ทสุตตรสูตร [หมวด ๘] ... วันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  15 เม.ย. 2555
หมายเลข  20969
อ่าน  1,893

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
๑๑. ทสุตตรสูตร

(ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ)

...จาก...

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้าที่ ๔๐๙


(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๗ ม.ค. ๒๕๕๕)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และ คณะวิทยากร

๑๑. ทสุตตรสูตร (ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งไปจนถึงสิบ) [นำมาเพียงบางส่วน]

[๓๖๔] ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ .-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อ คัคครา ใกล้เมืองจำปา.

ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมา ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า

[๓๖๕] เราจักกล่าวทสุตตรสูตร อันเป็นธรรมเพื่อ

ปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เพื่อ

บรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์.

... ว่าด้วยธรรมหมวด ๘

[๔๔๓] ธรรม ๘ อย่างมีอุปการะมาก ธรรม ๘ อย่าง ควรเจริญธรรม ๘ อย่าง ควรกำหนดรู้ ธรรม ๘ อย่าง ควรละ ธรรม ๘ อย่างเป็นไปในส่วนข้างเสื่อม ธรรม ๘ อย่างเป็นไปในส่วนวิเศษ ธรรม ๘ อย่างควรให้เกิดขึ้น ธรรม ๘ อย่าง ควรรู้ยิ่ง ธรรม ๘ อย่าง ควรทำให้แจ้ง. [๔๔๔] ธรรม ๘ อย่าง มีอุปการะมากเป็นไฉน? ได้แก่ เหตุ ๘ อย่าง ปัจจัย ๘ อย่างย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว เหตุและปัจจัย ๘ อย่าง เป็นไฉน? คือ ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์ อยู่ในฐานะควรเคารพรูปใดรูปหนึ่ง หิริและโอตตัปปะแรงกล้า เข้าไปปรากฏแก่ภิกษุนั้น เป็นความรักและความเคารพในท่าน นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่หนึ่ง ย่อมเป็นไป เพื่อได้ปัญญาเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเข้าไปอาศัยพระศาสดา หรือ เพื่อนพรหมจรรย์ อยู่ในฐานะควรเคารพนั้น รูปใดรูปหนึ่ง หิริและโอตตัปปะอย่างแรงกล้าเข้าไปปรากฏแก่ภิกษุนั้นเป็นความรักและความเคารพในท่าน เธอเข้าไปหาท่านเสมอๆ สอบถามไต่สวนว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นเปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิด กระทำสิ่งที่ยากให้ง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายๆ อย่างแก่เธอ นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่สอง. . . ภิกษุฟังธรรมนั้นแล้ว ถึงพร้อมด้วยความหลีกออก ๒ อย่าง คือ ความหลีกออกแห่งกาย ๑ ความหลีกออกแห่งจิต ๑ นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่สาม . . . ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่สี่ . . . ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงสุตะไว้ สั่งสมสุตะ ธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง เป็นธรรมอันภิกษุนั้น สดับมาก ทรงไว้ คล่องปาก พิจารณาด้วยใจ แทงตลอดด้วยทิฏฐิ นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ห้า... ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุปรารภความเพียร ละอกุศลธรรม ยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีกำลัง ความเพียรมั่น ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมอยู่ นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่หก.... ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุมีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่งระลึกถึงสิ่งที่ทำไว้นาน ถ้อยคำที่พูดไว้นาน นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย ข้อที่เจ็ด . . . ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุพิจารณาถึงความเกิดและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า รูป ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป ดังนี้ ความดับแห่งรูป ดังนี้ เวทนา ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา ดังนี้ สัญญา ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา ดังนี้ ความดับแห่งสัญญา ดังนี้ สังขารทั้งหลาย ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขารทั้งหลาย ดังนี้ความดับแห่งสังขารทั้งหลาย ดังนี้ วิญญาณ ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่แปด ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. ธรรม ๘ อย่าง เหล่านี้ มีอุปการะมาก. [๔๔๕] ธรรม ๘ อย่าง ควรเจริญเป็นไฉน? อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ เห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ ความเพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ธรรม ๘ อย่าง เหล่านี้ ควรเจริญ. [๔๔๖] ธรรม ๘ อย่าง ควรกำหนดรู้เป็นไฉน? โลกธรรม ๘ คือ ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ ควรกำหนดรู้. [๔๔๗] ธรรม ๘ อย่าง ควรละเป็นไฉน? มิจฉัตตะ ๘ คือ เห็นผิด ดำริผิด วาจาผิด การงานผิด อาชีพผิด เพียรผิด ระลึกผิด สมาธิผิด ธรรม ๘ อย่างเหล่านี้ ควรละ. ....ฯลฯ....

อรรถกถาทสุตตรสูตร ธรรมของโลก ชื่อว่าโลกธรรม. ธรรมดาว่าบุคคลผู้พ้นจากโลกธรรมเหล่านั้น ไม่มี. แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ยังต้องมีนั่นเทียว. สมจริงดังพระดำรัสแม้ที่พระองค์ตรัสไว้ว่าภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการเหล่านี้ ย่อมหมุนเวียนไปตามโลก และโลกก็ย่อมหมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘ ประการดังนี้. สองบทว่า ลาโภ อลาโภ บัณฑิตพึงทราบว่าครั้นเมื่อลาภมา ความไม่มีลาภก็มาด้วยนั่นเทียว. แม้ใน ยศ เป็นต้นก็นัยนี้ เหมือนกัน. จบอรรถกถาทสุตตรสูตรที่นำมาเพียงบางส่วน เพียงเท่านี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 15 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป

ทสุตตรสูตร

[ในส่วน ธรรมหมวด ๘] ท่านพระสารีบุตร แสดงทสุตตรสูตร แก่พระภิกษุทั้งหลาย ในส่วนของธรรมหมวด ๘ ดังนี้ ธรรมหมวด ๘ ที่มีอุปการะมาก ได้แก่ เหตุที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ๘ ประการ ดังนี้ -เข้าไปอาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะที่ควรเคารพ -สอบถามพระธรรมจากพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะที่ควรเคารพ -ฟังพระธรรมแล้ว เกิดความสงบกายและจิต -มีศีล -มีการสดับตรับฟังพระธรรม -ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม -มีสติและมีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน -มีปัญญาเห็นความเกิดดับในอุปาทานขันธ์ ๕ ธรรมหมวด ๘ ที่ควรเจริญ ได้แก่ อริยมรรค มีองค์ ๘ มี ความเห็นชอบ เป็นต้น ธรรมหมวด ๘ ที่ควรกำหนดรู้ ได้แก่ โลกธรรม ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ธรรมหมวด ๘ ที่ควรละ ได้แก่ มิจฉัตตะ (สิ่งที่ผิด,ความเป็นผิด) ๘ อย่าง ได้แก่

ความเห็นผิด ดำริผิด วาจาผิด การงานผิด อาชีพผิด เพียรผิด ระลึกผิด สมาธิผิด. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ มรรคมีองค์ ๘ ทางลัด ไม่มี ธรรมะที่เป็นหนทาง อาจาระและโคจร

โลกธรรม ๘ ประการ [โลกธรรมสูตร]

ความเข้าใจสภาพธรรม ๐๑ ...... โลกธรรม ๘ ประการ ความเข้าใจสภาพธรรม ๐๒ ...... ผู้ไม่ถูกโลกธรรมครอบงำ มิจฉัตตะ๑๐จึงพลาดจากสวรรค์และมรรคผล [มิจฉัตตสูตร]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Noparat
วันที่ 16 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เซจาน้อย
วันที่ 16 เม.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผิน
วันที่ 16 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 16 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jans
วันที่ 17 เม.ย. 2555
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 19 เม.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ