พระสงฆ์ฉันเย็น ฉันก็อาบัติ ปล่อยให้หิวมากไม่ฉันก็อาบัติจริงหรือ

 
พระบอม
วันที่  7 ส.ค. 2554
หมายเลข  18884
อ่าน  127,430

ผมเป็นพระบวชใหม่ หลวงตาห้องข้างๆ ถ้าตอนกลางคืนหิว ถ้าฉันยามวิกาลอาบัติ เกิดถ้าปล่อยให้หิวแล้วทนหิวเกินไปจนทรมาน หลวงตาบอกเท่ากับทรมารตัวเอง นี้ก็อาบัติอีกเอายังไงดีเนี่ย ยังไงก็อาบัติเดียว ฉันสะเลยนิ ใครมีข้อมูลตอบพระทีนะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

เพศพระภิกษุ เป็นเพศของการขัดเกลากิเลสโดยประการต่างๆ อย่างยิ่ง ต่างจากเพศคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง ราวฟ้ากับดิน เพราะฉะนั้นการกระทำของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จึงไม่สมควรกับเพศบรรพชิตครับ แม้แต่การประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัย โดยการออกบวชเป็นเพศบรรพชิตแล้ว ก็ต้องมีธรรมที่เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้เพื่อขัดเกลากิเลสของพระภิกษุเอง และเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ สิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ในเรื่องการฉันอาหารในเวลาวิกาล คือพระภิกษุไม่พึงฉันอาหารในเวลาวิกาล คือเลยเที่ยง หากฉันอาหารหลังจากเที่ยงไปแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ สิ่งที่ฉันหลังเที่ยงได้ ไม่ใช่อาหาร นม แต่เป็นน้ำปานะเท่านั้นครับ

ดังนั้น การไม่ฉันหลังเที่ยงแม้จะหิวมากเท่ากับรักษาพระวินัย ไม่เป็นอาบัติในข้อนั้น แต่ทำให้เจริญขึ้นในศีลและคุณธรรมครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

ฉันอาหารหลังเที่ยงเป็นอาบัติ [มหาวิภังค์ ]

น้ำปานะ

ส่วนการทรมานตนเองคือ ขณะที่เป็นอกุศล ขณะที่ทำผิดพระวินัย เป็นอาบัติ เพราะนำมาซึ่งโทษของบุคคลที่กระทำผิด และหากไม่มีการเห็นโทษในการก้าวล่วงอาบัติทั้งๆ ที่รู้ ก็ย่อมเป็นโทษของพระภิกษุผู้นั้นเองครับ

ส่วนการประพฤติตามพระธรรมวินัย ตามสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้วนั้น ไม่ใช่การทรมานตนเอง เพราะการประพฤติตามนั้น นำมาซึ่งประโยชน์ คือ กุศลธรรมและความสุขในชาตินี้และชาติหน้าด้วยครับ

ดังนั้น ถ้าเริ่มจากความไม่เห็นโทษเล็กน้อย ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้น อกุศลธรรมก็จะเจริญขึ้น อาบัติก็มีโทษกับผู้ต้องเอง เมื่อไม่เห็นโทษก็ไม่มีการกระทำคืนที่ถูกต้อง หากมรณภาพในเพศพระภิกษุ ก็ไปทุคติภูมิครับ ดังนั้นควรประพฤติตามพระวินัยบัญญัติครับ อาบัติข้อเดียวของผู้มีปัญญา ย่อมเปรียบเหมือนก้อนเมฆใหญ่ในนภากาศ เพราะความเป็นผู้เห็นโทษของกิเลสและมุ่งขัดเกลานั่นเองครับ

ดังนั้น การที่พระภิกษุบริโภคอาหารจากผู้ที่เป็นฆราวาสถวายด้วยศรัทธา แต่ไม่ประพฤติตามพระวินัย ต้องอาบัติทั้งๆ ที่รู้อยู่ การกินก้อนเหล็กแดงยังดีกว่า เพราะทำให้ได้รับทุกข์เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่หากประพฤติไม่ดี ต้องอาบัติไม่เห็นโทษ หากสิ้นชีวิตไปในเพศพระภิกษุ ย่อมตกนรกมากมายครับ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"ก้อนเหล็กอันร้อนประหนึ่งเปลวไฟ ภิกษุบริโภคยังดีกว่า, ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น จะประเสริฐอะไร?"

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ยญฺเจ ภุญฺเชยฺย ความว่า ภิกษุผู้ทุศีล คือผู้ไม่มีศีล ไม่สำรวมทางกาย เป็นต้น ปฏิญญาตนว่า "เราเป็นสมณะ" รับก้อนข้าวที่ชาวแว่นแคว้นถวายด้วยศรัทธา อันชื่อว่ารัฏฐปิณฑะ อันใด แล้วพึงฉัน, ก้อนเหล็กอันร้อนมีสีประหนึ่งไฟ อันภิกษุบริโภคแล้ว ยังประเสริฐกว่า คือดีกว่านั้น. ถามว่า เพราะเหตุไร? "แก้ว่า เพราะอัตภาพอันเดียวพึงถูกไฟไหม้ เพราะการบริโภคก้อนเหล็กนั้นเป็นปัจจัย, แต่ผู้ทุศีล บริโภคก้อนข้าวที่เขาถวายด้วยศรัทธา พึงไหม้ในนรกตั้งหลายร้อยชาติ.

กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่ร่วมสนทนาธรรมครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พระบอม
วันที่ 7 ส.ค. 2554

จะนอบน้อมรับและนำไปใช้ให้แตกฉาน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 7 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ครับ

กระผมขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยครับดังนี้ :-

ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ รู้จักตนเองและพิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่ เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์เป็นอย่างยิ่ง ที่สูงกว่า นั้น สูงเพราะคุณธรรม เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นบรรพชิต จะต้องมีความมั่นคง ที่จะสละกิเลสทุกอย่างทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ พร้อมกันก็จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติในส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และงดเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม โดยประการทั้งปวง

นี้คือ ชีวิตที่แท้จริงของบรรพชิต ซึ่งมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ถ้าบรรพชิตใด มีความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ยังมีจิตใจเหมือนคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนทุกประการ [เช่น การฉันอาหารในเวลาวิกาล เป็นต้น ซึ่งเป็นอาบัติ ผิดพระวินัย] ก็ย่อมไม่มีสิ่งใดที่เป็นที่ควรแก่การที่จะสรรเสริญและเคารพกราบไหว้ [ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นโทษแก่ตนเองเท่านั้นจริงๆ ] และนั่นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริง ควรที่จะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

การฉันอาหารในเวลาวิกาล เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติที่พอจะแก้ไขให้เป็นปกติได้ ด้วยการแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีความจริงใจว่าจะไม่กระทำอย่างนั้นอีก จะไม่ต้องอาบัติข้อนี้อีก อาบัติที่ต้องเข้าแล้ว และแก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนใจในภายหลัง

แต่ถ้าประมาท ไม่กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว เป็นอันตรายมากทีเดียว ยิ่งถ้ามรณภาพในขณะที่ยังเป็นบรรพชิตอยู่นั้น ชาติหน้าจะไปเกิดในอบายภูมิอย่างเดียว และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ดำรงตนอยู่ในเพศบรรพชิตแท้ๆ อันเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ แต่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งถ้าเป็นคฤหัสถ์ที่ดี สะสมคุณงามความดี ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ไม่ละเลยโอกาสของการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน เมื่อความดีให้ผล ย่อมเป็นผลให้ในชาติต่อไป ไม่ได้ไปเกิดในอบายภูมิอย่างแน่นอน แต่ไปเกิดในสุคติภูมิ คือ เกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา ทั้งหมดนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เพศบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะคร่าไปสู่อบายภูมิอย่างเดียวจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แสงจันทร์
วันที่ 7 ส.ค. 2554

ขอเพิ่มในเรื่องน้ำปานะ ปานานุโลม (เครื่องดื่มที่อนุโลมตามน้ำปานะ) มี ๒ อย่าง

๑. อกปฺปิยปานอนุโลม (ภิกษุไม่ควรฉันในเวลาวิกาล) ได้แก่มหาผล ๙ ชนิด ได้แก่ ตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม เป็นต้น

๒. กปฺปิยปานอนุโลม (ภิกษุฉันในเวลากลางคืนได้) ได้แก่ น้ำแห่งผลไม้ ใบไม้ ดอกไม้ทั้งหมด นอกจากข้าวสาร, ข้าวเปลือกถั่วต่างๆ และมหาผล ๙ ชนิด น้ำต้มผัก และดอกมะซาง และการทำน้ำปานะที่สุกด้วยไฟไม่ควร โดยความเป็นยามกาลิก สำหรับเครื่องดื่มที่เขาเอาน้ำปานะเหล่านั้นเล็กน้อยผสมน้ำตาล แล้วเคี่ยวให้เข้มข้น จัดเป็นอัพโพหาริก (พ้นจากอาบัติ) เช่น น้ำอัดลมในสมัยนี้ (ยกเว้นที่ทำจากนมและถั่ว) , (นานาวินิจฉัย/๑๓๙-๑๔๒)

ส่วนการไม่ฉันเย็นเป็นการทรมานนั้นเป็นอาบัติ ไม่จริงหรอกครับ ที่จริงถ้าเราตั้งใจไม่ฉันสักพักก็หายหิวหรือฉันน้ำผลไม้ก็ได้ ส่วนใหญ่เป็นความอยากมากกว่า ลองตั้งใจสมาทาน ที่สำคัญหมั่นคบหากับผู้มีอุปนิสัยมีศรัทธาตั้งมั่นในศีลไม่เกิน ๓ วัน ลืมหิว เคยทำมาแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พระบอม
วันที่ 8 ส.ค. 2554

อ่านแล้วเกิดความกระจ่าง คลายความสงสัย เพื่อจะปฏิบัติให้ถูกทาง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
หลานตาจอน
วันที่ 9 ส.ค. 2554
กราบอนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nano16233
วันที่ 7 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 15 ก.พ. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jojozang
วันที่ 19 มิ.ย. 2556

พระฉันอาหารประเภท "มะ" หลังเที่ยงได้หรือไม่ครับ^^

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 24 ก.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 27 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 9 ครับ

ขึ้นชื่อว่า อาหารแล้ว พระภิกษุฉันได้เฉพาะในกาล คือ เช้าถึงเที่ยงเท่านั้น ครับ ถ้าฉันก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 30 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Hin
วันที่ 26 มี.ค. 2562

ตอนนี้บวชมาแล้ว ๑๗ วัน ตอนดึกหิวมากเลย ฉันน้ำแก้หิวก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง เอาจริงๆ วันนี้ตอนแรกเริ่มทนไม่ไหว หิวมากจริงๆ เลยมาหาข้อมูล แต่ถ้าฉันกลางคืนอาบัติจริง ก็ไม่ฉันละ ไม่อยากไปปลงอาบัติตอนเช้า

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Witt
วันที่ 5 ก.พ. 2563

มีพระบางรูปบอกว่า ถ้าประเคนและเริ่มฉันก่อนเที่ยงแล้ว สามารถฉันต่อเนื่องจนเลยเที่ยงได้ แบบนี้ผิดวินัยหรือไม่ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
khampan.a
วันที่ 12 มี.ค. 2563

อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 14 โดย Witt

ขออนุญาตเรียนว่า ตามพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ในปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๗ แห่งโภชนสิกขาบท ว่า

[เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ 528

"อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์"

ในอรรถกถา ได้อธิบายความหมายของคำว่า เวลาวิกาล ไว้ว่า ตั้งแต่เลยเที่ยงไปแล้ว จนถึงอรุณขึ้น ดังนั้น พระภิกษุจะฉันอาหารได้ ก็เฉพาะในกาล คือ เวลาเช้าจนถึงเที่ยงเท่านั้น แต่ ตั้งแต่เลยเที่ยงไปแล้วจนถึงอรุณขึ้น พระภิกษุไม่สามารถฉันอาหารได้ ถ้าฉัน ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เป็นผู้มีโทษ มีอาบัติติดตัว ถ้าไม่แก้ไข ไม่ปลงอาบัติ ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ถ้าหากมรณภาพไปในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาติถัดไปต่อจากชาตินี้ก็ไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น

ดังนั้น จากคำกล่าวที่ว่า "มีพระบางรูปบอกว่า ถ้าประเคน และเริ่มฉันก่อนเที่ยงแล้ว สามารถฉันต่อเนื่องจนเลยเที่ยงได้" เป็นคำกล่าวที่บิดเบือนพระธรรมวินัย เป็นโทษกับผู้กล่าวที่ทำลายคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระภิกษุที่มีความเห็นอย่างนั้น กระทำอย่างนั้น ก็เป็นผู้ล่วงเมิดพระวินัยบัญญัติในข้อบริโภคอาหารในเวลาวิกาล เป็นผู้มีอาบัติติตตัว เป็นผู้มีโทษ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Witt
วันที่ 30 มี.ค. 2563

กราบขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นเป็นอย่างสูงและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ