สารสูตรและปติฏฐิตสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๔
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สนทนาธรรมที่
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาาคม ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
สารสูตร
(ว่าด้วย ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม)
และ
ปติฏฐิตสูตร
(ว่าด้วยธรรมอันเอก)
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้า ๙๒ - ๙๔
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้า ๙๒ - ๙๔
สารสูตร
(ว่าด้วยปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม)
[๑๐๔๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง ชาวโลกกล่าวว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด บทแห่งธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บท คือ ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดของบทแห่งธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๑๐๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง ชาวโลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรม เหล่าใด เหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
[๑๐๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์...วิริยินทรีย์... สตินทรีย์... สมาธินทรีย์... ปัญญินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้.
[๑๐๔๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง ชาวโลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้น เหมือนกัน.
จบสารสูตรที่ ๕.
ปติฏฐิตสูตร
(ว่าด้วยธรรมอันเอก)
[๑๐๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เป็นอันภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันเอกเจริญแล้ว เจริญดีแล้ว ธรรมอันเอกเป็นไฉน? คือ ความไม่ประมาท.
[๑๐๔๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ความไม่ประมาทเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ เมื่อเธอรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ แม้ปัญญินทรีย์ ก็ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์.
[๑๐๔๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เป็นอันภิกษุผู้ตั้งอยู่ในธรรมอันเอกเจริญแล้ว เจริญดีแล้ว แม้ด้วยประการฉะนี้แล.
จบปติฏฐิตสูตรที่ ๖.
อรรถกถาปติฏฐิสูตร
ใน ปติฏฐิตสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .- คำว่า ย่อมรักษาจิตไว้ในอาสวะและธรรมที่มีอาสวะ คือ ผู้ปรารภธรรมที่เป็นไปในสามภูมิแล้ว ห้ามการเกิดขึ้นแห่งอาสวะ ชื่อว่าย่อมรักษาในสิ่งที่เป็นอาสวะและที่ประกอบด้วยอาสวะ.
จบอรรถกถา ปติฏฐิตสูตรที่ ๖.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป สารสูตร
(ว่าด้วยปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งบทธรรม)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมด้วยอุปมาโวหาร ว่า ปัญญินทรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโพธิปักขิยธรรม อันเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ นั้น เป็นเลิศกว่าโพธิปักขิยธรรม๔ ที่เหลือ คือ เป็นเลิศกว่า สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ และ สมาธินทรีย์
เปรียบเหมือน รอยเท้าช้าง ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งปวง และ เปรียบเหมือนแก่นจันทร์แดง เป็นแก่นไม้มีกลิ่นหอมที่เลิศกว่าไม้มีแก่นทั้งปวง.
ข้อความโดยสรุป ปติฏฐิตสูตร
(ว่าด้วยธรรมอันเอก)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรมเอก (คือ ธรรมอย่างหนึ่ง) ได้แก่ความไม่ประมาท ซึ่งหมายถึง การรักษาจิตไม่ให้เป็นอกุศล ไม่ให้เป็นไปกับด้วยอาสวะ ก็ย่อมเป็นผู้อบรมเจริญอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ ให้เจริญบริบูรณ์ได้.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ
ความเกี่ยวข้องของ ศรัทธาเป็นเพื่อนสอง และ ความไม่ประมาท [สัทธาสูตร]
มีใครรู้ได้ว่าจะตายเมื่อไหร่ ..เป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นศึกษาพระธรรม
เป็นผู้ไม่ประมาท ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา
อนุสัย และ อาสวะ ต่างกันอย่างไร
ความเข้าใจพระธรรมเป็นสาระสำคัญที่สุดในชีวิต
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...