การฝึกม้า และ ความตั้งใจจดจ่ออยู่เฉพาะขณะที่หายใจเข้า

 
พุทธรักษา
วันที่  27 ธ.ค. 2554
หมายเลข  20246
อ่าน  3,567

เรียน ท่านวิทยากร ที่นับถือ

๑. ดิฉันขอความอนุเคราะห์ช่วยค้นคว้า พระสูตรและอรรถกถาที่มีข้อความ (ฟังจากวิทยุ ประมาณว่า) การฝึกม้า มีการฝึกโดยละมุนละม่อม การฝึกโดยรุนแรง ถ้าฝึกไม่ได้ ก็ฆ่าเสีย (ไม่คบ) ฯลฯ (เขียนคลาดเคลื่อนประการใด ขออภัยด้วยนะคะ)

๒. ขอเรียนถามว่า ความตั้งใจจดจ่ออยู่ "เฉพาะ" ขณะที่หายใจเข้า และขณะที่หายใจออก "เท่านั้น" และสังเกตได้ว่า ขณะที่กระทำเช่นนั้น จิตไม่ฟุ้งซ่านไปด้วยโลภะ โทสะการกระทำอย่างนั้น เป็น "สมถภาวนา" หรือไม่ อย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า ดิฉันขอความอนุเคราะห์ช่วยค้นคว้า พระสูตรและอรรถกถาที่มีข้อความ (ฟังจากวิทยุ ประมาณว่า) การฝึกม้า มีการฝึกโดยละมุนละม่อม การฝึกโดยรุนแรง ถ้าฝึกไม่ได้ ก็ฆ่าเสีย (ไม่คบ) ฯลฯ

เชิญคลิกอ่านพระสูตรนี้ที่นี่ครับ ...

เกสีสูตร ... เรื่องนายเกสีผู้ฝึกม้า

ฝึกบุรุษผู้ควรฝึก [เกสีสูตรที่ ๑]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขอเรียนถามว่า ความตั้งใจจดจ่ออยู่ "เฉพาะ" ขณะที่หายใจเข้า และขณะที่หายใจออก "เท่านั้น" และสังเกตได้ว่า ขณะที่กระทำเช่นนั้น จิตไม่ฟุ้งซ่านไปด้วยโลภะ โทสะ การกระทำอย่างนั้น เป็น "สมถภาวนา" หรือไม่ อย่างไรคะ

- ก่อนอื่นก็เข้าใจคำว่า สมถภาวนา ให้เข้าใจ ก็จะเข้าใจการกระทำต่างๆ ว่าเป็นสมถภาวนา หรือไม่ครับ

สมถภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญความสงบ ความสงบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสงบ คือสมาธิ ความไม่คิดฟุ้งซ่าน มีสมาธิ จะเป็นความสงบนะครับ แต่ความสงบในที่นี้มุ่งหมายถึง สงบจากกิเลส คือเป็นกุศลในขณะนั้นนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการเจริญสมถภาวนา จึงมุ่งหมายถึงการเจริญความสงบที่เป็นฝ่ายกุศลเท่านั้นครับ คือ เจริญความสงบ คือเกิดกุศลนั้นบ่อยๆ จนมีความตั้งมั่นในกุศล เป็นสัมมาสมาธิในขณะนั้น และก็เป็นความสงบที่เป็นกุศลด้วยครับ ที่สำคัญที่สุด สมถภาวนาเป็นเรื่องของปัญญา คือผู้ที่จะอบรมสมถภาวนาจะต้องเห็นโทษของกิเลส ไม่ใช่เพียงจะอยากจะสงบ หลีกเร้นจากความวุ่นวาย แต่ต้องเป็นการเห็นโทษของกิเลสทุกประการ คือเห็นโทษแม้แต่โลภะความติดข้องในชีวิตประจำวัน จึงอบรมเจริญสมถภาวนา และต้องมีปัญญาว่าจะอบรมอย่างไร และมีปัญญารู้ว่าขณะใดเป็นกุศล อกุศล ในขณะไหนในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่รู้ ก็อาจทำให้อบรมเจริญในสิ่งที่เป็นอกุศลได้ครับ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ แม้แต่การอบรมสมถภาวนา

ดังนั้น จากคำถามที่ว่า ความตั้งใจจดจ่ออยู่ "เฉพาะ" ขณะที่หายใจเข้าและขณะที่หายใจออก "เท่านั้น" และสังเกตได้ว่า ขณะที่กระทำเช่นนั้น จิตไม่ฟุ้งซ่านไปด้วยโลภะ โทสะ การกระทำอย่างนั้นเป็น "สมถภาวนา" หรือไม่ อย่างไรคะ

การตั้งใจจดจ่ออยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ขณะที่หายใจ เป็นลักษณะของสมาธิ ซึ่งเราควรเข้าใจ คำว่า สมาธิ ให้ถูกต้องก่อนว่าคืออะไร และเป็นอย่างเดียวกับสมถภาวนาหรือไม่ครับ เราจะต้องแยก คำว่า สมาธิ กับ การเจริญสมถภาวนา ออกจากกันครับ คือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สมาธิ คือ ความตั้งมั่นของจิต ซึ่งสมาธิ เป็นได้ทั้งกุศล อกุศล ดังนั้น จึงมีความตั้งมั่นที่เป็นไปในอกุศลก็มี เรียกว่า มิจฉาสมาธิ และมีความตั้งมั่นที่เป็นไปในกุศลก็มี ที่เรียกว่า สัมมาสมาธิครับ ดังนั้น หากกล่าวคำว่า สมาธิ จึงไม่ได้ตัดสินเลยทันทีครับว่า เมื่อมีสมาธิแล้วจะเป็นสิ่งที่ดี คือไม่ได้หมายความว่าขณะที่มีสมาธิ จิตไม่ซัดส่ายไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจจะเป็นความสงบที่เป็นกุศล ความจดจ่อตั้งมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สรุปว่า สงบ ไม่ได้ครับ เพราะ สมาธิ คือความซัดส่ายไปของจิต เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้

ดังนั้น ที่กล่าวว่า สงบจากโลภะ โทสะ ในขณะนั้น และโมหะสงบไหม ขณะนั้นที่ทำ ปัญญารู้อะไร หรือเพียงนิ่งครับ หากไม่รู้อะไรในขณะนั้น ได้เพียงนิ่ง จิตไม่ซัดส่าย อยู่แต่ลมหายใจ นั่นก็เท่ากับว่าการไม่รู้อะไรก็ไม่สงบจากโมหะ คือมีโมหะ ความไม่รู้ในขณะนั้น ดังนั้น จะกล่าวว่าสงบไม่ได้เลยครับ เพียงเพราะความตั้งมั่นจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จึงไม่เป็นสมถภาวนา เพราะไม่มีปัญญารู้อะไรในขณะนั้น เพราะสมถภาวนาเป็นเรื่องของปัญญาครับ และต้องเป็นความสงบจากกิเลสที่เกิดจากความเห็นถูกคือปัญญาเป็นสำคัญครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อานาปานสติ คืออะไร ทำอย่างไร ได้ประโยชน์อย่างไร

เชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ครับ

การจดจ้องที่ลมหายใจทำให้จิตสงบได้ไหม

ลมหายใจเป็นเรื่องละเอียด ประณีต

การเจริญอานาปานสติไม่ใช่เรื่องง่าย

อานาปานสติไม่ใช่รู้เฉพาะลมอย่างเดียว

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากข้อความใน เกสีสูตร นั้น สรุปวิธีฝึกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ดังนี้

วิธีละมุนละม่อม ทรงแสดงกุศล ผลของกุศล ทรงแสดงสวรรค์ เป็นต้น อันเป็นแดนเกิดของผู้ที่กระทำกุศล

วิธีรุนแรง ทรงแสดงอกุศล ผลของอกุศล ทรงแสดงนรก เป็นต้น อันเป็นแดนเกิดของผู้กระทำอกุศล

วิธีละม่อมและรุนแรง ทรงแสดงกุศล ผลของกุศล ทรงแสดงสวรรค์ ทรงแสดงอกุศล ผลของอกุศล ทรงแสดงนรก เปรต เป็นต้น ตามความเป็นจริง

ถ้าสอนไม่ได้ ก็ไม่ทรงพร่ำสอนอีกต่อไป เป็นการฆ่าอย่างดีในวินัยของพระอริยะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้ฝึกบุคคลผู้สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงฝึกด้วยพระธรรม พระองค์ทรงแสดงพระธรรม สอนให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นคนดี มีคุณธรรม รู้บาปบุญคุณโทษ และสอนให้ผู้ที่ไม่มีปัญญาเกิดปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) จนละกิเลสอันเป็นสาเหตุของความไม่ดีทั้งหมดได้ ถึงแม้ว่าบุคคลบางคน แต่ก่อนอาจจะเป็นคนไม่ดี มีพฤติกรรมที่ไม่ดีหลายๆ ประการ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมเป็นผู้รู้ว่า สิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรเว้น และสามารถฝึกตนให้เป็นคนดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจได้

ดังนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นเครื่องฝึกที่ดี เพราะทำให้ผู้ที่ได้รับการฝึก มีความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ในสิ่งที่พระองค์ทรงแสดง และสามารถดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด แต่ถ้าเป็นผู้ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมแม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลกและทรงแสดงพระธรรมก็ตาม บุคคลที่ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ยังเป็นคนไม่เห็นประโยชน์ และไม่มีทางที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมเลย

การอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นเรื่องของปัญญา ที่เข้าใจความต่างกันระหว่างกุศลกับอกุศล พร้อมทั้งรู้ด้วยว่าจิตจะสงบด้วยอารมณ์อะไร ไม่ใช่ไปทำอะไรด้วยความจดจ้องต้องการ ด้วยความเป็นตัวตน เพราะถ้าไม่เริ่มที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ก็เป็นการเพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น ขณะที่จดจ่ออยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ที่ลมหายใจ ก็เข้าใจว่าจิตสงบจากอกุศล แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องของโลภะ ความติดข้องต้องการ ประกอบด้วยความรู้สึกที่เป็นโสมนัสเวทนา จึงไม่รู้สึกว่ามีความวุ่นวายเดือดร้อนใจอะไร ซึ่งในขณะนั้น เป็นอกุศลจิต มีอกุศลเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย รวมไปถึงอุทธัจจะ ซึ่งเป็นความไม่สงบ เกิดร่วมด้วย ไม่ได้ทำให้จิตสงบจากอกุศลได้เลย สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เพราะภาวนาทั้งสองอย่าง คือ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ล้วนเป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

เรียนถามต่อนะคะ

๑. คำถามอยู่ตามลิงก์นี้ค่ะ ...

เกสีสูตร ... เรื่องนายเกสีผู้ฝึกม้า

๒. สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น แต่ เป็น "ปัญญาที่ต่างกัน" อย่างไรคะ

เท่าที่ทราบ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเป็นไปตามการสะสมของบุคคลที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ทรงแสดงเหตุและผลที่ต่างกันระหว่างการภาวนาทั้งสองอย่าง พระอรหันต์บางท่านดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทแล้ว ท่านก็ยังมีการเจริญสมถภาวนา

ขอความกรุณาอัญเชิญพระสูตร ที่ทรงแสดงในเรื่องนี้ด้วยเพื่อเทียบเคียงความถูกต้องตามพระไตรปิฎก

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 6

จากคำถามข้อที่ ๑. ตามลิงก์ที่ให้ไว้ เป็นดังนี้ครับ

ถามว่า ขออนุญาตเรียนถามต่อนะคะ หมายความว่า ถ้าแม้ปัญญาขั้น ศีล คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และความเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม ยังไม่สามารถฝึกได้ แล้วพระองค์จะไม่ทรงตรัสสอนพระธรรมขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเป็นความสำคัญของปัญญาขั้นศึล เข้าใจอย่างนี้ ถูกผิดประการใด กรุณาแนะนำด้วยค่ะ

จากที่ผู้ถามกล่าวไว้ เรื่องการสอนของพระพุทธเจ้า ก็ต้องละเอียดในข้อความที่พระองค์ทรงแสดง ในส่วนที่เป็นสุจริต ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริตและมโนสุจริต กินความแค่ไหน แค่เพียงศีลหรือไม่ครับ ในสุจริต ๓ กายสุจริต และวจีสุริต หมายถึงศีลครับ เพราะศีลหมายถึง กาย และวาจา ส่วนมโนสุจริต มี ๓ ข้อ มโนสุจริต หมายถึงความดีทางใจ มี ๓ ได้แก่

ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ (อนภิชฌา) ๑

ความไม่พยาบาทปองร้าย (อัพยาปาท) ๑

ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) ๑

จะเห็นว่า มีสัมมาทิฏฐิด้วย คือความเห็นถูกหรือปัญญานั่นเอง ดังนั้น สัมมาทิฏฐิ ในสุจริต ๓ ที่พระองค์ทรงตรัสสอน คือด้วยวิธีละมุนละม่อม ก็หมายถึงการสอนเรื่องสมถภาวนา และวิปัสสนาที่เป็นสติปัฏฐานหรืออริยมรรคด้วยครับ รวมถึงปัญญาทุกระดับเลยครับ เพราะสัมมาทิฏฐิย่อมครอบคลุมการอบรมปัญญาทุกอย่าง ดังนั้น ผู้ใดฝึกได้ คือได้สะสม อบรมปัญญามาแล้ว ก็ทรงสอนด้วย สุจริต ๓ รวมสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูก ทั้งในเรื่องสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา พระองค์ก็ทรงสั่งสอนสาวกครับ

ส่วนผู้ใดไม่ได้สะสมปัญญามา และหากเป็นผู้เห็นผิด ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ไม่แสดงธรรม เพราะไม่สามารถฝึกได้ครับ

ส่วนผู้ที่สะสมปัญญามา แต่เป็นผู้ที่หนาด้วยกิเลสมาก พระองค์ก็ทรงแสดงโทษของ สุจริต ๓ คือ การฆ่าสัตว์ ความเห็นผิด ว่ามีโทษอย่างไร เพื่อให้ผู้ฟังนั้นเห็นโทษ เมื่อเห็นโทษแล้ว ก็ทรงแสดงเรื่อง สุจริต ๓ ก็รวมทั้งการอบรมปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิในมโนสุจริตด้วย เพื่อให้เข้าใจพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงครับ

คำถาม ที่ ๒. ที่ว่า สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น. แต่เป็น "ปัญญาที่ต่างกัน" อย่างไรคะ

สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ต่างก็ต้องมีปัญญาถึงจะอบรมเจริญได้ ซึ่งสมถภาวนา เป็นการเจริญอบรมกุศลให้เกิดขึ้นบ่อยๆ จนแนบแน่น ตั้งมั่น จนถึงได้ฌานปกติในชีวิตประจำวัน กุศลก็เกิดขึ้นเป็นปกติใช่ไหมครับ เช่น ให้ทาน ระลึกถึงพระธรรม ฟังพระธรรม คิดหวังดีต่อผู้อื่น คือมีเมตตา แต่กุศลที่เกิดนั้น เพียงชั่วขณะสั้น เล็กน้อยและก็ดับไป ไม่ได้เกิดติดต่อบ่อยๆ แต่สำหรับการอบรมสมถภาวนา คือการอบรมให้กุศลในแต่ละประเภท เช่น เมตตาเกิดขึ้นบ่อยๆ ติดต่อกันไป ดังนั้น การอบรมสมถภาวนา จึงต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า อบรมอย่างไรให้กุศลเกิดขึ้นบ่อยๆ ดังนั้น สมถภาวนาจึงเป็นปัญญาที่ระลึกถึงกุศลที่เกิดขึ้นแล้วบ่อยๆ ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันไป แต่ปัญญาระดับนี้ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา คือไม่ได้ละความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนครับ

ส่วนวิปัสสนาภาวนาก็มีปัญญา แต่เป็นปัญาระดับสูงกว่า และแตกต่างกว่าปัญญาที่เป็นสมถภาวนา ปัญญาที่เป็นสมถภาวนาคือรู้วิธีในการอบรมกุศล เกิดขึ้นบ่อยๆ ต่อเนื่องกันไปจนแนบแน่นได้ฌาน แต่วิปัสสนาภาวนาคือปัญญาที่รู้ความจริงของตัวสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ด้วยการรู้ความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา คือรู้ที่ตรงลักษณะของสภาพธรรม (เพ่งลักษณะ) แต่ถ้าเป็นสมถภาวนา คือเพ่งอารมณ์ คือ จดจ่อ ระลึกเป็นไปในอารมณ์ที่เป็นกุศลบ่อยๆ นั่นเอง

ดังนั้น ปัญญาที่เป็นวิปัสสนา จึงรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ตามความเป็นจริง ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรม ดังนั้น ปัญญาที่เป็นวิปัสสนา จึงเป็นหนทางละคลายกิเลสที่แท้จริง เพราะค่อยๆ ละความไม่รู้ ละความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นเรา แต่สมถภาวนา ไม่ได้ละ ถ่ายถอน ความเห็นผิด และความไม่รู้ เพียงแต่สงบจากกิเลสชั่วขณะที่อบรมสมถภาวนาครับ

ปัญญาจึงแตกต่างกัน ตามที่กล่าวมา คือ สมถภาวนา เป็นปัญญาที่รู้วิธีที่จะอบรมให้กุศลเกิดต่อเนื่องแต่ไม่ได้ละกิเลส ละความเห็นผิด เป็นต้น แต่วิปัสสนา เป็นปัญญาที่รู้ตัวสภาพธรรมตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่เรา เป็นต้น ซึ่งละความเห็นผิด และละความไม่รู้ อันเป็นหนทางดับกิเลสครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 27 ธ.ค. 2554

เรียนต่อในความเห็นที่ 6

จากคำถามที่ว่า

เท่าที่ทราบ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เป็นไปตามการสะสมของบุคคลที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ทรงแสดงเหตุและผลที่ต่างกัน ระหว่างการภาวนาทั้งสองอย่าง. พระอรหันต์บางท่าน ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทแล้ว ท่านก็ยังมีการเจริญสมถภาวนา

ขอความกรุณาอัญเชิญพระสูตร ที่ทรงแสดงในเรื่องนี้ด้วยเพื่อเทียบเคียงความถูกต้องตามพระไตรปิฎก

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญกุศล คือ ความดีทุกๆ ประการ แม้แต่กุศลขั้นทาน ก็ทรงสรรเสริญ สิ่งใดเป็นกุศล พระองค์ทรงสรรเสริญหมด แต่พระองค์ก็ทรงแสดงถึงความจริงของกุศลแต่ละประเภท ว่าทำหน้าที่แตกต่างกันไป คือกุศลบางอย่างไม่สามารถละกิเลสถึงการดับกิเลส แต่กุศลบางอย่างก็สามารถทำให้ถึงการดับกิเลสได้ สมถภาวนาก่อนพุทธกาล ก็มีการอบรมเจริญกันจนได้ฌานสูงสุด มีอาจารย์ของพระโพธิสัตว์ เป็นต้น เช่น อุทกดาบส แต่ก็ไม่ใช่หนทางดับกิเลส แต่กุศลที่สามารถดับกิเลสได้คือวิปัสสนา การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ดังนั้น ทรงแสดงเหตุและผลตามความเป็นจริงของกุศลแต่ละประเภทครับ ซึ่งสมัยพุทธกาล เป็นกาลสมบัติ ผู้ที่สะสมบุญบารมีมีมาก จึงเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ฌานด้วย แต่ท่านไม่สำคัญผิดว่าจะต้องอบรมสมถภาวนาก่อนเพื่อเจริญวิปัสสนา อันนี้ไม่ใช่ เพราะผู้ที่ไม่ได้เจริญสมถภาวนาแต่บรรลุธรรมมีมากมาย เช่น ท่านอนาถฯ นางวิสาขา เป็นต้น

ดังนั้น กุศลทุกประการควรเจริญ แต่จะต้องมีความเห็นถูก ว่า กุศลแต่ละประเภทเป็นอย่างไร และก็จะต้องเข้าใจหนทางการอบรมให้ถูกต้องด้วยครับ ซึ่งจะขอยกพระสูตร ในเรื่องการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่หนทางดับกิเลส ดังต่อไปนี้ครับ

ในมหาโควินทสูตร พระโพธิสัตว์เกิดเป็นมหาโควินทพราหมณ์ สั่งสอนสาวกให้เจริญฌาน ได้ไปพรหมโลกมากมาย แต่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมเมื่อครั้งที่เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า เมื่อครั้งนั้น เราสอนสาวกให้เจริญฌานได้ไปพรหมโลก แต่ทางนั้นไม่ใช่ทางเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ไม่ใช่ทางหลุดพ้น แต่สมัยนี้ เราแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ กับเธอ อันเป็นหนทางดับกิเลส เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หลุดพ้น

เชิญคลิกอ่านข้อความพระไตรปิฎกที่นี่ครับ

ฌานดับกิเลสไม่ได้ มรรคมีองค์ 8 ดับกิเลสได้ [มหาโควินทสูตร]

ส่วนในสัลเลขสูตร พระองค์ทรงแสดงว่า ฌานขั้นต่างๆ ไม่ใช่ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสเพียงแต่เป็นธรรมที่อยู่เป็นสุขในปัจจุบันนี้เท่านั้นครับ

เชิญคลิกอ่านข้อความพระไตรปิฎกที่นี่ครับ

ฌานไม่ใช่หนทางในการดับกิเลส [สัลเลขสูตร]

ดังนั้น เจริญสมถภาวนาได้ ถ้ามีความเข้าใจถูกว่ากุศลควรเจริญและเห็นโทษของกิเลส แต่ก็ต้องมีปัญญาที่รู้ว่าจะอบรมอย่างไร ไม่ใช่เข้าใจผิดว่า จะเจริญวิปัสสนาแล้วจะต้องเจริญสมถภาวนาควบคู่กันไป หรือต้องเจริญสมถภาวนาก่อน อันนี้ไม่ถูกต้องครับ

ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องฌาน สมถภาวนาไว้ก็จริง แต่พุทธบริษัทผู้ศึกษาธรรมต้องมีความละเอียดว่า ทรงแสดงสมถภาวนาไว้เพราะเหตุผลใดด้วย คือกุศลควรเจริญทุกประการ แต่ สมถภาวนา ไม่ใช่หนทางดับกิเลส และไม่ใช่ว่าในการเจริญวิปัสสนาจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน หรือควบคู่กันไป และพระอรหันต์ในพุทธกาลที่ถึงพร้อมด้วยบุญบารมีอันสูง ท่านสะสมอุปนิสัยมาที่จะเจริญสมถภาวนาด้วย พุทธบริษัทในปัจจุบัน ในยุคที่เสื่อมจากความเข้าใจและปัญญา เมื่อเทียบกับพุทธกาล จึงควรเข้าใจว่า เราสะสมมาที่จะเป็นอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขา ที่ไม่ได้เจริญสมถภาวนา ได้ฌาน หรือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ที่ได้ฌานและเจริญวิปัสสนาด้วยครับ

เราจะต้องมีความเข้าใจถูกเบื้องต้นว่า สมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ และการเจริญวิปัสสนาไม่ได้หมายความว่าจะต้องเจริญสมถภาวนาให้ได้ฌานก่อน เพราะขณะที่เจริญวิปัสสนาก็มีสมถะที่เป็นองค์ธรรมของความสงบ มีสัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ที่เป็นฝักฝ่ายสมถะ อยู่แล้วครับ

เชิญคลิกอ่านข้อความพระไตรปิฎกที่นี่ครับ

มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนา

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

สมถภาวนา ผู้เจริญ ยังมี "ความเป็นเรา" ที่เจริญ แต่ วิปัสสนาภาวนา ผู้เจริญเข้าใจลักษณะสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา ถูกต้องไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

เรียนความเห็นที่ 9

ถูกต้องครับ สมถภาวนา ยังมีความเป็นเรา คือไม่ได้ละความยึดถือว่าเป็นเรา เพราะขณะที่กำลังเจริญสมถภาวนา ขณะนั้น ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราครับ

แต่ขณะที่เจริญวิปัสสนา เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงทำให้รู้ในขณะที่สติและปัญญาขั้นวิปัสสนาเกิดว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ในขณะนั้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
bsomsuda
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jaturong
วันที่ 28 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 29 ธ.ค. 2554

ถ้าเข้าใจธรรมะจริงๆ การอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แม้จะอบรมเจริญสมถภาวนาควบคู่ไปด้วย ก็ไม่มีความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน กุศลทุกประเภทควรอบรม ควรเจริญทั้งนั้น ตามการสะสมของแต่ละคนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pat_jesty
วันที่ 29 ธ.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
พุทธรักษา
วันที่ 29 ธ.ค. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ