ๒๑๗ - ๒๑๙

๙. ทุติย นกุหนาสูตร (ว่าด้วยพรหมจรรย์เครื่องกำจัดจัญไร)

[๒๑๔] จริงอยู่ พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ ภิกษุไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวงชน ไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ และความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติด้วยคิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุอยู่ประพฤติ เพื่อความรู้ยิ่ง และ เพื่อกำหนดรู้. พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์ เครื่องกำจัดจัญไร อันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อความ รู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้, ทางนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่าใดๆ ย่อมปฏิบัติ พรหมจรรย์นั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ ผู้กระทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา จักกระทำซึ่งที่สุดแห่ง ทุกข์ได้. เนื้อความแม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบ ทุติย นกุหนาสูตรที่ ๙.

อรรถกถา ทุติย นกุหนาสูตร

ใน ทุติยนกุหนาสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อภิญฺตฺถ ได้แก่ เพื่อความรู้ธรรมทั้งปวง โดยจำแนก มีกุศลเป็นต้น และโดยจำแนก มีขันธ์เป็นต้น โดยไม่วิปริต ด้วยความรู้อันวิเศษยิ่ง.

บทว่า ปริญฺตฺถ ได้แก่ เพื่อกำหนดรู้และเพื่อก้าวล่วงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ โดยนัยมีอาทิว่า อิท ทุกฺข (นี้เป็นทุกข์) ดังนี้. ในบทนั้น ความรู้ยิ่งในสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง เป็นวิสัยของอริยสัจจ์ ๔. ก็การรู้-รอบ คือ การกำหนดรู้. ผิว่า การกำหนดรู้ เป็นวิสัย ของทุกข์สัจจ์ไซร้ พรหมจรรย์ เว้นจากการตรัสรู้ ด้วยปหานะ สัจฉิกิริยา และภาวนาย่อมเป็นไปไม่ได้. พึงทราบว่า ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาปหานะ (ละ) เป็นต้น. บทที่เหลือ มีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้วในสูตรตามลำดับ.
จบ อรรถกถา ทุติย นกุหนาสูตรที่ ๙.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 28 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป ปฐม นกุหนาสูตร * (ว่าด้วยแนวประพฤติพรหมจรรย์)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า พรหมจรรย์ ภิกษุไม่ควรอยู่ประพฤติ เพื่อจุดประสงค์อื่น คือ เพื่อหลอกลวงคน เพื่อประจบคน เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญเป็นต้น แต่ควรอยู่ประพฤติเพื่อการสำรวม และ เพื่อการละ

ทุติย นกุหนาสูตร (ว่าด้วยพรหมจรรย์เครื่องกำจัดจัญไร)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า พรหมจรรย์ ภิกษุไม่ควรอยู่ประพฤติ เพื่อจุดประสงค์อื่น คือ เพื่อหลอกลวงคน เพื่อประจบคน เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญเป็นต้น แต่ควรอยู่เพื่อรู้ยิ่ง และ เพื่อกำหนดรู้.

หมายเหตุ คำว่า นกุหนา ซึ่งเป็นชื่อของพระสูตร หมายถึง ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงมาจากคำภาษาบาลีว่า (ไม่ใช่) + กุหนา (การหลอกลวง) ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

... เรื่องของพรหมจรรย์ ...

อยู่พรหมจรรย์ เป็นอย่างไร?

บุคคลเหล่านั้นอยู่ที่ไหน

รู้ทุกข์ ...

ทางอื่น ไม่มี [คาถาธรรมบท]

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พิจารณา
วันที่ 30 เม.ย. 2554

ปฐม นกุหนาสูตร ว่าด้วยแนวการประพฤติพรหมจรรย์ การประพฤติพรหมจรรย์

พรหมจรรย์ ความหมายคือ การประพฤติที่ประเสริฐ พรหมจรรย์ที่เป็นการประพฤติที่

ประเสริฐมีหลายความหมายดังนี้

1.การให้

2.ความขวนขวาย

3.ศีล 5

4.พรหมวิหาร

5.เมถุนวิรัติ (งดเว้นการล่วงเป็นคู่ๆ )

6.ความสันโดษ

7.ความเพียร

8.อุโบสถศีลมีองค์ 8

9.อริยมรรคมีองค์ 8

10.คำสอนในพระพุทธศาสนา

สำหรับพระสูตรนี้ (ปฐม-ทุติย นกุหนาสูตร) ในเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์

พรหมจรรย์ในสูตรนี้หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 และคำสอนในพระพุทธศาสนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พิจารณา
วันที่ 30 เม.ย. 2554

จากข้อความในพระสูตรที่ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ ภิกษุ ไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวงชน ไม่อยู่ ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติ ด้วยคิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้


อธิบายดังนี้ บุคคลไม่ประพฤติปฏิบัติ ศึกษาธรรมเพื่อจุดประสงค์ คือ หลอกลวงชน

หลอกลวงอย่างไร หลอกลวงว่าเป็นผู้มีศีล เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้ไม่ติดลาภสักการะ เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้มีคุณธรรม ให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในสิ่งที่ตนกระทำด้วยข้อปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนามีการรักษาศีล เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้มีศีล เพื่อจะได้มาซึ่ง ลาภ สักการะ สรรเสริญและปัจจัย 4 การหลอกลวงโดยการใช้อิริยาบถที่สำรวม เช่น การเดิน ยืน ที่สำรวมเพื่อหลวกลวงชนเหล่าอื่นว่าเป็นผุ้สำรวม เป็นต้น เพื่อให้ได้มา ซึ่ง ลาภ สักการะ สรรเสริญ ปัจจัย 4 เหล่านี้คือไม่ใช่ประโยชน์หรือผลของกาประพฤติ พรหมจรรย์ หรือ การประพฤติตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามีการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 พรหมจรรย์อันคำสอนของพระพุทธเจ้าและข้อประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนามี การรักษาศีล เป็นต้น

พรหมจรรย์นี้ไม่ใช่เพื่อประจบคนเหล่าอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัย 4 รวมทั้งลาภ สักการะ สรรเสริญ ประจบอย่างไร ประจบด้วยการพูดชม พูดเยินยอ เป็นต้น เพื่อจะได้มาซึ่งลาภ สักการะชื่อเสียงและวัตถุปัจจัย 4 ต่างๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่ผลของ การประพฤติพรหมจรรย์หรือการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือการ ประพฤติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ไม่ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้คนอื่นรู้จักเราเราว่าเป็นผุ้มีศีล เป็นผู้มีความเพียร เป็นพหูสูต เป็นผู้มักน้อยนั่นไม่ใช่ผลของการประพฤติตามคำสอน และอริยมรรคของพระพุทธเจ้า และประพฤติข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เพื่อให้คน เหล่าอื่นรู้จักเรา รู้จักว่าเป็นพหูสูต ฟังธรรมมาก เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้ขัดเกลา เป็นผู้มี คุณธรรมประการต่างๆ นี่ไม่ใช่ผลของการประพฤติในอริยมรรคมีองค์ 8 และตามพระ ธรรมคำสั่งสอนเพราะขณะนั้นเพื่มโลภะ ความติดข้องให้ผู้อื่นรู้จักเรา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พิจารณา
วันที่ 30 เม.ย. 2554

ข้อประพฤติในพระพุทธศาสนามี การเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความไม่รู้ ผลคือการละกิเลสได้จนหมดสิ้น แต่หากเป็นไปเพื่อได้ลาภ สักการะ ชื่อเสียง เพื่อให้ได้ปัจจัย 4 นั่นเท่ากับเพิ่มสมุทัยคือโลภะ ความติดข้องมากขึ้น เมื่อ เป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นจะศึกษาธรรมอยู่ก็ตามแต่ศึกษาด้วยจุดประสงค์ผิด ไม่ใช่หนทางที่ ถูกต้องเหมือนจับงูพิษที่หาง งูย่อมกัดเขาได้ ก็ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถบรรลุคุณธรรม และดับกิเลสได้เลยเพราะจุดประสงค์ไม่ถูกต้อง ความเป็นผู้ตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ

จากพระพุทธพจน์ต่อไปที่ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติ เพื่อการสำรวม และเพื่อการละ.


การสำรวม ไม่ได้หมายถึงกิริยาท่าทางภายนอก ที่ดูสำรวม แต่การสำรวมเป็นเรื่องของ จิตใจ ขณะนั้นจิตต้องเป็นกุศล เพราะฉะนั้น พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อบุคคลปฏิบัติตาม ผลคือเป็นไปเพื่อการสำรวม สำรวมด้วย ศีล สำรวมด้วยสติ สำรวมด้วยปัญญา สำรวมด้วยความเพียรและสำรวมด้วยความอดทน จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของกุศลธรรม สำรวมที่จะไม่เป็นไปในอกุศลเพราะกุศลเกิดนั่นเอง

การละ การละต้องละสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นพรหมจรรย์อันเป็นคำสอน ของพระพุทธเจ้า รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อบุคคลปฏิบัติตามผลคือเป็นไปเพื่อการ ละ ละกิเลสประการต่างๆ รวมทั้งละความยึดถือสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล เมื่อ ประพฤติตามคำสอนและเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 หรือการเจริญสติปัฏฐาน 4 ผลคือ เข้าใจความจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นปัญญาเกิด ละความไม่รู้ รู้ขึ้นว่า เป็นธรรม จนละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลตัวตนได้ จนละอกุศลธรรมมีกิเลสประการ ต่างๆ เพราะการประพฤติตามคำสอนและการเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พิจารณา
วันที่ 30 เม.ย. 2554

อธิบายพระคาถาประพันธ์ที่ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์ เครื่องกำจัดจัญไร อันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อการสำรวม เพื่อการละ, ทางนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มีประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหา คุณอันใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่า ใดๆ ย่อมปฏิบัติพรหมจรรย์ นั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ ผู้กระทำตาม คำสั่งสอนของพระศาสดา จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้.


พระพุทธเจ้าทรงแสดงพรหมจรรย์คือคำสอนและอริยมรรคมีองค์ 8 อันกำจัดจัญไรคือ สิ่งที่ไม่ดี มีกิเลสประการต่างๆ ด้วยการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นคือการระลึกรู้ลักษณะ ของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ปัญญานี้เองกำจัดจัญไรคือความ สงสัย ความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลและความไม่รู้ ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าอัน เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมทำให้ถึงฝั่งคือนิพพาน ฝั่งที่เราอยู่กันนี้คือฝั่งของกิเลส ฝั่ง ของสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นสังสารวัฏฏ์ แต่เมื่อบุคคลเจริญสติปัฏฐานคือ การรู้ความจริงในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ผลคือย่อมถึงฝั่งคือพระนิพพานที่เป็นอีก ฝั่งหนึ่งที่ไม่มีการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมเลย ไม่มีกิเลสประการต่างๆ ด้วย อัน เป็นไปเพื่อการสำรวม สำรวมด้วยกุศลธรรมประการต่างๆ มีปัญญา เป็นต้น และการละ ละด้วยปัญญาตามระดับขั้น ละกิเลสมีความไม่รู้ เป็นต้น อันพระพุทธเจ้าและพระสาวก ได้ดำเนินตามหนทางนี้คืออริยมรรคมีองค์ 8

คำว่าพระพุทธเจ้าทรงแสวงหาคุณใหญ่คือแสวงหาคุณธรรมมี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ชนเหล่าใดประพฤติตามพระธรรม ด้วยการเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ อันเป็นการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ชนเหล่านั้นย่อมทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์คือดับกิเลส ได้หมด ไม่เกิดอีกเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พิจารณา
วันที่ 30 เม.ย. 2554

ในพระคาถาของปฐมนกุหนาสูตรและทุติยนกุหนาสูตรมีต่างกันตรงพระคาถา ประพันธ์ตรงที่ว่า

ในสูตรที่ 1 แสดงไว้ว่า พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนและการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็น ไปเพื่อ การสำรวม เพื่อการละ ซึ่งได้กล่าวแล้วในเรื่องการสำรวมและการละ

ส่วนในสูตรที่ 2 ทุติยจะแสดงไว้ว่า พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนและการเจริญอริยมรรคมี องค์ 8 เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความรู้ยิ่ง

รู้ยิ่งในอะไร อะไรเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่มีจริง เช่น เห็น ได้ยิน เสียง คิดนึกเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ควรรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา การรู้ความจริงในสิ่งที่ปรากฎจึงเป็นสิ่งที่สมควรและควรรู้ยิ่ง เพราะละการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลเพราะความจริงแล้วก็มีแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งจึง เป็นสภาพธรรมที่มีจริงขณะนี้ด้วยการอบรมอริยมรรคมีองค์ 8 หรือการเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นไปในการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ การรู้ความจริงในธรรมที่ ควรรู้ยิ่ง (สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้) ก็ต้องด้วยปัญญาอันเป็นความรู้วิเศษยิ่งที่เป็นไป ในการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง

ส่วน การกำหนดรู้ ก็ไม่ใช่เราไปกำหนดที่จะรู้ แต่ปัญญาอันเป็นไปในการเจริญ อริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นไปในการละ ปัญญานั่นเองที่ทำหน้าที่กำนหดรู้ในสภาพธรรม ที่มีจริงในขณะนี้จนถึงการละกิเลสได้หมดสิ้น พรหมจรรย์อันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าและอริยมรรคมีองค์ 8 จึงเป็นไปเพื่อการ ละ การสำรวมและรู้ธรรมอันยิ่งคือสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพื่อละความยึดถือว่า เป็นสัตว์ บุคคลตัวตน แต่ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ เพื่อประจบคน เพื่อหลอกลวงคนอื่น แต่ประโยชน์คือการขัดเกลากิเลส ละความไม่รู้ ละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคลและ ดับกิเลสได้จนหมดสิ้น

สำคัญที่สุดคือต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้น กาย วาจาและใจก็จะต้อง ไม่หลอกลวงผู้อื่น ไม่ประจบคน แต่เป็นไปเพื่อละความไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ อันเป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่งและเป็นผลของการประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนานี้

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 2 พ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 พ.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 6 พ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 6 พ.ค. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Thirachat.P
วันที่ 7 พ.ค. 2554
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 8 พ.ค. 2554

ขออนุญาตเรียนถามท่านวิทยากรเพิ่มเติม ดังนี้ค่ะ.

๑. ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องเรียงลำดับตามนี้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด.?

๒. สติปัฏฐาน ๔..เหตุใด ทรงแสดง จำแนก เป็น ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม.?

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
paderm
วันที่ 8 พ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 12 ครับ

๑. ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องเรียงลำดับตามนี้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด.?

ศีล สมาธิ ปํญญาหรือที่เรียกว่า ไตรสิกขาคือเป็นการอบรมเจริญอริยมรรคหรือสติ ปัฏฐานอันเป็นหนทางในการดับกิเลสนั่นเองครับ ซึ่งสำหรับในพระภิกษุ ต้องเป็นผู้มี ศีลคือ ศีล 227 ข้อ ที่เป็นปาฏิโมกขสังวรศีล อันเป็นเพื่อขัดเกลา เมื่อภิกษุรักษาศีล พร้อมกับการอบรมมเจริญปัญญาคือมีการฟังพระธรรมในเรื่องสภาพธรรม เรื่องสติปัฏ- ฐานเมื่อเป็นผู้มีศีลดี ศีลย่อมเป็นคุณธรรมรองรับกุศลประการต่างๆ ย่อมได้ ปิติ ปราโมทย์และได้ความสงบแห่งใจเมื่ออาศัยศีล แต่ต้องไม่ลืมเรื่องของปัญญา หากมี ศีลดีแต่ไมไ่ด้อบรมปัญญาความเข้าใจเรื่องสภาพธรรม ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุ ถึงการดับ กิเลสได้เลยครับ ดังนั้นอาศัยศีล อาศัยการอบรมปัญญาก็ย่อมถึงการดับกิเลสได้ครับ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือขณะที่เข้าใจขั้นการฟังแล้วจนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐาน เกิด ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขณะนั้นก็มีทั้งศีล สมาธิและปัญญาแล้วครับ ไม่ต้องไปทำ ศีล ทำสมาธิ นั่งให้สงบ พยายามด้วยความเป็นเรา ให้เป็นลำดับครับ แต่ขณะที่เป็น สติปัฏฐานเป็นอินทรียสังวรศีล และมีสมาธิที่เป็นเอกัคคตาเจตสิกที่เป็นความสงบ และมีปัญญาด้วยครับ

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สงเคราะห์เข้าในหมวด ศีลขันธ์

สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สงเคราะห์เข้าในหมวด สมาธิขันธ์

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สงเคราะห์เข้าในหมวด ปัญญาขันธ์

จะเห็นได้ว่าขณะที่สติปัฏฐานเกิดก็มีไตรสิกขาแล้วครับ เกิดพร้อมกันในขณะนั้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 8 พ.ค. 2554

๒. สติปัฏฐาน ๔ ... เหตุใด ทรงแสดง จำแนก เป็น ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม.?

สัตว์โลกมีอัธยาศัยการสะสมมาต่างๆ กันครับ บางพวกก็มีจริตคือมีตัณหาจริตแรงกล้า คือคือสะสมความติดข้องมามาก บางพวกก็มีจริตคือตัณหาอ่อน บางพวกก็สะสมความ เห็นผิดคือทิฏฐิจริตที่มีกำลังมากหรือบางพวกก็สะสมความเห็นผิดมาไม่มาก บางพวกก็ เป็นพวกที่อบรมการเจริญสมถ หรือ อบรมการเจริญวิปัสสนามาแตกต่างกันไป สะสมมา มากบ้าง มาน้อยบ้าง ดังนั้นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงสติปัฏฐานว่ามี 4 ตามอัธยาศัยการ สะสมของสัตว์โลกต่างๆ กัน แต่ที่สำคัญไมไ่ด้หมายความว่าจะเลือกเจริญสติปัฏฐาน หมวดใดตามใจชอบ เพราะแล้วแต่สติว่าจะเกิดระลึกสภาพธรรมใดเพราะเป็นอนัตตา ครับ หากจะเลือกนั่นก็เป้นโลภะที่ต้องการจดจ้องซึ่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานครับ ต้องมั่นคงในความเป็นอนัตตานั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

เหตุที่ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง [มูลปัณณาสก์]

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
พุทธรักษา
วันที่ 8 พ.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ