เรื่องหญิงขี้หึง ... วันเสาร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ม.ศ.พ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
เรื่องหญิงขี้หึง
...จาก...
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๔๓ - หน้าที่ ๒๑๒-๒๑๔
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ ๔๓ - หน้าที่ ๒๑๒-๒๑๔
๖. เรื่องหญิงขี้หึง
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงขี้หึง คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อกต" เป็นต้น
หญิงขี้หึงทำกรรมชั่วแล้วคิดปกปิด
ได้ยินว่า สามีของหญิงนั้น ได้ทำความเชยชิดกับหญิงรับใช้ในเรือน คนหนึ่ง. หญิงขี้หึงนั้น มัดมือมัดเท้าหญิงรับใช้คนนั้นไว้ แล้วตัดหูตัดจมูก ของเขา ขังไว้ในห้องว่างห้องหนึ่ง ปิดประตูแล้ว เพื่อจะปกปิดความที่ กรรมนั้นอันตนทำแล้ว (ชวนสามี) ว่า "มาเถิดนาย เราจักไปวัดฟัง ธรรม" พาสามีไปวัดนั่งฟังธรรมอยู่ ขณะนั้น พวกญาติผู้เป็นแขกของ นางมายังเรือน (ของนาง) แล้ว เปิดประตูเห็นประการอันแปลกนั้นแล้ว แก้หญิงรับใช้ออก. หญิงรับใช้นั้นไปวัด กราบทูลเนื้อความนั้น แด่พระทศพล ในท่ามกลางบริษัท ๔
กรรมชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง
พระศาสดา ทรงสดับคำของหญิงรับใช้นั้นแล้ว ตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่า ทุจริต แม้เพียงเล็กน้อยบุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า 'ชนพวก อื่นย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเรา' (ส่วน) สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ ก็ควรทำ เพราะว่าขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผา ผลาญในภายหลัง (ส่วน) สุจริตย่อมยังความปราโมทย์อย่างเดียวให้เกิดขึ้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-
อกต ทุกฺกต เสยฺโย ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกต กตญฺจ สุกต เสยฺโย ย กตฺวา นานุตปฺปติ.
คำแปล
"กรรมชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า (เพราะ) กรรมชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง, ส่วนบุคคล ทำกรรมใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน กรรมนั้น เป็นกรรมดี อันบุคคลทำแล้วดีกว่า"
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺกต ความว่า กรรมอันมีโทษยัง สัตว์ให้เป็นไปในอบาย ไม่ทำเสียเลยดีกว่า คือ ประเสริฐ ได้แก่ยอดเยี่ยม
สองบทว่า ปจฺฉา ตปฺปติ ความว่า เพราะกรรมนั้น ย่อมเผาผลาญ ในกาลที่ตนตามระลึกถึงแล้วๆ ร่ำไป.
บทว่า สุกต ความว่า ส่วนกรรมอันไม่มีโทษ มีสุขเป็นกำไร ยังสัตว์ให้เป็นไปในสุคติอย่างเดียว บุคคลทำแล้วดีกว่า
สองบทว่า ย กตฺวา ความว่า บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่ เดือดร้อนในภายหลัง คือ ในกาลเป็นที่ระลึกถึง ชื่อว่า ย่อมไม่ตามเดือดร้อน คือเป็นผู้มีโสมนัสอย่างเดียว, กรรมนั้นอันบุคคลทำแล้ว ประเสริฐ ในกาลจบเทศนา อุบาสกและหญิงนั้น ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว, ก็แลชนทั้งหลายทำหญิงรับใช้นั้นให้เป็นไท ในที่นั้นนั่นแล แล้วทำให้ เป็นหญิงมีปกติประพฤติธรรม ดังนี้แล
เรื่องหญิงขี้หึง จบ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
เรื่องหญิงขี้หึง
หญิงขี้หึงคนหนึ่ง เกิดความไม่พอใจที่สามีของตนไปมีสัมพันธ์กับหญิงรับใช้จึงทำร้ายหญิงรับใช้ด้วยวิธีการต่างๆ คือ มัดมือมัดเท้าตัดหูตัดจมูก และขังไว้ในห้องห้องหนึ่ง แล้วกลบเกลื่อนด้วยการชวนสามีไปฟังธรรม พวกญาติของหญิงผู้เป็นเจ้าของเรือน มาเรือนแล้วเห็นความเป็นไปนั้น จึงช่วยกันแก้มัด เมื่อนางได้รับการช่วยเหลือแล้ว จึงไปกราบทูลเรื่องดังกล่าวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในท่ามกลางบริษัท ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม ว่าด้วยความต่างกันของทุจริต และ สุจริตคือ ทุจริต ถึงแม้จะเล็กน้อย ก็ไม่ควรทำ ส่วนสุจริต แม้จะไม่มีใครเห็น ก็ควรทำ เพราะทุจริต ย่อมตามเผาผลาญในภายหลัง ส่วนสุจริต นำมาซึ่งความปราโมทย์ไม่นำความเดือดร้อนมาให้ ในเวลาจบพระธรรมเทสนา สองสามีภรรยา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ส่วนหญิงรับใช้ ก็ได้รับความเป็นอิสระ และเป็นผู้มีปกติประพฤติธรรม.
จบข้อความโดยสรุป
ทุจริตกรรม แม้จะปกปิดทำ หรือ ทำในขณะที่คนอื่นไม่รู้ ไม่เห็น ก็ไม่ควรทั้งสิ้น (ถึงคนอื่นไม่รู้ ตัวเองก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าทำอะไร) ทุจริตกรรมที่ทำแล้วนั่นเอง ย่อมตามเผาผลาญในภายหลัง เมื่อถึงคราวที่จะให้ผล ผลย่อมเกิดขึ้นทำให้ได้รับความทุกข์ในชาติปัจจุบันบ้าง ให้ผลในภพหน้ามีการเกิดในอบายภูมิ ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมากมายบ้าง ตามควรแก่กรรม เพราะฉะนั้นแล้ว ดีที่สุด คือ ไม่ทำทุจริตกรรม ละเว้นจากความชั่ว แล้วเพิ่มพูนความดีในชีวิตประจำวัน ถอยกลับจากความชั่ว (อกุศล) ยิ่งเร็วเท่าใด ก็ยิ่งดีเท่านั้น การได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริงถึงกุศลและอกุศล ว่า อกุศลเป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ และเป็นสิ่งที่ควรละ ไม่ควรทำเลย ส่วนกุศล ความดีทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แม้จะไม่มีใครเห็นก็ตามเมื่อเข้าใจในเหตุและผลของกุศลและอกุศลแล้ว ย่อมจะเป็นผู้มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล ไม่ประมาทในอกุศลแม้จะเล็กน้อย ทำให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลในชีวิตประจำวันขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป ครับ
* * เมื่ออ่านพระสูตรนี้จบลง ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหาวนเขตต์ ได้กล่าวในชั่วโมงประชุมวิชาการ เป็นข้อความเตือนใจ สรุปได้ดังนี้
ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นพระโสดาบัน กิเลสอะไรๆ ก็ละไม่ได้เห็นความไม่รู้ ที่ได้สะสมมามาก อกุศล มากแค่ไหน ไม่เคยสะสมปัญญามาเลย แล้วจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร อกุศล น่ากลัวทุกอย่าง จะประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลย
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ
อกุศลจิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้อื่น อยู่ที่การสะสมมาของตนเองแท้ๆ
อกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจของอกุศลธรรมนั้นอยู่ตลอดเวลา (๑)
อกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจของอกุศลธรรมนั้นอยู่ตลอดเวลา (๒)
ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่
เมื่อกล่าวถึงอกุศล...ก็เพื่อให้เห็นโทษ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
....ขออนุโมทนากับทุกท่านที่ฟังธรรมค่ะ..
กำลังฝ่ายอกุศล คือ อหิริกะ และ อโนตตัปปะ มีได้เพราะสะสมความไม่รู้มามากแค่ไหน แม้ท่านผู้ที่อบรมปัญญามาแล้วที่จะถึงความเป็นพระโสดาบันก็ยังประพฤติประมาทได้ถึงเพียงนี้ และเราเป็นใคร วันพรุ่งนี้ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร และจะประพฤติผิดอีกมากเพียงใด ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจสะสมความเข้าใจยิ่งขึ้น ก็อยู่ในโลกของความไม่รู้ครับ
ขออนุโมทนาครับ
อารมณ์นี้เป็นอกุศลจิตประเภทไหนคะ
ทำไมบางครั้งก็มีความรู้สึกหวงแหนคนที่เรารักอย่างพ่อ หรือแม่ เพราะน้องสาวจะไม่ชอบให้แม่รักเรามากกว่า
แต่สำหรับคนที่เราเชื่อใจแล้ว...แปลกที่ไม่เกิดความรู้สึกแบบนี้
สงสัยมากค่ะ
เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ
อกุศลมีจริงเป็นธรรมครับ ซึ่งในกรณีนี้ถ้าจะกล่าวแล้วก็คงเป็นความตระหนี่ ที่เป็นมัจฉริยะ คือต้องการให้เป็นที่รักคนเดียวหรือให้มากกว่า เพราะอาศัยความติดข้องก็ย่อมทำให้เกิดความตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ไม่อยากให้คนใกล้ชิดไปสนิทกับบุคคลอื่นมากกว่าตนครับ ส่วนคนที่เชื่อใจแล้ว อาจจะไม่เกิดความรู้สึกตระหนี่เฉพาะตอนนั้น ถ้ายังไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดความตระหนี่ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ให้เกิดความตระหนี่เกิดขึ้น เช่น คนที่รักไปยุ่งคนอื่น ก็อาจจะทำให้เกิดความตระหนี่ไม่อยากใ้ห้คนที่ัรักไปยุ่งกับคนอื่นนอกจากตนเองก็ได้ครับ เพราะสภาพธรรมคือกิเลสนั้นกลับกลอกไม่แน่นอน เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดอกุศลได้ทุกประการ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนครับ
ซึ่งสำหรับเรื่องหญิงขี้หึงในพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสที่ยังเป็นปุถุชน แม้จะสะสมปัญญมาใกล้จะเป็นพระโสดาบัน แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดก็พร้อมที่จะทำอกุศลกรรมคือ ตัดหู ตัดจมูกคนอื่น ทำร้ายคนอื่นได้ ให้เห็นถึงกำลังกิเลสที่สะสมมา
กระผมได้มีโอกาสสนทนากับสหายธรรมท่านหนึ่ง ท่านก็บอกว่าท่านไม่ใช่คนขี้หึงอะไร ตั้งแต่เกิดมา กระผมได้ร่วมสนทนาว่าเมื่อยังไม่มีเหตุปัจจัยให้ความหึงหวง อิจฉาเกิดขึ้น ก็ยังไม่เกิด หากเราติดข้องในสิ่งใดมากแล้ว ความหึงหวง ขี้หึงย่อมเกิดขึ้นได้ และได้ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกเรื่องหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์แม้ใกล้จะตรัสรู้แล้ว ในชาติหนึ่งจุติจากพรหมโลกเป็นลูกกษัตริย์ เมื่อเกิดไม่ยินดีในสัมผัสหญิงไม่ยินดีในผู้หญิงเลย เมื่อโตขึ้นก็ไม่อยากแต่งงาน พระราชาก็อยากให้พระโพธิสัตว์แต่งงานจึงหาวิธี มีหญิงคนหนึ่งอาสาจะเล้าโลม และหญิงนั้นก็เล้าโลมสำเร็จ จึงอภิเษกให้แต่งงานกัน
เมื่อพระโพธิสัตว์ยินดีในนางผู้นี้ จึงเกิดความหึงหวงและหวงแหน จึงเอามีดไล่ฆ่าผู้ชายที่อยู่ใกล้ทั้งหมดและไล่ฆ่าผู้ชายที่พบเห็น จนพระราชาผู้เป็นพระราชบิดาทนไมไ่หว ต้องไล่พระโพธิสัตว์ออกจากพระราชวังไป
จะเห็นไหมครับว่าพระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลก ไม่ยินดีในผู้หญิงเลย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัย ติดข้องเกิดขึ้นก็เกิดอกุศลที่ไม่น่าเกิดเลย แม้พระองค์จะสะสมปัญญามามากก็ตาม แต่เพราะความหวั่นไหวในความเป็นปุถุชนครับ จึงทำให้เป็นอย่างนี้ ผู้ศึกษาพระธรรมจึงไม่ควรประมาทกับกิเลส และเห็นประโยชน์ของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรม ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นหนทางเดียวคือศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาครับ
ขออนุโมทนาครับ
แหม่ เรื่องนี้ก็ทำให้สงสัยอยู่นะครับว่า การที่บุคคลจะพึงได้เป็นพระโสดาบันนั้นต้องรู้ธรรมในระดับที่ว่ากุศลอกุศลย่อมคล่องแคล่วแล้ว การที่มีเหตุปัจจัยที่จะทำร้ายผู้อื่น แล้วสติไม่รู้เท่าทันโทสะนั้น เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา เพราะโทสะที่เกิดเป็นอกุศลที่หยาบและเป็นการสร้างกรรมที่ต้องชดใช้ นี่แสดงว่าเมื่อยังไม่เป็นโสดาบัน อะไรก็เกิดขึ้นได้....ฯ
เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ
เรียนอย่างนี้ครับ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีอนุสัย 7 ครบบริบูรณ์ กิเลสจึงพร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด อย่างนายพรานกุกกุฏมิตร ท่านก็เป็นนายพรานฆ่าสัตว์ เป็นปกติ แต่ปัญญากับอกุศลที่สะสมมาก็คนละส่วนกัน เมื่อได้ฟังพระธรรมจากพระุพทธเจ้าท่านก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หลานท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ล่วงศีลข้อ 3 กับภรรยาผู้อื่นเป็นประจำ แต่สุดท้ายท่านก็ได้ฟังพระธรรมและได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านก็ไม่ทำบาปอีก นี่พูดถึงชาติที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน
ก่อนบรรลุยังถึงกับล่วงศีล ซึ่งเป็นกรรมที่หนักกว่า การทำร้ายผู้อื่น เพราะเพียงการทำร้ายผู้อื่น ไม่ถึงกับฆ่าและไม่ถึงกับการล่วงศีล อกุศลในการทำร้ายผู้อื่นจึงเบากว่าครับ
จะเห็นได้ว่าแม้เป็นผุ้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่สติปัฏฐานที่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถทำอะไรกิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลสได้เลย เพราะอนุสัยกิเลสที่เป็นกิเลสที่สะสมมาอันเนิืื่องในจิต ต้องดับด้วยปัญญาขั้นมรรคจิตครับ ดังนั้นผู้เจริญสติปัฏฐานจึงละความไม่รู้ เป็นบางขณะและเข้าใจว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราในขณะสติเกิดเท่านั้น ยังไม่สามารถละกิเลสได้เด็ดขาด จึงยังมีเหตุปัจจัยให้ล่วงศีลได้ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันครับ
ขออนุโมทนาครับ
ได้ฟังการสนทนาข้างต้นแล้ว ทำให้ผมเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ ดังที่ท่านอาจารย์สุจินต์พร่ำตักเตือนเสมอว่า "อย่าประมาทอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย" เพราะไม่รู้เลยว่าอนุสัยที่สะสมมาก่อนนั้นมากจริงๆ หากประมาทเมื่อใด ย่อมเป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดขึ้นได้ทันที แม้จะไม่ปรากฏถึงลักษณะของอุปนิสัย และความประพฤติ ที่จะทำเช่นนั้นมาก่อนก็ตาม
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ
เมื่อได้อ่านเรื่องราวของหญิงขี้หึงฯ แล้ว " พิจารณาสภาพธรรมในส่วนที่เป็นอกุศล หากได้สะสมมามากแล้ว จนเป็นสังขารขันธ์ เกิดกิเลส สามารถประพฤติชั่วได้ และในขณะเดียวกันในส่วนที่เป็นกุศลที่ได้สะสมมาก็ไม่หายไปไหนยังให้ผลต่อได้อีกเมื่อมีเหตุปัจจัย ได้ฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเมื่อปัญญาเกิดได้บรรลุพระโสดาบัน แต่ถ้าหากไม่ได้รับฟังพระธรรม ก็คงพลาดโอกาสอันเป็นลาภสูงสุดนี้ " นับว่าเป็นประโยชน์มากจริงๆ จึงไม่พึงประมาทอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย และที่สำคัญคือมีความเพียรในการฟังพระธรรมอย่างสม่ำเสมอ ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตอาจารย์คำปั่น อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านค่ะ
มีประโยชน์มากค่ะ ได้ทำความเข้าใจกับตัวเอง และคนอื่นมากขึ้น และที่สำคัญได้เห็นภัยของกิเลสและสังสารวัฏฏ์ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ
ขออนุโมทนา
เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก เช่นเรื่องหญิงขี้หึงและเรื่องพระโพธิสัตว์ นี่ผมคงต้องเกิดอีก อาจมีโอกาสทำแบบนี้ หรืออาจชั่วร้ายกว่านี้ อีกกี่ภพกี่ชาติกันหนอ โชคดีมากที่ได้เกิดเป็นมนุษย์และได้ฟังธรรม และได้รู้จักและต่อสู้กับกิเลส (บางตัว) เจ้าอภิมหาอาชญากรล่องหน
เจ้าเชื้อโรคติดต่อข้ามภพ ข้ามชาติ แต่ข้าเจอยาดีไว้กำจัดเจ้าแล้ว ยาตัวนี้ก็รักษาข้าข้ามภพข้ามชาติเช่นกัน คงหายในวันใดวันหนึ่ง เมื่อถึงวันนั้นข้าจะเป็นไทจากเจ้าชั่วกัลปาวสารเอย...
ขอบคุณมากๆ และขออนุโมทนาครับ
ก็ยังมีความสงสัยอยู่อีกนะครับว่า ผู้ที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ปัญญาย่อมต้องรู้ทั่วสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ้งต้องใช้เวลาไม่น้อยเลยแล้วสั่งสม แต่เมื่อมาเกิดในชาติที่จะได้เป็นพระโสดาบันหรือพระอรหันต์ เมื่อยังไม่ได้ฟังพระธรรม การสั่งสมรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงหล่านั้นหายไปไหนหมด ที่รู้ว่าหายหมดเพราะมีตัวอย่าง การทำร้าย การฆ่าเช่นองค์คุลีมาร การดื่มเล้า ฯลฯ ชึ่งเป็นเรื่องผิดศีลตามที่เห็นได้ในพระสูตร ถ้าไม่หายก็ไม่มีการผิดศีล และยังทราบมาอีกว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรม การสั่งสมไม่หายไปไหน เช่นพระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงพระเยาว์ พี่เลี้ยงพาไปเที่ยว แต่กลับสามารถนั่งสมาธิจนได้ฌาณ หรือผู้ที่สามารถเข้าใจธรรมเร็วกว่าผู้อื่น ก็เพราะการสั่งสม แสดงว่าการสั่งสมเมื่อยังไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด จึงมีการผิดศีลได้ต่างๆ นาๆ แสดงอีกว่าเมื่อไปเกิดในชาติที่ไม่มีการฟังธรรม ชาตินั้นอาจเสียเปล่า ... ฯ
เรียน ความเห็นที่ 15 ครับ
จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม ดังนั้นปัญญาที่สะสมมาไม่ได้หายไปไหนแน่นอนครับ เพราะการได้บรรลุธรรมหลังจากได้ฟังพระธรรมนั่นก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแล้วครับว่า เพราะมีการสะสมปัญญามาจึงได้มีการบรรลุธรรม ถ้าไม่มีการสะสมปัญญามา อย่างเรื่องผู้หญิงขึ้หึง สามีและภรรยาจะไม่มีทางบรรลุเลยครับ ซึ่งความเข้าใจไม่ได้หายไปไหนเลยครับ แต่ยังไม่มีเหตุปัจจัยให้ปัญญาได้บรรลุ ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธเจ้าจึงได้บรรลุ เพราะผู้เป็นสาวกหมายถึงผู้สำเร็จหรือบรรลุได้เพราะการฟัง จะบรรลุด้วยตนเองดังพระพุทธเจ้าและปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ จึงต้องอาศัยการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมจากพระพุทธเจ้าจึงบรรลุครับ ซึ่งเมื่อยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะได้ฟังก็ยังไม่บรรลุ แม้ปัญญาจะสะสมมาครับ
ที่สำคัญที่สุดนะครับ ควรเข้าใจว่าการสะสมของอกุศและกุศลคนละส่วนกันครับ ดังนั้นการสะสมปัญญามาก็ส่วนหนึ่ง ส่วนการสะสมกิเลสมาก็ส่วนหนึ่ง ดังนั้นเมื่อยังเป็นปุถุชนมีการสะสมปัญญามาแล้ว พร้อมที่จะบรรลุได้ แต่ไม่ควรลืมว่ายังมีอนุสัยกิเลสเต็ม ซึ่งยังละไม่ได้เลย เพราะต้องละด้วยปัญญาระดับมรรคจิต ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นเมื่อมีเหตุปัจจัยกิเลสที่มีกำลัง เพราะความเป็นปุถุชนและอนุสัยกิเลสที่เต็มก็พร้อมเกิดขึ้นได้ครับ แต่ปัญญาการสะสมมาก็ไม่ได้หายไปไหน สุดท้ายก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันได้ แม้แต่ก่อนจะผิดศีล ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าผู้ที่จะรักษาศีล 5 ได้สมบูรณ์คือพระโสดาบันครับ เพราะฉะนั้นการสะสมปัญญาไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่การสะสมอกุศลก็ส่วนหนึ่ง กุศลก็ส่วนหนึ่งครับ และเมื่อยังมีกิเลสเต็มยังเป็นปุถุชนก็ยังมีกิเลสที่มีกำลังเกิดขึ้นได้ครับ ดังนั้นจะต้องเข้าใจว่าปัญญาระดับไหนที่จะทำให้ไม่ล่วงศีลอีกเลยคือปัญญาระดับมรรคจิตถึงความเป็นพระโสดาบันครับ การที่แต่ละท่านสนใจพระธรรม นั่นก็แสดงถึงการสะสมมาแล้วในอดีตครับ
ส่วนผู้ถามที่ถามว่า
แสดงอีกว่าเมื่อไปเกิดในชาติที่ไม่มีการฟังธรรม ชาตินั้นอาจเสียเปล่า....ฯ
ชาติไหนไม่มีการฟังพระธรรม ชาตินั้นก็ไม่ได้สะสมปัญญาครับ เพียงแต่ว่าการสะสมปัญญาในอดีตไม่ไ่ด้หายไปไหน จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสมครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าขณะที่ประเสริฐ ช่วงเวลาที่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ (อบรมปัญญา) กับขณะที่ไม่ประเสริฐ ช่วงเวลาที่ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ (ไม่สามารถอบรมปัญญา)
ขณะช่วงเวลาที่อบรมปัญญาได้คือเกิดเป็นมนุษย์ ไม่บ้าใบ้ บอดหนวก พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ได้ฟังพระธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สามารถอบรมปัญญาได้เพราะมีเหตุปัจจัยให้ปัญญาเจริญขึ้น แต่ถ้าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เกิดเป็นมนุษย์แต่ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น และไม่ได้ฟังพระธรรมจึงไม่มีเหตุปัจจัยที่ได้อบรมปัญญาในชาตินั้นครับ ดังนั้นการฟังพระธรรม ปัญญาที่เกิดขึ้น ก็สะสมไป ชาติไหนมีปัจจัยให้ปัญญาเกิดก็เกิด ไม่มีเหตุปัจจัยให้ปัญญาเกิดปัญญาก็ไม่เกิดครับ ดังนั้นควรเห็นประโยชน์ชาตินี้ที่ได้เกิดเป็นมนุษย์และได้ฟังพระธรรมครับ ขณะนี้ เป็นขณะที่ประเสริฐที่สามารถอบรมปัญญาได้ครับ ขออนุโมทนา
"จะประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลย"
"วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ก้าวไปสู่ทางที่จะทำให้มัวเมามากกว่าการที่จะก้าวไปสู่ทางที่สร่างจากความเมา ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย ทุกวันจะต้องถูกครอบงำด้วยความมัวเมาไม่มีวันสร่าง" (ข้อความของท่านอาจารย์สุจินต์ใน"ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่")
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ